ติดอันดับ

ฟิลิปปินส์จะไม่ ‘หันเหจาก’ คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับจีน

รอยเตอร์

ฟิลิปปินส์กล่าวว่าจะไม่ “หันเหจาก” คำตัดสินของศาลระหว่างประเทศที่ปฏิเสธการอ้างสิทธิที่ครอบคลุมเป็นบริเวณกว้างในทะเลจีนใต้ของจีน แต่ฟิลิปปินส์ต้องสร้างความไว้วางใจกับจีนก่อนที่จะเจรจาปัญหาในระดับทวิภาคีที่อ่อนไหว

จีนปฏิเสธคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในกรุงเฮกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 หลังจากที่ศาลลงความเห็นว่าจีนได้ละเมิดสิทธิอธิปไตยของฟิลิปปินส์โดยการคุกคามเรือและการประมง รวมทั้งโครงการน้ำมันของฟิลิปปินส์

คำตัดสินในคดีที่รัฐบาลชุดก่อนของฟิลิปปินส์นำขึ้นสู่ศาลได้สร้างความสัมพันธ์ที่ไม่น่าพึงพอใจกับจีน อย่างไรก็ตาม นายโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ได้แสวงหาหนทางที่จะมีส่วนร่วมกับจีน

นายเพอร์เฟคโต ยาเซย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2559 โดยอธิบายว่าความสัมพันธ์ที่ “ฟื้นคืนขึ้นอีกครั้ง” กับจีนเป็นหนึ่งในความสำคัญลำดับแรกของนายดูเตอร์เต และรัฐบาลได้ทำงานเพื่อสร้าง “ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ” กับจีน

“เราจะยังคงดำเนินการเช่นนี้ต่อไปในอนาคตที่สามารถมองเห็นได้ จนกว่าจะถึงเวลาที่เราจะบรรลุระดับความไว้วางใจที่จะช่วยให้เราเจรจาปัญหาที่ละเอียดอ่อนมากขึ้นในความสัมพันธ์แบบทวิภาคีของเรา” นายยาเซย์กล่าว

รัฐบาลยืนยันอีกครั้งว่า “ฟิลิปปินส์ให้ความเคารพและยึดมั่นต่อคำตัดสินที่สำคัญนี้” และจะ “ปฏิบัติตามปัจจัยกำหนดของคำตัดสิน” เมื่อต้องจัดการกับประเด็นเรื่องการอ้างสิทธิทางทะเลในทะเลจีนใต้ นายยาเซย์กล่าว

“ผมยังต้องการเน้นถึงสิ่งที่ท่านประธานาธิบดีได้กล่าวไว้ในอดีตว่า เขาจะไม่หันเหจากเนื้อหาของคำตัดสิน” นายยาเซย์กล่าว

นายอัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเคยกล่าวว่า เขาขุ่นเคืองในการที่รัฐบาลละทิ้งคำตัดสินของศาล “คำยืนยันดังกล่าวข้างต้นเป็นการกระทำที่น่าเสียใจมากที่สุดหลังจากเราได้แสดงจุดยืนที่แน่วแน่ต่อคำตัดสินในการปกป้องสิ่งที่เป็นของเรา และเราเป็นผู้ชนะ” นายเดล โรซาริโอกล่าว “ตอนนี้ดูเหมือนว่าเรากำลังอยู่ในเส้นทางที่จะสละสิ่งที่เราได้รับซึ่งทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนของเรา”

นายเดล โรซาริโอมีบทบาทสำคัญในการท้าทายสิ่งที่เรียกว่า เส้นประ 10 เส้นบนแผนที่ของจีน ซึ่งอ้างสิทธิที่ครอบคลุมเป็นบริเวณกว้างในทะเลจีนใต้ และเป็นผู้ยื่นฟ้องคดีในกรุงเฮก

นอกจากนี้ บรูไน มาเลเซีย ไต้หวัน และเวียดนามยังได้อ้างสิทธิบนน่านน้ำดังกล่าว ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของสินค้ามูลค่าประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 175 ล้านล้านบาท) ต่อปี

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button