เรื่องเด่น

อาวุธลอกเลียนแบบ ของจีน

รัฐบาลจีนใช้ “เทคโนโลยีการลอกเลียนแบบ” จากเทคโนโลยีของประเทศอื่นๆ เพื่อสร้างอาวุธให้กับกองทัพของตน

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

เป็นที่ทราบกันดีว่า จีนกำลังสะสมสรรพอาวุธในคลังโดยการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ จำนวนมาก อาทิ เครื่องบินขับไล่ไอพ่น ขีปนาวุธ โดรน เฮลิคอปเตอร์ รถถัง เรือดำน้ำและเรือรบ

การสะสมอาวุธของรัฐบาลจีนได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณกลาโหมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มีการเพิ่มงบประมาณของกองทัพอย่างต่อเนื่องในอัตราที่น่าจะไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10

ซ้าย: เครื่องบิน ซี-17 โกลบมาสเตอร์ ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ บินอยู่เหนือฐานทัพอากาศแทรวิส
ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
กองทัพอากาศสหรัฐฯ

ปัจจุบัน ฐานทัพ ท่าเรือและสนามบินของจีนนั้นเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย อย่างไรก็ตาม ในสายตาของชาติตะวันตก เครื่องบินและอาวุธมากมายที่ทันสมัยเหล่านี้ดูแล้วค่อนข้างจะคุ้นตา ความจริงแล้ว มันมีความคล้ายคลึงกันอย่างยิ่งกับการออกแบบของสหรัฐอเมริกา บ้างก็เหมือนกับของรัสเซีย ยุโรปหรืออิสราเอล

บรรดานักวิเคราะห์ทางทหารกล่าวว่า เห็นได้อย่างชัดเจนว่าจีนกำลังลอกเลียนเทคโนโลยีกลาโหมของประเทศอื่น ๆ

โดยเรียกเทคโนโลยีดังกล่าวว่า “เทคโนโลยีการลอกเลียนแบบ”

“เทคโนโลยีบางอย่างที่ใช้ในการออกแบบเหล่านี้เกือบจะแน่ใจได้ว่าได้มาจากภารกิจการสอดแนมทางไซเบอร์อันแข็งแกร่งของจีน” สถาบันราชนาวีกองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุในรายงานในเว็บไซต์ข่าวของตนเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 “เจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่าแฮกเกอร์ของกองทัพจีนที่ทำการ ‘ลาดตระเวนทางเทคนิค’ ได้บรรลุผลสำเร็จในการฉกฉวยเอกสารทางเทคนิคที่เป็นความลับขั้นสูงในหลาย ๆ ครั้ง ข้อมูลทางเทคนิคที่สำคัญยิ่งเหล่านี้ที่ทราบว่าถูกขโมยไป ขณะนี้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในรูปของอาวุธรุ่นล่าสุดหลาย ๆ รุ่นของจีน”

คณะกรรมการอำนวยการด้านวิทยาศาสตร์กลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคณะที่ปรึกษาของกองบัญชาการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รายงานในปี พ.ศ. 2556 ว่า แบบแปลนในการสร้างระบบอาวุธขั้นสูงของสหรัฐฯ กว่า 20 แบบได้ถูกแฮกเกอร์ของจีนค้นพบ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะวอชิงตัน โพสต์ อาวุธเหล่านี้ประกอบไปด้วย อากาศยาน วี-22 ออสเปรย์ ชนิดปรับแกนใบพัดได้ ขีปนาวุธแพทริออต พีเอซี-3 และระบบต่อต้านขีปนาวุธสองระบบ ได้แก่ ระบบอำนวยการรบเอจิสของกองทัพเรือสหรัฐฯ และระบบป้องกันขีปนาวุธในระดับบรรยากาศชั้นสูงของกองทัพบกสหรัฐฯ

ยังมีกรณีอื่น ๆ เช่น ยานยนต์ยุทธวิธีฮัมวีของสหรัฐฯ หรือเครื่องบินขับไล่ซุคฮอย ซู-27 ของรัสเซีย มีรายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่เชื่อว่าจีนได้นำตัวอย่างของยานยนต์และเครื่องบินเหล่านี้มาแยกชิ้นส่วนออกจากกันและใช้กระบวนการวิศวกรรมย้อนกลับเพื่อสร้างมันขึ้นมาใหม่

เครื่องบิน วาย-20 ซึ่งเป็นเครื่องบินลำเลียงทางทหารที่ใหญ่ที่สุดของจีน บินแสดงในงานแสดงการบินที่เมืองจูไห่ในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน
เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

สถาบันราชนาวีกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้รวบรวมบัญชีรายชื่ออาวุธและยานพาหนะของสหรัฐฯ ที่ดูเหมือนจะถูกนำไปลอกเลียนแบบ โดยจับคู่กับอาวุธและยานพาหนะของจีนที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ เครื่องบินขับไล่ไอพ่นโจมตีร่วม เอฟ-35 และเสิ่นหยาง เจ-31 เยียร์ฟัลคอน ของจีน ฮัมวี และ ยานยนต์ตงเฝิง อีคิว2050 เบรฟ โซลเยอร์ ของจีน เฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับ เอ็มคิว-8 ไฟเออร์ สเกาต์ และ เอสวียู-200 ฟลายอิง ไทเกอร์ ของจีน อากาศยานต่อสู้ไร้คนขับ เอกซ์-47บี (ยูซีเอวี) และ ลีเจี้ยน ชาร์ป ซอร์ด ยูซีเอวี ของจีน ขีปนาวุธต่อสู้รถถัง เอฟจีเอ็ม-148 จาเวลิน และ หงเจี้ยน-12 เรด แอร์โรว์ ของจีน

“อาวุธยุทโธปกรณ์ของประเทศแผ่นดินใหญ่ในเอเชียอย่างจีนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ดูเหมือนจะถูกสร้างขึ้นหลังรุ่นของสหรัฐฯ ราว ๆ 5 ถึง 10 ปี ซึ่งวิศวกรของจีนได้กล่าวอย่างรุนแรงว่าความคล้ายคลึงดังกล่าวเป็นแค่เรื่องบังเอิญเท่านั้น” ตามรายงานของนิตยสาร ป๊อปปูลาร์ มิแคนิกส์ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558

ต่อไปนี้คือข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธต้นแบบและอาวุธที่มีความคล้ายคลึงกันของจีน

เครื่องบินขับไล่ไอพ่นโจมตีร่วม เอฟ-35: เอฟ-35 ที่ผลิตโดยบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน เป็นอากาศยานล่องหนรุ่นล่าสุดในคลังสรรพอาวุธของสหรัฐฯ เครื่องบินรุ่นนี้และรุ่น เอฟ-22 เป็นเครื่องบินขับไล่ล่องหนหลบหลีกเรดาร์รุ่นก้าวหน้าที่สุดของกองทัพสหรัฐ อากาศยานเสิ่นหยาง เจ-31 เยียร์ฟัลคอน ของจีนนั้นถูกพบเห็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2555 และมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ เอฟ-35 เป็นอย่างมากตามการรายงานของหลายสื่อ การพัฒนาเครื่องบินอย่างรวดเร็วกระตุ้นความสงสัยว่าเครื่องบินดังกล่าวถูกสร้างขึ้นจากข้อมูลที่ขโมยมา ตามรายงานของนิตยสาร ป๊อปปูลาร์ มิแคนิกส์ 

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 นักธุรกิจชาวจีนที่อาศัยอยู่ในแคนาดาได้รับสารภาพว่าตนได้ทำงานร่วมกับแฮกเกอร์ชาวจีนสองรายเพื่อขโมยข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องบินขับไล่ล่องหน เอฟ-35 และเอฟ-22 และเครื่องบินลำเลียงทางทหาร ซี-17 ตามข้อมูลของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ซี-17 โกลบมาสเตอร์ 3: กองทัพอากาศสหรัฐฯ ใช้เครื่องบินลำเลียงหนักเหล่านี้ในการขนส่งทหารและสินค้าทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2554 วิศวกรการบินและอวกาศชาวจีนที่อาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียได้ถูกตัดสินจำคุก 24 ปี โทษฐานสอดแนมข้อมูลให้กับจีนและขโมยแบบแปลนการสร้างเครื่องบิน ซี-17 ตามข้อมูลของสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ เครื่องบิน เซียน วาย-20 ของจีนที่ขึ้นบินครั้งแรกในปี พ.ศ. 2556 นั้นมีลักษณะคล้ายกันอย่างน่าทึ่งกับ ซี-17

เอ็มคิว-1 พรีเดเตอร์: จีนได้สังเกตเห็นความสำเร็จของสหรัฐฯ ในการใช้โดรนพรีเดเตอร์และรีเปอร์ในอิรักและอัฟกานิสถาน โดยทำหน้าที่เป็นระบบลาดตระเวนทางอากาศที่มีขีดความสามารถในการยิงขีปนาวุธจากอากาศสู่พื้น ด้วยเหตุนี้ จีนจึงเริ่มพยายามลอกเลียนแบบโดรนเหล่านี้ นักวิเคราะห์ทางทหารกล่าวกับหนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์ก ไทมส์ ในปี พ.ศ. 2556

เครื่องบินขับไล่ล่องหน เจ-31 ของจีน บินแสดงในงานแสดงการบินที่เมืองจูไห่ ประเทศจีน เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

“โดรนของจีนที่ปรากฏให้เห็นที่งานแสดงการบินเมื่อเร็ว ๆ นี้มีความคล้ายคลึงกับโดรนของต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง” เดอะไทมส์ รายงาน

ตัวอย่างหนึ่งคือ วิง หลุง ซึ่งบางลำจะเรียกว่าเทโรแด็กทิล หรือ เทโรซอร์ โดรนนี้มีความคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับพรีเดเตอร์ โดรนวิง หลุง ถูกส่งออกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554 ตามรายงานของ พีเพิลส์ เดลี ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของทางการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน หลายประเทศในแอฟริกาและตะวันออกกลางได้ซื้อโดรนเหล่านี้ไปใช้

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ซีเอช-4 หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ไฉ่ หง 4 หรือ เรนโบว์-4 ซึ่งกองทัพอากาศกองทัพปลดปล่อยประชาชนเริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2557 โดรนรุ่นนี้มีลักษณะคล้ายกับโดรนรีเปอร์เป็นอย่างยิ่ง

ซุคฮอย ซู-27: หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย รัสเซียที่มีสภาพการเงินฝืดเคืองได้ขายเครื่องบินขับไล่ไอพ่น ซุคฮอย ซู-27 ซึ่งเป็น “ความภาคภูมิใจของกองทัพอากาศรัสเซีย” ให้กับจีนกว่า 20 ลำ ตามรายงานของ หนังสือพิมพ์ เดอะวอลล์สตรีท เจอร์นัล จากนั้นรัฐบาลจีนได้เจรจาซื้อสิทธิบัตรการผลิตเพื่อสร้างเครื่องบินรุ่นนี้อีก 200 ลำในประเทศจีนโดยใช้ส่วนประกอบของรัสเซีย

หลังจากที่สร้างเครื่องบินดังกล่าวได้ราว ๆ 100 ลำ จีนได้ยกเลิกสัญญาในปี พ.ศ. 2547 “ต่อมาไม่นาน จีนได้เปิดตัว เสิ่นหยาง เจ-11บี ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ที่สร้างและติดตั้งยุทโธปกรณ์ในประเทศที่มีลักษณะเหมือนกับ ซู-27 สร้างความโกรธเคืองให้กับรัสเซียเป็นอย่างมาก” ตามรายงานของสถาบันราชนาวีกองทัพเรือสหรัฐฯ

สถาบันราชนาวีกองทัพเรือสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่ามีอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียหลายชิ้นที่คล้ายคลึงกับของจีน ได้แก่ เครื่องบินขับไล่ ซุคฮอย ซู-33 และ เสิ่นหยาง เจ-15 ฟลายอิง ชาร์ก ของจีน เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้องสเมิร์ช และ พีเอชแอล03 ของจีน ยานยนต์รบทหารราบสะเทินน้ำสะเทินบก บีเอ็มพี-1 และ ดับเบิลยูซี-501 ของจีน ปืนใหญ่อัตตาจรฮาวอิตเซอร์ 2เอส19 เอ็มเอสทีเอ และ พีแอลซี-05 ของจีน อากาศยานลำเลียง อานโตนอฟ อาน-12 คัป และ ส่านซี วาย-9 ของจีน อากาศยานฝึกเหนือเสียง ยาคอฟเลฟ ยัก-130 และ หงตู แอล-15 ฟัลคอน ของจีน

‘ประสิทธิภาพที่ยังไม่ได้รับการทดสอบในการการสู้รบ’

แม้จีนจะใช้เทคโนโลยีการลอกเลียนแบบ แต่ก็ต้องรอดูว่าอาวุธใหม่ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วนี้จะมีประสิทธิภาพเพียงใด

“ผมคิดว่าปัญหาใหญ่เกี่ยวกับอาวุธของจีนทั้งหมด ซึ่งรวมถึงยุทโธปกรณ์ที่ลอกเลียนแบบของชาติตะวันตกคือมันยังไม่ได้รับการทดสอบในการสู้รบ” นายเอริก เวอร์ทไฮม์ นักวิเคราะห์เกี่ยวกับกองทัพเรือ ผู้เขียนหนังสือ “กองเรือรบของโลก” ของสถาบันราชนาวีกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวกับสถาบันนี้ “เรายังไม่ทราบว่ามันทำงานได้มีประสิทธิภาพเพียงใด ดังนั้นแม้จะมีราคาถูกกกว่ายุทโธปกรณ์ของชาติตะวันตกมาก แต่หลายประเทศก็ลังเลที่จะยอมรับความเสี่ยงด้วยการซื้อยุทโธปกรณ์ที่ยังไม่ได้รับการทดสอบขั้นสุดท้ายในการสู้รบ”

เครื่องบินขับไล่โจมตีร่วม เอฟ-35 ของกองทัพเรือสหรัฐฯ บินอยู่เหนืออ่าวเชซาพีก ซึ่งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ
เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

บรรดานักวิเคราะห์ทางด้านกลาโหมกล่าวว่า การที่จีนเริ่มทำการลอกเลียนแบบเทคโนโลยีของกองทัพประเทศคู่แข่งนั้นเป็นเพราะจีนถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกนับตั้งแต่ที่มีการปราบปรามการประท้วงที่่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี พ.ศ. 2532

ทางการจีนปฏิเสธว่าตนไม่ได้ลอกเลียนแบบอาวุธยุทโธปกรณ์ของประเทศอื่น ๆ

“คุณพูดไม่ได้ว่ามันเป็นแค่การลอกเลียนแบบ” นายจาง ซิงกวอ รองประธานบริษัทอุตสาหกรรมการบินแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอากาศยานที่รัฐเป็นเจ้าของกล่าวกับ เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล เกี่ยวกับเครื่องบินขับไล่ไอพ่น เจ-11บี ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับเครื่องบินขับไล่ ซู-27 ของรัสเซียไปเกือบทุกอย่าง “โทรศัพท์มือถือทั้งหมดก็มีลักษณะคล้าย ๆ กัน แต่เทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วมาก ถึงแม้ว่ามันจะดูเหมือนกัน แต่องค์ประกอบทุกอย่างภายในนั้นไม่มีทางที่จะเหมือนกันได้”

นายเกิง หยางเฉิง โฆษกกระทรวงกลาโหมของจีนได้กล่าวในลักษณะคล้าย ๆ กันต่อ พีเพิลส์ เดลี ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555

“กิจการทางทหารของโลกมีกฎหมายแห่งการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของความจริง” นายหยางเฉิงกล่าว “อาวุธหลายอย่างมีหลักในการออกแบบที่เหมือนกัน และวิธีการสั่งการและการป้องกันบางอย่างก็เหมือนกัน” นายหยางเฉิงยืนยันว่า การสรุปว่าจีนลอกเลียนแบบเทคโนโลยีด้วยการเปรียบเทียบแค่ลักษณะภายนอกของอาวุธจึงไม่ใช่คำกล่าวที่ “เป็นมืออาชีพ”

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญของชาติตะวันตกไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button