ติดอันดับ

รัฐสภาฟิลิปปินส์ตกลงที่จะขยายเวลากฎอัยการศึกบนเกาะมินดาเนาไปจนถึงสิ้นปี

รอยเตอร์

สมาชิกสภานิติบัญญัติของฟิลิปปินส์ลงมติให้ใช้กฎอัยการศึกบนเกาะมินดาเนาซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศต่อไปจนถึงสิ้นปีเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 เพื่อให้เวลาเพิ่มขึ้นแก่นายโรดรีโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในการจัดการกับพวกหัวรุนแรงติดอาวุธที่เป็นพันธมิตรกับรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย (ไอซิส)

ในการประชุมวิสามัญร่วมกันนานเจ็ดชั่วโมงของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา สมาชิกสภานิติบัญญัติ 261 คนได้ลงมติเห็นชอบที่จะขยายเวลาการใช้กฎอัยการศึก (ภาพ: สมาชิกสภานิติบัญญัติฟิลิปปินส์รวมตัวกันเพื่อการประชุมวิสามัญร่วมกันเรื่องการขยายเวลากฎอัยการศึกในฟิลิปปินส์ตอนใต้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560)

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้กล่าวต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติว่าจำเป็นต้องใช้กฎอัยการศึกเพื่อรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพของภูมิภาคที่รัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรียมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น และผู้สนับสนุนอาจได้รับแรงบันดาลใจในการก่อความไม่สงบในพื้นที่อื่น ๆ บนเกาะมินดาเนาซึ่งมีขบวนการญิฮาดต่างประเทศเข้าร่วม

นายเดลฟิน ลอเรนซานา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์เตือนว่า ปัญหาที่ร้ายแรงมากขึ้นอาจเกิดขึ้นหากรัฐบาลไม่มีอำนาจในการปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว

“เราจำเป็นต้องใช้กฎอัยการศึกเนื่องจากเรายังไม่ได้จัดการกับกลุ่มอื่น ๆ ที่มีอยู่ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มดาอิซ” นายลอเรนซานากล่าวโดยอ้างถึงคำย่อในภาษาอารบิกของรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย

นายดูแตร์เตมีคำสั่งให้เกาะมินดาเนาอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เมื่อกลุ่มหัวรุนแรงติดอาวุธหนักซึ่งเป็นกลุ่มเมาท์และกลุ่มอาบูไซยาฟพร้อมด้วยนักรบชาวต่างชาติบุกโจมตีเมืองมาราวี ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ความมั่นคงครั้งใหญ่ที่สุดในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา

จากข้อมูลของกองทัพ การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชาวมาราวีดำเนินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสองเดือนต่อมา โดยมีพวกหัวรุนแรงมากกว่า 420 คน ทหาร 100 นาย และพลเรือน 45 คนถูกสังหาร บางส่วนของผู้เสียชีวิตถูกฆ่าโดยผู้ก่อการกบฏ

กองทหารของรัฐบาลเข้าทำลายและยืดฐานที่มั่นของกลุ่มเมาท์กลับคืนมาหลังจากหลายสัปดาห์ของการโจมตีโดยปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศ แต่กลุ่มหัวรุนแรงประมาณ 70 คนยังคงซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง

“การปฏิวัติในเมืองมาราวียังคงดำเนินอยู่ และเราต้องการหยุดการแพร่กระจายของอุดมการณ์อันชั่วร้ายของการก่อการร้าย และปลดปล่อยประชาชนชาวมินดาเนาจากกลุ่มทรราชที่ไม่เคารพกฎหมายและมีคตินิยมสุดขีดขั้นรุนแรง” นายเออร์เนสโต อะเบลลา โฆษกประธานาธิบดีกล่าว

กฎอัยการศึกยังคงเป็นประเด็นที่อ่อนไหวในฟิลิปปินส์เนื่องจากทำให้หวนรำลึกไปถึงความทรงจำของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2513 ภายใต้ผู้นำเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสที่เสียชีวิตไปแล้ว เขาถูกขับไล่ในการปฏิวัติ “อำนาจประชาชน” เมื่อปี พ.ศ. 2529 การลงมติครั้งล่าสุดปูทางไปสู่การขยายช่วงระยะเวลาการใช้กฎอัยการศึกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุคของนายมาร์กอส

ฝ่ายค้านแสดงความกังวลว่า นายดูแตร์เตอาจทำให้ทั้งประเทศตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกในท้ายที่สุด แต่ทางการได้เมินเฉยต่อความกังวลนี้

ส.ว. แฟรงคลิน ดริลอนกล่าวว่า การขยายเวลากฎอัยการศึกไปจนถึงสิ้นปีนั้นนานจนเกินไป และส.ว. ริซา ฮอนติเวอร์รอส ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์นายดูแตร์เตอย่างแข็งขันกล่าวว่า กฎอัยการศึก “ไม่ได้มีส่วนสนับสนุนยุทธศาสตร์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายของทางทหาร”

นายเอ็ดเซล แลกแมน สมาชิกรัฐสภากล่าวว่า “ไม่มีพื้นฐานที่เป็นข้อเท็จจริง” สำหรับการใช้กฎอัยการศึกและการโจมตีเมืองมาราวีเป็นการก่อการร้ายไม่ใช่การกบฏ

การกบฏเป็นหนึ่งในเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการประกาศกฎอัยการศึกภายใต้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2530 ซึ่งได้รับการร่างขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำทารุณขึ้นอีกดังเช่นในยุคของนายมาร์กอส

พล.อ. เอดูอาร์โด อาโน ผู้บัญชาการทหารกล่าวว่าการยืดเมืองมาราวีกลับคืนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่กองทหารได้สู้รบใน “การสงครามแบบผสมผสานในเมืองที่มีลักษณะเดียวกับเมืองโมซูล” โดยกล่าวอ้างถึงการสู้รบในเมืองโมซูลของอิรักซึ่งถูกยึดครองโดยรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรียเมื่อไม่นานมานี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button