เรื่องเด่น

การแก้ปัญหาแบบเอกภาคี ทวิภาคี หรือพหุภาคี

วิธีใดจะแก้ปัญหาความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ได้ดีที่สุด

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ถึงสองระลอกในเนปาลเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. 2558 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 8,635 คนและบาดเจ็บอีกกว่า 21,485 คน นับเป็นภัยพิบัติครั้งรุนแรงสาหัสที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประเทศนี้ การตอบสนองต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติดังกล่าวในระดับนานาชาติและความร่วมมือจากทั่วภูมิภาคนับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ทันทีที่เกิดเหตุ บรรดาชาติต่าง ๆ 18 ประเทศได้รีบส่งกำลังทหารมาทำงานร่วมกันเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ อินเดียส่งเฮลิคอปเตอร์มาสนับสนุน 13 ลำรวมทั้งเฮลิคอปเตอร์รุ่นเอ็มไอ-17 ของรัสเซียและเฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์น้ำหนักเบารุ่นก้าวหน้าของอินเดียเอง สหรัฐฯ ส่งเฮลิคอปเตอร์ 7 ลำ และจีนส่งเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำเข้ามาช่วยในปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ การแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์รวมทั้งภารกิจอื่น ๆ เว็บไซต์ indianexpress.com รายงาน

การตอบสนองแบบพหุภาคีในภูมิภาคต่อทุกเหตุการณ์นับตั้งแต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เหตุวิกฤติทางสาธารณสุขไปจนถึงการค้ามนุษย์และการปล้นสะดมทางน้ำได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิกและที่อื่น ๆ นอกเหนือจากการบรรเทาทุกข์เพื่อมนุษยธรรมในเนปาลเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศต่าง ๆ ในอินโดเอเชียแปซิฟิกยังประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมกันในด้านอื่น ๆ ตั้งแต่การตอบสนองต่อวิกฤติการระบาดของไวรัสอีโบลาในเซียร์ราลีโอน ไลบีเรียและกินี ไปจนถึงภารกิจต่อต้านการปล้นสะดมทางน้ำในคาบสมุทรโซมาลี

ประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคเรียนรู้วิธีที่จะแก้ปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ ในฐานะผู้มีส่วนร่วมที่มีความรับผิดชอบ แม้กระทั่งในเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น เช่น ความขัดแย้งทางด้านอาณาเขตระหว่างประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค เมื่อพิจารณาท่าทีระหว่างอินเดียและจีนเกี่ยวกับข้อพิพาทชายแดน เช่น เส้นแมกมาฮอนที่อังกฤษได้กำหนดให้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนในการทำสนธิสัญญากับทิเบตในปี พ.ศ. 2457 เมื่อครั้งที่ยังควบคุมพื้นที่บริเวณนี้ ในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 นายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดียกล่าวว่าตนและนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนจะ “หาทางออกที่ยุติธรรม เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน” สำหรับประเด็นนี้ นายกรัฐมนตรีหลี่เห็นพ้องกับนายกรัฐมนตรีอินเดียโดยตอบว่า “ผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศสำคัญกว่าความเห็นที่ไม่ตรงกันของเรามากนัก” ตามที่เว็บไซต์ lankaherald.com ภาคภาษาอังกฤษรายงานเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องแก้ปัญหาความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ประเทศที่มีบทบาทสำคัญอย่างจีนกลับปฏิเสธการยื่นมือเข้าแก้ไขปัญหาโดยพหุภาคีครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งคำร้องขอให้จีนแสดงออกด้วยความรับผิดชอบในภูมิภาค เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556 พล.อ.ฉาง ว่านฉวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีนได้ประณามการแก้ปัญหาแบบพหุภาคีเพื่อหาข้อยุติของการอ้างสิทธิเกี่ยวกับอาณาเขตในภูมิภาค “การระงับข้อพิพาทเหล่านี้ควรเป็นเรื่องของประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรง” พล.อ.ฉางกล่าวตามรายงานในหนังสือพิมพ์ เดอะวอลสตรีท เจอร์นัล “เราขอคัดค้านความพยายามใด ๆ ที่จะนำข้อพิพาทขึ้นสู่ระดับนานาชาติหรือทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้น” อย่างไรก็ตาม จีนได้ระบุในการแถลงข่าวครั้งเดียวกันนี้ว่าจีนจะหารือกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เพื่อจัดทำแนวปฏิบัติทางทะเลร่วมกันสำหรับภูมิภาคนี้ หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวรายงาน

 

การยั่วยุ

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จีนได้แสดงออกในเชิงรุกมากขึ้นในภูมิภาค และมักจะมีการปฏิบัติอยู่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อยืนกรานตามการอ้างสิทธิของตน ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 จีนประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วคือการเข้าควบคุมพื้นที่พิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เครื่องบินที่เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งแม้จะนอกเหนืออาณาเขตของจีนที่ถูกกำหนดไว้ อาจถูกสอบสวนและสกัดกั้นเพื่อให้พิสูจน์ฝ่ายก่อนที่จะบินเข้าสู่เขตน่านฟ้าอธิปไตย

ความเคลื่อนไหวของจีนสร้างความกังวลว่าจีนมีเจตนาที่จะขยายเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศให้ครอบคลุมพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าอย่างเป็นนัยสำคัญ ตามรายงานของเว็บไซต์เอเชียไทมส์ (www.atimes.com) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556

จีนอาจทำอย่างนั้นจริง ๆ ก็ได้ พล.ร.อ.ซุน เจี้ยนกั๋ว รองเสนาธิการใหญ่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนกล่าวในระหว่างการประชุมแชงกรีลา ไดอะล็อก พ.ศ. 2558 ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า “เราจะจัดตั้งเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศในทะเลจีนใต้หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางทะเลของเราหรือไม่” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะวอลสตรีท เจอร์นัล ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558

การยั่วยุของจีนในภาพรวมดูเหมือนจะมีนัยแอบแฝง เรือของหน่วยยามฝั่งจีนคุกคามชาวประมงเวียดนามและฟิลิปปินส์ครั้งแล้วครั้งเล่า ในขณะเดียวกัน มีการตรวจพบว่าเรือประมงจีนออกไปทำประมงผิดกฎหมายไกลถึงชายฝั่งทวีปแอฟริกาซึ่งอยู่ทางตะวันตก ตามรายงานของรอยเตอร์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 จีนได้ยั่วยุกองกำลังรักษาความมั่นคงทางทะเลของประเทศอื่นด้วยการลอบติดตามเครื่องบิน ขัดขวางงานสำรวจและรุกล้ำอาณาเขตของประเทศอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 หน่วยยามฝั่งจีนได้นำเรือลำหนึ่งไปทอดสมอในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของมาเลเซีย เป็นเหตุให้ทางการมาเลเซียออกมาประท้วง

เรือของหน่วยยามฝั่งไต้หวันลาดตระเวนใกล้กับท่าเรือเกาสงในระหว่างการฝึกซ้อมในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ไต้หวันนำเรือขนาด 3,000 ตันสองลำ ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศมาประจำการท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ รอยเตอร์
เรือของหน่วยยามฝั่งไต้หวันลาดตระเวนใกล้กับท่าเรือเกาสงในระหว่างการฝึกซ้อมในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ไต้หวันนำเรือขนาด 3,000 ตันสองลำ ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศมาประจำการท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ รอยเตอร์

นายวีเจย์ สาคุชา ผู้อำนวยการมูลนิธิทะเลแห่งชาติในกรุงนิวเดลี เขียนในบทวิเคราะห์ของศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 ว่า การกระทำดังกล่าวอาจมีผลทางการทูต เพราะอาจทำให้ “ความสัมพันธ์ย่ำแย่ลงและ ‘นโยบายประสานประโยชน์และความร่วมมือ’ ที่จีนนำมาใช้อย่างชาญฉลาดในการทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยุติลง ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย ซึ่งเป็นโครงการของจีนเพื่อสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค อาจประสบปัญหาร้ายแรงหากจีนไม่ยุติพฤติกรรมยั่วยุในทะเลจีนใต้” นายสาคุชาเขียน “ในทำนองเดียวกัน ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจหันหลังให้กับเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน ซึ่งอาจเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ของผู้นำจีนที่มองว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนทางในการดำเนินโครงการดังกล่าว”

พล.ร.อ.ซุน เจี้ยนกั๋ว รองเสนาธิการใหญ่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนขู่ว่า จีนจะสร้างเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศเหนือทะเลจีนใต้ ในระหว่างการประชุมแชงกรีลา ไดอะล็อก ที่จัดขึ้น ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ
พล.ร.อ.ซุน เจี้ยนกั๋ว รองเสนาธิการใหญ่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนขู่ว่า จีนจะสร้างเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศเหนือทะเลจีนใต้ ในระหว่างการประชุมแชงกรีลา ไดอะล็อก ที่จัดขึ้น ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

การกระทำของจีนสวนทางกับการ กระทำของประเทศอื่น ๆ ที่อ้างสิทธิโดยสิ้นเชิง และเมื่อเปรียบเทียบการกระทำของจีนกับไต้หวันก็จะทำให้เข้าใจสถานการณ์ได้ดีขึ้น ไต้หวันยังไม่เคยพัฒนาสิ่งปลูกสร้างทางทหารในทะเลจีนใต้ แม้ว่าไต้หวันเองก็อ้างสิทธิคล้ายคลึงกันกับจีน รอยเตอร์รายงานในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ว่า ไต้หวันกำลังสร้างท่าเรือมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3.62 พันล้านบาท) บนเกาะอีตูอาบา ซึ่งเป็นเพียงเกาะเดียวในทะเลจีนใต้ที่ไต้หวันครอบครอง ทางการไต้หวันกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ท่าเรือใหม่นี้จะสนับสนุนการค้า ช่วยเหลือชาวประมงน้ำลึกของไต้หวันตลอดจนส่งเสริมการวิจัยทางทะเลและแร่ธาตุในพื้นที่ แต่ละปีจะมีสินค้ามูลค่าราว 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 180 ล้านล้านบาท) เคลื่อนย้ายผ่านทะเลจีนใต้

ในขณะเดียวกัน จีนได้ดำเนินโครงการใหญ่ ๆ มากมาย เช่น การสร้างทางวิ่งเครื่องบินขนาดใหญ่ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ หอเรดาร์ เครื่องผสมคอนกรีตเคลื่อนที่และสิ่งปลูกสร้างที่สนับสนุนงานทางทหารต่าง ๆ เช่น โรงเรียนสำหรับบุตรของทหารบนแนวปะการังที่มีกรณีพิพาทหลายแห่งตามข้อมูลของโครงการเพื่อความโปร่งใสในการเดินทะเลในเอเชียแห่งศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา จนถึงปัจจุบัน ความพยายามในการถมทะเลเพื่อสร้างพื้นที่ของประเทศอื่น ๆ เช่น มาเลเซียและเวียดนามยังมีสัดส่วนที่เล็กกว่าของจีนมาก

กำลังพลของกองทัพเรือฟิลิปปินส์เดินแถวบนชายหาดซาน แอนโทนิโอ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 ก่อนการฝึกเคลื่อนพลสะเทินน้ำสะเทินบกในจังหวัดซัมบาเลส การฝึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกร่วมบาลิกาตัน ซึ่งเป็นการฝึกจำลองยุทธ์ประจำปีกับกองทัพสหรัฐฯ เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ
กำลังพลของกองทัพเรือฟิลิปปินส์เดินแถวบนชายหาดซาน แอนโทนิโอ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 ก่อนการฝึกเคลื่อนพลสะเทินน้ำสะเทินบกในจังหวัดซัมบาเลส การฝึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกร่วมบาลิกาตัน ซึ่งเป็นการฝึกจำลองยุทธ์ประจำปีกับกองทัพสหรัฐฯ เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

หนังสือพิมพ์ เดอะวอลสตรีท เจอร์นัล รายงานในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 ว่า ในระหว่างการประชุมแชงกรีลา ไดอะล็อก นั้น พล.อ.ซูลกิเฟรี โมฮัมหมัด ซิน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของมาเลเซีย ได้แสดงความสงสัยในเรื่องแรงจูงใจในการถมทะเลเพื่อสร้างพื้นที่ของจีน “เราไม่รู้ว่าพวกเขากำลังพยายามจะทำอะไร” พล.อ.ซินกล่าว “คงจะดีถ้าจีนออกมาประกาศอย่างเปิดเผยว่ากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งจะทำให้ประเทศต่าง ๆ มองว่าจีนมีความโปร่งใสมากขึ้น”

บรรดาประชาคมโลกและผู้เชี่ยวชาญต่างให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า การแก้ปัญหาแบบพหุภาคีและความร่วมมือระดับภูมิภาคอาจช่วยเพิ่มความสามารถให้กับพันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโดเอเชียและแปซิฟิกในการจัดการกับท่าทีอันแข็งกร้าวของรัฐบาลจีนในทะเลจีนใต้ และเพื่อจะสามารถแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีตามแนวทางปฏิบัติสากล

 

รากฐานของความร่วมมือระดับภูมิภาค

นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1960 (พ.ศ. 2503-2512) เป็นต้นมา อาเซียนมีความร่วมมือแบบพหุภาคีในระดับภูมิภาคและเป็นแนวหน้าในการแก้ไขข้อพิพาทในทะเลจีนใต้มาอย่างยาวนาน ในปี พ.ศ. 2545 อาเซียนและจีนได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ข้อตกลงดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อ “ส่งเสริมให้เกิดสภาวะที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและข้อพิพาทด้วยสันติวิธีและอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง”

แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนจะแน่นแฟ้นขึ้นเป็นเวลาหลายสิบปีหลังจากการลงนามในปฏิญญาฉบับดังกล่าว แต่ก็ยังไม่เคยมีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้น นับแต่นั้นมา รัฐที่อ้างสิทธิก็เรียกร้องให้นำแนวปฏิบัติที่เป็นทางการมาใช้บังคับแทนปฏิญญาฉบับก่อน และนำข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่สหัสวรรษใหม่เป็นต้นมาเข้ามารวมไว้ด้วย สหรัฐฯ เองก็ได้สนับสนุนให้อาเซียนแสดงบทบาทเป็นผู้นำในการระงับข้อพิพาท

การที่จีนปฏิเสธไม่เข้าร่วมการหารือแบบพหุภาคีในทะเลจีนใต้ดูเป็นเรื่องน่าสงสัย เนื่องจากจีนเองก็เคยเข้าร่วมและประสบความสำเร็จในการหาทางออกแบบพหุภาคีเพื่อแก้ไขสถานการณ์อื่น ๆ เช่น ข้อพิพาทชายแดนเอเชีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนสามารถประสบความสำเร็จด้วยการทำงานแบบพหุภาคี และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการตกลงแบบทวิภาคีซึ่งในอดีตเคยเป็นวิธีสำรองที่จีนใช้เพื่อรักษาสถานภาพเดิมของตน

แม้ว่าจีนจะสนับสนุนการหารือด้านความมั่นคงทั่วไปในภูมิภาค แต่เมื่อมาถึงการปฏิบัติ จีนมักจะพยายามหลีกเลี่ยงที่จะผูกมัดตัวเองกับข้อตกลงร่วมต่าง ๆ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า โดยทั่วไปแล้วจีนจะเลือกใช้วิธีการตกลงแบบพหุภาคีในบางสถานการณ์เท่านั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้

ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการระงับข้อพิพาทในภูมิภาคโดยความร่วมมือของหลายฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง การที่จีนไม่เต็มใจจะเข้าร่วมการเจรจาแบบพหุภาคีในประเด็นทะเลจีนใต้เนื่องจากข้อพิพาทที่ขยายตัวขึ้น ถือเป็นโอกาสที่พันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคจะพัฒนาความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ความช่วยเหลือจากนานาชาติหลั่งไหลสู่เนปาลหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวอันรุนแรงสองครั้งในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. 2558 กำลังพลของสหรัฐฯ เตรียมนำเฮลิคอปเตอร์ฮิวอี้ลงจากเครื่องบินขนส่ง ยู.เอส. ซี-17 ที่ลงจอดที่สนามบินนานาชาติในกรุงกาฐมาณฑุ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 เครื่องบินขนส่งทางทหารจากจีนและรัสเซียจอดอยู่ข้างเครื่องบิน ซี-17 ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการบรรเทาทุกข์ระดับพหุภาคี เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ
ความช่วยเหลือจากนานาชาติหลั่งไหลสู่เนปาลหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวอันรุนแรงสองครั้งในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. 2558 กำลังพลของสหรัฐฯ เตรียมนำเฮลิคอปเตอร์ฮิวอี้ลงจากเครื่องบินขนส่ง ยู.เอส. ซี-17 ที่ลงจอดที่สนามบินนานาชาติในกรุงกาฐมาณฑุ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 เครื่องบินขนส่งทางทหารจากจีนและรัสเซียจอดอยู่ข้างเครื่องบิน ซี-17 ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการบรรเทาทุกข์ระดับพหุภาคี เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

 

การเพิ่มศักยภาพของความร่วมมือระดับพหุภาคี

ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโดเอเชียและแปซิฟิกเริ่มตระหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าการเป็นหุ้นส่วนสามารถส่งเสริมประสิทธิภาพในการตอบสนองแบบพหุภาคี ตัวอย่างเช่น ปฏิญญาร่วมระหว่างญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 แสดงถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างสองชาติ ตลอดจนความร่วมมือกับชาติพันธมิตรอื่น ๆ “เมื่อสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงในภูมิภาคต้องเผชิญกับความท้าทาย”

“การพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างฟิลิปปินส์และญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มที่เกิดขึ้นกับบรรดาพันธมิตรและหุ้นส่วนด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ในภูมิภาคในขณะที่ต้องเผชิญกับอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของกองทัพเรือจีน” นายเรนาโต ครูซ เดอ คาสโตร ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยเดอลาแซลล์ ในกรุงมะนิลา เขียนในบทวิเคราะห์ของโครงการเพื่อความโปร่งใสในการเดินทะเลในเอเชียแห่งศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558

การเป็นหุ้นส่วนกับญี่ปุ่นทำให้ฟิลิปปินส์สามารถดำรงความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจจากจีน ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็สามารถสนับสนุนการเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์เพื่อตอบโต้การขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ “หุ้นส่วนทั้งสองประเทศมองว่าการมีตัวตนทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ คือหลักประกันที่ดีที่สุดของสันติภาพและความมั่นคงในเอเชียตะวันออก อย่างไรก็ตามทั้งญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ต่างตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสร้างและรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาเสถียรภาพของการปรากฏตัวของสหรัฐฯ ในพื้นที่ด่านหน้า และการเป็นพันธมิตรในภูมิภาค” นายครูซ เดอ คาสโตร เขียนในบทวิเคราะห์

นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์และเวียดนามยังได้กระชับความความร่วมมือระหว่างสองประเทศเพื่อปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันในทะเลจีนใต้ โดยได้ร่างข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อเปิดการเจรจาแบบทวิภาคี ประสานจุดยืนทางการทูต สนับสนุนการฝึกร่วมระหว่างกองทัพเรือและหน่วยยามฝั่งของทั้งสองประเทศ ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในทะเลจีนใต้ ตามรายงานในเว็บไซต์ข่าวสาร philstar.com ของกลุ่มสื่อสารสตาร์กรุ๊ปออฟพับลิเคชัน เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558

พล.ร.อ.ยูจิ ซาโต (ขวา) ผู้บัญชาการหน่วยยามฝั่งญี่ปุ่น กำลังเดินกับเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ที่หน่วยบัญชาการมะนิลาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 ทั้งสองประเทศร่วมหารือแบบทวิภาคีระหว่างการฝึกบังคับใช้กฎหมายทางทะเลครั้งที่ 5 เพื่อต่อต้านโจรสลัดและการปล้นเรือโดยใช้อาวุธในทะเล เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ
พล.ร.อ.ยูจิ ซาโต (ขวา) ผู้บัญชาการหน่วยยามฝั่งญี่ปุ่น กำลังเดินกับเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ที่หน่วยบัญชาการมะนิลาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 ทั้งสองประเทศร่วมหารือแบบทวิภาคีระหว่างการฝึกบังคับใช้กฎหมายทางทะเลครั้งที่ 5 เพื่อต่อต้านโจรสลัดและการปล้นเรือโดยใช้อาวุธในทะเล เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

ระหว่างการเดินทางไปเยือนกรุงมะนิลาในช่วงกลางปี พ.ศ. 2557 นายเหงียน เติ๊น สุง นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ขอคำแนะนำจากฟิลิปปินส์เกี่ยวกับการนำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลมาใช้ในการระงับข้อพิพาท “ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่ติดกับจีนและระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาจีน ยังไม่รวมถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ เวียดนามต้องเดินหน้าด้วยความระมัดระวังมากกว่าฟิลิปปินส์ ซึ่งมีสนธิสัญญากับรัฐบาลสหรัฐฯ” นายริชาร์ด จาวาด เฮย์ดาเรียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเดอลาแซลล์ในกรุงมะนิลา เขียนในบทวิเคราะห์ของโครงการเพื่อความโปร่งใสในการเดินทะเลในเอเชียแห่งศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 “อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นได้ชัดคือแม้ว่าฟิลิปปินส์และเวียดนามจะเป็นคู่แข่งกันมายาวนานในหมู่เกาะสแปรตลี แต่ทั้งสองประเทศก็เกี่ยวข้องกันในฐานะผู้ถูกคุกคามโดยจีนเหมือนกัน”

นอกจากนี้ รายงานประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ของเว็บไซต์เอเชียไทมส์ระบุว่า ฟิลิปปินส์และเวียดนามได้ขอรับการสนับสนุนจากมหาอำนาจนอกภูมิภาค เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เพื่อช่วยในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการเฝ้าระวังและป้องกันภัย เว็บไซต์ dailybalita.com ของฟิลิปปินส์ รายงานว่า ขณะนี้ฟิลิปปินส์กำลังประเมินข้อดีข้อเสียของการอนุญาตให้ทหารญี่ปุ่นเข้ามาในฐานทัพฟิลิปปินส์ที่ตั้งอยู่ใกล้กับทะเลจีนใต้ และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน ญี่ปุ่นก็กำลังพิจารณาเรื่องการแบ่งปันเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลต่อต้านเรือดำน้ำรุ่น พี-3 ซี และเทคโนโลยีเรดาร์กับฟิลิปปินส์ อันที่จริงแล้ว ข้อตกลงแบบพหุภาคีและทวิภาคีต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเฉพาะซึ่งกันและกัน

 

หนทางข้างหน้า

ประเทศต่าง ๆ ต้องพยายามหาจุดสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการดำเนินการแบบพหุภาคีและทวิภาคีในทะเลจีนใต้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในเนปาลและคาบสมุทรโซมาลีแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคด้วยแนวทางพหุภาคี ความสำเร็จของกลไกพหุภาคีในทะเลจีนใต้ในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับการที่แต่ละประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนเข้าใจว่า ความร่วมมือจะช่วยรักษาความเป็นอธิปไตย ส่งเสริมความมั่นคงและแก้ไขข้อกังวลด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรได้อย่างดีที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันว่า ข้อดีของการใช้แนวทางพหุภาคีเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความมั่นคงในภูมิภาคและเป้าหมายร่วมกันของนานาชาตินั้นมีความสำคัญมากกว่าการสูญเสียอิทธิพลของประเทศใดประเทศหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น การทำงานแบบพหุภาคีจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการต่อต้านการก่อการร้าย การปล้นสะดมทางน้ำ การค้ามนุษย์และอื่น ๆ ในขณะที่เศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้นตลอดเวลา

บรรดาผู้นำในภูมิภาคยังมีความหวังว่าจีนจะกระทำการต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้ด้วยความรับผิดชอบ หนังสือพิมพ์ เดอะวอลสตรีท เจอร์นัล รายงานเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 ว่า พล.อ.ซูลกิเฟรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาเลเซียพอใจกับท่าทีของจีนที่แสดงว่าเต็มใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศที่มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ในทะเลจีนใต้ในระหว่างการประชุมแชงกรีลา ไดอะล็อก “ผมรู้สึกมั่นใจขึ้นหลังจากได้ยินสิ่งที่พล.ร.อ.ซุน เจี้ยนกั๋วกล่าว เพราะเขาบอกว่าจีนจะเดินหน้าจัดทำแนวทางปฏิบัติต่อไป ซึ่งหมายความว่าจีนไม่ได้ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ” พล.อ.ซูลกิเฟรีกล่าว “ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับอาเซียนและประเทศที่อ้างสิทธิที่จะต้องช่วยกันจัดทำแนวปฏิบัติดังกล่าว”

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button