ประเทืองปัญญาแผนก

เราอยู่เพียงลำพังในจักรวาลหรือไม่

รอยเตอร์

นักวิทยาศาสตร์กำลังจะเริ่มค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยจะตรวจหาสัญญาณของอารยธรรมที่อยู่นอกระบบสุริยะของเราด้วยงบประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3,500 ล้านบาท) ที่ได้รับจากมหาเศรษฐีชาวรัสเซียและการสนับสนุนของนายสตีเฟน ฮอว์คิง ยอดนักฟิสิกส์ของโลก

คำถามที่ว่ามนุษย์เราอยู่เพียงลำพังในจักรวาลหรือไม่เกิดขึ้นมานานหลายยุคสมัยแล้ว และการค้นพบเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่บ่งชี้ว่าอาจมีดาวเคราะห์ที่สิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้หลายหมื่นล้านดวงเฉพาะในกาแลกซีของเราก็ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เราเร่งหาคำตอบของคำถามดังกล่าว

“ไม่มีคำถามใดจะยิ่งใหญ่กว่านี้อีกแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องหาคำตอบอย่างจริงจัง เราต้องค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก” นายฮอว์คิงกล่าวกับผู้สื่อข่าวระหว่างการเปิดตัวโครงการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 ที่ กรุงลอนดอน

โครงการนี้จะใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อค้นหาสัญญาณวิทยุที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญา นักดาราศาสตร์จะฟังสัญญาณจากดาว

เคราะห์ที่อยู่ใกล้กับโลกราวหนึ่งล้านดวง และกาแล็กซีที่อยู่ใกล้เคียงที่สุดอีก 100 กาแล็กซี แต่ไม่ได้วางแผนจะส่งข้อความตอบกลับเข้าไปในอวกาศ นายฮอว์คิงกล่าวว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีสิ่งมีชีวิตพื้นฐานบนดาวอื่น แต่การมีสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และมนุษย์จำเป็นต้องคิดให้ดีเกี่ยวกับการติดต่อกับสิ่งมีชีวิตนอกโลก

“มนุษย์ต่างดาวที่อ่านข้อความของเราอาจมีวิวัฒนาการก้าวหน้ากว่าเราหลายพันล้านปี หากเป็นเช่นนั้น พวกเขาก็อาจจะแข็งแกร่งกว่าเรามาก และอาจไม่ได้มองว่าเรามีค่ามากไปกว่าที่เราคิดกับแบคทีเรีย” นายฮอว์คิงกล่าว

โครงการที่ชื่อว่า เบรกธรู ลิสเซน มีระยะเวลา 10 ปี และได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากนายยูริ มิลเนอร์ มหาเศรษฐีชาวรัสเซียผู้คร่ำหวอดในวงการอินเทอร์เน็ต ซึ่งตัวเขาเองก็เป็นนักฟิสิกส์เช่นกันด้วยการฝึกฝนตนเอง นายมิลเนอร์ร่ำรวยจากการลงทุนในธุรกิจสื่อสังคมในช่วงแรก ๆ เช่น เฟซบุ๊คอิงค์ เขากล่าวว่าตนเองตั้งใจจะนำแนวทางของซิลิคอนแวลลีย์ไปใช้กับ “คำถามทางด้านเทคโนโลยีที่น่าสนใจที่สุดในยุคของเรา”

ตอนที่อายุได้ 10 ขวบ นายมิลเนอร์ซึ่งขณะนั้นอาศัยอยู่ในกรุงมอสโกรู้สึกหลงใหลสิ่งมีชีวิตนอกโลกหลังจากอ่านหนังสือเรื่อง สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาในจักรวาล ของนายคาร์ล เซแกน นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ นายมิลเนอร์กล่าวว่า เขาเชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวสามารถสอนให้เรารู้จักรับมือความท้าทายต่าง ๆ เช่น การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ และถึงแม้ว่าจะหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอื่นไม่พบ แต่เราก็ยังสามารถเรียนรู้สิ่งอื่น ๆ ได้

“ถ้ามนุษย์เราอยู่เพียงลำพังในจักรวาล เราก็ต้องทะนุถนอมสิ่งที่เรามี” นาย มิลเนอร์กล่าว “สิ่งที่เราเรียนรู้คือจักรวาลไม่มีแผนสำรองให้เรา”

โครงการใหม่นี้มีชื่อว่า “เซติ” ซึ่งย่อมาจาก “การค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก” เป็นโครงการที่ทำให้การค้นคว้าอื่น ๆ ในแวดวงนี้แทบจะไร้ความหมาย นายแดน เวอร์ทิเมอร์ หนึ่งในที่ปรึกษาโครงการของนายมิลเนอร์ กล่าวว่า โครงการเซติได้รับเงินจากทั่วโลกปีละไม่ถึง 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 70 ล้านบาท) นายเวอร์ทิเมอร์เป็นผู้กำกับดูแลโครงการ เซติ แอต โฮม ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียในเบิร์กลีย์ ซึ่งขอให้อาสาสมัครใช้ซอฟต์แวร์ในคอมพิวเตอร์ที่บ้านของตนเองเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล

ปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น รวมทั้งประสิทธิภาพในการคำนวณและความไวของกล้องโทรทรรศน์ที่สูงขึ้น งบประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3,500 ล้านบาท) จึงสามารถทำอะไรได้มากกว่าช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 (พ.ศ. 2533-2542) ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายที่โครงการเซติได้รับงบสนับสนุนเป็นจำนวนสูง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถติดตามความถี่วิทยุได้พร้อม ๆ กันหลายพันล้านคลื่นในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ แทนที่จะเป็นแค่หลายล้านคลื่นเหมือนเมื่อก่อน และความไวในการดักจับสัญญาณที่เพิ่มขึ้นยังช่วยให้สามารถครอบคลุมท้องฟ้าได้มากกว่าสมัยต้นทศวรรษที่ 1990 (พ.ศ. 2533-2542) ถึง 10 เท่า

ทุกสัญญาณที่นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบเป็นสัญญาณที่สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน หรือบางทีอาจเป็นหลายศตวรรษหรือสหัสวรรษก่อนหน้านั้นเลยทีเดียว สัญญาณวิทยุต้องใช้เวลาราวสี่ปีในการเดินทางระหว่างโลกและดาวดวงที่ใกล้ที่สุดนอกระบบสุริยะของเรา โครงการเบรกธรู ลิสเซน จะจองเวลาใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุในที่ต่าง ๆ เช่น หอดูดาวปาร์กส์ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย และหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุในเมืองกรีนแบงค์ รัฐเวอร์จิเนีย นายมิลเนอร์วางแผนจะจองเวลาประมาณสองเดือนต่อปีในสถานที่แต่ละแห่ง ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งสำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่ส่วนใหญ่จะได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวแค่ปีละสองวันเท่านั้น

คณะทำงานซึ่งนำโดยนักวิทยาศาสตร์ เช่น นายปีเตอร์ วอร์เดน ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลศูนย์วิจัยเอมส์ของนาซาจนกระทั่งต้นปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา จะเป็นผู้จัดระเบียบสัญญาณวิทยุที่คณะค้นพบ เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและตรวจสอบรูปแบบของสัญญาณ เป้าหมายสำคัญไม่ใช่การทำความเข้าใจสัญญาณที่ได้รับ แต่คือการประเมินว่าสัญญาณเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นโดยสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญามากกว่าที่จะเป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติ

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่ว่ามนุษย์ได้พัฒนาการส่งสัญญาณวิทยุทำให้เราสามารถสันนิษฐานว่าสิ่งมีชีวิตบนดาวอื่นก็อาจใช้สัญญาณวิทยุเช่นกัน “มันอาจไม่ได้บอกอะไรเราเกี่ยวกับอารยธรรม แต่มันสามารถบอกได้ว่ามีอายธรรมอยู่ที่นั่น” นายแฟรงค์ เดรก ผู้สนับสนุนโครงการอีกคนหนึ่งกล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button