ยุทธศาสตร์ ทะเลจีนใต้

การระบุความเคลื่อนไหวขั้นต่อไปของจีนในภูมิภาค
ดร.อเล็กซานเดอร์ แอล. วูวิง
นับตั้งแต่ปี พ.ศ 2557 เป็นต้นมา หมู่เกาะสแปรตลียังคงเป็นพื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเฉพาะ คนงานบนเรือหลายสิบลำของจีนได้ตัดปะการังและขุดลอกทรายเพื่อปรับเปลี่ยนแนวปะการังที่ก่อนหน้านี้จมอยู่ใต้น้ำให้กลายเป็นเกาะเทียม ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี คนงานเหล่านี้ได้สร้างแผ่นดินใหม่กว่า 10 ตารางกิโลเมตรบนพื้นที่เจ็ดแห่งทั่วหมู่เกาะซึ่งแต่เดิมมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร แนวปะการังเฟียรี ครอส ซึ่งจมอยู่ใต้น้ำในช่วงน้ำขึ้นเมื่อจีนเข้าครอบครองในปี พ.ศ. 2531 ขณะนี้กลายเป็นผืนแผ่นดินขนาด 2.74 ตารางกิโลเมตร และมีขนาดใหญ่พอที่จะสร้างทางวิ่งเครื่องบินที่มีความยาว 3,100 เมตรและที่จอดเรือขนาด 63 เฮกตาร์ แม้จะมีขนาดใหญ่กว่าเกาะอีตูอาบาซึ่งเป็นเกาะธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะสแปรตลีเกือบหกเท่า แต่แนวปะการังเฟียรี ครอสก็ยังมีขนาดเล็กกว่าเกาะเทียมอีกสองแห่ง ภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 จีนได้สร้างแผ่นดินขนาด 4 ตารางกิโลเมตรและ 5.6 ตารางกิโลเมตรที่แนวปะการังซูบีและแนวปะการังมิสชีฟตามลำดับ และตัวเลขเหล่านี้ยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ณ เวลาที่ตีพิมพ์ ตามที่ระบุในเว็บไซต์ของโครงการเพื่อความโปร่งใสในการเดินทะเลในเอเชีย http://amti.csis.org/island-tracker
เป้าหมายปลายทางของการสร้างเกาะคืออะไร บทบาทของเกาะที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ของจีนในยามสงครามและในแง่กฎหมายทางทะเลดูเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอย่างยิ่ง เกาะต่าง ๆ ตั้งอยู่โดดเดี่ยวและมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะต้านทานการโจมตีครั้งใหญ่ ๆ ได้ ทรัพยากรดังกล่าวจึงเป็นข้อด้อยในยามสงคราม เนื่องจากเกาะเหล่านี้เป็นเกาะเทียมทั้งหมด เกาะเหล่านั้นไม่มีสิทธิอาณาเขตทางทะเล 12 ไมล์ทะเล หรือไม่มีเขตเศรษฐกิจจำเพาะระยะ 200 ไมล์ทะเล แล้วเหตุใดจีนจึงทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างเกาะเหล่านี้
มุมมองแบบเดิมที่มุ่งประเด็นในเรื่องการแสดงนัยทางทหารและทางกฎหมายด้วยกิจกรรมเหล่านี้ไม่ใช่คำอธิบายที่เหมาะสม จีนกำลังดำเนินกลยุทธ์ตามหลักการที่แตกต่างจากแนวคิดแบบเดิม ๆ มาก ดังที่ระบุไว้ในบทความของผู้เขียนเรื่อง “กลยุทธ์ซุนวูของจีน: การเตรียมการเพื่อชัยชนะโดยไม่ต้องต่อสู้” ที่ตีพิมพ์ในบทวิจัยเกี่ยวกับทะเลจีนใต้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังกลยุทธ์นี้สามารถพบได้ใน ตำราพิชัยสงคราม ของซุนวู แนวคิดที่สำคัญคือ “การได้ชัยชนะโดยไม่ต้องต่อสู้” วัตถุประสงค์โดยรวมคือการควบคุมทะเลจีนใต้ แต่วิธีการหลักในการบรรลุเป้าหมายนี้ไม่ใช่การสู้รบขนาดใหญ่ จีนต้องการบรรลุเป้าหมายโดยใช้กิจกรรมที่สร้างหลักฐานบนพื้นดิน (และในน้ำ) กำหนดพื้นที่แข่งขันและเปลี่ยนแผนการคำนวณเชิงยุทธศาสตร์ของชาติอื่น ๆ ด้วยวิธีการทางจิตวิทยา ตรรกะที่อยู่เบื้องหลังกลยุทธ์นี้คือการเปลี่ยนแนวโน้มของสิ่งต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการสร้างอิทธิพลของจีนโดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาค

ในการดำเนินกลยุทธ์การฉวยโอกาสและการแผ่ขยายพื้นที่แห่งความไม่ชัดเจนดังกล่าวจะต้องมีหลักปฏิบัติสำคัญสามประการ และรัฐบาลจีนที่เกี่ยวพันกับทะเลจีนใต้มานานหกทศวรรษก็ดำเนินการตามหลักปฏิบัติสำคัญเหล่านี้อย่างรอบคอบ (ดร.อเล็กซานเดอร์ แอล. วูวิง ผู้เขียนได้เผยแพร่ทฤษฎีนี้ครั้งแรกในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 ในบทความเรื่อง “ความท้าทายเกี่ยวกับกลยุทธ์อันยิ่งใหญ่ของจีน: การสร้างเกาะของตนเองในทะเลจีนใต้” ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร เดอะเนชันนัล อินเทอเรสต์ บทความดังกล่าวแสดงการคาดการณ์เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างของจีนที่แนวปะการังซูบีและแนวปะการังมิสชีฟได้อย่างถูกต้อง)
หลักปฏิบัติสำคัญสามประการ
หลักปฏิบัติสำคัญประการแรกคือการหลีกเลี่ยงการสู้รบขนาดใหญ่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจเริ่มการปะทะได้เมื่อต้องการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยเท่านั้น หลักปฏิบัติข้อนี้เป็นกลยุทธ์สำคัญของจีนเมื่อครั้งที่เข้ายึดหมู่เกาะพาราเซลจากเวียดนามใต้ในปี พ.ศ. 2517 และเมื่อจีนปะทะกับเวียดนามในหมู่เกาะสแปรตลีเมื่อปี พ.ศ. 2531
หลักปฏิบัติสำคัญประการที่สองคือ การควบคุมที่มั่นที่มีความเหมาะสมทางยุทธศาสตร์มากที่สุด ในพื้นที่ หากที่มั่นใดยังไม่ถูกครอบครอง ให้เข้ายึดที่มั่นเหล่านั้นด้วยวิธีการลับ ๆ ถ้าทำได้และจำกัดความขัดแย้งในกรณีที่จำเป็น หลักปฏิบัติสำคัญข้อนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อจีนเข้าควบคุมแนวปะการังเจ็ดแห่งในหมู่เกาะสแปรตลีซึ่งจีนยึดครองอยู่ในขณะนี้และเกาะปะการังสการ์โบโรห์ โชล ในปี พ.ศ. 2555
หลักปฏิบัติประการที่สามคือการพัฒนาที่มั่นเหล่านี้ให้เป็นจุดควบคุมที่มั่นคง เป็นศูนย์กลางการส่งกำลังบำรุงที่แข็งแกร่งและเป็นฐานแสดงอำนาจที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจีนกำลังทำอยู่จริง ๆ ในขณะนี้ในทะเลจีนใต้
กิจกรรมเหล่านี้มีขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายสองประการ นั่นก็คือการสร้างความยิ่งใหญ่และอธิปไตยในพื้นที่นี้ของจีน เนื่องจากเป็นที่ตั้งทางยุทธศาสตร์และศูนย์กลางการส่งกำลังบำรุง เกาะต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การครอบครองของจีนจะเป็นฐานที่มั่นอันแข็งแกร่งเพื่อส่งเรือประมง เรือบังคับใช้กฎหมาย เรือรบและอากาศยานทั้งที่มีคนขับและไร้คนขับที่มีอยู่มากมายมหาศาลเข้าควบคุมน่านน้ำและน่านฟ้าในทะเลจีนใต้
จุดควบคุมที่สำคัญประกอบด้วยเกาะวู้ดดี้ในหมู่เกาะพาราเซล แนวปะการังเฟียรี ครอส แนวปะการังซูบีและแนวปะการังมิสชีฟในหมู่เกาะสแปรตลี และเกาะปะการังสการ์โบโรห์ โชล ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลจีนใต้ โดยเกาะวู้ดดี้ แนวปะการังเฟียรี ครอส แนวปะการังมิสชีฟและเกาะปะการังสการ์โบโรห์ โชล ตั้งอยู่เรียงรายคล้ายกลุ่มดาวสี่แฉกที่มีรัศมีเพียง 250 ไมล์ทะเลเท่านั้น ดังนั้น พื้นที่ทะเลจีนใต้ทั้งหมดจึงสามารถตกอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังอย่างหนาแน่น ภายในหมู่เกาะสแปรตลีนั้น แนวปะการังซูบี แนวปะการังมิสชีฟและแนวปะการังเฟียรี ครอสทำให้เกิดพื้นที่รูปสามเหลี่ยมที่ชัดเจนครอบคลุมบริเวณหมู่เกาะแห่งนี้
บนเกาะวู้ดดี้นั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้จีนได้ปรับปรุงทางวิ่งเครื่องบินที่มีความยาว 3,000 เมตรและท่าเรือน้ำลึก 1,000 เมตร สนามบินบนเกาะสามารถรองรับอากาศยานยุคที่สี่ได้แปดลำหรือมากกว่า เช่น เครื่องบินขับไล่ ซู-30 เอ็มเคเค และเครื่องบินทิ้งระเบิด เจเอช-7 ท่าเรือที่เกาะสามารถรองรับเรือที่มีขนาด 5,000 ตันหรือมากกว่า จีนกำลังอยู่ในระหว่างการสร้างทางวิ่งเครื่องบินและท่าเรือที่มีขนาดใกล้เคียงกันที่แนวปะการังเฟียรี ครอส การถมทะเลเพื่อสร้างแผ่นดินบนแนวปะการังซูบีและแนวปะการังมิสชีฟเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าจะมีการสร้างทางวิ่งเครื่องบินและท่าเรือขนาดเดียวกันบนเกาะเทียมทั้งสองเกาะ แม้รัฐบาลจีนจะยังไม่ได้เริ่มการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ โชล แต่ถ้าจีนจะสร้างทางวิ่งเครื่องบินและท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่นี้ในอนาคตก็คงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ
การขยายพื้นที่ด้วยการถมทะเลจะทำให้จีนสามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างทางทหารและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้งานได้สองวัตถุประสงค์บนฐานที่มั่นของตน ฐานที่มั่นของจีนสี่แห่งในหมู่เกาะสแปรตลีที่มีขนาดเล็กกว่าขณะนี้มีขนาดใกล้เคียงกับฐานที่มั่นขนาดใหญ่ที่สุดของเวียดนามในบริเวณนั้น ตัวเกาะสแปรตลีเองเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะและอยู่ในความครอบครองของเวียดนามโดยมีพื้นที่ทั้งหมด 15 เฮกตาร์ ฐานที่มั่นสี่แห่งของจีน ได้แก่ แนวประการังคูอาร์เตอรอน แนวปะการังจอห์นสัน เซาท์ แนวปะการังกาเวนและแนวปะการังฮิวส์ขณะนี้มีพื้นที่ 23.1 เฮกตาร์ 10.9 เฮกตาร์ 13.6 เฮกตาร์และ 7.6 เฮกตาร์ตามลำดับ
จีนจะสร้างสถานีเรดาร์ โรงงานไฟฟ้าและโรงงานผลิตน้ำขนาดต่าง ๆ กัน รวมทั้งพื้นที่จัดเก็บและโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการอื่น ๆ บนเกาะที่ตนครอบครอง สิ่งปลูกสร้างของจีนในหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีจะสามารถรองรับเรือประมงได้หลายพันลำ รวมทั้งเรือลาดตระเวน เรือรบและอากาศยานหลายร้อยลำ เพื่อให้ยานพาหนะเหล่านี้สามารถปฏิบัติงานได้ในน่านน้ำและน่านฟ้าที่อยู่ห่างจากชายฝั่งของจีนหลายร้อยกิโลเมตร นอกจากนี้ จีนจะนำพลเรือนและบุคลากรทางทหารหลายพันคนไปอาศัยอยู่บนเกาะเหล่านี้ การขยายพื้นที่เกาะหลายแห่งในหมู่เกาะพาราเซลและการสร้างเกาะเทียมเจ็ดแห่งในหมู่เกาะสแปรตลีเพื่อให้เป็นฐานเตรียมการและฐานส่งกำลังเพิ่มเติม จะทำให้จีนสามารถส่งเรือประมงหลายหมื่นลำและเรือบังคับใช้กฎหมายหลายร้อยลำออกไปผลักดันเรือของเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและอินโดนีเซียออกจากน่านน้ำที่รัฐบาลจีนถือว่าเป็นของตน
อำนาจควบคุมโดยพฤตินัย
จีนอาจไม่โจมตีพื้นที่ที่อยู่ในความครอบครองของผู้อ้างสิทธิอื่น ๆ แต่จะเพิ่มความพยายามในการเข้าควบคุมพื้นที่บางแห่งที่มีชัยภูมิอันเหมาะสมแต่ยังไม่มีเจ้าของด้วยวิธีการที่แอบแฝง แนวปะการังเอลดัดและแนวปะการังวิตซันที่บริเวณใจกลางหมู่เกาะ ตลอดจนพื้นที่หลายแห่งทางตะวันออกของหมู่เกาะสแปรตลีที่อยู่ใกล้กับฟิลิปปินส์มากกว่าก็ยังคงเป็นเป้าหมายที่จีนพยายามจะควบคุม
จีนอาจไม่ได้ประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศอย่างเป็นทางการในทะเลจีนใต้ เพราะการกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญและทำให้ชาติต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หันมาเป็นปรปักษ์กับจีน แต่รัฐบาลจีนจะกำหนดเขตป้องกันภัยทางอากาศหลายแห่งในพื้นที่รอบ ๆ หมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลี นอกจากนี้ จีนจะยืนกรานอย่างเงียบ ๆ ว่าน่านฟ้าภายในพื้นที่รูปตัวยูนั้นเป็นของจีน
ด้วยสิ่งปลูกสร้างที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลี จีนจะประกาศเขตรักษาความมั่นคง เขตประมงและเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทะเลจีนใต้เป็นครั้งคราว แม้เขตทางทะเลเหล่านี้อาจไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ แต่จีนจะปฏิเสธที่จะไปขึ้นศาล และในฐานะผู้ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในภูมิภาค รัฐบาลจีนจะสามารถบังคับใช้ทุกมาตรการที่ตนเห็นว่าชอบธรรม
จีนจะสร้างความได้เปรียบทางอากาศและทางทะเลในทะเลจีนใต้ได้หรือไม่ ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ สนามบินและท่าเรือในหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีนั้นตั้งอยู่โดดเดี่ยวเกินไปและไม่มีความมั่นคงพอที่จะต้านทานการโจมตีครั้งใหญ่ ๆ ได้ในยามสงคราม เรือ
เหลียวหนิงซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำเดียวที่จีนมีอยู่ก็ไม่ได้มีศักยภาพเทียบเท่ากับเรือบรรทุกเครื่องบินแม้เพียงหนึ่งลำของกองเรือสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก ขณะที่เรือเหลียวหนิงมีเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ 30 เจ-15 และเฮลิคอปเตอร์การสงครามต่อต้านเรือดำหลายลำ แต่เรือบรรทุกเครื่องบินชั้นนิมิตซ์ของสหรัฐฯ มีขีดความสามารถมากกว่าสองเท่า
เป้าหมายของรัฐบาลจีนดูเหมือนจะเป็นการเป็นผู้ได้เปรียบทางอากาศและทางทะเลในช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาไม่เข้าไปเกี่ยวข้องทางทหาร ความสามารถของเวียดนามในการโจมตีฐานที่มั่นของจีนในทะเลจีนใต้มีอยู่จำกัดมาก เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าจีนจะทำการตอบโต้ตามแนวชายแดนทางบกของประเทศที่มีความยาว 1,450 กิโลเมตร สนามบินสี่แห่งที่หมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีจะทำให้จีนสามารถส่งอากาศยานยุคที่สี่เพิ่มขึ้นได้อีก 30 ถึง 40 ลำเพื่อเสริมกำลังกับอากาศยานที่จีนใช้ปฏิบัติการอยู่แล้วในทะเลจีนใต้ ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยให้จีนมีความได้เปรียบทางอากาศมากกว่าเวียดนามและมาเลเซียซึ่งมีกองทัพอากาศที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาชาติคู่แข่งของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามมีชายฝั่งทะเลทอดยาวในทะเลจีนใต้ แต่มีอากาศยานยุคที่สี่เพียง 35 ลำในประเทศ มาเลเซียอยู่ไกลออกไปทางใต้และมีอากาศยานยุคที่สี่ไม่เกิน 44 ลำในประเทศ
![เจ้าหน้าที่จากกองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนลาดตะเวนที่หมู่เกาะสแปรตลีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 [รอยเตอร์]](http://ipdefenseforum.com/wp-content/uploads/2016/08/ChineseMarchOcean.jpg)
สแปรตลี การติดตั้งขีปนาวุธมีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกาและรัฐบาลอื่น ๆ ในบางประเทศ แต่จีนจะหาเหตุผลมาสนับสนุนการติดตั้งขีปนาวุธว่าเป็นการป้องกันตนเองโดยชอบธรรม ทรัพยากรทางทหารของจีนในพื้นที่ดังกล่าวจะมีความเสี่ยงสูงในยามสงคราม แต่หน้าที่หลัก ๆ ของสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นการลาดตระเวนในยามสงบและการข่มขู่ทางจิตวิทยา
กลยุทธ์ที่ประกอบไปด้วยการบีบบังคับ
วิธีการของจีนจะประกอบไปด้วยการบีบบังคับและการให้ความร่วมมือ โดยจะใช้อย่างหลังก่อนเพื่อหลอกล่อให้ฝ่ายอื่น ๆ เข้ามาติดกับ จีนอาจเสนอให้ใช้สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ของตนบนเกาะเทียมเพื่อผลประโยชน์สาธารณะของโลก ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 พล.ร.อ.หวู่ เฉิงลี่ ผู้บัญชาการกองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้กล่าวกับ พล.ร.อโจนาทาน กรีเนิร์ต ผู้บัญชาการกองทัพเรือสหรัฐฯ ว่า อาจใช้สิ่งปลูกสร้างของจีนบนเกาะเทียมในการปฏิบัติการร่วมด้านการกู้ภัยและการบรรเทาภัยพิบัติ แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่ได้ตอบรับข้อเสนอของจีน แต่แน่นอนว่าจีนจะใช้ทรัพยากรที่เป็นข้อพิพาทนี้เป็นฐานเตรียมการสำหรับการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมหรือความร่วมมือขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค สำหรับประเทศที่ไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับอาณาเขตหรือเขตแดนทางทะเลกับรัฐบาลจีนในทะเลจีนใต้ ข้อเสนอนี้จะเป็นแรงจูงใจอีกประการหนึ่งให้ยอมรับการครอบงำของจีน
จีนไม่มีทีท่าว่าจะรบกวนการสัญจรทางอากาศและทางทะเลเชิงพาณิชย์ในภูมิภาคนี้ แต่คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจถ้าบางครั้งจีนจะพยายามสกัดกั้นเรือและเครื่องบินทหารหรือพลเรือนของประเทศที่ต่อต้านความพยายามของจีนที่จะเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค การกระทำดังกล่าวหวังผลหลัก ๆ ทางจิตวิทยามากกว่าทางกายภาพ
กิจกรรมของจีนในทะเลจีนใต้สอดคล้องกับกลยุทธ์ในระยะยาวที่ยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งหัวใจหลักคือการควบคุมที่ตั้งสำคัญเชิงยุทธศาสตร์แห่งนี้ในทางที่เป็นการป้องไม่ให้ฝ่ายอื่น ๆ ตอบโต้โดยใช้วิธีการเดียวกัน กลยุทธ์นี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมเพื่อบรรลุความใฝ่ฝันของจีน นั่นก็คือการกลับไปเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกครั้งเหนือชาติอื่น ๆ ซึ่งจีนคิดว่าเป็นตำแหน่งอันชอบธรรมของตน ผลลัพธ์ที่เกิดกับชาติมหาอำนาจใหม่ที่กระหายสงครามในอดีตและความไม่มั่นคงของเส้นทางการค้าของจีนบ่งชี้ว่าสงครามไม่ใช่วิธีที่จีนจะบรรลุความทะเยอทะยานนี้ แบบแผนทางกลยุทธ์ที่สืบทอดกันมานั้นนิยมใช้วิธีการแบบอ้อม ๆ จีนจึงเลือกกลยุทธ์การฉวยโอกาสและการแผ่ขยายพื้นที่แห่งความไม่ชัดเจนนี้เพื่อพยายามสร้างพื้นที่แข่งขันมากกว่าจะใช้การโจมตีข้าศึกโดยตรง การข่มขู่เป็นองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์นี้ แต่จะต้องเกิดจากการแสดงอำนาจที่แข็งแกร่งหรือการเลือกบทลงโทษอันรุนแรงมากกว่าการรุกรานตามอำเภอใจ
หากคู่แข่งของจีนไม่สามารถตอบโต้กลยุทธ์นี้ได้ จีนจะกลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือผู้อื่นในทะเลจีนใต้ อย่างน้อยก็ในความคิดของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค จากความจริงที่ว่าทะเลจีนใต้นั้นเปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของเอเชีย และความจริงที่ว่าจุดศูนย์ดุลของเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไปยังเอเชีย ดังนั้นการดำรงไว้ซึ่งเสรีภาพในการเคลื่อนที่ของทุกฝ่ายในทะเลจีนใต้จึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ