ประเทืองปัญญาแผนก

ผลการศึกษาสรุปว่า ผลงานวิจัยทางจิตวิทยาอาจไม่สามารถเชื่อถือได้

เอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส

ผลจากการศึกษาพบว่า ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการกระทำหรือการคิดของมนุษย์นั้นสามารถแสดงผลลัพธ์เดิมซ้ำโดยผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกได้น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดคำถามใหม่ถึงความน่าเชื่อถือของผลการวิจัยทางจิตวิทยา

ทีมนักวิทยาศาสตร์ 270 คนได้ทดลองทำการวิจัยทางจิตวิทยาและสังคมศาสตร์ 100 กรณีซ้ำอีกครั้ง โดยได้ตีพิมพ์ข้อมูลไว้ในวารสารชั้นนำสามฉบับที่ผ่านการตรวจสอบโดยบุคคลซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญของวงการ

จากผลการวิจัยดังกล่าวที่ได้มีการตีพิมพ์ในวารสาร ไซแอนส์ ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 เพียงร้อยละ 39 เท่านั้นที่แสดงผลลัพธ์เหมือนกับที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับเดิม

หัวข้อเรื่องที่วิจัยนั้นมีความหลากหลาย นับตั้งแต่การใช้ชีวิตในสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไปจนถึงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ การให้ความสนใจ และความจำ

ทั้งนี้ ผลการศึกษานี้ไม่ได้นำไปสู่การตรวจสอบวิธีบำบัดทางการแพทย์ใด ๆ แต่มีการดำเนินการแยกต่างหากในการประเมินผลของการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับชีววิทยาของมะเร็ง

“เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทราบว่า ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างน่าผิดหวังนี้ไม่ได้บ่งบอกโดยตรงถึงความถูกต้องหรือความผิดพลาดของทฤษฎี” นายกิลเบิร์ต ชิน นักจิตวิทยาและบรรณาธิการอาวุโสของวารสาร ไซแอนส์ กล่าว “สิ่งที่ผลการศึกษานี้บอกเราก็คือ เราควรมีความเชื่อมั่นน้อยลงในผลลัพธ์ที่ได้จากการทดลองดั้งเดิม”

นายไบรอัน โนเซค แห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นผู้เขียนร่วมในการศึกษานี้กล่าวว่า การวิจัยแสดงให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องตั้งคำถามกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา

“คำกล่าวอ้างทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีความน่าเชื่อถือเพียงเพราะว่าเป็นผลงานของบุคคลที่มีสถานะสูงหรือเป็นผู้ที่มีความรอบรู้เท่านั้น” นายโนเซคกล่าวกับผู้รายงานข่าว

“ส่วนหนึ่งของความน่าเชื่อถือของคำกล่าวอ้างนั้นต้องขึ้นอยู่กับหลักฐานที่สนับสนุนว่าสามารถแสดงผลลัพธ์เดิมซ้ำได้”

ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้เมื่อนักวิทยาศาสตร์สุ่มเลือกเฉพาะข้อมูลที่เห็นว่า “มีนัยสำคัญ” มารวมเอาไว้เท่านั้น หรือเมื่อการวิจัยมีขนาดเล็กเกินไปจนทำให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกหรือเชิงลบที่ผิดพลาด ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าปัญหานี้อาจจะแย่ยิ่งกว่าที่ผลจากการศึกษาใหม่ได้แสดงไว้เสียอีก

นายจอห์น ไอโอนนิดีส นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในแคลิฟอร์เนีย กล่าวกับนิตยสาร ไซแอนส์ ว่า เขาตั้งข้อสงสัยไว้ว่าเอกสารงานวิจัยด้านจิตวิทยาจะสามารถยืนยันความถูกต้องภายใต้การตรวจสอบโดยละเอียดได้ประมาณร้อยละ 25 ซึ่งก็คล้ายคลึงกับ “สิ่งที่เราพบเห็นในสาขาวิชาชีวการแพทย์หลาย ๆ ด้าน”

ข้อพึงสังวรที่สำคัญ

ผู้เขียนร่วมในการศึกษาคนหนึ่งซึ่งมีส่วนร่วมในโครงการนี้ทั้งในฐานะผู้ตรวจสอบและผู้ถูกตรวจสอบก็คือ นางอี.เจ. แมซิแคมโป ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเวคฟอร์เรสต์ในนอร์ธแคโรไลนา

นางแมซิแคมโปเป็นหนึ่งในทีมงานที่สามารถแสดงผลลัพธ์เดิมซ้ำในการวิจัยที่พบว่า บุคคลซึ่งต้องเผชิญหน้ากับภารกิจที่น่าท้าทาย เช่น การต้องเล่นวิดีโอเกมที่ใช้ความรุนแรง มักชอบฟังเพลงที่แสดงอารมณ์โกรธเกรี้ยวและคิดเกี่ยวกับประสบการณ์ในเชิงลบก่อนล่วงหน้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อนักวิจัยจากภายนอกได้ทดลองทำการศึกษาภายใต้ข้อสมมุติฐานเดียวกับการวิจัยของนางแมซิแคมโปที่ว่า การดื่มเครื่องดื่มรสหวานจะสามารถช่วยให้นักศึกษามหาวิทยาลัยตัดสินใจในเรื่องที่มีความซับซ้อนได้ดีขึ้น พวกเขากลับไม่ประสบความสำเร็จในการแสดงผลลัพธ์ดังกล่าว

นางแมซิแคมโปไม่ได้แสดงความผิดหวัง แต่ได้อ้างว่าอาจเป็นเพราะความแตกต่างของปัจจัยทางภูมิศาสตร์ต่าง ๆ และได้กล่าวย้ำว่าการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าการทำการศึกษาวิจัยซ้ำอย่างมีคุณภาพสูงนั้นมีความยุ่งยากซับซ้อนเพียงใด

นางโดโรธี บิชอป ศาสตราจารย์ด้านพัฒนาการทางประสาทจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด กล่าวว่ามีอยู่หลายวิธีในการแก้ไขปัญหาของกระบวนการนี้ เพื่อให้ผลลัพธ์มีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะสามารถยืนยันความถูกต้องได้ภายใต้การตรวจสอบโดยละเอียด

นางบิชอปกระตุ้นให้มีการกำหนดข้อบังคับให้ต้องลงทะเบียนวิธีที่จะใช้ในการวิจัยล่วงหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้นักวิทยาศาสตร์สุ่มเลือกเฉพาะข้อมูลที่แสดงผลตามที่ต้องการมากที่สุดมาใช้ในการวิเคราะห์เท่านั้น รวมถึงต้องกำหนดให้กลุ่มตัวอย่างมีขนาดใหญ่มากพอ และมีการรายงานผลการศึกษาที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นในกรณีที่แสดง “ผลลัพธ์เป็นศูนย์” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผลลัพธ์ที่ไม่ได้สนับสนุนข้อสมมุติฐานที่ได้เสนอไว้ในขั้นต้น

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถตีพิมพ์เผยแพร่วิธีการที่ใช้และข้อมูลต่าง ๆ โดยละเอียด เพื่อที่ผู้อื่นจะสามารถทดลองทำการศึกษาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกันได้ง่ายยิ่งขึ้น วิธีเหล่านี้เป็น “วิธีการง่าย ๆ ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าเรากำลังทำการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างดีที่สุดเท่าที่เราสามารถทำได้” นางบิชอปกล่าว เอเจนซ์ ฟรานซ์ เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button