ติดอันดับ

มาเลเซียวางแผนปรับปรุงกองทัพเรือเพื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย

รอยเตอร์

มาเลเซียกำลังเร่งปรับปรุงกองเรือที่เก่าแก่ของกองทัพเรือ ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากการไหลบ่าของกลุ่มหัวรุนแรงของรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรียที่หลบหนีจากเมืองโมซูล และจากความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในทะเลจีนใต้

ค่าใช้จ่ายทางทหารของประเทศต่าง ๆ ที่สำคัญโดยรอบทะเลจีนใต้คาดว่าจะสูงถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 8.7 พันล้านบาท) ภายในปี พ.ศ. 2563 ไอเอชเอส เจนส์ ดีเฟนส์ วีคลี ระบุเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 และมาเลเซียตั้งใจที่จะปรับปรุงขีดความสามารถของตนไปพร้อมกันกับประเทศอื่น ๆ ในทะเลจีนใต้ที่มีข้อพิพาทอย่างดุเดือด แม้งบประมาณด้านการป้องกันประเทศของมาเลเซียจะลดน้อยลงก็ตาม

กองทัพเรือมาเลเซียมุ่งเป้าที่จะแทนที่เรือทั้งหมด 50 ลำในกองเรือที่เก่าแก่ของตน ในขณะที่มาเลเซียตัดงบทางทหารทั้งหมดลงร้อยละ 12.7 ในปีนี้ ซึ่งจะนำโดยการจัดซื้อเรือภารกิจชายฝั่งสี่ลำที่สร้างร่วมกับจีน

“เรือภารกิจชายฝั่งได้รับการออกแบบมาสำหรับความมั่นคงทางทะเลในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดการกับอาชญากรรมข้ามพรมแดน การกระทำอันเป็นโจรสลัด การต่อต้านการก่อการร้าย และปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย” นายกามารูซามาน อาห์หมัด บาดารุดดิน ผู้บัญชาการกองทัพเรือมาเลเซียกล่าว

“เรือเหล่านี้จะมีขีดความสามารถอย่างมากในการจัดการกับภัยคุกคามที่เกิดจากรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย และความกังวลด้านความมั่นคงทางทะเลอื่น ๆ” นายกามารูซามานกล่าว

กองทัพเรือหวังว่าจะได้รับเรือภารกิจชายฝั่ง 18 ลำในท้ายที่สุด

นายกามารูซามานกล่าวว่า มาเลเซียยังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการเจรจากับดีซีเอ็นเอส ซึ่งเป็นบริษัทต่อเรือของฝรั่งเศสในการเปิดตัวโครงการสร้างเรือรบชายฝั่งที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งนายกามารูซามานกล่าวว่าน่าจะประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมหรือกันยายน พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ กองทัพเรือยังมุ่งหวังที่จะได้มาซึ่งเรือสนับสนุนอเนกประสงค์ลำใหม่สามลำและเรือดำน้ำเพิ่มเติมอีกสองลำเพื่อทำให้กองเรือสมบูรณ์ (ภาพ: เรือของกองทัพเรือมาเลเซียลาดตระเวนในน่านน้ำใกล้กับเกาะลังกาวี)

การเสริมกำลังของกองทัพเรือเกิดขึ้นในขณะที่ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นในทะเลจีนใต้ ซึ่งการสร้างเกาะเทียมของรัฐบาลจีนได้สร้างความกังวลให้กับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน และเติมเชื้อเพลิงแห่งความขัดแย้งระหว่างกองทัพเรือจีนและกองทัพอากาศสหรัฐฯ

จีนอ้างสิทธิส่วนใหญ่เหนือทะเลจีนใต้ซึ่งมีมูลค่าการค้าขายผ่านการขนส่งทางเรือปีละ 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 175 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนามยังอ้างสิทธิทับซ้อนเหนือทะเลจีนใต้ด้วยเช่นกัน

ภายใต้การบริหารของนายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ค่าใช้จ่ายทางทหารทั้งหมดพุ่งสูงขึ้นประมาณร้อยละ 26 และรัฐบาลทหารของไทยอนุมัติเงินจำนวน 1.35 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 389 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สำหรับข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำจากจีนในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 หลังจากระงับการซื้อเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จำเป็นต้องแบ่งปันข่าวกรองหากประเทศเหล่านี้ต้องการให้การซื้อที่มีต้นทุนสูงของตนเกิดประโยชน์ นายชาร์ริมาน ล็อคแมน นักวิเคราะห์อาวุโสแห่งสถาบันการศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศที่ตั้งในกรุงกัวลาลัมเปอร์กล่าว

นายชาร์ริมานกล่าวว่า การปรับปรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ดังเช่นโครงการเรือภารกิจชายฝั่งของมาเลเซียเป็นสิ่งสำคัญ แต่เน้นย้ำว่าการจัดซื้อที่มีมูลค่าสูงดังกล่าวจะไร้ประโยชน์หากปราศจากการแบ่งปันข่าวกรองที่เข้มแข็งระหว่างสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยเครือข่ายอุปกรณ์ตรวจการณ์ที่กว้างขวาง

“เรากำลังพูดถึงเครื่องบินลาดตระเวนทางทหาร เรดาร์ โดรน และด้วยจำนวนที่เพิ่มขึ้น ปริมาณคือคุณภาพในตัวของมันเอง มันไม่มีเหตุผลที่จะต้องการอาวุธยุทโธปกรณ์ขั้นสูงสุด แต่ในปริมาณเพียงเล็กน้อย” นายชาร์ริมานกล่าว “อาวุธยุทโธปกรณ์ที่สนับสนุนการรับรู้ข่าวสารทางทะเลควรเป็นความสำคัญลำดับแรกสำหรับทุกประเทศ คุณไม่สามารถต่อสู้กับสิ่งที่คุณไม่สามารถมองเห็นได้”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button