สื่อและวิทยาการแผนก

หุ่นยนต์พยากรณ์ฝน

เพื่อให้การพยากรณ์มรสุมหรือลมประจำฤดูของเอเชียใต้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น บรรดานักวิทยาศาสตร์จึงวางแผนปล่อยหุ่นยนต์ในอ่าวเบงกอลเพื่อศึกษาว่าสภาพของมหาสมุทรมีผลอย่างไรต่อรูปแบบการตกของฝน

กว่าร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำฝนตลอดทั้งปีในอินเดียมาจากมรสุมซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน เกษตรกรหลายล้านคนต่างรอให้ถึงฤดูมรสุม หากฝนตกล่าช้าก็อาจทำให้พืชที่เพาะปลูกไว้เกิดความเสียหาย แต่การพยากรณ์ว่าฝนจะตกเมื่อไรนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากมักจะได้รับอิทธิพลจากสภาพอากาศ และการพยากรณ์ก็มีโอกาสผิดพลาดมากขึ้นเมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปประกอบกับมีมลพิษทางอากาศ

“มันเป็นระบบที่ซับซ้อน” นายเบน เว็บเบอร์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียในสหราชอาณาจักร ซึ่งกำลังทำโครงการมูลค่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(หรือประมาณ 386 ล้านบาท) กล่าว “เรายังไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการที่เกิดขึ้นในอ่าวเบงกอลมากนัก”

เรื่องสำคัญที่ต้องหาคำตอบให้ได้คือ กระแสน้ำมีลักษณะอย่างไร ทำไมน้ำที่เย็นกว่าและจืดกว่าจึงไหลไปทางตอนเหนือของอ่าว ขณะที่น้ำที่อุ่นกว่าและเค็มกว่ากลับไหลลงทางใต้จากทะเลอาหรับ แม้นักวิทยาศาสตร์จะทราบดีว่าการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิพื้นผิวแค่เพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงได้ แต่ก็ไม่เคยศึกษาการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวระหว่างฤดูมรสุมอย่างละเอียด

“เราไม่รู้ว่าจะค้นพบอะไรบ้าง” นายเว็บเบอร์กล่าว นักวิทยาศาสตร์ซึ่งทำงานบนเรือวิจัยของอินเดียซึ่งลอยลำอยู่ใกล้กับเมืองท่าเจนไน จะใช้เวลาหนึ่งเดือนในการปล่อยหุ่นยนต์ใต้น้ำเจ็ดตัวตลอดระยะทาง 400 กิโลเมตร หุ่นยนต์จะถูกตั้งโปรแกรมให้สำรวจใต้น้ำและเหนือน้ำ โดยสามารถดำลงน้ำได้ลึก 1,000 เมตร เพื่อวัดความเค็ม อุณหภูมิและกระแสน้ำ

ในเวลาเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง และรัฐบาลอินเดียก็จะทำการตรวจวัดชั้นบรรยากาศ นักวิทยาศาสตร์หวังว่าเมื่อนำข้อมูลทั้งสองชุดมาเปรียบเทียบกันก็จะช่วยให้มีความเข้าใจมากขึ้นว่าสภาพของมหาสมุทรมีผลอย่างไรต่อรูปแบบของมรสุม ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button