ข้อมูลผู้นำคนสำคัญแผนก

พรมแดน ในการต่อสู้กับอาชญากรรมทางดิจิตอล

นายโนโบรุ นากาตานิ ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์นวัตกรรมระดับโลกแห่งองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศในสิงคโปร์ แสดงมุมมองเกี่ยวกับภัยคุกคามใหม่ในพื้นที่ไซเบอร์

ายโนโบรุ นากาตานิ คือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนสำคัญของการต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์ในอินโดเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก

นายนากาตานิเป็นผู้อำนวยการบริหารของศูนย์นวัตกรรมระดับโลกแห่งองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ ที่เปิดทำการในปี พ.ศ. 2558 ที่สิงคโปร์ ศูนย์นวัตกรรมที่มีหน้าที่ต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่ทันสมัยแห่งนี้มีห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ทางดิจิตอลที่ทำให้ตำรวจสากลมีเครื่องมือและความรู้ในการรับมือกับอาชญากรรมทางดิจิตอลในศตวรรษที่ 21ได้ดีขึ้น

ศูนย์นวัตกรรมระดับโลกแห่งองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศจะให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูงแก่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศต่าง ๆ 190 ประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ ศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ยังเป็นศูนย์การวิจัยและการพัฒนาที่ให้การฝึกอบรมเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ ๆ แก่เจ้าหน้าที่สืบสวนทางดิจิตอลทั่วโลก นอกจากจะร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายแล้ว ศูนย์นวัตกรรมดังกล่าวยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน

ต่าง ๆ เช่น ห้องปฏิบัติการแคสเปอร์สกี เทรนด์ไมโคร และสถาบันการป้องกันทางไซเบอร์ของญี่ปุ่น

ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารของศูนย์นวัตกรรมระดับโลกแห่งองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ นายนากาตานิเคยเป็นที่ปรึกษาพิเศษให้กับผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น และผู้อำนวยการสำนักงานต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น นอกจากนี้ นายนากาตานิยังเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศของกองบัญชาการองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ ที่กำกับดูแลการพัฒนางานบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับประชาคมผู้บังคับใช้กฎหมายทั่วโลก

นายนากาตานิได้ให้สัมภาษณ์ ฟอรัม เกี่ยวกับลักษณะของภัยคุกคามใหม่ทางไซเบอร์

ภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิกมีความเสี่ยงจากอาชญากรรมทางไซเบอร์โดยเฉพาะหรือไม่ ถ้ามี เป็นเพราะสาเหตุใด

เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคหนึ่งของโลกที่มีการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นจำนวนมาก แต่ความแตกต่างระหว่างประเทศต่าง ๆ ก็อาจเป็นสิ่งสำคัญมาก เมื่อประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นเรื่อย ๆ อาชญากรรมทางไซเบอร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็ยังคงมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ควรต้องมีการประเมินขีดความสามารถในการจัดการกับอาชญากรรมทางไซเบอร์โดยพิจารณาจากสถานการณ์ของอาชญากรรม บางประเทศเริ่มได้รับความเดือดร้อนจากอาชญากรรมทางไซเบอร์บางประเภทโดยเฉพาะ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ อาจจะยังไม่เคยประสบ เนื่องจากอาชญากรรมไซเบอร์เป็นปัญหาระดับโลกซึ่งทุกภูมิภาคและทุกประเทศล้วนมีความเสี่ยง ประเทศต่าง ๆ จึงควรมีความพร้อมในการจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์และการพัฒนาขีดความสามารถทางไซเบอร์

การพึ่งพาซึ่งกันและกันคือลักษณะเฉพาะของโลกดิจิตอล ดังนั้น การจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ต้องอาศัยความพร้อมและความแข็งแกร่งของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะจุดอ่อนเพียงจุดเดียวก็อาจทำให้ทุกอย่างล้มเหลวได้

เพราะเหตุใดความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์

ความร่วมมือระหว่างประเทศน่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียวในการพัฒนาความมั่นคงทางไซเบอร์ เพราะอาชญากรรมในพื้นที่ทางกายภาพได้พัฒนาไปเป็นอาชญากรรมในพื้นที่ไซเบอร์ ในกรณีของอาชญากรรมไซเบอร์ ประชาคมและรัฐบาลต่าง ๆ ต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยากลำบากหลายประการ วิธีการแบบดั้งเดิมนั้นยังไม่เพียงพอสำหรับการต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์ข้ามชาติ การรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง มีอาชญากรรมน้อยมากที่ไม่ต้องพึ่งพากิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งทางอินเทอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น การโอนเงิน การสื่อสารในหมู่อาชญากรหรือการเข้าถึงเหยื่อ

ตำรวจทั่วโลกต้องทำงานร่วมกันเพื่อจะสามารถต่อต้านภัยคุกคามจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังต้องทำงานร่วมกับผู้ปฏิบัติงานอื่น ๆ จากภาคเอกชนเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจะได้ประโยชน์มากมายจากความร่วมมือระดับโลก และจากการทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน ตลอดจนภาคเอกชนและภาควิชาการ

การพึ่งพาอินเทอร์เน็ตมากขึ้นยังทำให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดหรือไม่

ภาพภายในของศูนย์บูรณาการทางไซเบอร์ ที่ศูนย์นวัตกรรมระดับโลกแห่งองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ ที่เห็นในระหว่างพิธีเปิดอาคารที่ประเทศสิงคโปร์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ
ภาพภายในของศูนย์บูรณาการทางไซเบอร์ ที่ศูนย์นวัตกรรมระดับโลกแห่งองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ ที่เห็นในระหว่างพิธีเปิดอาคารที่ประเทศสิงคโปร์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

อินเทอร์เน็ตทำให้เกิดสังคมไร้พรมแดน ทำให้มีโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งและการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การพึ่งพาอินเทอร์เน็ตมากขึ้นยังทำให้เกิดความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง เนื่องจากองค์กรอาชญากรรมที่ก่อเหตุข้ามโลกสามารถประสานการโจมตีด้วยวิธีที่ซับซ้อนได้ในเวลาไม่กี่นาทีและเพียงแค่กดปุ่มเพียงปุ่มเดียว

อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอีเมล เครือข่ายทางสังคม การทำธุรกรรมทางการเงิน การยื่นแบบแสดงรายการภาษีและอื่น ๆ ปัจเจกบุคคลและบริษัทต่าง ๆ มีการแบ่งปันข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปวิเคราะห์ ใช้ และจำหน่ายได้ในเวลาอันรวดเร็ว การเคลื่อนย้ายของข้อมูลเหล่านี้ทำให้เกิดความเสี่ยงเพราะอาชญากรมองว่ามันคือช่องทางในการแสวงประโยชน์

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น หากรัฐบาลตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรรมทางไซเบอร์ ขอบเขตผลกระทบจะขยายออกไปมากกว่าแค่ความสูญเสียทางการเงิน การโจมตีทางอินเทอร์เน็ตที่รุนแรงอาจทำให้โครงข่ายไฟฟ้า ระบบธนาคาร ระบบท่อส่งพลังงานและระบบที่สำคัญอื่น ๆ มีความเสี่ยง

นอกจากนี้ อินเทอร์เน็ตยังทำให้ผู้ก่อการร้ายรู้เท่าทันสถานการณ์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และมีข้อได้เปรียบมากกว่าทั้งทางตำรวจและรัฐบาล

ขอบเขตทางไซเบอร์มีศักยภาพในการทำลายล้างมหาศาลที่ทำให้เรามีความเสี่ยงมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

แต่ละประเทศในภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิกมีขีดความสามารถในการต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่ต่างกันมากหรือไม่

แต่ละประเทศมีขีดความสามารถในการจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับต่าง ๆ กันอย่างที่เราเห็นได้ในทุกภูมิภาค ความแตกต่างภายในภูมิภาคอย่างที่เป็นอยู่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในเอเชียแปซิฟิกเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจึงต้องยกระดับขีดความสามารถพื้นฐานในการจัดการกับอาชญากรรมทางไซเบอร์

ความจริงดังกล่าวเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ศูนย์นวัตกรรมระดับโลกแห่งองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศมีบทบาทอย่างไรในการจัดการกับอาชญากรรมทางไซเบอร์

องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศมีวิสัยทัศน์ในการประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัยของโลก ศูนย์นวัตกรรมระดับโลกแห่งองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศในสิงคโปร์จึงได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดการกับความท้าทายที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนที่หน่วยบังคับใช้กฎหมายกำลังเผชิญอยู่ในยุคดิจิตอล

องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศมุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์ภายใต้กรอบการทำงานของศูนย์นวัตกรรมนี้ โดยมุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน ในการนี้ ศูนย์นวัตกรรมดังกล่าวจะมีขีดความสามารถเฉพาะทางขององค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ และจะเป็นพื้นที่ชุมนุมระดับโลกที่มีความเป็นกลางและปลอดภัย เพื่อให้หน่วยบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ ภาคเอกชนและภาควิชาการได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำงานร่วมกันเพื่อต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ในสภาพแวดล้อมของการร่วมมือ

ศูนย์นวัตกรรมระดับโลกแห่งองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกในสามด้าน โดยเราเป็นพื้นที่ระดับโลกสำหรับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการ ศูนย์วิเคราะห์ระดับโลกด้านนวัตกรรมที่ได้จากการวิจัย และศูนย์ความเป็นเลิศสำหรับการสร้างขีดความสามารถและการฝึกอบรม

องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศพร้อมที่จะให้การสนับสนุนประเทศสมาชิก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความพร้อมในการจัดการกับภัยคุกคามจากอาชญากรรมในศตวรรษที่ 21

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button