เรื่องเด่น

การพัฒนา กองกำลังทางทะเล

กองกำลังทางภูมิรัฐศาสตร์คือปัจจัยขับเคลื่อนการพัฒนากองทัพทั่วทั้งอินโดเอเชียแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

บรรดาประเทศทั่วทั้งภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิกกำลังลงทุนกับการพัฒนากองทัพของตนให้มีความทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกองกำลังทางทะเล ชาติต่าง ๆ กำลังพัฒนายุทโธปกรณ์ทางทหาร เทคโนโลยีด้านการป้องกันที่ทันสมัย และจัดหาเครื่องบินและเรือมาใช้แทนของเดิมที่มีอายุราว ๆ 30 หรือ 40 ปี

ผู้นำต่าง ๆ ของจีนกำลังดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพของตนที่มีขนาดใหญ่ โดยจีนกำลังพัฒนาเครื่องบินรบใหม่และปรับปรุงโครงสร้างการบังคับบัญชาที่มีมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น นอกจากนี้ จีนกำลังอยู่ในระหว่างการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินที่มีน้ำหนัก 50,000 ตันซึ่งเป็นลำแรกที่สร้างขึ้นในประเทศ

ญี่ปุ่นกำลังทดสอบเครื่องบินขับไล่ล่องหนลำแรกของตนพร้อมกับสร้างโดรนและเครื่องบินไอพ่นลำใหม่ ๆ เพื่อดำรงความได้เปรียบทางอากาศเหนือจีน ในน่านน้ำ ขณะนี้ญี่ปุ่นได้เปิดตัวเรือรบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

อินเดียกำลังเพิ่มระดับศักยภาพของกองทัพเรือด้วยการจัดหาเรือรบใหม่มาประจำการ 40 ลำ รวมถึงเรือดำน้ำอีก 12 ลำและเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่อินเดียออกแบบและสร้างขึ้นในประเทศ

เกาหลีใต้กำลังสร้างกองทัพเรือยุคใหม่ที่มีขีดความสามารถทางทะเลด้วยอำนาจการยิงที่ไกลขึ้นจากแนวชายฝั่งของประเทศ

ออสเตรเลียกำลังประกาศใช้แผนป้องกันประเทศในระยะเวลา 20 ปีเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกองทัพเรือ ซึ่งรวมถึงการทำข้อตกลงกับฝรั่งเศสในการสร้างกองเรือที่ประกอบไปด้วยเรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้าชั้นบาร์ราคูดา 12 ลำ ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 5 หมื่นล้านเหรียญออสเตรเลีย (หรือประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท)

บรรดานักวิเคราะห์ด้านการป้องกันประเทศระบุว่า อำนาจของจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และการยั่วยุอย่างต่อเนื่องของเกาหลีเหนือถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดแนวโน้มในการปฏิบัติเหล่านี้

นักวิเคราะห์ด้านการป้องกันประเทศกล่าวว่า การเพิ่มระดับความแข็งแกร่งทางทหารในภูมิภาคส่วนใหญ่คือปฏิกิริยาตอบสนองต่อการยืนกรานที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของจีน ซึ่งก็คือการอ้างสิทธิอย่างดื้อรั้นในพื้นที่กว่าร้อยละ 80 ของทะเลจีนใต้ รัฐบาลจีนได้ยืนยันการอ้างสิทธิด้วยการขุดลอกทรายเพื่อสร้างเกาะต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างสนามบินและสิ่งปลูกสร้างทางทหารอื่น ๆ บนเกาะเหล่านี้ แรงผลักดันประการที่สองที่ทำให้เกิดการเพิ่มศักยภาพทางทหารในภูมิภาคคือภัยคุกคามจากความทะเยอทะยานด้านระเบิดนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ รวมทั้งพฤติกรรมที่คาดเดาไม่ได้ของรัฐบาลประเทศนี้ที่สร้างความกังวลให้กับผู้นำของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นโดยเฉพาะ

“เหตุผลเชิงกลยุทธ์หลายประการและปัจจัยภายในประเทศยังคงเป็นแรงผลักดันให้ชาติต่าง ๆ ในเอเชียแปซิฟิกตัดสินใจที่จะจัดหาอาวุธเพิ่มเติม” นางเชอรีน ลี จากศูนย์ศึกษาด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศในสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียเขียนไว้ในบทวิเคราะห์ของสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย “ข้อพิพาททางทะเลระหว่างจีนและบรรดาประเทศเพื่อนบ้านทำให้ความตึงเครียดเพิ่มระดับขึ้นและส่งผลต่อโครงการพัฒนากองทัพของประเทศต่าง ๆ ความตึงเครียดเหล่านี้ทำให้เกิดความต้องการที่จะมีขีดความสามารถด้านการตรวจการณ์และระบบข่าวกรองทางสัญญาณที่ดีกว่าเดิม ตลอดจนการเพิ่มจำนวนเรือรบผิวน้ำที่สามารถปฏิบัติงานได้เป็นระยะเวลานาน รวมถึงยุทโธปกรณ์ที่สามารถปล่อยขีปนาวุธต่อต้านเรือผิวน้ำ เรือดำน้ำและอากาศยานระยะไกล

 

การเสริมสร้างการป้องกันประเทศให้มีความแข็งแกร่ง

กองทัพขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งในอินโดเอเชียแปซิฟิกได้เริ่มพัฒนาคลังสรรพาวุธของตน

ประเทศไทยได้พยายายามจัดซื้อเรือดำน้ำซึ่งเป็นความต้องการที่มีมานานแล้ว เวียดนามเริ่มดำเนินการเพิ่มศักยภาพทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเวียดนามเป็นต้นมา อินโดนีเซียได้จัดหาขีปนาวุธต่อต้านเรือผิวน้ำขั้นสูงมาไว้ใช้งานและกำลังจัดหาเครื่องบินขับไล่ไอพ่นลำใหม่ ๆ มาประจำการแทนอากาศยานลำเก่าที่มีอายุ 30 ปี

ฟิลิปปินส์ได้นำอากาศยานความเร็วเหนือเสียงลำแรกในรอบทศวรรษออกบิน ในกรุงธากา บังกลาเทศได้ปลดประจำการเรือเก่าของกองทัพเรือและนำเรือใหม่หรือเรือที่ได้รับการปรับปรุงใหม่มาใช้งานแทน ไต้หวันกำลังสร้างกองเรือดำน้ำของตนเอง

การปฏิบัติตามแนวทางนี้ไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงเลย

ภายในปี พ.ศ. 2563 กองทัพต่าง ๆ ทั่วทั้งอินโดเอเชียแปซิฟิกจะมีค่าใช้จ่ายแต่ละปีเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2558 ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมแล้วจะเพิ่มขึ้นราว ๆ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท) โดยคาดว่าจะเพิ่มจาก 4.35 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 15.16 ล้านล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2558 เป็น 5.33 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 18.58 ล้านล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2563 ตามรายงานการวิเคราะห์งบประมาณกลาโหมประจำปี พ.ศ. 2559 ของ ไอเอชเอส เจนส์ ดีเฟนซ์

รายงานดังกล่าวของ เจนส์ ระบุว่า ประเทศต่าง ๆ กำลังใช้งบประมาณอย่างมีกลยุทธ์เพื่อสร้างอิทธิพลมากขึ้นในภูมิภาค

จากการจัดอันดับของไอเอชเอส เจนส์ ในบรรดา 15 ประเทศแรกที่ใช้งบประมาณกลาโหมมากที่สุดในปี พ.ศ. 2558 นั้น มีประเทศต่าง ๆ จากภูมิภาคนี้ติดอันดับอยู่ห้าประเทศ ถัดจากสหรัฐฯ ที่อยู่ในอันดับที่ 1 แล้ว อันดับที่ 2 คือจีน อันดับที่ 6 คืออินเดีย อันดับที่ 7 คือญี่ปุ่น อันดับที่ 10 คือเกาหลีใต้ และอันดับที่ 11 คือออสเตรเลีย ขณะที่รัสเซียอยู่ในอันดับที่ 5

“ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในเอเชียแปซิฟิกทำให้กระบวนพัฒนากองทัพที่ควรจะกระทำก่อนหน้านี้นานแล้วกลายเป็นวาระทางการเมืองในหลายประเทศ” นายเครก แคฟฟรีย์ นักวิเคราะห์หลักของ ไอเอชเอส เจนส์ ระบุในรายงาน “ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่นและเวียดนามล้วนแต่ดำเนินรอยตามจีน และการปฏิบัติตามแนวทางนี้ไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงเลย”

 

การผนึกกำลัง

ในขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในอินโดเอเชียแปซิฟิกก็เป็นตัวกระตุ้นให้ความสัมพันธ์ทางกลาโหมในหมู่เครือข่ายชาติสำคัญต่าง ๆ มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น ตามความเห็นของบรรดาเจ้าหน้าที่ในภูมิภาคนี้

ตัวอย่างเช่น นางจูลี บิชอป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียได้กล่าวถึงประเด็นนี้ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงโตเกียวเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 นางบิชอปชี้ให้เห็นถึงความตึงเครียดในทะเลจีนใต้และ “การกระทำตามอำเภอใจอันเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพ” เช่น การทดสอบนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเมื่อเร็ว ๆ นี้ และกล่าวว่าความวุ่นวายทางการเมืองในภูมิภาคทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นและออสเตรเลียมีความร่วมมือเชิงกลยุทธ์มากขึ้น ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ “ออสเตรเลียจะต้องฝ่าฟันกับความผันผวนทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่นั่นหมายความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพันธมิตรที่เชื่อถือได้อย่างญี่ปุ่นจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น” นางบิชอปกล่าว

ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็พยายามที่จะส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดขึ้นในหมู่พันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ ในอินโดเอเชียแปซิฟิก รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งเสริมให้ประเทศเหล่านี้มีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นในด้านการรักษาความมั่นคง เนื่องจากอิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้นจะทำให้ดุลอำนาจเกิดการเปลี่ยนแปลง จากความเห็นของนักวิเคราะห์ในภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้ชาติต่าง ๆ พัฒนากองทัพของตน

“รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มุ่งเน้นความพยายามเชิงกลยุทธ์เพื่อถ่วงดุลอำนาจของจีนด้วยการเพิ่มการแสดงตนของทหารอเมริกันในส่วนหน้า ส่งเสริมขีดความสามารถของพันธมิตรและหุ้นส่วน และกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงทั่วทั้งภูมิภาค” นางแอชลีย์ ทาวน์เซนด์ นักวิจัยจากศูนย์ความร่วมมือและการกำกับดูแลแห่งเอเชียแปซิฟิกในสังกัดมหาวิทยาลัยฟูตัน นครเซี่ยงไฮ้ เขียนไว้ในรายงานสำหรับสถาบันโลวีในออสเตรเลียเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2559

ผลลัพธ์ที่ได้คือความร่วมมือเชิงกลยุทธ์อันแข็งแกร่ง เนื่องจากชาติต่าง ๆ ผนึกกำลังกันเพื่อรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค

ฟิลิปปินส์คือตัวอย่างที่สำคัญที่ได้รับความช่วยเหลือจากพันธมิตร เช่น ออสเตรเลีย อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ในด้านการพัฒนากองกำลังของประเทศ ตามรายงานของสื่อและแถลงการณ์ของรัฐบาล

ญี่ปุ่นกำลังเพิ่มการประสานงานทางทหารกับทั้งฟิลิปปินส์และเวียดนาม นอกเหนือจากการเข้าร่วมการเจรจาแบบไตรภาคีอย่างต่อเนื่องกับอินเดียและออสเตรเลียเพื่อเพิ่มระดับการรักษาความมั่นคงทางทะเล ตามบทวิเคราะห์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 ของหนังสือพิมพ์ เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์ ในฮ่องกง

อินเดียและสหรัฐฯ ได้ประกาศในเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ว่าทั้งสองประเทศใกล้จะบรรลุข้อตกลงว่าด้วยเรื่องการส่งกำลังบำรุงทางกลาโหม ตามรายงานของสำนักข่าว ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส และทั้งสองประเทศกำลังวางแผนที่จะทำงานร่วมกันในด้านการพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินลำต่อไปของอินเดีย

ทางการออสเตรเลียกำลังกระตุ้นให้มีการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางกลาโหมกับเวียดนาม ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ตามการรายงานข่าวของสื่อออสเตรเลีย

การพัฒนาศักยภาพของกองทัพทั่วภูมิภาคส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นที่กองกำลังทางทะเล

“บรรดากองทัพเรือในภูมิภาคกำลังพัฒนากองทัพให้มีความทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการจัดซื้อเรือดำน้ำ” นิตยสาร ดิอิโคโนมิสต์ ระบุ “นอกเหนือจากเวียดนามที่จัดซื้อเรือดำน้ำหกลำแล้ว ยังมีอินเดียที่สั่งซื้อเรือดำน้ำหกลำจากฝรั่งเศส และปากีสถานซื้อเรือดำน้ำแปดลำจากจีน ซึ่งจีนยังได้จัดส่งเรือดำน้ำสองลำให้กับบังกลาเทศ เยอรมนีกำลังจะจัดส่งเรือดำน้ำสองลำให้กับ สิงคโปร์และห้าลำให้กับเกาหลีใต้ซึ่งได้ขายเรือดำน้ำที่ตนผลิตให้กับอินโดนีเซียสามลำ ออสเตรเลียกำลังจะจัดซื้อเรือดำน้ำราว ๆ 8 ถึง 12 ลำ”

เนื้อหาต่อไปนี้จะกล่าวถึงวิธีการพัฒนาศักยภาพของกองทัพของชาติต่าง ๆ ในอินโดเอเชียแปซิฟิก

 

จีน

ประเทศที่มีกองทัพขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้กำลังพัฒนากองกำลังของตนในทุกระดับ แม้บรรดานักวิเคราะห์จะกล่าวว่าจีนยังต้องพัฒนาอีกมากหากต้องการที่จะทัดเทียมกับสหรัฐฯ ซึ่งยังคงมีกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก เนื่องจากอัตรากำลังทั้งหมดของกองทัพจีนมีกองกำลังทางบกอยู่เกือบสามในสี่ส่วน จีนจึงโยกย้ายทรัพยากรไปยังกองทัพเรือและกองทัพอากาศ

ด้วยเจตจำนงที่จะยืนยันการอ้างสิทธิทางทะเล จีนได้พัฒนาขีดความสามารถของกองเรืออย่างต่อเนื่องด้วยการสะสมเรือฟริเกต เรือพิฆาตและเรือดำน้ำนิวเคลียร์ลำใหม่ ๆ ตามรายงานของสื่อและรัฐบาล

ที่โดดเด่นที่สุดคือเรือเหลียวหนิง ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินมือสองที่สร้างขึ้นในยุคโซเวียต ซึ่งจีนได้ทำการปรับปรุงใหม่และนำเข้าประจำการในปี พ.ศ. 2555 ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2559 จีนยืนยันว่าตนกำลังสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินอีกลำหนึ่งโดยใช้เทคโนโลยีของตนเองทั้งหมด รายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2558 ระบุว่า จีนจะอาจสร้างเรืออีกหลายลำในช่วงระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า

เครื่องบินขับไล่ล่องหน เจ-31 ของจีนบินแสดงในงานนิทรรศการการบินที่ประเทศจีนในปี พ.ศ. 2557 เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ
เครื่องบินขับไล่ล่องหน เจ-31 ของจีนบินแสดงในงานนิทรรศการการบินที่ประเทศจีนในปี พ.ศ. 2557 เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

ในน่านฟ้า เครื่องบินรบของจีนยังคงล้าหลังบรรดาเครื่องบินรบของสหรัฐฯ และพันธมิตรที่ใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารระบุว่ารัฐบาลจีนยังคงพัฒนาเครื่องบินขับไล่ไอพ่นล่องหนที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง จีนกำลังพยายามอย่างหนักหน่วงที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องยนต์ของอากาศยานขั้นสูง ซึ่งจะทำให้เครื่องบินของจีนมีความทัดเทียมกับเครื่องบินขับไล่ของชาติตะวันตกในการสู้รบ แหล่งข่าวในวงการของจีนและต่างประเทศกล่าวกับรอยเตอร์ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2559

นักวิเคราะห์กล่าวว่า นอกเหนือจากขีปนาวุธนิวเคลียแล้วร์ จีนยังได้สะสมขีปนาวุธติดหัวรบแบบดั้งเดิมอย่างต่อเนื่องจากที่มีอยู่แต่เดิม 1,200 ลูก ตลอดจนขีปนาวุธอาวุธที่ยิงจากพื้นสู่อากาศและขีปนาวุธต่อต้านเรือผิวน้ำ

“กองทัพจีนแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากำลังเตรียมพร้อมที่จะแข่งขันกับสหรัฐฯ ในฐานะชาติมหาอำนาจระดับโลก โดยพยายามที่จะปฏิรูปในหลาย ๆ
ด้านเพื่อพัฒนากองทัพของตนให้ทันสมัยและมีความเชี่ยวชาญ” นางอีวอนน์
ชิว ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องกองทัพจีนเขียนไว้ในรายงานของซีเอ็นเอ็นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559

 

อินเดีย

ในที่สุด เรือไอเอ็นเอส วิราต ที่ต่อโดยอังกฤษและเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินที่ประจำการมานานที่สุดในโลกก็ถูกปลดระวางจากกองทัพเรืออินเดียและกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะไทมส์ ออฟ อินเดีย เรือบรรทุกเครื่องบินอีกลำของอินเดียคือเรือวิกรมทิตย์ ซึ่งเป็นเรือชั้นเคียฟที่ต่อโดยรัสเซีย เข้าประจำการในกองทัพเรืออินเดียในปี พ.ศ. 2556 หลังจากที่มีการดัดแปลงแก้ไขเพื่อใช้สนับสนุนการปฏิบัติการของอากาศยานปีกตรึง โดยการส่งอากาศยานขึ้นฟ้าในระยะทางขึ้นบินที่สั้นและใช้สายเคเบิลเพื่อรับอากาศยานลงจอด ขณะนี้อินเดียกำลังออกแบบเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่สร้างขึ้นในประเทศซึ่งก็คือเรือวิกรานต์ การสร้างเรือดังกล่าวคาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2561 หรือ พ.ศ. 2562 รัฐบาลอินเดียกำลังมองหาการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ทางด้านเทคโนโลยีการส่งเครื่องบินแบบแม่เหล็กไฟฟ้าที่สามารถส่งเครื่องบินที่มีน้ำหนักมากกว่าเดิมขึ้นสู่ฟ้าได้ พล.ร.อ.จอห์น ริชาร์ดสัน ผู้บัญชาการกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวกับรอยเตอร์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 การประสานงานดังกล่าวจะเป็นความร่วมมือทางทหารที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน

ลูกเรือหนึ่งนายเดินบนดาดฟ้าเรือไอเอ็นเอส วิกรมทิตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพเรืออินเดีย รอยเตอร์
ลูกเรือหนึ่งนายเดินบนดาดฟ้าเรือไอเอ็นเอส วิกรมทิตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพเรืออินเดีย รอยเตอร์

กองทัพเรืออินเดียมีความกังวลกับการที่กองทัพเรือจีนรุกคืบเข้าไปในมหาสมุทรอินเดียและความมุ่งมั่นของจีนที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือในประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่ปากีสถานไปจนถึงจิบูตี ตามรายงานของรอยเตอร์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ด้วยความกังวล กองทัพเรืออินเดียจึงมีแผนที่จะจัดหาเรือดำน้ำใหม่กว่าสิบลำและเรือรบอีก 40 ลำ รายงานข่าวในเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ระบุว่า เรือไอเอ็นเอส อริฮันต์ ซึ่งเป็นเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกที่ต่อขึ้นในประเทศมีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติการแล้ว

เนื่องจากอินเดียกำลังมองหาเครื่องบินรบใหม่มาทดแทนฝูงเครื่องบินรบเก่าที่สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคโซเวียต กองทัพอากาศอินเดียจึงอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อจัดซื้อเครื่องบินรบที่ทันสมัยหลายสิบลำจากฝรั่งเศส ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ 2559 นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังมุ่งหวังที่จะนำเครื่องบินขับไล่ไอพ่นที่ผลิตขึ้นในประเทศที่รอคอยมานานไปร่วมประจำการในฝูงบินของกองทัพอากาศอีกด้วย

 

ญี่ปุ่น

เพื่อเสริมสร้างการป้องกันในพื้นที่หมู่เกาะทางตอนใต้ของประเทศซึ่งเป็นชนวนเหตุสำคัญของข้อพิพาททางด้านดินแดนกับจีน ญี่ปุ่นได้จัดสรรงบประมาณทางทหารที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปี พ.ศ. 2559 งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2559 ถูกนำไปใช้ในการสร้างเรือดำน้ำ การพัฒนาโซนาร์ และเรือพิฆาตที่ติดตั้งระบบอำนวยการรบเอจิสขั้นสูงพร้อมขีดความสามารถในการต่อต้านขีปนาวุธ ในอนาคต ญี่ปุ่นจะจัดซื้อโดรนตรวจการณ์โกลบอล ฮอว์ก ที่ผลิตโดยสหรัฐฯ จำนวนสามลำ และเครื่องบินขับไล่ไอพ่นโจมตีร่วม เอฟ-35 ที่ผลิตโดยบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน จำนวน 42 ลำ ตามรายงานของสำนักข่าว ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส และรอยเตอร์

ต้นแบบของเครื่องบินขับไล่ล่องหนลำแรกที่ผลิตโดยญี่ปุ่นจอดอยู่ในโรงเก็บเครื่องบินในเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 รอยเตอร์
ต้นแบบของเครื่องบินขับไล่ล่องหนลำแรกที่ผลิตโดยญี่ปุ่นจอดอยู่ในโรงเก็บเครื่องบินในเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 รอยเตอร์

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2559 เจ้าหน้ากลาโหมญี่ปุ่นได้เปิดเผยต่อสาธารณชนว่า ญี่ปุ่นกำลังทดสอบต้นแบบเครื่องบินขับไล่ล่องหนลำแรกที่ผลิตในประเทศ การผลิตต้นแบบเครื่องบิน เอฟ-3 ดังกล่าวคือการทดสอบเทคโนโลยีล่องหนของญี่ปุ่นที่อาจนำมาใช้ในการออกแบบเครื่องบินขับไล่ไอพ่นรุ่นต่อไป และอาจเป็นเครื่องบินที่มาแทนฝูงบินขับไล่ เอฟ-2 ของญี่ปุ่น ตามรายงานของสำนักข่าว ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

สำหรับกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่นนั้น ยุทโธปกรณ์ใหม่ที่สำคัญของกองทัพเรือคือ เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์อิซูโมที่มีความยาว 248 เมตร เรือลำนี้เข้าประจำการในปี พ.ศ. 2558 และเป็นเรือรบที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นนับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้นมา

 

ออสเตรเลีย

นายมัลคอล์ม เทิร์นบุลล์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้กล่าวกับกลุ่มผู้ฟังที่เป็นเจ้าหน้าที่กองทัพที่กรุงแคนเบอร์ราในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ว่า ออสเตรเลียจะเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมเป็นจำนวนเกือบ 2.16 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 7.51 แสนล้านบาท) ในช่วงระยะเวลาสิบปีข้างหน้าเพื่อจัดหา
ยุทธปกรณ์ใหม่ ได้แก่ เรือฟริเกต รถหุ้มเกราะลำเลียงพล เครื่องบินขับไล่โจมตี โดรนและเรือดำน้ำ จากการรายงานของรอยเตอร์

รัฐบาลของนายเทิร์นบุลล์ได้จัดทำสมุดปกขาวของกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นเอกสารทางยุทธศาสตร์ที่ระบุว่าการพัฒนาศักยภาพทางทหารเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาสันติภาพในภูมิภาค เอกสารดังกล่าวยังระบุว่าออสเตรเลีย “มีข้อกังวลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการถมดินของจีนในทะเลจีนใต้เพื่อสร้างพื้นที่ขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ตามรายงานของสำนักข่าวดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

สมุดปกขาวนี้ “ประกอบไปด้วยแผนที่แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาอันแรงกล้าที่สุดที่จะปฏิรูปกองทัพเรือออสเตรเลียนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา” นางมาริส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเขียนไว้ในคำนำของรายงานดังกล่าว มันคือ “การยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการต่อเรือของออสเตรเลียให้มีความแข็งแกร่ง ยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จและการดำรงขีดความสามารถที่เพิ่มสูงขึ้นด้านการป้องกันประเทศคือ การยกระดับความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศของออสเตรเลียและองค์กรวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” รัฐบาลจะใช้งบประมาณ 1.24 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 4.31 หมื่นล้านบาท) ในช่วงทศวรรษหน้าเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและส่งเสริมนวัตกรรม สมุดปกขาวระบุ

สำนักข่าวเอเจนซ์ ฟรานซ์ เพรส รายงานว่า แผนชุดใหม่ว่าด้วยเรื่องการต่อเรืออย่างต่อเนื่องนี้จะช่วยให้โครงการ “ฟิวเจอร์ฟริเกต” ของกองทัพออสเตรเลียซึ่งเป็นโครงการจัดหาเรือใหม่มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยจะมีการจัดหาเรือฟริเกตเก้าลำและเรือลาดตระเวน 12 ลำมาประจำการ พล.ร.ท. ทิม บาร์เร็ตต์ จากกองทัพเรือออสเตรเลียกล่าวว่า เรือฟริเกตใหม่จะเป็นกำลังสำคัญที่มีประสิทธิภาพของกองทัพเรือในช่วงสองสามทศวรรษข้างหน้า สมุดปกขาวระบุว่าออสเตรเลียจะจัดหาเรือดำน้ำที่ “มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมที่สุดในระดับภูมิภาค” มาประจำการ 12 ลำ

ออสเตรเลียยังจะจัดซื้อโดรนลำแรกเพื่อปรับปรุงความสามารถของตนในการปกป้องอธิปไตยทางทะเล สมุดปกขาวระบุ

 

เกาหลีใต้

แผนปฏิรูปการป้องกันประเทศของกองทัพเรือสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. 2563 จะหันไปมุ่งเน้นโครงการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพเรือสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อยกระดับสถานะและชื่อเสียงของหน่วยปฏิบัติการทางทะเล กองทัพเรือสาธารณรัฐเกาหลีจะมุ่งแสวงหาขีดความสามารถในการเดินทางเพื่อดำเนินการปฏิบัติการในน่านน้ำลึกในมหาสมุทรมากกว่าการมุ่งเน้นที่บทบาทดั้งเดิมของตน ซึ่งก็คือการรักษาความมั่นคงชายฝั่งของสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อป้องกันการบุกรุกของกองทัพเกาหลีเหนือหรือเรือประมงต่างชาติ

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา กองทัพเรือได้นำกองเรือฟริเกตใหม่เข้าประจำการ ซึ่งเป็นเรือชั้นอินชอนขนาด 2,500 ตันและปลดระวางเรือฟริเกตชั้นอุลซันขนาด 1,500 ตันที่สร้างขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1980 (พ.ศ. 2523-2532) ตามรายงานของสำนักข่าวยอนฮับของเกาหลี ภายในปี พ.ศ. 2563 เกาหลีใต้จะเริ่มนำเรือฟริเกตใหม่มาใช้งานราว ๆ 20 ลำ “ในขณะเดียวกัน การติดตั้งระบบอำนวยการรบเอจิสให้กับบรรดาเรือรบผิวน้ำก็จะช่วยให้เรือเหล่านี้มีบทบาทที่สำคัญมากขึ้น ทั้งในด้านการปฏิบัติการทางทะเลและการปกป้องพื้นที่ชายฝั่งของสาธารณรัฐเกาหลีจากการบุกรุกโดยอากาศยานและขีปนาวุธระดับยุทธภูมิ ทั้งกองทัพเรือและกองกำลังนาวิกโยธินจะมีเฮลิคอปเตอร์ไว้ใช้งานเพิ่มขึ้น และหน่วยดำเนินกลยุทธ์นาวิกโยธินจะมีรถหุ้มเกราะที่ได้รับการปรับปรุง ปืนใหญ่พิสัยไกล (พร้อมเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง) และอากาศยานไร้คนขับ เพื่อให้หน่วยดังกล่าวมีขีดความสามารถในการลาดตระเวนระยะไกล (ราว ๆ 80 กิโลเมตร)” ตามบทวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยแรนด์ คอร์เปอเรชัน ในปี พ.ศ. 2549 เกี่ยวกับแผนปฏิรูปด้านกลาโหมของเกาหลี

“การพัฒนาอุตสาหกรรมหลังยุคสงครามทำให้เกาหลีใต้สามารถดำเนินโครงการต่อเรือขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องได้” เว็บไซต์ข่าวของสถาบันราชนาวีกองทัพเรือสหรัฐฯ อธิบาย “เศรษฐกิจของเกาหลีใต้นั้นต้องอาศัยเส้นทางเดินเรือที่ปลอดภัย ดังนั้น กองทัพเรือสาธารณรัฐเกาหลีจึงกำลังสร้างเรือขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับหน่วยปฏิบัติการทางทะเล”

นายมินกี ฮยอน นักวิจัยจากสถาบันยุทธศาสตร์ทางทะเลแห่งเกาหลีเขียนไว้ในนิตยสาร เดอะ ดิโพลแมต ว่า เกาหลีใต้ “ได้จัดหากองเรือมาใช้งานที่อาจมีศักยภาพในการเดินทางไปทั่วโลก สำหรับในภูมิภาคนี้ กองเรือดังกล่าวมีขนาดด้อยกว่าก็แต่เพียงญี่ปุ่น จีนและอินเดีย อันที่จริงในแง่ของคุณภาพเรือ เรือของเกาหลีใต้มีความทัดเทียมกับเรือของทั้งสามประเทศ

จากการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือในเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 และความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะปล่อยขีปนาวุธ สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ได้หารือกันในเรื่องการจัดส่งอาวุธทางด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ไปยังคาบสมุทรเกาหลีมากขึ้น ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 เกาหลีใต้ประกาศว่าได้นำ เคเอ็ม-แซม (ไอรอน ฮอว์ก 2) ซึ่งเป็นระบบขีปนาวุธที่ยิงจากพื้นสู่อากาศรุ่นใหม่มาใช้งานมากขึ้นเพื่อทดแทนขีปนาวุธฮอว์กรุ่นเก่ากว่าจำนวน 24 ลูกที่เกาหลีใต้ใช้มานานหลายทศวรรษแล้ว ตามรายงานของสำนักข่าวยอนฮับ ขีปนาวุธเคเอ็ม-แซม ทำให้การปฏิบัติการมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเพราะเคลื่อนย้ายได้ง่าย สามารถเคลื่อนย้ายเครื่องยิงด้วยรถบรรทุก

 

ข้อมูลจาก: รอยเตอร์, ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส, บลูมเบิร์ก และเอเจนซ์ ฟรานซ์ เพรส
ข้อมูลจาก: รอยเตอร์, ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส, บลูมเบิร์ก และเอเจนซ์ ฟรานซ์ เพรส

 

อินโดนีเซีย

นายโจโก วีโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้ให้คำมั่นว่าจะจัดหาเครื่องบินใหม่มาใช้แทนเครื่องบินทหารเก่า หลังจากที่เครื่องบินลำเลียง ซี-130 เฮอร์คิวลิส ของกองทัพอากาศอินโดนีเซียตกในย่านที่อยู่อาศัยบนเกาะสุมาตราในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว ๆ 140 คน อากาศยานลำนี้ประจำการมานานเกือบ 50 ปีแล้ว ตามรายงานของนิตยสารข่าวออนไลน์ เดอะ ดิโพลแมต

เหตุการณ์เครื่องบินตกดังกล่าวผลักดันให้อินโดนีเซียเริ่มพัฒนาอากาศยานทางทหารโดยเร่งด่วนเพื่อความปลอดภัย นายรีอามิซาร์ด รีอาคูดู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียยืนยันในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 ว่า อินโดนีเซียจะปลดระวางเครื่องบินทหารที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ตามรายงานของ เดอะ ดิโพลแมต

จากการตรวจสอบระบบอาวุธและอากาศยานทางทหารของกองทัพอินโดนีเซียพบว่า ยุทโธปกรณ์ของกองทัพกว่าครึ่งหนึ่งผ่านการใช้งานมานานกว่าสามทศวรรษ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะจาการ์ตา โพสต์ อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนเงินทุนทำให้กระบวนการพัฒนาอาวุธเกิดความล่าช้า

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2559 อินโดนีเซียได้ยืนยันเจตนารมณ์ที่จะจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ไอพ่น ซู-35 ของรัสเซียจำนวน 8-10 ลำ ตามรายงานของสำนักข่าวพราฟดาและบลูมเบิร์ก นิวส์ นายอเล็กซานเดอร์ เยอร์มาคอฟ ผู้เชี่ยวชาญทางทหารอิสระกล่าวกับ defendingrussia.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวของรัสเซียว่า เครื่องบินขับไล่ขนาดหนักของรัสเซียเหล่านี้เหมาะกับสภาพภูมิศาสตร์ของอินโดนีเซีย นายเยอร์มาคอฟกล่าวว่าเครื่องบินขับไล่ไอพ่น ซู-35 ซึ่งมีพิสัยการบินอย่างน้อย 4,500 กิโลเมตรจะใช้ประโยชน์ได้ดีในประเทศที่มีเครือข่ายสนามบินจำกัด เนื่องจากพื้นที่ของอินโดนีเซียประกอบไปด้วยเกาะต่าง ๆ 13,000 เกาะครอบคลุมเป็นระยะทาง 5,000 กิโลเมตร

ภายใต้การบริหารประเทศของผู้นำก่อนหน้านายวีโดโด อินโดนีเซียตั้งใจที่จะพัฒนากองทัพเรือให้มีความทันสมัยอยู่แล้ว ในปี พ.ศ. 2552 อดีตประธานาธิบดีซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ได้ใช้แผนนโยบายกองกำลังสำคัญขั้นต่ำโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะปรับปรุงกองทัพภายในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งรวมถึงการขยายขนาดกองทัพเรืออินโดนีเซียให้มีเรือจำนวน 274 ลำโดยเพิ่มจำนวนเรือดำน้ำและเรือคอร์เวต ตามรายงานของ Bloomberg.com เมื่อนายวีโดโดเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี กองเรืออินโดนีเซียมีเรืออยู่ประมาณ 213 ลำ ซึ่งประกอบไปด้วยเรือลาดตระเวนและเรือรบรักษาการณ์ชายฝั่งกว่า 70 ลำ แม้ว่าเรือราว ๆ ครึ่งหนึ่งจะไม่พร้อมใช้งานในการสู้รบ ตามรายงานเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 ที่ตีพิมพ์ใน เวิลด์ โพลิติกส์ รีวิว ซึ่งเป็นจดหมายข่าวออนไลน์รายสัปดาห์ อินโดนีเซียมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนเรือรบที่ทันสมัยเมื่อมีงบประมาณ ซึ่งรวมถึงเรือฟริเกตติดตั้งขีปนาวุธนำวิถีชั้นซิกมา 10514 ความยาว 105 เมตร จำนวนสองลำ ซึ่งต่อโดยบริษัทต่อเรือดาเมน เชลด์ เนวัล ชิปบิวล์ดิ้ง ของเนเธอร์แลนด์ และเรือดำน้ำโจมตีพลังงานดีเซลไฟฟ้าชั้นชังโบโกจำนวนสามลำที่จะต่อร่วมกันกับเกาหลีใต้ นายริดซวาน ราห์มัต ผู้สื่อข่าวอาวุโสของนิตยสาร ไอเอชเอส เจนส์ เนวี อินเตอร์เนชันนัล ในสิงคโปร์กล่าวกับ Bloomberg.com

 

ไทย

ผู้นำทางทหารของไทยได้พยายามที่จะจัดซื้อเรือดำน้ำสองหรือสามลำเพื่อให้ประเทศไทยมียุทโธปกรณ์ที่ไม่ได้มีมานานกว่า 60 ปี ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะบางกอกโพสต์ ทางการระบุว่าเรือดำน้ำจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือในอ่าวไทย ซึ่งอาจถูกขัดขวางหากความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ลุกลามเข้ามา ตามรายงานของ เดอะ ดิโพลแมต

กองทัพอากาศไทยมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อกองทัพได้จัดหาเครื่องบินขับไล่ ซาบ กริพเพน ยาส 39ซี/ดี มาใช้งานจำนวน 12 ลำ และเครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศ ซาบ เอส100บี อาร์กัส ที่ติดตั้งเรดาร์ขั้นสูงจำนวนสองลำ ตามรายงานของนิตยสาร เอเชียน มิลิทารี รีวิว

ในปี พ.ศ. 2558 ทางการยืนยันว่าได้มีการจัดตั้งหน่วยการสงครามไซเบอร์ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะตอบโต้ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ตามรายงานของสำนักข่าวเอเจนซ์ ฟรานซ์ เพรส

 

ฟิลิปปินส์

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา ฟิลิปปินส์ได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพทางทหารเสร็จสิ้น 55 โครงการ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1.171 หมื่นล้านเปโซฟิลิปปินส์ (หรือประมาณ 8.7 พันล้านบาท) ตามรายงานของสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ diplomat.com โครงการพัฒนากองทัพของฟิลิปปินส์ได้รับแรงกระตุ้นส่วนหนึ่งจากการปะทะกันอย่างต่อเนื่องกับจีนในทะเลจีนใต้ “เราจำเป็นต้องปกป้องสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าอยู่ภายใต้เขตอำนาจทางดินแดนของเรา แน่นอนว่าอย่างน้อยเราต้องสามารถติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์ในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่พิพาทเหล่านั้น” นายฟลอเรนซิโอ อาบัด อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงงบประมาณและการบริหารจัดการฟิลิปปินส์กล่าวกับสำนักข่าวเอเจนซ์ ฟรานซ์ เพรส

ในปี พ.ศ. 2558 พล.อ.จ. กิลเลอร์โม โมลินา ได้กล่าวกับคณะกรรมการกลาโหมแห่งชาติว่า ฟิลิปปินส์ไม่มีเครื่องบินขับไล่หรือเครื่องบินตรวจการณ์เพื่อตรวจจับการบุกรุกเข้ามายังอาณาเขตทางทะเลที่กว้างใหญ่ของตน ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ พล.อ.จ. โมลินากล่าวว่ากองทัพเรือมีเรือตรวจการณ์นอกชายฝั่งสองลำซึ่งเคยเป็นเรือของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ เรือคอร์เวตสามลำซึ่งเคยเป็นเรือของกองทัพเรืออังกฤษ และเรือลาดตระเวนเก่าตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนามและสงครามโลกครั้งที่สอง ในน่านฟ้า ฟิลิปปินส์มีเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินไอพ่นที่ใช้ฝึกและเครื่องบินขนส่งลำเลียง

ในการพัฒนากองทัพให้มีความทันสมัย ฟิลิปปินส์ได้รับความช่วยเหลือจากออสเตรเลีย อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสหรัฐฯ

ในปี พ.ศ. 2558 ฟิลิปปินส์จัดซื้อเครื่องบินขับไล่ไอพ่น เอฟเอ-50 ที่ผลิตโดยเกาหลีจำนวน 12 ลำ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษที่ฟิลิปปินส์มีเครื่องบินรบความเร็วเหนือเสียง เครื่องบินดังกล่าวจะได้รับการจัดส่งเป็นงวด ๆ จนครบภายในปี พ.ศ. 2560 “เราดีใจที่ได้กลับสู่ยุคความเร็วเหนือเสียงในที่สุด” นายวอลแตร์ กัซมิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์กล่าวกับสำนักข่าวดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

เครื่องบินขับไล่ไอพ่น เอฟเอ-50 ที่ผลิตโดยเกาหลีใต้เตรียมพร้อมที่จะลงจอดที่ฐานทัพอากาศคลาร์ก ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงมะนิลา ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 การเดินทางมาถึงของเครื่องบินลำนี้เป็นเครื่องหมายของการกลับสู่ยุคเครื่องบินขับไล่ไอพ่นความเร็วเหนือเสียงอีกครั้งของฟิลิปปินส์ เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ
เครื่องบินขับไล่ไอพ่น เอฟเอ-50 ที่ผลิตโดยเกาหลีใต้เตรียมพร้อมที่จะลงจอดที่ฐานทัพอากาศคลาร์ก ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงมะนิลา ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 การเดินทางมาถึงของเครื่องบินลำนี้เป็นเครื่องหมายของการกลับสู่ยุคเครื่องบินขับไล่ไอพ่นความเร็วเหนือเสียงอีกครั้งของฟิลิปปินส์ เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 สหรัฐฯ ได้บริจาคเรือตรวจการณ์นอกชายฝั่งซึ่งเคยเป็นเรือของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ให้แก่ฟิลิปปินส์ลำหนึ่งเพื่อสนับสนุน “การลาดตระเวนอันทนทานในระยะยาว” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์ นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังได้มอบรถหุ้มเกราะ 114 คันเพื่อสนับสนุนฟิลิปปินส์ในการต่อสู้กับผู้ก่อความไม่สงบ

นายเบนิกโน อากีโนที่ 3 อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ได้ประกาศในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 ว่า ฟิลิปปินส์จะเช่าซื้อเครื่องบินทหารของญี่ปุ่นเพื่อใช้ในการลาดตระเวนพื้นที่ที่ฟิลิปปินส์อ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ ตามรายงานของแชนแนล นิวส์เอเชีย

เครื่องบินลาดตระเวนทางอากาศของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ก่อนหน้านี้บินได้ในระยะทางสั้น ๆ เท่านั้น ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ โยมิอุริ ชิมบุน ของญี่ปุ่น แต่เครื่องบิน ทีซี-90 ของญี่ปุ่นมีพิสัยการบินมากกว่าสองเท่า และจะสามารถบินตรวจการณ์ได้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่เกาะแปรตลีที่กำลังมีกรณีพิพาท หนังสือพิมพ์ดังกล่าวระบุ

ขีดความสามารถใหม่อีกประการหนึ่งคือโครงการศูนย์เฝ้าระวังชายฝั่งแห่งชาติ ระบบตรวจการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจตราการสัญจรในมหาสมุทรในทะเลจีนใต้ ตามรายงานของ USNInews.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวของสถาบันราชนาวีกองทัพเรือสหรัฐฯ และ “โดยหลัก ๆ แล้วโครงการนี้น่าจะเป็นผลมาจากความสำเร็จด้านการปฏิบัติการของโครงการเฝ้าระวังชายฝั่งตอนใต้ที่มีมาก่อนหน้านี้” เว็บไซต์อธิบายว่า สารสำคัญก็คือ “ฟิลิปปินส์ได้สร้างเครือข่ายสถานีตรวจสอบซึ่งประกอบไปด้วยเรดาร์ การตรวจการณ์ทางทะเลและเครือข่ายวิทยุและข้อมูลรวมเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นภาพการสัญจรในมหาสมุทรทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ที่เรียกว่าสามเหลี่ยมทะเลซูลาเวซี ทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และยุทธวิธีตามเวลาจริง” พื้นที่ดังกล่าวมีการสัญจรอย่างหนาแน่นโดยผู้ก่อความไม่สงบข้ามชาติและการค้าที่ผิดกฎหมาย “เมื่อจัดตั้งเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2558 เครือข่ายเฝ้าระวังชายฝั่งทางตะวันตกจะคอยตรวจตราเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ซึ่งมีระยะทาง 200 ไมล์ทะเลและกินพื้นที่หมู่เกาะสแปรตลีที่กำลังมีกรณีพิพาท ในอนาคต จะมีการจัดตั้งเครือข่ายเพิ่มเติมเพื่อตรวจตราพื้นที่ทางตอนเหนือและทางตะวันออกของประเทศด้วยเช่นกัน” เว็บไซต์ USNInews.org รายงานในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

 

เวียดนาม

เวียดนามได้เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางทหารของตนโดยหันไปใช้วิธีการจัดเตรียมกองกำลังให้ “มีความพร้อมรบเต็มขั้น” ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมในการป้องกันการโจมตีของจีนอย่างฉับพลัน รัฐบาลเวียดนามได้สะสมอาวุธซึ่งถือเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่จุดสูงสุดของสงครามเวียดนาม โดยมีการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่สำคัญต่าง ๆ ให้แก่กองทัพเรือ กองทัพอากาศและกองทัพบกของประเทศ

ที่สำคัญที่สุดคือ การจัดซื้อเรือดำน้ำชั้นกิโลหกลำจากรัสเซีย ซึ่งเป็นการยกระดับการป้องปรามของกองทัพเรือให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 เวียดนามได้เจรจากับบริษัทผู้ผลิตอาวุธในยุโรปและสหรัฐฯ เพื่อจัดซื้อเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลตลอดจนโดรนตรวจการณ์ นอกจากนี้ เวียดนามยังได้เพิ่มขีดความสามารถด้านการป้องกันภัยทางอากาศด้วยเรดาร์ตรวจการณ์เพื่อแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าและชุดขีปนาวุธที่ยิงจากพื้นสู่อากาศ

เรือดำน้ำชั้นกิโลลำแรกของเวียดนามถูกปล่อยลงน้ำที่อ่าวคัมรานห์ เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ
เรือดำน้ำชั้นกิโลลำแรกของเวียดนามถูกปล่อยลงน้ำที่อ่าวคัมรานห์ เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

เวียดนามยังได้เพิ่มระดับการป้องกันชายฝั่งด้วยชุดปืนใหญ่ต่อต้านเรือผิวน้ำและระบบยิงขีปนาวุธเคลื่อนที่ บาสเตียน เค-300พี ซึ่งประกอบไปด้วยขีปนาวุธติดยานขับออร์นิกซ์ซึ่งสามารถยิงจากเรือ เครื่องบินและเรือดำน้ำ ตามการรายงานของรอยเตอร์

ขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นของเวียดนามในวันนี้อาจทำให้การปฏิบัติการของกองทัพเรือจีนภายในระยะ 200 ถึง 300 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งเวียดนามกลายเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยง ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงต่างประเทศกล่าวกับรอยเตอร์ และเพิ่มเติมว่าเมื่อสิบปีก่อนไม่มีสถานการณ์เช่นนี้

“เวียดนามไม่ได้เตรียมการเพื่อเดินสวนสนามในวันชาติ แต่กำลังสร้างศักยภาพทางทหารอย่างแท้จริง” นายทิม ฮักซ์ลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในภูมิภาคแห่งสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษาระหว่างประเทศในสิงคโปร์กล่าวกับรอยเตอร์

ไต้หวัน

ไต้หวันมีความพยายามที่จะสร้างกองเรือดำน้ำของตนเองมานานหลายสิบปีแล้ว และในปี พ.ศ. 2559 ไต้หวันได้จัดสรรงบประมาณ 91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3.67 พันล้านบาท) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงสี่ปีข้างหน้าซึ่งจะครอบคลุมเฉพาะขั้นตอนการออกแบบ แม้กองทัพไต้หวันจะถูกมองว่ามีความทันสมัย แต่ไต้หวันมีเรือดำน้ำสี่ลำที่ใช้งานมานานแล้ว ในจำนวนนี้ มีอยู่สองลำที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

ทหารเรือของกองทัพเรือไต้หวันแสดงความเคารพบนเรือดำน้ำชั้นกัปปีที่ผลิตโดยสหรัฐฯ เรือดำน้ำไห่เปาของไต้หวันที่สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองมีอายุ 70 ปี เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ
ทหารเรือของกองทัพเรือไต้หวันแสดงความเคารพบนเรือดำน้ำชั้นกัปปีที่ผลิตโดยสหรัฐฯ เรือดำน้ำไห่เปาของไต้หวันที่สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองมีอายุ 70 ปี เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 สหรัฐฯ ได้ประกาศการขายอาวุธให้แก่ไต้หวันมูลค่า 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาท) ซึ่งประกอบด้วยเรือฟริเกตติดตั้งขีปนาวุธนำวิถีสองลำ ขีปนาวุธโทว์ซึ่งเป็นขีปนาวุธต่อสู้รถถังที่ยิงจากท่อยิง ติดตามบังคับด้วยระบบอ็อปติกและนำวิถีด้วยเส้นลวด ยานยนต์โจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกและขีปนาวุธสติงเกอร์ที่ยิงจากพื้นสู่อากาศ ตามรายงานของสำนักข่าวดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส และรอยเตอร์

การขายอาวุธครั้งนี้ถือเป็นครั้งสำคัญครั้งแรกในรอบสี่ปีที่สหรัฐฯ ขายอาวุธให้กับไต้หวันซึ่งเป็นเกาะที่ปกครองตนเอง และการซื้อขายดังกล่าวได้สร้างความโกรธเคืองให้กับจีน กระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุว่า อาวุธใหม่นี้จะช่วยให้ไต้หวันดำรงการป้องกันประเทศได้อย่างน่าเชื่อถือ

 

บทสรุป

นิตยสาร ดิอิโคโนมิสต์ ได้ระบุไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ว่า ขณะนี้การซื้อขายอาวุธหนักในอินโดเอเชียแปซิฟิกคิดเป็นปริมาณเกือบครึ่งหนึ่งของการซื้อขายโดยรวมในตลาดโลก ซึ่งเกือบจะเป็นสองเท่าของอาวุธหนักที่ซื้อขายกันในตะวันออกกลางที่ได้รับความเสียหายอันใหญ่หลวงจากสงคราม สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์มรายงานว่า อินเดีย จีน ออสเตรเลีย ปากีสถาน เวียดนามและเกาหลีใต้ คือ 6 ใน 10 ประเทศที่เป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่

บางทีข้อสังเกตที่เด่นชัดที่สุดเกี่ยวกับการเพิ่มศักยภาพทางทหารอย่างต่อเนื่องก็คือ มันเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่ดีแม้จะมีความสงบสุขในภูมิภาค ภูมิภาคนี้ไม่มีสงครามระหว่างประเทศที่เต็มรูปแบบมานานเกือบสี่ทศวรรษแล้ว นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่จีนบุกเวียดนามในปี พ.ศ. 2522

“ในยุคที่ผ่านมา เอเชียมีความสงบสุขมากกว่าเดิมเป็นระยะเวลานานกว่าที่ใครหลาย ๆ คนคาดคิด” ดร.แวน แจ็กสัน รองศาสตราจารย์จากวิทยาลัยความมั่นคงศึกษาแห่งศูนย์ความมั่นคงศึกษาเอเชียแปซิฟิก แดเนียล เค. อิโนะยูเอะ ได้เขียนไว้ในบทความสำหรับนิตยสาร เดอะเนชันนัล อินเทอเรสต์ “‘ความสงบสุขในเอเชีย’ นั้นดำรงอยู่ได้เพราะความตื่นตัวทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วทั้งภูมิภาค ต้นเหตุของความขัดแย้งแบบดั้งเดิมในหมู่ประชาชาติ เช่น การแข่งขันทางด้านอาวุธหรือเกลียวแห่งความขัดแย้งนั้นสามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการเจรจาทางการทูตในระดับภูมิภาค การป้องปราม และความมุ่งมั่นในการรักษาความมั่นคงของสหรัฐฯ ซึ่งยังไม่รวมถึงความปรารถนาทั่วไปที่จะหลีกเลี่ยงสงครามในภาคประชาสังคมของเอเชีย”

บรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการพัฒนากองทัพให้มีความทันสมัยอย่างต่อเนื่องทั่วอินโดเอเชียแปซิฟิกจะมีส่วนช่วยในการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค ทำให้ชาติต่าง ๆ มีการปฏิสัมพันธ์กันและเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงและกลาโหม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button