เรื่องเด่น

การย้ายถิ่นเพราะ สถานการณ์บังคับ

ประเทศต่าง ๆ ที่มีระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นต้องเผชิญกับปัญหาการกำหนดขอบเขตอธิปไตยหากจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐาน

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ารตัดสินใจที่ยากลำบากกำลังรออยู่ข้างหน้าสำหรับบรรดาประเทศที่เผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น การกัดเซาะชายฝั่งและสภาพอากาศที่รุนแรง ความทุกข์ร้อนและความซับซ้อนเหล่านี้อาจกลายเป็นเรื่องที่น่าหวาดหวั่นมากยิ่งขึ้นสำหรับประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ซึ่งหลายแห่งได้เริ่มมองหาหนทางที่ไม่เคยทำมาก่อนเนื่องจากมีแนวโน้มว่าจะต้องย้ายถิ่นเพราะสถานการณ์เบังคับ

จากการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นกับหมู่เกาะที่ประสบภัยเหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญบางรายชี้ให้เห็นว่า ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้ประเทศส่วนน้อยในภูมิภาคมีความเสี่ยงที่จะสูญหายไป การคาดการณ์ที่น่ากลัวดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับบางประเทศ ถึงกระนั้น องค์กรต่าง ๆ ในระดับภูมิภาค เช่น องค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก และองค์กรการประชุมว่าด้วยเรื่องการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก็มีความมุ่งมั่นที่จะหยิบยกเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นสำคัญสำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบ เพราะไม่เพียงแต่จะต้องจัดหาทรัพยากรเพื่อรับมือกับสถานการณ์ด้วยตนเองเท่านั้น แต่ยังต้องเตรียมการที่จะร้องขอความช่วยเหลืออีกด้วย

“เราเชื่อว่าไม่มีประเทศใดในภูมิภาคของเราที่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการย้ายถิ่นเพราะสถานการณ์บังคับได้โดยลำพังอย่างเป็นที่น่าพอใจ ดังนั้น ความร่วมมือในระดับภูมิภาคจึงเป็นสิ่งจำเป็น” องค์กรการประชุมแห่งเอเชียว่าด้วยเรื่องการย้ายถิ่นเพราะสถานการณ์บังคับ ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์พัฒนานโยบายระบุ “อย่างไรก็ตาม ในสภาพแวดล้อมที่มักจะเต็มไปด้วยความอ่อนไหวและการถกเถียงกันถึงวิธีการตอบสนองที่เหมาะสมต่อการเคลื่อนไหวเพื่อย้ายถิ่นเพราะสถานการณ์บังคับในระดับชาติ การร่วมมือดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากเป็นพิเศษในทางปฏิบัติ”

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 องค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกได้เผยแพร่รายงานเรื่อง “กรอบการทำงานสำหรับการพัฒนาที่ยืดหยุ่นในแปซิฟิก: แนวทางแบบบูรณาการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ” รายงานนี้เป็นแนวทางสำหรับภูมิภาคหมู่เกาะแปซิฟิกที่สามารถเลือกนำไปใช้ได้ โดยมุ่งเน้นวิธีการที่ภาครัฐและเอกชนสามารถทำงานร่วมกันเพื่อลดความเสี่ยงและทำให้ภูมิภาคมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

รายงานดังกล่าวระบุว่า “รัฐบาลแห่งชาติและรัฐบาลท้องถิ่น ตลอดจนฝ่ายบริหาร ภาคเอกชน องค์กรประชาสังคม ชุมชน องค์กรระดับภูมิภาคและหุ้นส่วนด้านการพัฒนา ล้วนมีบทบาทสำคัญที่ไม่ซ้ำกันในการจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ ทั้งการปฏิบัติโดยลำพังและการร่วมมือกับฝ่ายอื่น ๆ เพื่อให้ภูมิภาคแปซิฟิกมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในอนาคต”

ประเทศที่ได้รับผลกระทบได้เริ่มหาวิธีที่จะลดผลกระทบจากภัยพิบัติเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้นในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ความท้าทายในพื้นที่นี้ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเพราะต้องเผชิญกับภัยพิบัติที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและอุทกภัย คลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่ง ความรุนแรงของลม การกัดเซาะชายฝั่ง การแทรกซึมของน้ำเค็มเข้าไปในชั้นหินอุ้มน้ำบริเวณชายฝั่ง และการขาดแคลนน้ำและภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

กรอบการทำงานสำหรับการพัฒนาที่ยืดหยุ่นในแปซิฟิกระบุว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและอย่างช้า อาจส่งผลให้ผู้คนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบต้องพลัดถิ่น เนื่องจากความเสื่อมโทรมของดินและการสูญเสียที่ดิน รวมถึงการลดลงอย่างรวดเร็วของปริมาณน้ำและความมั่นคงทางด้านอาหาร ตลอดจนสุขภาพและโอกาสทางการศึกษา

“ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการในระดับชาติ ระดับชุมชนไปจนถึงการแทรกแซงในระดับภูมิภาค หลาย ๆ โครงการได้เริ่มต้นขึ้นเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการตอบสนองของท้องถิ่นและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งครอบคลุมนโยบาย แผนงาน การดำเนินการและการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันและอื่น ๆ” ตามข้อมูลที่ระบุไว้ในกรอบการทำงานสำหรับการพัฒนาที่ยืดหยุ่นในแปซิฟิก “อย่างไรก็ตาม ความพยายามและการสนับสนุนเพิ่มเติมที่สำคัญที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องคือสิ่งจำเป็นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

เพื่อการนี้ กรอบการทำงานสำหรับการพัฒนาที่ยืดหยุ่นในแปซิฟิกได้ระบุเป้าหมายสำคัญที่เชื่อมโยงกันสามประการ และเรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้

• การปรับตัวแบบบูรณาการที่แข็งแกร่งและการลดความเสี่ยงเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ “การบรรลุเป้าหมายนี้เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติอย่างประสบความสำเร็จแบบองค์รวมเมื่อเป็นไปได้ โดยมีการดำเนินการตามแนวปฏิบัติและขั้นตอนตามแผนการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจเพื่อลดการสะสมความเสี่ยงดังกล่าว และป้องกันการสร้างความเสี่ยงใหม่หรือการสูญเสียและความเสียหาย เป้าหมายนี้จะช่วยเสริมสร้างการพัฒนาให้มีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่น และบรรลุประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากร”

• การพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ “การบรรลุเป้าหมายนี้หลัก ๆ แล้วจะมุ่งเน้นที่การลดความเข้มข้นของคาร์บอนในกระบวนการพัฒนา การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานที่ปลายทาง การเพิ่มการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางบกและทางทะเล และการเพิ่มความยืดหยุ่นของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เป้าหมายนี้จะช่วยให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานไปพร้อม ๆ กับการลดปริมาณสุทธิของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

• การเตรียมความพร้อม การตอบสนองและการฟื้นฟูที่แข็งแกร่ง “การบรรลุเป้าหมายนี้จะประกอบด้วยการพัฒนาความสามารถของบรรดาประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกและดินแดนต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติเพื่อจะสามารถตอบสนอง และฟื้นตัวจากภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ทั้งภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและอย่างช้า ๆ ซึ่งสถานการณ์อาจจะเลวร้ายลงหรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ การตอบสนองและการฟื้นฟู จะช่วยลดการสูญเสียมนุษย์และการทนทุกข์ทรมานจนเกินควร ลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับชาติ จังหวัด ท้องถิ่นและชุมชน”

ดินแดนที่ไม่คุ้นเคย

อินโดเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับต้น ๆ โดยได้รับผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อนกว่าร้อยละ 90 จากทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั่วโลก นอกจากนี้ ประชากรกว่าหนึ่งในสามของอินโดเอเชียแปซิฟิกยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มบริเวณชายฝั่ง ตามข้อมูลของศูนย์พัฒนานโยบาย

“สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่ส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นเพราะสถานการณ์บังคับในเอเชียแปซิฟิกมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีกเนื่องจากภัยคุกคามในรูปแบบใหม่” ตามที่ระบุในเอกสารการบรรยายสรุปในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 สำหรับการประชุมแห่งเอเชียว่าด้วยเรื่องการย้ายถิ่นเพราะสถานการณ์บังคับ

“กล่าวง่าย ๆ คือ ภูมิภาคนี้มีอายุมากขึ้น ร้อนขึ้น มีความเท่าเทียมกันน้อยลงและมีช่องทางแทรกซึมผ่านมากขึ้น ภัยคุกคามในรูปแบบใหม่บางประเภท เช่น ความไม่แน่นอนทางการเมือง (ที่ยังไม่ถึงระดับสงครามกลางเมือง) การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจตกต่ำและความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการย้ายถิ่นเพราะสถานการณ์บังคับมากพอ ๆ กับภัยคุกคามด้านความมั่นคงแบบดั้งเดิม”

ประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็กกว่า เช่น ตูวาลูและหมู่เกาะมาร์แชลล์มองว่าตนมีความเสี่ยงมากที่สุดต่อการย้ายถิ่นเพราะสถานการณ์บังคับ ประเทศที่เป็นเกาะปะการังเหล่านี้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีพื้นที่ต่ำที่สุดในโลก ภัยคุกคามที่มาพร้อมกับหมู่เกาะที่จมอยู่ใต้น้ำคือการที่ทรัพยากรน้ำจืดและการเกษตรถูกทำลายและได้รับความเสียหาย ด้วยเหตุผลหลาย ประการ เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรอินเดีย เช่น มัลดีฟส์ ก็เผชิญกับชะตากรรมที่คล้ายคลึงกัน

คาดการณ์ว่ามัลดีฟส์จะมีระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 50 เซนติเมตรภายในปี พ.ศ. 2643 จุดที่สูงที่สุดในมัลดีฟส์อยู่สูงประมาณ 2.4 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ประเทศนี้อาจสูญเสียพื้นที่เกาะร้อยละ 77 เมื่อสิ้นสุดศตวรรษนี้

หากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 1 เมตร และมัลดีฟส์ไม่ได้ดำเนินมาตรการป้องกันชายฝั่งเพิ่มเติม ประเทศนี้จะถูกน้ำท่วมเกือบทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2628 ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น การกัดเซาะชายหาดที่เพิ่มขึ้น ความรุนแรงของลม คลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่งที่มีระดับสูงขึ้น และภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ คือภัยคุกคามอันใหญ่หลวงต่อมัลดีฟส์ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในช่วงทศวรรษหน้า

กระทรวงมหาดไทยและสิ่งแวดล้อมของมัลดีฟส์ได้กำหนดมาตรการที่เป็นไปได้เพื่อให้ประเทศสามารถปรับตัวให้เข้ากับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น มาตรการเหล่านี้ประกอบด้วยการปกป้องน้ำใต้ดิน การเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำฝน และการเพิ่มระดับความสูงของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

ความรุนแรงของปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดข้อสงสัยหลายประการเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติและภูมิภาคตลอดจนอำนาจอธิปไตย บทความในหนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์ก ไทมส์ มีคำถาม “ที่จริงจัง” บางข้อซึ่งถือว่าเป็นคำถามที่ “น่าสนใจในเชิงสติปัญญา” คำถามเหล่านี้ ได้แก่ ประชาชนที่ย้ายถิ่นเพราะสถานการณ์บังคับจะมีสถานภาพพลเมืองอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลของประเทศ ประเทศจะยังคงมีสถานะที่สมบูรณ์ในองค์การสหประชาชาติหรือไม่ จะยังสามารถควบคุมการประมงและแร่ธาตุได้หรือไม่ หรือทรัพยากรเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของน่านน้ำสากล ขณะที่คำถามเหล่านี้ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำเพื่อวันข้างหน้าก็เริ่มปรากฏขึ้น

“การรักษาอธิปไตย และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือความเชื่อมั่นว่าชาวเกาะจะยังคงมีสิทธิในการเลือกวิถีแห่งอธิปไตยของตนเอง อาจเป็นไปในลักษณะที่สร้างความขัดแย้งระหว่างผู้ย้ายถิ่นและเจ้าบ้าน” ตามที่ระบุในบทวิจัยเรื่อง “การตัดสินใจที่ยากลำบาก: การย้ายถิ่นจากประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็กที่กำลังพัฒนาภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” ที่ตีพิมพ์ในวารสาร เอิร์ทส ฟิวเจอร์ ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 “ความซับซ้อนเกิดขึ้นเมื่อต้องมีการกำหนดว่าชาวเกาะที่ตั้งรกรากใหม่มีสิทธิมากน้อยเพียงใดในการบริหารจัดการและการดำรงไว้ซึ่งกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ภาษา ระบบการศึกษาและอัตลักษณ์ของตน ไม่ว่าจะมีอำนาจธิปไตยหรือไม่ก็ตาม เมื่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่เป็นเรื่องที่ต้องคาดคิดไว้ล่วงหน้า การประนีประนอมระหว่างผู้ย้ายถิ่นและเจ้าบ้านทั้งในระดับประเทศและระดับชุมชนจึงเป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงพื้นที่ที่มีการตั้งรกรากใหม่ที่ไม่มีผู้อยู่อาศัยก่อนหน้านี้

คลื่นพายุพัดเศษขยะเข้าชายฝั่งในช่วงที่ประสบพายุหมุนเขตร้อนแพม ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 ที่เกาะคิริบาตีในแปซิฟิก เก็ตตี้อิมเมจ

การกำหนดขอบเขต

การกำหนดขอบเขตชายฝั่งที่มีการระบุรายละเอียดอย่างชัดเจนในตอนนี้ในขณะที่ลักษณะทางกายภาพยังคงอยู่เหนือระดับน้ำทะเล อาจเป็นมูลฐานทางกฎหมายในการอ้างสิทธิอธิปไตยในอาณาเขตทางทะเลหากแผ่นดินจมอยู่ใต้น้ำ การจัดทำแผนที่แม้ในช่วงน้ำลดจะช่วยกำหนดแนวเขตที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นที่แสดงให้เห็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศที่มีอยู่แต่เดิม

“ประเทศชายฝั่งทุกประเทศควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับการปักปันเขตแดนทางทะเล ไม่เพียงแต่จะต้องมีสนธิสัญญาเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังต้องระบุเขตแดนด้วยพิกัดทางภูมิศาสตร์ในสนธิสัญญาดังกล่าวเหล่านี้อีกด้วย” นางโรสแมรี เรย์ฟิวซ์ ศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ในออสเตรเลียกล่าวกับ เดอะนิวยอร์ก ไทมส์

หลายประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกได้กำหนดและบันทึกเขตแดนชายฝั่งของตนภายในประเทศเอาไว้แล้วในเวลาน้ำลด แต่การอ้างสิทธินี้จะต้องมีการบันทึกไว้ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านหรือกับหน่วยงานทางด้านกฎหมายทางทะเลบางแห่งเพื่อให้แน่ใจว่าการอ้างสิทธิเหล่านั้นจะยังคงอยู่เมื่อแผ่นดินหายไป นางเรย์ฟิวซ์กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียแผ่นดินรีบดำเนินการโดยทันที เพราะไม่เหลือเวลาให้นิ่งนอนใจได้อีกต่อไปแล้ว

ความไม่มั่นคงทางน้ำ

เมื่อเร็ว ๆ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 บรรดานักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ ในรัฐบริติชโคลัมเบียระบุว่า หลายประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็กในแปซิฟิกได้ประสบกับ “ความกดดันในเรื่องน้ำอย่างมีนัยสำคัญ” เพราะปริมาณน้ำจืดที่ลดลง เรื่องนี้เป็นปัญหาในหลาย ๆ รูปแบบ นางไดอานา แอลเลน กล่าวกับเรดิโอ นิวซีแลนด์

สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้น้ำดื่มที่อยู่ใต้ดินเกิดการระเหยมากยิ่งขึ้น เมื่อบวกกับการขาดปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอต่อการเติมเต็มในชั้นหินอุ้มน้ำ ก็จะส่งผลให้น้ำขาดความสมดุลเพราะมีน้ำที่ปนเกลือมากเกินไปและมีน้ำที่ดื่มได้น้อยเกินไป

“หมู่เกาะบางแห่งมีข้อบ่งชี้แล้วว่า เมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้ในภูมิภาคนี้กับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ร้อยละ 44 ของพื้นที่หมู่เกาะที่เราสำรวจตกอยู่ในภาวะกดดันในเรื่องน้ำเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลก” นางแอลเลนกล่าวกับเรดิโอ นิวซีแลนด์

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียได้ระบุว่า ภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิกทั้งหมดนั้นเป็น “จุดศูนย์รวมของความไม่มั่นคงทางน้ำ” ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียอธิบายว่า ความไม่มั่นคงทางด้านน้ำดื่มคือการที่ประชากรเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงน้ำและแหล่งน้ำที่สะอาด

แม้จะเป็นตัวเลขที่น่ากลัวและความท้าทายต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มว่าจะคงอยู่ต่อไป แต่ก็มีความก้าวหน้าบางอย่างเกิดขึ้น ตามที่ระบุในรายงานเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 ของ อีโค บิซิเนส ซึ่งเป็นบริษัทสื่อที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสะอาดทั่วทั้งอินโดเอเชียแปซิฟิก ตัวเลขของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียชี้ให้เห็นว่า ในปี พ.ศ. 2556 พื้นที่เศรษฐกิจ 38 แห่งจาก 49 แห่งที่ถูกประเมินอยู่ในภาวะ “ขาดความมั่นคงทางน้ำ” ขณะที่ในปี พ.ศ. 2559 มีพื้นที่เศรษฐกิจที่ขาดความมั่นคงทางน้ำ 29 แห่งจากทั้งหมด 48 แห่งที่ถูกประเมิน ตามที่ระบุในรายงานของ อีโค บิซิเนส

อย่างไรก็ตาม ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียระบุว่า “การลงทุนที่สำคัญและความเป็นผู้นำคือปัจจัยที่จำเป็นต่อการผลักดันให้หลาย ๆ เมืองในเอเชียและแปซิฟิกอยู่ในวิถีทางสู่ความมั่นคงทางน้ำในชุมชนเมือง และกลายเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับน้ำ”

ประเด็นเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐาน

ประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผูู้พลัดถิ่นมีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่การถกเถียงกันอย่างเอาจริงเอาจัง

“ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เป็นเหตุให้ประชาชนต้องย้ายถิ่นคือหนึ่งในภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่สำคัญที่จะส่งผลอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของภูมิภาค” ศูนย์พัฒนานโยบายระบุ “สภาพอากาศที่รุนแรง การขาดแคลนทรัพยากรและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น คือปัจจัยกระตุ้นความตึงเครียดที่อาจเป็นสาเหตุของการอพยพประชากรขนาดใหญ่ ที่นำไปสู่การขาดเสถียรภาพทางสังคมภายในประเทศและในบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน”

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการแยกแยะความแตกต่างระหว่างผู้ย้ายถิ่นที่ไม่มีเอกสารบันทึกหรือผู้ขอลี้ภัยและประชาชน (หรืออาจจะเป็นประเทศ) ที่ย้ายถิ่นฐานอันเนื่องมาจากเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
“ผู้ที่ย้ายถิ่นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ผู้ลี้ภัยภายใต้ฏหมายระหว่างประเทศ ไม่ได้โยกย้ายเพราะความขัดแย้งที่รุนแรงและไม่ได้คาดคิดว่าจะมีการโยกย้ายเข้าไปในพื้นที่ที่มีความผันผวน” บทวิจัยของวารสาร เอิร์ทส ฟิวเจอร์ ระบุ

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียประเมินว่า เพียงแค่ในช่วงปี พ.ศ. 2553 ถึง 2554 มีประชาชนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นกว่า 42 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวนฉับพลัน

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดความท้าทายเพิ่มขึ้นหลายประการต่อภาคการเกษตรและป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการบริหารจัดการสภาพอากาศที่รุนแรงที่คาดว่าจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น ภูมิภาคนี้มีมักจะมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศที่รุนแรง เช่น อุทกภัย ฝนตกหนัก ภัยแล้งและพายุหมุนเขตร้อน และสิ่งเหล่านี้คือต้นเหตุของการสูญเสียการผลิตที่สำคัญในภาคการเกษตรและป่าไม้ในอดีตที่ผ่านมา แม้ว่าเกษตรกร ผู้ดูแลป่าไม้และผู้ปลูกต้นไม้จะพัฒนาระบบการเกษตรและป่าไม้ที่ช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ แต่ระดับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวแปรสภาพภูมิอากาศหลัก ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในศตวรรษนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดความท้าทายใหม่ที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

รายงานของวารสาร เอิร์ทส ฟิวเจอร์ ระบุข้อพิจารณาที่เป็นไปได้หลายประการสำหรับประเทศที่พลัดถิ่น รวมถึงการสร้างหมู่เกาะใหม่ขึ้นทั้งหมด ตัวเลือกต่าง ๆ ทางด้านวิศวกรรมอาจทำให้สามารถสร้างหมู่เกาะใหม่ได้ รวมถึงหมู่เกาะลอยน้ำที่ถูกตรึงอยู่กับพื้นทะเลหรือยึดกับเกาะที่จมอยู่ใต้น้ำ และการสร้างรัฐเกาะเทียมเพื่ออยู่อาศัย

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งแนะนำให้พัฒนาชุมชนหลังการย้ายถิ่นไปยังประเทศเจ้าบ้าน การพัฒนาดังกล่าวจะต้องมีการรวมตัวกันภายในชุมชนและมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะสูญเสียภาษา อัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติที่ย้ายถิ่น
นักวิจัยเริ่มตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว จนกระทั่งบัดนี้ คำถามต่าง ๆ เกี่ยวกับหมู่เกาะที่ถูกทิ้งร้างก็ยังคงมีอยู่ คำถามเกี่ยวกับการประมง แหล่งทรัพยากรแร่ธาตุและสิทธิในการเดินเรือ

“คำถามดังกล่าวเพิ่งจะได้รับการวิเคราะห์ แต่ก็มีคำตอบบางอย่างผุดขึ้นมา นอกจากนี้ การขาดข้อมูลเปรียบเทียบและเรื่องราวความเป็นมาก็เป็นอุปสรรคต่อการวิเคราะห์เช่นกัน” บทความของวารสาร เอิร์ทส ฟิวเจอร์ ระบุ
บรรดาประเทศที่เป็นเกาะน่าจะยินดีมากกว่าหากไม่ต้องเลือกทางเลือกใด ๆ เลย แต่ในความเป็นจริงนั้น ประเทศต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มจะต้องสำรวจทางเลือกทางกฎหมายเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

“ประชาชนของประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็กที่กำลังพัฒนาไม่ได้เป็นคนกลุ่มเดียวที่มีมุมมองด้านเดียวหรือมีเสียงเดียว สิ่งนี้คือความท้าทายและโอกาสในการกำหนดและการดำเนินกระบวนการตัดสินในเรื่องการย้ายถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และยอมรับว่ากระบวนการตัดสินใจดังกล่าวจะไม่หายไปจากการปฏิสัมพันธ์อื่น ๆ ทางสังคม สิ่งแวดล้อมและการกำกับดูแล” บทความของวารสาร เอิร์ทส ฟิวเจอร์ สรุป “แทนที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการย้ายถิ่นจะเป็นภัยคุกคามใหม่หรือโอกาสโดยเบ็ดเสร็จสำหรับประชาชนของรัฐที่เป็นเกาะขนาดเล็กที่กำลังพัฒนา สองสิ่งนี้และความเชื่อมโยงระหว่างกันคือองค์ประกอบเพิ่มเติมในกระบวนการตัดสินในที่ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนของรัฐที่เป็นเกาะขนาดเล็กที่กำลังพัฒนาจะต้องเผชิญเกี่ยวกับอนาคตของประเทศและวัฒนธรรม”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button