ติดอันดับ

ประธานาธิบดีอินโดนีเซียลงนามในพระราชกฤษฎีกาเพื่อสั่งห้ามกลุ่มหัวรุนแรง

เอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส

อินโดนีเซียได้ออกพระราชกฤษฎีกาที่ช่วยให้สามารถสั่งห้ามกลุ่มต่าง ๆ ที่ต่อต้านอุดมการณ์ที่เป็นทางการของรัฐ ในการเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่ามุ่งเป้าไปที่ชาวมุสลิมหัวรุนแรงในประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก

กฎหมายซึ่งลงนามโดยนายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 เกิดขึ้นในขณะที่มีความกังวลเพิ่มสูงขึ้นเกี่ยวกับอิทธิพลของกลุ่มหัวรุนแรงในอินโดนีเซียซึ่งประชากรโดยส่วนใหญ่มีแนวทางปฏิบัติในรูปแบบอิสลามสายกลาง

พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้อำนาจรัฐบาลในการยุบกลุ่มใด ๆ ที่ท้าทายต่อปัญจศีลโดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในศาล ปัญจศีลเป็นชุดหลักการพื้นฐานแห่งชาติที่ส่งเสริมสังคมที่มีกลุ่มชนที่แตกต่างกันและการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ปัญจศีลได้รับการพิจารณาว่าเป็นปัจจัยของการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวสำหรับประเทศซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยชาวคริสเตียน ชาวฮินดู และชาวพุทธจำนวนมาก

พล.อ. วิรันโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงของอินโดนีเซีย ซึ่งมีเพียงชื่อเดียว กล่าวว่า การดำเนินการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากบางกลุ่ม “เป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของประเทศและสร้างความขัดแย้งในสังคม”

ทั้งพล.อ. วิรันโตหรือพระราชกฤษฎีกาไม่ได้ระบุชื่อองค์กรใดโดยเฉพาะ (ภาพ: พล.อ. วิรันโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงของอินโดนีเซีย (คนกลางด้านซ้าย) พร้อมด้วยนายรูดิแอนทารา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศ (ขวา) ในขณะที่พล.อ. วิรันโตกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวประกาศพระราชกฤษฎีกาในฐานะประธานาธิบดีเพื่อแก้ไขกฎหมายฉบับปัจจุบันที่ควบคุมองค์กรจำนวนมากในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560)

นักเคลื่อนไหวทางการเมืองกล่าวว่า การดำเนินการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อยุบกลุ่มฮิซบุท ทารี อินโดนีเซียซึ่งเป็นสาขาในประเทศของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่พยายามจะรวมชาวมุสลิมทั้งหมดให้เป็นรัฐเคาะลีฟะฮ์

รัฐบาลกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 ว่าอินโดนีเซียต้องการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายในการยุบกลุ่มดังกล่าว

“พระราชกฤษฎีกานี้เป็นเพียงทางลัดในการยุบกลุ่มฮิซบุท ทารี อินโดนีเซียเนื่องจากหากอินโดนีเซียใช้กฎหมายองค์กรพัฒนาเอกชนฉบับเดิมจะต้องใช้เวลานานอย่างมาก” นางบิวิทรี ซูซานติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกล่าว

องค์กรจำนวนมากเผยแพร่อุดมการณ์ต่าง ๆ เช่น อเทวนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ถูกสั่งห้ามภายใต้พระราชกฤษฎีกานี้ด้วยเช่นกัน นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเตือนว่าพระราชกฤษฎีกานี้อาจกำจัดสถาบันประชาธิปไตยจำนวนมาก

“การสั่งห้ามองค์กรใด ๆ อย่างเข้มงวดบนพื้นฐานของอุดมการณ์ รวมถึงปัญจศีลเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนซึ่งริดรอนสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการแสดงออก” นายแอนเดรียส ฮาร์โซโน นักวิจัยของฮิวแมนไรตส์วอตช์ในกรุงจาการ์ตากล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button