เรื่องเด่น

คลื่นอาชญากรรม ทางไซเบอร์

อินโดเอเชียแปซิฟิกคือศูนย์กลางของอาชญากรรมทางดิจิตอลของโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมผิดกฎหมายที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

คฤหาสน์สุดหรูแห่งนี้ไม่ควรจะมีผู้อยู่อาศัย แต่เมื่อชุดปฏิบัติการตำรวจสืบสวนอินโดนีเซียบุกเข้าไปเมื่อเวลา 6 นาฬิกาในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พ.. 2558 ก็ได้พบกลุ่มเครือข่ายอาชญากรรมทางไซเบอร์ข้ามชาติที่กำลังทำงานกันอย่างคึกคัก

องค์กรที่เชื่อว่าจัดตั้งขึ้นโดยพลเมืองจีนที่อาศัยอยู่ในฮ่องกงได้สรรหาสมาชิก 31 คนซึ่งก็คือกลุ่มหนุ่มสาวชาวจีนและไต้หวันที่ถูกตรวจพบในคฤหาสน์  คนกลุ่มนี้ได้ทำงานมาเป็นเวลาหนึ่งเดือนในที่พักอาศัยอันหรูหราในเมืองเมดานซึ่งเป็นเมืองท่าของอินโดนีเซียก่อนที่ตำรวจจะเข้าจู่โจม ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะ จาการ์ตา โพสต์

คนกลุ่มนี้รีบเผาหลักฐานทิ้งอย่างรวดเร็วขณะที่เราบุกเข้าไปในบ้าน” นายอาห์หมัด เฮย์ดา ผู้อำนวยการฝ่ายอาชญากรรมพิเศษแห่งจังหวัดสุมาตราเหนือกล่าวกับหนังสือพิมพ์ อย่างไรก็ตาม ทางการได้ยึดโทรศัพท์มือถือ 65 เครื่อง รวมทั้งคอมพิวเตอร์แล็บท็อป เราเตอร์ วิทยุสื่อสารและธนบัตรที่ประกอบไปด้วยเงินห้าสกุล

เพียงหนึ่งเดือนต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.. 2558 ชุดปฏิบัติการของกรุงจาการ์ตา นครไทเป และตำรวจจีนได้ปราบปรามกลุ่มเครือข่ายอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกชาวจีนและไต้หวันกว่า 90 คนที่ลงมือปฏิบัติงานจากสำนักงานเล็ก ๆ ทั่วกรุงจาการ์ตา นักต้มตุ๋นเหล่านี้อ้างว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในระหว่างที่ติดต่อกับนักธุรกิจในจีน โดยสัญญาว่าจะจัดสรรโครงการให้เพื่อแลกกับค่าตอบแทน นายกฤษณะ มูร์ตี ผู้อำนวยการกรมตำรวจต่อต้านอาชญากรรมแห่งกรุงจาการ์ตากล่าวกับ เดอะ จาการ์ตา โพสต์

ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่มาจากจีนและไต้หวัน กลุ่มเครือข่ายเองนั้นได้รับการคุ้มครองจากองค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น เช่น กลุ่มยากูซ่า” นายกฤษณะกล่าว “อาชญากรรมนี้เกี่ยวข้องกับประเทศต่าง ๆ สี่ประเทศ”

นั่นคือความท้าทายที่สำคัญประการหนึ่งที่เกิดจากอาชญากรรมทางดิจิตอล อาชญากรรมดังกล่าวมักจะเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ พวกแฮกเกอร์ทำงานทางอินเทอร์เน็ตที่ไร้พรมแดนซึ่งขอบเขตทางภูมิศาสตร์และการเมืองมีความหมายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นี่คือปัญหาอันรุนแรงในภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะ ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางของโลกในการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์อันเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ ซึ่งรวมถึงความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในภูมิภาคและความพร้อมในการใช้งานอินเทอร์เน็ต

“เนื่องจากภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีอาชญากรรมที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ดังนั้น อาชญากรรมทางไซเบอร์จึงทวีความสำคัญเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก” สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติรายงานในระหว่างการประชุมที่กรุงโซลในปี พ.. 2554 ซึ่งมีผู้ร่วมประชุมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์จากกว่า 20 ประเทศในอินโดเอเชียแปซิฟิก

ความสะดวกในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการใช้งานอย่างแพร่หลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจในการก่ออาชญากรรมหลากหลายประเภท” สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติยืนยัน “นับตั้งแต่การโจรกรรมข้อมูลทางคอมพิวเตอร์และการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตเพื่อล้วงข้อมูลสำคัญ ไปจนถึงการกระทำผิดทางด้านเนื้อหาในคอมพิวเตอร์ รวมทั้งปัญหาลิขสิทธิ์และสื่อลามกอนาจารเด็กออนไลน์ อินเทอร์เน็ตกลายเป็นพื้นที่ก่อเหตุของอาชญากรที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นเรื่อย ๆ

การสืบสวนข้ามเขตอำนาจต่าง ๆ ทำให้การจัดการกับอาชญากรรมทางดิจิตอลเป็นงานที่ซับซ้อน ลักษณะที่ไร้พรมแดนของอาชญากรรมดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือข้ามชาติและการควบคุมโลกไซเบอร์มากยิ่งขึ้น

มาตรการต่อต้านใหม่

ขอบเขตทางไซเบอร์ที่ไม่ชัดเจนของภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิกและอาชญากรไซเบอร์ที่กระจายอยู่ทั่วโลกเป็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับองค์กรใดก็ตามที่ต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์โดยลำพัง” บริษัทไมโครซอฟท์ระบุในแถลงการณ์ในปี พ.. 2558 ขณะเปิดตัวศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์สาขาใหม่ที่สิงคโปร์ “อาชญากรรมทางไซเบอร์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ และผลกระทบอันรุนแรงต่อรัฐบาล อุตสาหกรรมและปัจเจกบุคคลทำให้การแบ่งปันข่าวกรองเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นปัจจัยสำคัญต่อระบบนิเวศความมั่นคงทางไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพ”

รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์กำลังแก้ไขปัญหานี้ ได้แก่

องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเครือข่ายกองกำลังตำรวจจาก 190 ประเทศทั่วโลก ได้เปิดศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่ทันสมัยในสิงคโปร์ในปี พ.. 2558 ศูนย์นวัตกรรมระดับโลกแห่งองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศจะให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูงและจัดการฝึกอบรมให้กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศสมาชิกในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ ความมั่นคงทางดิจิตอล การสร้างและการฝึกขีดความสามารถต่าง ๆ ตลอดจนการสนับสนุนการปฏิบัติการและการสืบสวน

ในปี พ.. 2558 บริษัทไมโครซอฟท์ได้เปิดศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์แห่งที่ห้าขึ้นที่ศูนย์กลางทางการเงินของสิงคโปร์ ศูนย์ดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการในระดับภูมิภาคเพื่อให้บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่แห่งนี้ดำเนินโครงการด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์แห่งอื่น ๆ ของบริษัทไมโครซอฟท์ตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง กรุงโตเกียว กรุงวอชิงตันและกรุงเบอร์ลิน

นักการทูตระดับสูงจากจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ร่วมประชุมเกี่ยวกับความมั่นคงทางไซเบอร์ที่กรุงปักกิ่งในปี พ.. 2557 และที่กรุงโซลในปี พ.. 2558 ซึ่งนับว่าเป็นการประชุมสองครั้งแรกในหัวข้อนี้ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัวของจีน ผู้เข้าร่วมประชุมได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือแบบไตรภาคีเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมและการก่อการร้ายทางไซเบอร์ ที่ประชุมได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการของคณะกรรมการด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่มีสามประเทศนี้เข้าร่วมรวมทั้งฮ่องกง

ในช่วงปลายปี พ.. 2558 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ส่ง “อัยการทางไซเบอร์” ไปประจำที่มาเลเซีย ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ในฐานะที่ปรึกษาทางกฎหมาย เพื่อช่วยประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการออกกฎหมายและกำหนดเครื่องมือที่จำเป็นในการต่อสู้กับแฮกเกอร์ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส “หน้าที่นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อต้านอาชญากรรมที่ไร้พรมแดนทางภูมิศาสตร์ และมักจะกระทำการโดยแฮกเกอร์ในต่างประเทศ” ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ในการตอบสนองต่อจำนวนที่เพิ่มขึ้นของการกระทำผิดทางไซเบอร์ในประเทศอินโดนีเซีย สำนักงานตำรวจสหพันธ์ออสเตรเลียและสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซียได้ผนึกกำลังกันเพื่อเปิดสำนักงานต่อต้านอาชญากรรมร่วมสองแห่งในปี พ.. 2557 และ พ.. 2558 โดยสำนักงานแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซียและอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจจาการ์ตา ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ จาการ์ตา โกลบ “นอกจากออสเตรเลียแล้ว เราจะขยายความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ อีกด้วย” นายพลนานัน ซูการ์นา รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์

ความลึกลับซับซ้อนที่เป็นอุปสรรคต่อการบังคับใช้กฎหมาย

อาชญากรรมทางดิจิตอลคืออะไร ความหมายของคำนี้ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องเทคโนโลยี

“อาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ มีผู้ก่อเหตุคือผู้เชี่ยวชาญด้านการเจาะข้อมูลซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ ผู้ดูแลสภาพคล่องของตลาดใต้ดินและนักฉ้อฉลที่นำรหัสผ่านและข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกขโมยมาไปแสวงประโยชน์ทางการเงิน” ตามข้อมูลของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่รายงานเกี่ยวกับปัญหานี้ในปี พ.. 2557 “อาชญากรสามารถเก็บข้อมูลไว้หลายเดือนหรือแม้กระทั่งหลายปีก่อนที่จะนำไปใช้ในการล่อลวงเหยื่อ”

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า บริษัท ปัจเจกบุคคลและรัฐบาลอาจตกเป็นเป้าหมายของบรรดาแฮกเกอร์

อาชญากรรมทางดิจิตอลเป็นธุรกิจที่กำลังเฟื่องฟู ผลการวิจัยในปี พ.. 2557 ของบริษัทอินเตอร์เนชันนัล ดาตา คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาด และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ระบุว่า องค์กรธุรกิจทั่วโลกใช้งบประมาณราว ๆ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (หรือประมาณ 17.83 ล้านล้านบาท) ในการรับมือกับมัลแวร์ ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ประสงค์ร้ายที่ออกแบบมาเพื่อทำลายหรือเจาะระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กรธุรกิจต่าง ๆ ผลการวิจัยดังกล่าวเรียกมัลแวร์ว่า “พาหะที่ให้ผลกำไรงามในการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์” องค์กรธุรกิจในภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิกมีค่าใช้จ่ายในการรับมือกับมัลแวร์ 2.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 8.2 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นเงินเกือบครึ่งหนึ่งของยอดรวมค่าใช้จ่ายขององค์กรธุรกิจทั่วโลก

บทความของนิตยสาร บลูมเบิร์ก บิสซิเนส ในเดือนกรกฎาคม พ.. 2558 ระบุว่า “การปกปิดความลับ” คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาค บรรดานักวิเคราะห์ความมั่นคงทางไซเบอร์ระบุอย่างเศร้าใจว่า ส่วนใหญ่แล้วบริษัทต่าง ๆ ในอินโดเอเชียแปซิฟิกที่ถูกเจาะระบบข้อมูลมักจะไม่ถูกกำหนดให้ต้องรายงานต่อเจ้าหน้าที่

บลูมเบิร์ก บิสซิเนส รายงานว่า “ในยุคที่มีการจัดเก็บข้อมูลไว้ในระบบออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ และมีการตรวจพบการโจมตีอย่างต่อเนื่องจนน่าตกใจ การขาดแคลนกลไกในการรายงานทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่ามีการนำข้อมูลส่วนบุคคลออกจากฐานข้อมูลในเอเชียมากน้อยเพียงใดหรือบ่อยแค่ไหน” นอกจากนี้ บลูมเบิร์ก บิสซิเนส ยังตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า บริษัทต่าง ๆ ในอินโดเอเชียแปซิฟิกตกเป็นเป้าของแฮกเกอร์บ่อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึงร้อยละ 40

หากการโจมตีระบบรักษาความปลอดภัยไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ บรรดาแฮกเกอร์ก็จะสามารถใช้กลยุทธ์เดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า “วัฒนธรรมการไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์ในเอเชียคือแรงจูงใจของกลุ่มนักโจรกรรมที่กระทำการในภูมิภาคโดยรอดพ้นจากการดำเนินคดีและบทลงโทษทางกฎหมาย” นายทอม เคลเลอร์แมนน์ ประธานกรรมการด้านความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งบริษัทเทรนด์ ไมโคร ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ กล่าวกับ บลูมเบิร์ก บิสซิเนส

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือข้ามพรมแดนมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมทางดิจิตอล

เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพในเรื่องความร่วมมือระหว่างเขตอำนาจในการสืบสวนอาชญากรรมทางไซเบอร์ ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องกำหนดข้อตกลงระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อตอบสนองข้อกำหนดของสภาพแวดล้อมทางไซเบอร์” นายโนโบรุ นากาตามิ ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์นวัตกรรมระดับโลกแห่งองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศในสิงคโปร์กล่าวกับ ฟอรัม (อ่าน “ข้อมูลผู้นำคนสำคัญ” ได้ในหน้า 58)

ศูนย์นวัตกรรมใหม่ที่ทันสมัยดังกล่าวประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ทางดิจิตอล ที่จะช่วยสนับสนุนงานด้านการสืบสวนอาชญากรรมทางไซเบอร์ของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วทั้งภูมิภาค

นายแบรดลีย์ มาร์เดน ผู้ประสานงานด้านการสนับสนุนการสืบสวนอาชญากรรมทางดิจิตอลของศูนย์นวัตกรรมระดับโลกแห่งองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ กล่าวกับ ซีดีเน็ต ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวสารทางเทคโนโลยีในเดือนกันยายน พ.. 2558 ว่า บรรดาแฮกเกอร์ที่ก่ออาชญากรรมได้ขยายขอบเขตเป้าหมายของตนนอกเหนือไปจากธนาคารต่าง ๆ “ขณะนี้ แฮกเกอร์มีหนทางใหม่ ๆ มากขึ้นในการสร้างรายได้จากการเจาะระบบข้อมูลและไม่ได้จำกัดตนเองโดยมุ่งเป้าที่ธนาคารและสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียว ซึ่งก่อนหน้านี้ คนเหล่านี้จะมุ่งเน้นที่การโจรกรรมข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคารและบัตรเครดิตเท่านั้น”

นายเอริก ชาน ผู้อำนวยการด้านเทคนิคประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกงของฟอร์ติเน็ต ซึ่งเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยของเครือข่าย กล่าวกับเว็บไซต์ซีดีเน็ตว่า โดยปกติแล้ว แฮกเกอร์จะใช้อีเมลในการเจาะระบบคอมพิวเตอร์ นายชานกล่าวเพิ่มเติมว่า การโจมตีทางไซเบอร์ประมาณร้อยละ 30 จะใช้วิธีส่งอีเมล ซึ่งผู้รับจะเปิดอีเมลผิดกฎหมายเหล่านี้ประมาณร้อยละ 25

นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐบาลยังคงมีความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์ ตัวอย่างเช่น ในเดือนมกราคมพ.. 2559 เครือข่ายเจาะระบบข้อมูลข้ามชาติที่ใช้ชื่อว่า กลุ่มแอโนนีมัส ได้โจมตีเว็บไซต์ของตำรวจและรัฐบาลไทย กลุ่มแฮกเกอร์ดังกล่าวได้ปิดเว็บไซต์ลงชั่วคราวเพื่อประท้วงการตัดสินลงโทษประหารชีวิตคนงานอพยพชาวพม่าสองคนในความผิดฐานฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษสองคนในปี พ.. 2557 ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ 

ความเสี่ยงที่กำลังเพิ่มขึ้น

ประเทศใดในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงมากที่สุดจากการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ คำตอบที่ได้จะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์กล่าวว่า ประเทศในเอเชียที่พัฒนาแล้วและอุดมไปด้วยเทคโนโลยี อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวันจะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการโจมตี” ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

อย่างไรก็ตาม บริษัทไมโครซอฟท์กลับมีข้อสรุปที่ค่อนข้างแตกต่าง บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่รายนี้เปิดเผยว่า รายงานข่าวกรองด้านความมั่นคงล่าสุดของตนระบุว่าประเทศเศรษฐกิจใหม่ในภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิกมีความเสี่ยงต่อมัลแวร์โดยเฉพาะ “ผลการศึกษาระบุว่า ในห้าอันดับแรกของประเทศที่มีความเสี่ยงจากมัลแวร์มากที่สุดในโลกนั้น มีสี่ประเทศที่ตั้งอยู่ในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ปากีสถาน อินโดนีเซีย บังกลาเทศและเนปาล ซึ่งติดอันหนึ่ง สอง สี่และห้าตามลำดับในแง่ของการประสบปัญหามัลแวร์ในคอมพิวเตอร์”

สถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ออสเตรเลียและศูนย์นโนบายทางไซเบอร์ระหว่างประเทศได้วิเคราะห์สิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนาในระดับสูงสุดทางไซเบอร์” ของประเทศต่าง ๆ 20 ประเทศที่ทำให้เกิดมุมมองกว้าง ๆ ทางด้านภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจของภูมิภาค ในงานวิจัยหัวข้อ “การพัฒนาในระดับสูงสุดทางไซเบอร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พ.. 2558” นักวิเคราะห์ได้ศึกษาการดำเนินงานและการใช้โครงสร้าง นโยบาย กฎหมายและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับไซเบอร์

เกาหลีใต้ สิงคโปร์และญี่ปุ่นมีจุดเด่นในเรื่องโครงสร้างการกำกับดูแลนโยบายทางไซเบอร์ที่เปิดกว้างและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน” ผลการศึกษาระบุ “ในทางตรงกันข้าม ประเทศอื่น ๆ ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่จำเป็นเพื่อให้ประชาชนของตนสามารถเข้าถึงเครือข่ายดิจิตอลได้มากขึ้น ประเทศเหล่านี้ ซึ่งได้แก่ ลาว กัมพูชา ปาปัวนิวกินีและฟิจิ มีแนวโน้มที่จะให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารโทรคมนาคมเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบนโยบายและความมั่นคงทางไซเบอร์”

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แทบจะเป็นเรื่องที่แน่นอนว่า  อาชญากรรมทางไซเบอร์จะยังคงเป็นปัญหาสำคัญในอินโดเอเชียแปซิฟิกที่มีประชาชนกว่า 1 พันล้านคนที่ใช้อินเทอร์เน็ต และระบบเวิลด์ ไวด์ เว็บ จะเชื่อมต่อกับระบบธุรกิจของโลกอย่างแยกกันไม่ออก

สังคมของเอเชียคือสังคมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่กระตือรือร้น” ผลการศึกษาในหัวข้อ “สังเวียนอันซ่อนเร้น: การแข่งขันทางไซเบอร์และความขัดแย้งในอินโดเอเชียแปซิฟิก” ที่เผยแพร่โดยสถาบันวิจัยนโยบายระหว่างประเทศโลวี ซึ่งเป็นคณะทำงานระดับมันสมองในออสเตรเลียที่มีความเป็นกลางทางการเมือง

ผลการศึกษาดังกล่าวระบุว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์ในภูมิภาคมีแนวโน้มที่จะเพิ่มระดับขึ้นอย่างแน่นอน

“อาชญากรทางไซเบอร์จะไปทุกที่ที่มีเงิน” ผลการศึกษาสรุป “เมื่อประเทศต่าง ๆ ในเอเชียมีความมั่งคั่งขึ้น การฉ้อฉลและการขู่กรรโชกทางอินเทอร์เน็ตก็จะเพิ่มขึ้น”

รัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ในอินโดเอเชียแปซิฟิกจะต้องเพิ่มความร่วมมือระหว่างภูมิภาค ตลอดจนการพัฒนา การออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับไซเบอร์เพื่อจะก้าวให้ทันกลุ่มอาชญากรออนไลน์เหล่านี้ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ และเพิ่มการก่อเหตุด้วยการกระทำตนเป็นนักล่าเหยื่อที่ชั่วร้ายในอาณาเขตทางดิจิตอล

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button