มองภูมิภาคแผนก

จีน: แพนด้ายักษ์หลุดจากบัญชีสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า ในที่สุดงานอนุรักษ์ในจีนที่ดำเนินต่อเนื่องมาหลายทศวรรษก็ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าสำหรับแพนด้ายักษ์ ซึ่งได้รับการปรับเลื่อนสถานะจาก “ใกล้สูญพันธุ์” เป็น “เปราะบางต่อการสูญพันธุ์” ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 เนื่องจากประชากรแพนด้ายักษ์มีจำนวนเพิ่มขึ้น การประกาศปรับสถานะสำหรับแพนด้ายักษ์ (ไอลูโรโพดา เมลาโนลูกา) เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงบัญชีแดงของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อที่สมบูรณ์ที่สุดของสถานภาพของพืชและสัตว์ต่าง ๆ

สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติเปิดเผยว่า จากการประเมินการล่าสุดคาดว่าน่าจะมีแพนด้ายักษ์โตเต็มวัยอยู่ประมาณ 1,864 ตัว แม้จะไม่ทราบตัวเลขที่แน่นอน แต่หากนับรวมลูกหมีด้วย ปัจจุบันก็น่าจะมีแพนด้ายักษ์อยู่ประมาณ 2,060 ตัว

“หลักฐานที่ได้จากการสำรวจในระดับชาติอย่างต่อเนื่องบ่งชี้ว่า เราสามารถยับยั้งการลดลงของประชากรแพนด้ายักษ์ได้แล้ว และเวลานี้แพนด้ายักษ์ก็เริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” จากรายงานล่าสุดของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ

มาตรการสำคัญอย่างหนึ่งที่รัฐบาลจีนได้ลงมือทำเพื่ออนุรักษ์เจ้าหมียักษ์สีขาวดำขนปุกปุยที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของประเทศนี้ก็คือ ความพยายามอย่างจริงจังในการเพิ่มพื้นที่ป่าไผ่ซึ่งเป็นทั้งแหล่งอาหารและถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของแพนด้ายักษ์ นอกจากนี้ จีนยังมีโครงการขยายพันธุ์แพนด้ายักษ์ด้วยการ “ให้เช่าแพนด้า” โดยให้สวนสัตว์ต่างประเทศขอยืมแพนด้าเพื่อแลกกับเงินสด แล้วนำเงินที่ได้มาเป็นทุนหมุนเวียนในการอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ต่อไป

“เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่กดดัน จีนก็ทำได้ดีทีเดียวในการอนุรักษ์ประชากรแพนด้า” นายจอห์น โรบินสัน นักไพรเมตวิทยาและหัวหน้าคณะอนุรักษ์ของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่ากล่าว

“มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์เท่านั้นที่ถูกลดอันดับลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์” นายโรบินสันกล่าวในที่ประชุมสมัชชาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย และเป็นเวทีประชุมที่ใหญ่ที่สุดในเรื่องการอนุรักษ์ที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 9,000 คน ทั้งผู้นำประเทศ ผู้จัดทำนโยบายและนักสิ่งแวดล้อม

นายไซมอน สจ๊วต ประธานคณะกรรมการความอยู่รอดของสายพันธุ์ของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติกล่าวว่า การพัฒนาดังกล่าว “ไม่ใช่เรื่องยากจนเป็นไปไม่ได้” แต่มาจากการทำงานอย่างหนักเพื่อควบคุมการลักลอบล่าแพนด้าและการปลูกต้นไผ่เพิ่ม
“นี่เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะที่นี่ไม่ใช่สถานที่ในโลกที่เราคาดหวังว่าจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น” นายสจ๊วตกล่าวกับผู้สื่อข่าวในระหว่างการแถลงข่าวเพื่อเปิดเผยบัญชีแดงที่ได้รับการปรับปรุงให้ทันเหตุการณ์

เอเจนซ์ ฟรานซ์ เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button