ติดอันดับ

รายละเอียดของรัฐธรรมนูญของไทยที่ได้รับการนำเสนอก่อให้เกิดการคัดค้าน

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ไทยได้เผยให้เห็นถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่นำเสนอต่อสาธารณะเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยและให้อำนาจกับทหารซึ่งทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 มากจนเกินไป

รัฐบาลทหารซึ่งได้ห้ามไม่ให้วิจารณ์รัฐธรรมนูญที่นำเสนอก่อนที่จะเผยแพร่ออกมาจะจัดให้มีการออกเสียงประชามติสาธารณะสำหรับรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งจะตามมาด้วยการเลือกตั้งที่หัวหน้ารัฐบาลทหาร พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้สัญญาไว้ว่าจะมีขึ้นในปี พ.ศ. 2560

“เราทำหน้าที่ของเราแล้ว” นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารกล่าวกับผู้สื่อข่าวในขณะที่ถือสำเนาร่างรัฐธรรมนูญ 279 มาตรา ที่มีความยาว 105 หน้า

“สิ่งสำคัญเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้ว่าจะไม่มีข้อความว่าประชาชนมีอำนาจ แต่ทุกคนมีสิทธิ์ ทุกคนเท่าเทียมกัน และทุกคนได้รับการปกป้อง” นายมีชัยกล่าว

บรรดานักการเมืองจากทั้งสองฝ่ายของการแตกแยกทางการเมืองและกลุ่มสิทธิมนุษยชนของไทยคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งรวมถึงมาตราสำหรับสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งจำนวน 250 คนซึ่งจะได้รับการคัดเลือกโดยรัฐบาลทหาร พร้อมหกที่นั่งที่สงวนไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญยังมีบทบัญญัติที่มีข้อความคลุมเครือซึ่งนักวิจารณ์หลายคนกล่าวว่าอาจทำให้ได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งแทนที่จะได้รับการเลือกตั้ง

ก่อนที่จะเผยแพร่รัฐธรรมนูญ รัฐบาลทหารสั่งห้ามการวิจารณ์รัฐธรรมนูญและในเดือนมีนาคมได้ควบคุมตัวนักการเมืองคนหนึ่งซึ่งได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กว่า พล.อ. ประยุทธ์ควรลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ

“เรากำลังพยายามที่จะให้รัฐบาลทหารรับผิดชอบต่อคำสัญญาของตนเองที่จะคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนคนไทย แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นตรงกันข้าม” นายสุนัย ผาสุขแห่งฮิวแมนไรตส์วอตช์กล่าว “มันไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาใด ๆ ในการเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นการยืดเวลาการปกครองของทหาร”

พล.อ. ประยุทธ์ ให้เหตุผลสำหรับการปกครองของทหารว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจัดระเบียบประเทศหลังจากหลายปีของความวุ่นวายทางการเมือง และกำจัดการคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจในทางมิชอบของไทย พล.อ. ประยุทธ์ยืนกรานว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะช่วยให้ตนบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น

พล.อ. ประยุทธ์สัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2560 แต่ไม่ได้ระบุว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ

การออกเสียงประชามติจะนับเป็นครั้งแรกที่ชาวไทยจะได้กลับไปคูหาเลือกตั้งนับแต่ พล.อ. ประยุทธ์นำการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย

เป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า กองทัพบกมีความกังวลด้านเสถียรภาพเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนผ่านราชบัลลังก์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชซึ่งมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ด้วยพระชนมพรรษา 88 พรรษา โดยทรงครองราชย์นับแต่ปี พ.ศ. 2489 นักวิจารณ์หลายคนกล่าวว่า กองทัพบกต้องการที่จะควบคุมอำนาจไว้เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button