เรื่องเด่น

เกมที่อันตรายที่สุด ของจีน

การแก้ปัญหาความซับซ้อนในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับทะเลจีนใต้

นางเคอร์รี ลีนน์ เอส. แนนกิเวลล์

เหตุการณ์ต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้ทำให้หลายคนไม่ทันได้ตั้งตัว พฤติกรรมอันยั่วยุของจีนอย่างต่อเนื่องเป็นความท้าทายต่อการรักษาเสถียรภาพ พฤติกรรมเหล่านี้ประกอบด้วยโครงการถมดินเพื่อสร้างแผ่นดินขนาดใหญ่เมื่อเร็ว ๆ นี้บนพื้นที่เจ็ดแห่งในหมู่เกาะสแปรตลีซึ่งส่วนใหญ่เป็นแนวหินโสโครก และการเริ่มต้นสร้างสิ่งปลูกสร้างและยุทโธปกรณ์ทางทหารบนแผ่นดินเทียมเหล่านี้ตลอดจนพื้นที่ในหมู่เกาะพาราเซล การคุกคามของจีนต่อเรือยูเอสเอส อิมเพกเคเบิล ของสหรัฐฯ ใกล้กับเกาะไห่หนานในปี พ.ศ. 2552 การเผชิญหน้ากับเรือสำรวจที่จัดจ้างโดยเวียดนามในปี พ.ศ. 2554 การเข้ายึดหมู่เกาะสการ์โบโรห์ โชลในปี พ.ศ. 2555 และการเคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีการคุ้มกันเข้าไปในน่านน้ำที่มีกรณีพิพาทใกล้กับเวียดนามในปี พ.ศ. 2557

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่ประชาคมนานาชาติไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆ ขณะที่ผู้มีส่วนได้เสียในภูมิภาคมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อทุก ๆ เหตุการณ์โดยไม่มีการกำหนดนโยบายเชิงรุกที่ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจีนจึงยังมีพฤติกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องแม้ความวิตกกังวลจะเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาค

สภาพแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ทางทะเลในทะเลจีนใต้ทำให้รัฐบาลของประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสียประสบความยากลำบากกว่าปกติในการกำหนดนโยบายด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองประการ ประการแรกคือ กรณีพิพาทที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนอย่างมาก เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น ผู้อ้างสิทธิคือประเทศติดทะเลเจ็ดประเทศ (รวมทั้งไต้หวัน) ที่แนวชายฝั่งมีลักษณะเว้าแหว่ง มีเกาะ โขดหิน แนวหินโสโครกและสันดอนที่มีชื่อเรียกกว่า 180 แห่ง และมีประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนับพันปีในมุมมองของหลาย ๆ ประเทศ ประการที่สองคือ รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ประสบความยากลำบากในการกำหนดนโยบายเพื่อตอบโต้การยั่วยุของจีนเนื่องจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่เกิดจากความขัดแย้งหลักสี่ประการ ความขัดแย้งหมายถึงสถานการณ์ที่มีฝ่ายตรงข้ามสองฝ่ายที่ความคิดเห็นไม่ตรงกันและดูเหมือนจะมีความขัดแย้งในตัวเอง ข้อพิพาทเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ตรงกับคำจำกัดความนี้ในหลาย ๆ แง่ ไม่ว่าจะในแง่เศรษฐกิจ การเมือง การทหารและกฎหมาย ซึ่งต่อไปจะอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความนี้

กล้องถ่ายภาพในอากาศยานตรวจการณ์ของกองทัพเรือสหรัฐฯ จับภาพเรือขุดลอกของจีนขณะทำงานอยู่ใกล้กับแนวปะการัง มิสซีฟในหมู่เกาะสแปรตลี เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 รอยเตอร์
กล้องถ่ายภาพในอากาศยานตรวจการณ์ของกองทัพเรือสหรัฐฯ จับภาพเรือขุดลอกของจีนขณะทำงานอยู่ใกล้กับแนวปะการัง มิสซีฟในหมู่เกาะสแปรตลี เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 รอยเตอร์

ความขัดแย้งเหล่านี้คือปัจจัยที่กระตุ้นพฤติกรรมของผู้อ้างสิทธิและทำให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินการให้ลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของนโยบายโดยปราศจากความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ การประเมินสถานการณ์เชิงกลยุทธ์ในทะเลจีนใต้จึงไม่ได้ภาพที่ชัดเจนอันเนื่องมาจากความขัดแย้งเหล่านี้ แม้บรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อ้างสิทธิจะเกรงกลัวจีนแต่ก็มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีนอย่างลึกซึ้ง มันเป็นกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบัน ถึงจะไม่ใช่ความขัดแย้งทางทหารแต่ก็เป็นการบีบบังคับอย่างหนักหน่วง แม้จะมีบางประเทศที่อ้างสิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ประเทศเหล่านั้นก็เลือกที่จะดำเนินการโดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย สนธิสัญญาและการเจรจา

ข้อพิพาทที่มีความซับซ้อนในระดับสูงสุดและการพัฒนาอันต่อเนื่องที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วคือปัจจัยขัดขวางไม่ให้คู่แข่งของจีนกระทำการตอบโต้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม การกำหนดว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสมและอะไรคือความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นเป็นงานที่ยากลำบากสำหรับผู้มีส่วนได้เสีย

การจัดการกับความตึงเครียดในบริบทนี้และการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นหรือไม่ได้เจตนาจะให้เกิดไม่เพียงแต่จะต้องมีความเข้าใจในความเป็นจริงของภูมิภาคอย่างลึกซึ้งเท่านั้น แต่ยังต้องมีความฉลาดและความคล่องแคล่วว่องไวในปริมาณที่พอเหมาะ

การระบุความซับซ้อน 

กรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ที่มักจะถูกกล่าวถึงนั้น ความจริงแล้วคือศูนย์รวมของความขัดแย้งหลายประการ โดยมีฝ่ายต่าง ๆ เข้าไปเกี่ยวข้องกับพื้นที่ต่าง ๆ ในท้องทะเลเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ขณะที่จีน ไต้หวันและเวียดนามล้วนอ้างสิทธิในหมู่เกาะพาราเซล แต่มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไนเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีพิพาทแค่ในส่วนของพื้นที่รอบหมู่เกาะสแปรตลีซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น อินโดนีเซียไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนในทะเลจีนใต้ แต่อ้างสิทธิในเขตทางทะเลที่ทับซ้อนกับจีนและไต้หวันที่อ้างสิทธิในพื้นที่ภายในเส้นประ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา จีนได้อ้างสิทธิในเขตแดนทางทะเลที่ระบุในแผนที่ที่มีเส้นประ 10 เส้นเรียงรายเป็นรูปตัวยู นอกจากนี้ ไต้หวันยังอ้างสิทธิในพื้นที่ภายในเส้นประ 11 เส้นที่เริ่มจากอ่าวตังเกี๋ยไปจนถึงชายฝั่งทะเลตะวันออกของไต้หวันตามแผนที่เดิมที่จัดทำในปี พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นปีที่จีนเริ่มอ้างสิทธิแต่ไม่สามารถอธิบายความเป็นมาของสิทธิดังกล่าวหรือมูลฐานทางกฎหมายได้

อันที่จริงแล้ว ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้แบ่งออกเป็นสามประเภท ได้แก่ ข้อพิพาทเกี่ยวกับอาณาเขต ข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนทางทะเล และข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตอำนาจ (ดูกรอบข้อมูลเสริมที่หน้า 9) แม้ข้อพิพาทเหล่านี้จะแตกต่างกันแต่ก็มีความเกี่ยวข้องกันและยังถูกควบคุมภายใต้กรอบทางกฎหมายที่แตกต่างกัน ข้อพิพาทเกี่ยวกับเส้นทางเดินเรือและเขตอำนาจเป็นความขัดแย้งที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล แต่ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือภูมิประเทศลักษณะต่าง ๆ อาทิ โขดหิน แนวหินโสโครก สันดอนและเกาะเล็กเกาะน้อยจะอยู่ภายใต้กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ

แม้ว่าเขตอำนาจทางทะเลทั้งหมดที่ระบุในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลจะเริ่มจากเส้นฐานที่ขอบฝั่งตามที่กำหนดไว้ แต่อนุสัญญายังระบุเพิ่มเติมประหนึ่งว่าชายฝั่งดังกล่าวนั้นมีผู้ถือครองกรรมสิทธิ์อยู่เรียบร้อยแล้ว หากสองประเทศที่เป็นคู่พิพาทที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาพื้นฐานเกี่ยวกับเขตอำนาจได้ด้วยการเจรจาแบบทวิภาคี ทั้งคู่สามารถกลับไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อให้มีการพิจารณาตัดสินบนพื้นฐานของข้อตกลงตามอนุสัญญา กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศและประวัติศาสตร์

การตัดสินข้อพิพาทประเภทนี้มักจะเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่นับพันปี ประเทศที่อ้างสิทธิในพื้นที่ต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้ (จีนและไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและบรูไน) มีความสนใจในแง่อาณาเขตในพื้นที่พิพาทเป็นหลัก แต่บางประเทศโดยเฉพาะจีนอ้างสิทธิเกี่ยวกับเขตแดนทางทะเลโดยใช้พื้นฐานทางประวัติศาสตร์มากกว่าพื้นฐานกฎหมายทางทะเลในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ การอภิปรายเกี่ยวกับบันทึกทางประวัติศาสตร์ในภูมิภาคจึงเป็นเรื่องทางการเมืองที่ลึกซึ้ง

ธงของจีนโบกสะบัดอยู่เหนือสิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นที่แนวปะการังมิสซีฟในหมู่เกาะสแปรตลี เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2538 ในอดีตบรูไน มาเลเซีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์และเวียดนามได้ปักหลักอ้างสิทธิในเกาะเล็กเกาะน้อยและแนวปะการังต่าง ๆ ในหมู่เกาะแห่งนี้ เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ
ธงของจีนโบกสะบัดอยู่เหนือสิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นที่แนวปะการังมิสซีฟในหมู่เกาะสแปรตลี เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2538 ในอดีตบรูไน มาเลเซีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์และเวียดนามได้ปักหลักอ้างสิทธิในเกาะเล็กเกาะน้อยและแนวปะการังต่าง ๆ ในหมู่เกาะแห่งนี้
เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

ในทางตรงกันข้าม ผู้มีส่วนได้เสียนอกภูมิภาครวมทั้งสหรัฐฯ โดยทั่วไปจะไม่สนใจว่าประเทศใดเป็นเจ้าของพื้นที่ใด ประเทศเหล่านี้โดยทั่วไปจะขอแค่ว่า ในการกำหนดอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่นั้นจะใช้วิธีการใดแก้ปัญหาก็ได้ แต่ต้องเป็นวิธีการที่สันติตามฉันทามติและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลดูเหมือนจะมีประโยชน์กว่าในการแก้ปัญหาข้อพิพาทประเภทที่สองซึ่งเกี่ยวข้องกับเขตแดนทางทะเล ตัวอย่างเช่นในกรณีทะเลจีนใต้ การอ้างสิทธิในพื้นที่ภายในเส้นประรูปตัวยูของจีน เป็นเรื่องผิดปกติอย่างยิ่งจนทำให้การอ้างสิทธิทางกฎหมายใด ๆ ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลหรือทางจารีตประเพณีแทบจะไม่มีความหมายหรือกลายเป็นเรื่องหลอกลวง อย่างไรก็ตาม ผู้อ้างสิทธิอื่น ๆ อีกห้าประเทศที่เรียกร้องสิทธิตามหลักการมากกว่านั้นก็ยังมีความคลุมเครือบางอย่างในเรื่องการนำอนุสัญญาไปใช้

แม้ว่าวิธีการกำหนดขอบเขตและขนาดของเขตทางทะเลตามหลักการที่เขียนขึ้นจะมีความชัดเจน แต่มันใช้ได้ผลกับแนวชายฝั่งที่สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่กับแนวชายฝั่งที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้เกิดข้อสงสัยต่าง ๆ ในกรณีที่มีความซับซ้อน ตัวอย่างเช่น ในสภาพชายฝั่งที่ราบเรียบปกติ เส้นมัธยะระหว่างสองชายฝั่งที่อยู่คนละฟากจะวัดได้อย่างง่ายดาย แต่ถ้าเป็นชายฝั่งที่รายรอบไปด้วยเกาะหรือแนวหินโสโครก การวัดเส้นมัธยะควรเริ่มจากจุดใดจึงจะเหมาะสม จากแผ่นดินใหญ่ โขดหินที่อยู่ห่างจากฝั่งที่สุดหรือจุดใดจุดหนึ่งระหว่างสองจุดนี้

นอกจากนี้ แม้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลจะระบุว่า “โขดหิน” และ “หมู่เกาะ” เป็นสิ่งที่แตกต่างกัน แต่ก็ไม่ได้ระบุแนวทางที่ชัดเจนและสามารถวัดได้เกี่ยวกับวิธีการแยกแยะความแตกต่างระหว่างพื้นที่สองลักษณะนี้ ความไม่ชัดเจนเหล่านี้และลักษณะเฉพาะอื่น ๆ ทำให้ไม่มีคำตอบโดยตรงที่เป็นรายละเอียดเฉพาะจากอนุสัญญาในหลายกรณี ประเทศต่าง ๆ ค่อย ๆ แก้ปัญหาโดยใช้แนวปฏิบัติของรัฐและหลักกฎหมาย แม้จะไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีแต่มันก็ใช้เวลานาน ในขณะเดียวกันก็ทำให้รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นมีแนวทางเพียงเล็กน้อยในการพิจารณาว่าการอ้างสิทธิของตนนั้น “มีเหตุผล” หรือมีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนตามกฎหมายหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตอำนาจซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากข้อพิพาทอีกสองประเภท ข้อพิพาทเกี่ยวกับอาณาเขตและข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนทางทะเลเป็นความขัดแย้งที่อยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งแม้จะมีความซับซ้อนแต่ก็มีกลไกในการแก้ไขข้อพิพาทเหล่านี้หากคู่กรณีตกลงใจที่จะเจรจากัน แต่ข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตอำนาจโดยเฉพาะในแง่ที่เกี่ยวกับสิทธิในการจำกัดกิจกรรมของกองทัพทหารต่างชาติในเขตเศรษฐกิจจำเพาะนั้นเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับตัวกฎหมายเอง บรรดาประเทศที่อ้างสิทธิแบบไม่ปกติเพื่อจำกัดเสรีภาพในการเดินเรือกระทำ การดังกล่าวตามหลักการที่ว่า กิจกรรมทางทหารภายในระยะทาง 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งของประเทศใด ๆ ถือเป็นการข่มขู่และไม่ใช่การกระทำอันสันติโดยธรรมชาติ

ข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตอำนาจไม่สามารถแก้ไขได้โดยใช้แนวปฏิบัติที่เคยกระทำมาหรือด้วยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล เนื่องจากคู่กรณีเองก็ตั้งข้อสงสัยในเรื่องความเป็นธรรมพื้นฐานของสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ในกรณีนี้ ข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตอำนาจในทะเลจีนใต้จึงเป็นเรื่องทางการเมืองและจริยธรรมมากพอ ๆ กับเรื่องทางกฎหมาย

ในการต่อสู้เพื่อเข้าควบคุมทะเลจีนใต้ จีนได้อ้างข้อพิสูจน์เพื่อยืนยันเขตอำนาจจำเพาะของตนอย่างแข็งขันที่สุด รัฐบาลจีนกล่าวหามานานแล้วว่ากองทัพต่างชาติ (รวมทั้งกองทัพของบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของจีน)ดำเนินกิจกรรมที่คุกคามสันติภาพในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตน ไม่ว่าจะเป็นการหาข่าวกรองในระยะประชิด การเฝ้าตรวจและการเก็บรวบรวมข้อมูลตลอดจนการฝึกทางทหาร

การเผชิญหน้าครั้งสำคัญต่าง ๆ ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้ที่มีการใช้ทรัพยากรทางทหารเป็นผลมาจากความขัดแย้งในเรื่องเขตอำนาจ โดยเริ่มจากการเฉี่ยวชนกันทางอากาศในเดือนเมษายน พ.ศ. 2544 ระหว่างเครื่องบินขับไล่ เจ-8 ไอไอเอ็ม ของกองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชน และเครื่องบิน อีพี-3 อี ที่ติดตั้งระบบระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการลาดตระเวนทางอากาศรุ่นที่สองของกองทัพเรือสหรัฐฯ (เครื่องบิน พี-3 โอไรออนที่มีระบบลาดตระเวนทางสัญญาณ) และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ ข้อพิพาทเฉพาะในประเด็นนี้ระหว่างสหรัฐฯ กับผู้อ้างสิทธิอื่น ๆ ในทะเลจีนใต้ส่งผลกระทบอย่างล้ำลึกทั้งในด้านความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ของกองกำลังสหรัฐฯ และการจัดระเบียบทางทะเลระหว่างประเทศโดยทั่วไป

หากเหล่ากองทัพต้องได้รับการยินยอมจากรัฐชายฝั่งก่อนที่จะดำเนินกิจกรรมในเขตเศรษฐกิจจำเพาะทั่วโลก พื้นที่ร้อยละ 38 ของมหาสมุทรในโลกนี้อาจต้องถูกปิดกั้น ซึ่งรวมถึงพื้นที่สำคัญในระดับสากล ได้แก่ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลแดง อ่าวเปอร์เซีย อ่าวเอเดนและมหาสมุทรอาร์กติก ในทางที่กลับกัน หากสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ยืนยันที่จะต่อต้านการปิดกั้นมหาสมุทรดังกล่าว ประเทศเหล่านี้จะมีความเสี่ยงมากขึ้นในการเผชิญหน้าโดยตรงกับจีน

การประเมินความเสี่ยง:

ความซับซ้อน การเปลี่ยนแปลงและประเทศจีน 

เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดว่า แง่มุมใดของข้อพิพาทอันซับซ้อนเหล่านี้ที่เป็นอันตรายที่สุด ขณะที่ข้อพิพาทเกี่ยวกับอาณาเขตและเขตแดนทางทะเลที่เกี่ยวข้องจะเน้นหนักในเรื่องความชาตินิยม การเมือง และการจัดกำลังทางทหารในบางครั้ง แต่สิ่งที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มมีความขัดแย้งกับจีนคือข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตอำนาจ ซึ่งข้อพิพาททั้งสองประเภทต่างให้ผลลัพธ์ที่บั่นทอนทอนเสถียรภาพเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นอย่างน้อย รัฐบาลจีนได้เปิดตัวโครงการที่ครอบคลุมเพื่อยกระดับสถานภาพที่เป็นอยู่ในทุก ๆ ด้าน โครงการนี้รวมถึงโครงการถมดินอย่างรวดเร็วที่สุดเพื่อสร้างแผ่นดินขนาดใหญ่บนพื้นที่เจ็ดแห่งที่จมอยู่ใต้น้ำในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 จีนได้ถมทรายเพื่อสร้างแผ่นดินกว่า 4.5 ล้านตารางเมตรบนพื้นที่เจ็ดแห่งที่จมอยู่ใต้น้ำหรือพื้นที่ที่จมอยู่ใต้น้ำบางส่วนในหมู่เกาะสแปรตลี ซึ่งประกอบด้วย แนวปะการังเฟียรี ครอส แนวปะการังซูบี แนวปะการังมิสชีฟ แนวประการังคูอาร์เตอรอน แนวปะการังฮิวส์ แนวปะการังกาเวนและแนวปะการังจอห์นสัน เซาท์ ตามรายงานและภาพถ่ายจากดาวเทียมที่เผยแพร่โดยนิตยสาร ไอเอชเอส เจนส์ ดีเฟนซ์ วีคลีย์ โดยธรรมชาติแล้ว แนวปะการังทั้งหมดนี้จะจมอยู่ใต้ผิวน้ำในช่วงน้ำขึ้น ปัจจุบัน มีการสร้างทางวิ่งเครื่องบินที่ได้มาตรฐานนาโตบนแนวปะการังแล้วสามแห่งหรืออาจจะสร้างในอนาคต ทางวิ่งเครื่องบินที่มีขนาดตามมาตรฐานดังกล่าวสามารถรองรับเครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยได้ทุกรุ่นรวมทั้งอากาศยานอื่น ๆ ของกองทัพอากาศกองทัพปลดปล่อยประชาชน อีกไม่นานเกาะที่สร้างขึ้นใหม่เหล่านี้จะมีทรัพยากรต่าง ๆ ในการตรวจการณ์ เช่น หอคอยต่อสู้อากาศยาน (ตรวจพบที่แนวปะการังกาเวนและแนวปะการังฮิวส์) ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เรดาร์และอุปกรณ์สื่อสารอื่น ๆ ทรัพยากรและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดเหล่านี้จะทำให้กองทัพเรือจีนมี “พื้นที่ปฏิบัติการด่านนอก” ที่บริเวณแนวชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศซึ่งจีนต้องการเป็นอย่างมาก พื้นที่ดังกล่าวทั้งหมดจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับรัฐบาลจีนในการบังคับใช้เขตอำนาจจำเพาะในทะเลจีนใต้ที่จีนคิดว่าควรจะเป็นของตนโดยที่ประเทศอื่นทั้งหมดต้องประสบความเดือดร้อน

โครงการสร้างแผ่นดินของจีนในปัจจุบันอาจเป็นการตอบโต้โครงการก่อสร้างที่ดำเนินการไปแล้วโดยผู้อ้างสิทธิอื่น ๆ ซึ่งจีนรอคอยที่จะทำเช่นนี้มานานแล้ว ในระหว่างที่จีนเข้าครอบครองหมู่เกาะพาราเซลที่มีกรณีพิพาทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 และหมู่เกาะสการ์โบโรห์ โชลในปี พ.ศ. 2555 บรรดาประเทศเพื่อนบ้านของจีนที่มีขนาดเล็กกว่าได้ครอบครองพื้นที่มากกว่าและมีกำลังทหารมากกว่าจีนในหมู่เกาะสแปรตลีที่ค่อนข้างอยู่ห่างไกล

การสร้างแผ่นดิน 

ก่อนปี พ.ศ. 2557 มีเพียงบรูไนและจีนเท่านั้นที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างทางทหารในหมู่เกาะสแปรตลี เวียดนามครอบครองพื้นที่มากที่สุดในหมู่เกาะโดยมีที่มั่นทั้งสิ้น 29 แห่งรวมทั้งตัวเกาะสแปรตลีเอง เกาะสแปรตลีเป็นพื้นที่ที่แข็งแกร่งที่สุดของเวียดนามที่มีทางวิ่งเครื่องบินระยะสั้น ลานจอดเฮลิคอปเตอร์และสิ่งปลูกสร้างด้านนอกไม่กี่แห่ง ไต้หวันครอบครองเกาะธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดเกาะเดียวคือเกาะไทปิง หรืออีกชื่อหนึ่งคือเกาะอีตูอาบา

ทหารฟิลิปปินส์โบกมือจากเรือเซียร์รา มาเดรอันทรุดโทรมของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ขณะทอดสมออยู่ใกล้กับแนวปะการัง เซกันด์ โทมัส โชล ในหมู่เกาะสแปรตลี เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 [รอยเตอร์]
ทหารฟิลิปปินส์โบกมือจากเรือเซียร์รา มาเดรอันทรุดโทรมของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ขณะทอดสมออยู่ใกล้กับแนวปะการัง
เซกันด์ โทมัส โชล ในหมู่เกาะสแปรตลี เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 [รอยเตอร์]
เกาะไทปิงเป็นพื้นที่เดียวในหมู่เกาะสแปรตลีที่อุดมไปด้วยน้ำจืด เป็นที่ทราบกันดีว่า เกาะนี้มีคุณค่าทางยุทธศาสตร์เนื่องจากเคยเป็นฐานเรือดำน้ำของญี่ปุ่นตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ฟิลิปปินส์ครอบครองเกาะทิตูซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสองในหมู่เกาะสแปรตลี และสร้างฐานทัพเรือขนาดเล็กขึ้นที่นั่นรวมทั้งทางวิ่งเครื่องบินระยะสั้นที่ไม่ได้ราดยาง เกาะทิตูอยู่ในระยะมองเห็นได้จากแนวปะการังซูบีของจีน และมีรายงานว่าเกาะนี้ต้องการการซ่อมแซมอย่างหนัก พื้นที่อื่น ๆ อีกเก้าแห่งทางตะวันออกของหมู่เกาะสแปรตลีที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ครอบครองก็ไม่ได้มีจุดแข็งมากเท่าไรนัก ตัวอย่างเช่น แนวปะการังเซกันด์ โทมัส โชล โดยธรรมชาติแล้วจะจมอยู่ใต้น้ำ แต่ในปี พ.ศ. 2542 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้นำเรือลำหนึ่งไปจอดเกยตื้นไว้ที่นั่นเพื่อประกาศอำนาจอธิปไตย

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เรือสนิมเกาะที่จอดทิ้งไว้ในพื้นที่นั้นได้กลายเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังขนาดเล็กของฟิลิปปินส์ซึ่งประกอบด้วยทหารนาวิกโยธินจำนวน 10 นาย ในปี พ.ศ. 2556 รัฐบาลจีนเริ่มขัดขวางไม่ให้รัฐบาลฟิลิปปินส์เข้าไปส่งเสบียงแก่กำลังพลที่ประจำอยู่บนเรือลำนั้น ทำให้ฐานที่มั่นดังกล่าวตกอยู่ในอันตราย

มาเลเซียครอบครองพื้นที่ไม่กี่แห่งบริเวณตอนใต้ของหมู่เกาะ รวมถึงแนวปะการังสวอลโลว์ซึ่งเป็นที่ตั้งของทางวิ่งเครื่องบินระยะสั้น ฐานทัพเรือ สถานีวิจัยทางทะเลและรีสอร์ตท่องเที่ยว หลังจากที่ครอบครองแนวปะการังสวอลโลว์ในปี พ.ศ. 2526 มาเลเซียได้เริ่มถมดินในลักษณะเดียวกับจีนเพื่อขยายเกาะที่แต่เดิมมีพื้นที่เพียงไม่กี่เฮกตาร์ให้กลายเป็นพื้นที่ 0.2 ตารางกิโลเมตร โครงการถมดินบนแนวปะการังสวอลโลว์ได้สร้างพื้นที่มากกว่าโครงการของจีนบนแนวปะการังกาเวน แนวปะการังฮิวส์ แนวปะการังคูอาร์เตอรอนหรือแนวปะการังจอห์นสัน เซาท์ แม้ว่าบนแนวปะการังนี้จะมีฐานที่มั่นของบุคลากรทางทหารหลายสิบแห่งตลอดจนปืนต่อสู้เรือและอากาศยานที่มีไว้เพื่อปกป้องดินแดนของรัฐบาลมาเลเซีย แต่โครงการของมาเลเซียเป็นการสร้างพื้นที่เพื่อใช้งานแบบอเนกประสงค์ ขณะที่โครงการของจีนส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ทางทหาร

การเปรียบเทียบโดยตรงระหว่างการเติบโตของจีนในทะเลจีนใต้ในปัจจุบันกับกิจกรรมการพัฒนาทางทหารของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นเป็นเรื่องยาก ก่อนปี พ.ศ. 2557 รัฐบาลจีนครอบครองพื้นที่เพียงเจ็ดแห่งในหมู่เกาะสแปรตลี ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของจีนต่างมีกองทหารและทางวิ่งเครื่องบินในพื้นที่ จีนได้ชดเชยความขาดแคลนนั้นนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 และเพิ่มเติมยิ่งขึ้นไปอีกในการสร้างอิทธิพลที่ชัดเจนโดยไม่มีข้อสงสัย ขนาดของพื้นที่ที่จีนสร้างขึ้นทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในประเด็นนี้

พล.ร.อ.แฮร์รี บี. แฮร์ริส จูเนียร์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก ได้ประณามจีนในเรื่อง “การถมทรายสร้างกำแพงเมืองจีน” และแม้แต่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งปกติจะนิยมใช้ถ้อยคำที่สุขุมอ่อนโยนมากกว่ายังยืนยันว่า การถมทรายสร้างพื้นที่ดังกล่าวได้ “กัดกร่อนความไว้วางใจและความเชื่อมั่นและอาจทำลายความสงบสุข ความมั่นคงและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้” ตามที่เว็บไซต์แชนแนล นิวส์เอเชีย รายงานในเดือนเมษายน พ.ศ. 2558

จีนตอบว่ากิจกรรมของตนในหมู่เกาะสแปรตลีเป็นเรื่องที่ “ถูกต้อง สมเหตุสมผล ชอบด้วยกฎหมาย และไม่สมควรถูกประณาม” การโต้ตอบอย่างเป็นทางการนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนไม่ได้รู้สึกสะดุ้งสะเทือนแม้แต่น้อยกับคำวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นดังกล่าว ซึ่งความคิดที่ว่านี้ไม่เพียงจะไม่เป็นความจริงอย่างเห็นได้ชัดในแง่ของกรณีพิพาทในปัจจุบัน แต่ถึงแม้อำนาจอธิปไตยของจีนเหนือน่านน้ำที่มีปัญหากันอยู่จะเป็นที่ยอมรับ แต่การสร้างสิ่งปลูกสร้างทางทหารขนาดใหญ่ดังกล่าวใกล้กับชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ของบรูไน มาเลเซียและฟิลิปปินส์มากขนาดนั้นก็เป็นเรื่องที่ “สมควรถูกประณาม”

จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ อำนาจอธิปไตยของจีนยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับอย่างชัดเจน และนอกจากนี้คู่กรณีพิพาทมีข้อตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะ “ข่มใจตนเองเพื่อจะไม่สร้างกิจกรรมที่อาจทำให้ความขัดแย้งมีความซับซ้อนมากขึ้นหรือทวีความรุนแรงขึ้น” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ที่ลงนามในปีพ.ศ. 2545 เห็นได้ชัดว่ามีความกังวลอันชอบธรรมในเรื่องความถูกต้องตามกฎหมายและเจตนารมณ์เชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับกิจกรรมของจีน

ความขัดแย้งหลัก 

ภายใต้ความซับซ้อนเกี่ยวกับเขตอำนาจอย่างที่เป็นอยู่ ข้อพิพาททะเลจีนใต้จะเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งหลักสี่ประการ ได้แก่ ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ การเมือง ทหารและกฎหมาย ขอบเขตนโยบายที่เป็นผลมาจากความขัดแย้งเหล่านี้ทำให้มีทางเลือกน้อยมากในการตอบโต้การบีบบังคับของจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนรู้ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้นโยบายที่มีข้อจำกัดอย่างมากเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดเมื่อต้องเผชิญกับประเทศต่าง ๆ ที่พยายามสร้างอิทธิพลในทะเลจีนใต้

เศรษฐกิจ

การพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่กระตุ้นทั้งความร่วมมือและความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่อ้างสิทธิ ในทางกลับกัน การพึ่งพาซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจมากขึ้นแสดงให้เห็นว่าบรรดาประเทศที่อ้างสิทธิมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะไม่อยากเผชิญหน้ากับกองทัพของคู่พิพาทกรณีแย่งชิงโขดหินหรือแนวหินโสโครกที่ไม่มีความสำคัญ อันที่จริงแล้ว จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของแต่ละประเทศที่อ้างสิทธิ โดยมีส่วนแบ่งทางการค้ามากกว่าที่ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เป็นคู่ค้ากันเองมาก นอกจากนี้ยังมีนี้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งการค้าแบบสองทางในปี พ.ศ. 2557 มีมูลค่าสินค้าและบริการถึง 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 21.44 ล้านล้านบาท) ดังนั้นจึงไม่มีฝ่ายใดในกรณีพิพาทนี้ที่ต้องการเพิ่มระดับความเสี่ยงในการเผชิญหน้าหรือการปะทะโดยตรง แม้จะมีข้อได้เปรียบทางทหารที่แข็งแกร่งว่ามาก แต่รัฐบาลจีนเองยังไม่พยายามที่จะแก้ไขข้อพิพาทกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยใช้การปฏิบัติการทางทหาร รัฐบาลจีนไม่มีดินแดนใหม่ในหมู่เกาะพาราเซลหรือหมู่เกาะสแปรตลีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 แต่ในตอนนั้นดินแดนที่จีนถือกรรมสิทธิก็เป็นดินแดนที่ยังไม่มีใครครอบครอง ยกเว้นเพียงอย่างเดียวคือหมู่เกาะสการ์โบโรห์ โชล ที่ตกอยู่ในการควบคุมของจีนโดยสิ้นเชิงในปี พ.ศ. 2555 แต่จีนไม่ได้จัดส่งทรัพยากรทางทหารเข้าไปยังพื้นที่นี้ ยังไม่มีการเผชิญหน้าทางทหารโดยตรงระหว่างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในกรณีพิพาททั้งหมดในทะเลจีนใต้หลังจากที่เวียดนามได้กระทำในปี พ.ศ. 2531 ซึ่งอาจเป็นเพราะความต้องการที่จะปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่ดี

APDF_V41N1_THAi_graph6

แม้ในขณะที่ภูมิภาคมีการพัฒนาร่วมกัน แต่การแก้ไขข้อพิพาททะเลจีนใต้ก็ยังไม่คืบหน้า เห็นได้ชัดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวกระตุ้นให้บรรดาประเทศติดชายฝั่งใช้ความแข็งแกร่งของประเทศที่เพิ่มขึ้น (และงบประมาณทางทหารที่เพิ่มขึ้น) ในการอ้างสิทธิอีกครั้งเพื่อควบคุมดินแดนที่เชื่อว่าเป็นของตนโดยชอบธรรม รายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลให้ประเทศเหล่านี้มีความเชื่อมั่นมากเกินไป ในขณะเดียวกัน การพึ่งพาซึ่งกันและกันก็ทำให้ประเมินความสามารถในการแก้ปัญหาของผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ต่ำเกินไปในเรื่องการใช้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นเดิมพันเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิอธิปไตย

เมื่อพิจารณาในทางปฏิบัติมากขึ้น ด้วยเหตุที่เขตเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในภูมิภาคต้องพึ่งพาการเติบโตที่มุ่งเน้นการส่งออกอย่างไม่สมส่วน ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติที่เพิ่มขึ้นจึงกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ มีความสนใจมากขึ้นในเรื่องความมั่นคงของเส้นทางเดินเรือในภูมิภาคและการเข้าถึงเส้นทางเหล่านี้ เส้นทางเดินเรือในทะเลจีนใต้มีความสำคัญระดับโลก แต่มันก็ขึ้นอยู่กับการอยู่รอดทางเศรษฐกิจของประเทศติดชายฝั่งที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต ดังนั้น ทุกประเทศจึงมุ่งความพยายามในระดับต่าง ๆ กันเพื่อจะเพิ่มการควบคุมแบบผูกขาดให้ได้มากที่สุดในบริเวณเส้นทางเดินเรือเหล่านี้

การพัฒนาทางเศรษฐกิจยังผลักดันให้เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรในทะเลทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต อาจจะมีการถกเถียงกันว่า “การแย่งชิง” ความอุดมสมบูรณ์ของน้ำมันและก๊าซในทะเลนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแข่งขันอันรุนแรงอย่างต่อเนื่องเพื่อแย่งชิงแหล่งประมงสุดท้ายในทะเลจีนใต้มีอยู่จริง ในปี พ.ศ. 2556 จีนได้ออกกฎห้ามจับปลาตามฤดูกาลตลอดทั้งปีทั่วทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นการยืนกรานของจีนแต่เพียงฝ่ายเดียว กฎนี้มีผลกับกิจกรรมของชาวประมงต่างชาติในพื้นที่ภายในเส้นประ 10 เส้น

รัฐบาลจีนได้ปฏิรูปหน่วยยามฝั่งของตนด้วยการจัดระเบียบองค์กรใหม่และปรับโครงสร้างเงินทุน แค่ช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ขยายกองเรือของหน่วยยามฝั่งในอัตราร้อยละ 25 ขณะนี้เรือของหน่วยยามฝั่งจีนมีจำนวนมากกว่าเรือทั้งหมดของหน่วยยามฝั่งในอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนามรวมกัน นอกจากนี้ ประเทศอื่น ๆ ที่ทำการประมงในภูมิภาคยังรีบปกป้องผลประโยชน์ของตนในน่านน้ำที่มีกรณีพิพาทโดยมีอินโดนีเซียเป็นแกนนำ

รัฐบาลชุดใหม่ของอินโดนีเซียที่มีประธานาธิบดีโจโก วีโดโด เป็นผู้นำได้ตอบสนองการแข่งขันด้านการประมงที่เพิ่มขึ้นด้วยวิธีการแก้ปัญหาแบบใหม่ ซึ่งก็คือการบังคับใช้สิ่งที่อินโดนีเซียเรียกว่าเขตอำนาจการประมงจำเพาะของประเทศ ทางการอินโดนีเซียเริ่มส่งหน่วยกองทัพเรือออกไปจมเรือต่างชาติที่ถูกจับได้ว่ารุกล้ำเข้าไปจับปลาในน่านน้ำอินโดนีเซีย กิจกรรมการบังคับใช้ที่เพิ่มขึ้นของกฎทั้งหมดนี้ทำให้ข้อพิพาทด้านการประมงในทะเลจีนใต้ทวีความรุนแรงขึ้น และเพิ่มระดับความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกันโดยไม่ได้ตั้งใจระหว่างองค์กรบังคับใช้กฎหมายของประเทศคู่กรณีที่ทำหน้าที่ปกป้องเขตอำนาจของตนในพื้นที่พิพาท

การทหาร

ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจนำไปสู่ความขัดแย้งทางทหาร ข้อพิพาทเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ทำให้การแข่งขันทางทหารเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่มีการสู้รบทางทหาร การแย่งชิงหมู่เกาะและแนวหินโสโครกระหว่างกองทัพเรือในภูมิภาคถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เกี่ยวกับทะเลจีนใต้ในช่วงศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 2444-2543) ในการนี้ การพัฒนาอย่างรวดเร็วและน่าทึ่งของกองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาทำให้บรรดาประเทศเพื่อนบ้านของจีนเกิดความหวาดกลัวอย่างแท้จริงว่าอีกไม่นานจีนจะส่งกองทัพเรือเข้ายึดพื้นที่ที่มีผู้ครอบครองอยู่แล้วโดยใช้กำลังบังคับ

หากจีนตั้งใจที่จะเริ่มต้นทำสงคราม ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อ้างสิทธิจะไม่สามารถต้านทานจีนได้แม้จะผนึกกำลังกันในฐานะพันธมิตร อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้จีนก็ยังลังเลที่จะใช้กำลังทหารโดยตรงในทะเลจีนใต้แม้จะมีข้อได้เปรียบทางทหารอยู่มากมาย การเผชิญหน้าทางทหารโดยตรงครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นก่อนที่จีนจะเริ่มโครงการปรับปรุงกองทัพเรือให้มีความทันสมัยขึ้นจริง ๆ โดยในปี พ.ศ. 2531 มีการปะทะกันระหว่างกองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชนและกองทัพเรือเวียดนามเพื่อแย่งชิงพื้นที่ที่ยังไม่มีผู้ครอบครองในบริเวณหมู่เกาะ
สแปรตลีตะวันตกซึ่งรวมถึงแนวปะการังเฟียรี ครอส

นับจากนั้นเป็นต้นมา การเผชิญหน้าระหว่างจีนและผู้อ้างสิทธิ
อื่น ๆ มักจะเกิดขึ้นแบบอ้อม ๆ หรือเกี่ยวข้องกับเรือบังคับใช้กฎหมายติดอาวุธเป็นส่วนใหญ่ ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่จีนนำแท่นขุดเจาะน้ำมันไห่หยาง ฉือโหยว เข้าไปในน่านน้ำที่มีกรณีพิพาทใกล้กับเกาะไตรตันเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 แท่นขุดเจาะดังกล่าวมีเรือคุ้มกันถึง 80 ลำ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเรือของหน่วยบังคับใช้กฎหมาย รัฐบาลเวียดนามตอบโต้ด้วยการส่งเรือจากหน่วยยามฝั่ง หน่วยเฝ้าระวังการทำประมง และแม้กระทั่งกองเรือพาณิชย์ของตนออกไปเผชิญหน้าเพื่อคุมเชิงกับกองเรือจีน แต่ไม่มีเรือจากกองทัพเรือเวียดนาม

เมื่อการก่อกวนโดยเรือของเวียดนามไม่ทำให้จีนนำแท่นขุดเจาะน้ำมันออกจากพื้นที่ รัฐบาลเวียดนามได้หันไปใช้ยุทธวิธีทางบกด้วยการปล่อยให้ผู้ประท้วงเข้าปล้นและจุดไฟเผาโรงงานของจีนในโฮจิมินห์ ซิตี้ ซึ่งนับว่าเป็นความไม่สงบเรียบร้อยที่รุนแรงที่สุดในเวียดนามในรอบหลายปีที่ผ่านมา หากรัฐบาลเวียดนามไม่สามารถบีบบังคับให้รัฐบาลจีนเคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันออกไปได้ด้วยกองกำลังกึ่งทหาร รัฐบาลเวียดนามจะเปลี่ยนไปใช้การกดดันทางเศรษฐกิจ การค้าและการทูตแทน

กิจกรรมการสร้างแผ่นดินของจีนสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งตัวกิจกรรมเองบ่งบอกถึงการแข่งขันทางทหารแต่ไม่ใช่การเผชิญหน้าโดยตรง แทนที่จะเข้ายึดดินแดนทางยุทธศาสตร์ในหมู่เกาะสแปรตลีย์เพื่อสร้างอิทธิพล รัฐบาลจีนกลับเลือกที่จะสร้างประโยชน์ให้ได้มากที่สุดกับพื้นที่ที่ตนครอบครองอยู่แล้ว การกระทำของจีนทำให้ผู้อ้างสิทธิอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งประสบความยากลำบากในการกำหนดนโยบาย ทั้งในด้านการขัดขวางการก่อสร้างโดยตรงโดยใช้ทรัพยากรทางทหารหรือการตอบโต้ทางพลเรือน แล้วก็เป็นไปตามที่คาดไว้ นั่นคือผู้อ้างสิทธิทั้งหมดเลือกหนทางปฏิบัติที่เสี่ยงต่อการปะทะน้อยที่สุด และผู้มีส่วนได้เสียระหว่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกาก็ดำเนินการตามรอยดังกล่าว ดูเหมือนทุกฝ่ายจะเห็นพ้องกันว่าการสู้รบทางทหารโดยตรงเป็นสิ่งที่เลวร้ายในทะเลจีนใต้ แม้จะมีเพียงรัฐบาลจีนที่เท่านั้นที่ค้นพบวิธีการบีบบังคับคู่แข่งโดยไม่ต้องใช้การสู้รบทางทหารโดยตรง

การเมือง 

นอกเหนือจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและทางทหารแล้ว ยังมีความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นหัวใจสำคัญของกรณีพิพาท การอ้างสิทธิที่เกิดขึ้นตามลักษณะแล้วคือการต่อต้านระบอบอาณานิคม แต่ก็ส่งผล กระทบในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก การพิจารณาอดีตทางด้านอาณานิคมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควบคู่ไปกับการเมืองในปัจจุบันจะช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับกรณีพิพาทอย่างถ่องแท้

ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่ครอบครองหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีเพื่อใช้ประโยชน์แบบผูกขาดอย่างเต็มที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อตระหนักถึงความเป็นมาดังกล่าว ผู้อ้างสิทธิทั้งหมดได้พยายามที่จะควบคุมหมู่เกาะเหล่านี้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเพียงเพื่อจะป้องกันไม่ให้ประเทศอื่นใช้พื้นที่หมู่เกาะเป็นฐานที่มั่นในการโจมตีชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ของตน ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้ามา พื้นที่ที่ไม่มีการควบคุมในทะเลจีนใต้ยังเป็นแหล่งดึงดูดใจชาติมหาอำนาจยุโรปให้เข้ามาครอบครองพื้นที่ แม้จะไม่มีประเทศใดครอบครองหมู่เกาะทั้งสองแห่งอย่างถาวร แต่เจ้าหน้าที่รัฐจากอังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์และสเปนก็ได้จัดทำแผนที่และใช้ประโยชน์จากท้องทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศใดก็ตามในภูมิภาคนี้

ความจริงแล้ว เมื่อฝรั่งเศสอ้างสิทธิในพื้นที่ทั้งหมดของหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีในปี พ.ศ. 2476 สถานทูตจีนในกรุงมะนิลาได้สอบถามสถานทูตสหรัฐฯ ว่า “หมู่เกาะสแปรตลี” อยู่ตรงจุดใดแน่บนแผนที่ แม้ว่าคนเดินเรือชาวจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนามใช้ทะเลจีนใต้มานานหลายศตวรรษก่อนที่ชาวยุโรปจะมาถึง แต่รัฐบาลเหล่านี้ก็ไม่ได้สำรวจพื้นที่หรือจัดทำแผนที่ไว้ดีพอที่จะสามารถปกป้องดินแดนเอาไว้ได้ การละเลยดังกล่าวเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติกระทำการบีบบังคับได้

ความเป็นมาเกี่ยวกับการครอบครองทะเลจีนใต้โดยต่างชาติแสดงให้เห็นว่า ภาวะทางการเมืองที่เป็นผลมาจากข้อพิพาทในทะเลจีนใต้มีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับการกำหนดการปกครองตนเองของแต่ละชาติและอำนาจอธิปไตย นอกจากนี้ยังทำให้เข้าใจว่าเพราะเหตุใดผู้อ้างสิทธิทั้งหมดจึงไม่เพียงแค่พยายามที่จะรวมพื้นที่ที่ตนครอบครองเข้าด้วยกันเท่านั้น แต่ยังต้องการที่จะกำหนดสิทธิของตนเพื่อจำกัดกิจกรรมทางทหารของต่างชาติในเขตทางทะเลของตน

APDF_V41N1_THAi_graph7

แต่ความจริงที่ไม่น่าฟังก็คือ เนื่องจากผู้อ้างสิทธิทุกประเทศต่างดำเนินนโยบายต่อต้านระบอบอาณานิคมเช่นเดียวกัน ชาติเหล่านี้จึงสร้างความกดดันให้กันเองมากกว่าจะกดดันชาติมหาอำนาจจากภายนอก ตัวอย่างเช่น แม้ความพยายามของจีนในการควบคุมการสัญจรทางน้ำและการบินผ่านน่านฟ้าในทะเลจีนใต้จะมุ่งเป้าที่สหรัฐฯ เป็นหลัก แต่การกระทำดังกล่าวกลับส่งผลกระทบโดยตรงที่สุดกับประเทศเพื่อนบ้านของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การอ้างสิทธิของจีนคือความพยายามที่จะจำกัดการเดินทางของสหรัฐฯไปยังชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศจีน แต่ก็เป็นการรุกล้ำดินแดนและเขตอำนาจของประเทศเพื่อนบ้านในเวลาเดียวกัน ข้อจำกัดที่จีนกำหนดขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ทางทหารและความสามารถในการสร้างความร่วมมือและการเป็นพันธมิตรของประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าจะส่งผลกระทบต่อกองทัพเรือสหรัฐฯ มากนัก นโยบายต่อต้านระบอบอาณานิคมนี้ที่ส่งผลกระทบในภูมิภาคเอเชียเป็นหลักคือต้นกำเนิดของความตึงเครียดและภาวะทางการเมืองที่เข้าใจยาก

การสร้างแผ่นดินคือกรณีตัวอย่าง ดูเหมือนจะมีความชัดเจนว่าจีนตั้งใจที่จะใช้ฐานที่มั่นเหล่านี้ในหมู่เกาะสแปรตลีเพื่อแสดงตนแข่งกับสหรัฐฯ ในทะเลแห่งนี้ ขีดความสามารถที่สร้างขึ้นมาใหม่นั้นก้าวล้ำไปไกลกว่าขีดความสามารถในระดับต่ำสุดที่จะเอาชนะคู่แข่งใด ๆ ในภูมิภาค ดังนั้น เจตนารมณ์ที่น่าจะเป็นไปได้คือการแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถอันมหาศาลเพื่อข่มขู่ให้ประเทศอื่น ๆ ยอมรับโดยไม่ต้องแข่งขัน ทางวิ่งเครื่องบินที่มีขีดความสามารถตามมาตรฐานนาโต หอคอยต่อสู้อากาศยาน อุปกรณ์เรดาร์และขีปนาวุธที่มีแนวโน้มว่าจะมาพร้อมกับดินแดนเหล่านี้ล้วนมีศักยภาพเกินกว่าที่จะใช้กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นได้ชัดว่าสิ่งเหล่านี้มีไว้เพื่อจัดการกับคู่แข่งที่มีขีดความสามารถมากกว่า หากจีนบรรลุผลสำเร็จในการจัดตั้งเขตป้องกันทั่วพื้นที่ภายในเส้นประ 10 เส้นโดยได้รับการยินยอม ประผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ก็จะได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง แต่ไม่มีอะไรเทียบได้กับการสูญเสียความมีตัวตนที่เวียดนามจะต้องเผชิญ การควบคุมท้องทะเลของจีนจะทำให้เวียดนามถูกตัดขาดจากโลกกว้าง ความร่วมมือทางการค้าและทางทหารที่ขนส่งทางทะเลทั้งหมดของเวียดนามจะขึ้นอยู่กับอำเภอใจของรัฐบาลจีน

ข้อเท็จจริงที่ว่า การต่อต้านสหรัฐฯ ของจีนกลายเป็นการคุกคามเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปโดยปริยาย เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าขณะนี้คือภาวะที่เหมาะสมที่เอื้ออำนวยต่อการเป็นแนวร่วมกันระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ความจริงอีกข้อหนึ่งคือ จีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นผ่านยุคอาณานิคมร่วมกันมา ซึ่งหมายความว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่ได้รับการยอมรับจากภูมิภาคนี้ในฐานะผู้ช่วยเหลือโดยไม่มีการพินิจพิเคราะห์ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งทางทะเล แต่ทั้งสองฝ่ายควรให้ความระมัดระวังอย่างเหมาะสมในเรื่องความตึงเครียดนี้

กฎหมาย 

ความขัดแย้งประการสุดท้ายที่เป็นหัวใจสำคัญของข้อพิพาททะเลจีนใต้คือความขัดแย้งทางกฎหมาย ผู้อ้างสิทธิทั้งหมดในทะเลจีนใต้ต่างดำเนินการอ้างสิทธิโดยผิดกฎหมายอย่างชัดเจนในระดับต่าง ๆ กันโดยใช้สถาบันทางกฎหมายและระบบกฎหมาย ทุกฝ่ายรวมทั้งรัฐบาลจีนต้องการบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของประเทศตนด้วยวิธีการทางกฎหมายที่สามารถแก้ต่างได้ เมื่อข้อพิพาททวีความรุนแรงขึ้น ความตึงเครียดนี้ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศมีทางเลือกด้านนโยบายที่แตกต่างกัน

ตัวอย่างเช่นในฟิลิปปินส์ รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้แก้ไขการอ้างสิทธิที่ไม่ปกติของตนในหมู่เกาะคารายานซึ่งอยู่ทางตะวันออกของหมู่เกาะสแปรตลีเพื่อให้การอ้างสิทธิดังกล่าวมีความสอดคล้องกับหลักกฎหมายของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลมากขึ้น ฟิลิปปินส์ไม่ได้อ้างว่าแนวปะการังมิสชีฟเป็นเกาะที่อยู่ในเขตทางทะเลอีกต่อไป (ซึ่งจมอยู่ใต้น้ำตามธรรมชาติ) แต่ใช้วิธีอ้างสิทธิทางกฎหมายอย่างชัดเจนมากว่าเดิมว่าแนวปะการังมิสชีฟอยู่ภายใต้เขตอำนาจของฟิลิปปินส์เนื่องจากแนวปะการังนี้อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์เมื่อวัดระยะทางจากเกาะหลักของตน การเปลี่ยนแปลงนี้หมายถึงการยกเลิกการอ้างสิทธิบางอย่างทางเขตอำนาจ แต่รัฐบาลฟิลิปปินส์ก็ได้สิทธิทางกฎหมายบางอย่างมาทดแทน

จีนยืนยันการอ้างสิทธิที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจนในน่านน้ำภายในเส้นประ 10 เส้น โดยใช้ กระบวนการทางกฎหมายและสถาบันกฎหมายตามนโยบายที่เรียกว่า “การสงครามทางกฎหมาย” แทนที่จะปฏิเสธความถูกต้องของกฎหมายอย่างเป็นทางการ รัฐบาลจีนกลับตั้งข้อสงสัยอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเขตอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการที่จัดทำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล และกล่าวหาฟิลิปปินส์ว่าเพิกเฉยต่อข้อผูกมัดตามกฎหมายภายใต้ข้อตกลงระหว่างจีนกับอาเซียนในปี พ.ศ. 2545 ว่าด้วยเรื่องการละเว้นจากการเคลื่อนไหวเพียงฝ่ายเดียวเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ การโต้แย้งของจีนจะมีความถูกต้องหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะผู้พิพากษา แต่จีนก็ไม่ได้ละเว้นการอภิปรายในเชิงกฎหมาย ตรงกันข้าม จีนได้ขอให้คณะอนุญาโตตุลาการให้การรับรองทางกฎหมายเพื่อให้จีนมีความคุ้มกันจากเขตอำนาจศาล

การที่จีนลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลที่ทำให้จีนอ้างสิทธิได้เป็นระยะเวลานานซึ่งขัดต่อหลักการของอนุญาสัญญาดังกล่าวหลายประการ คือหลักฐานยืนยันว่าจีนต้องการเป็นส่วนหนึ่งของภาคีทางกฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบันให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจีนจะสามารถยึดถือนโยบายที่ขัดแย้งนี้ได้นานเท่าไร แต่ขณะนี้จีนกำลังพยายามทางการทูตอย่างสูงสุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการโต้แย้งสถานะของตนภายในขอบเขตของกฎหมายโดยไม่ละทิ้งเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญสูงสุดของตน

ผู้เรียกร้องอื่น ๆ ประสบภาวะที่ยากลำบากคล้าย ๆ กัน อินโดนีเซีย มาเลเซียและเวียดนามล้วนอ้างสิทธิอย่างผิดกฎหมายเพื่อจะสามารถจำกัดกิจกรรมทางทหารของต่างชาติในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตน การอ้างสิทธิของเวียดนามในเกาะต่าง ๆ ของหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะแปรตลีนั้นไม่มีหลักฐานรองรับที่ชัดเจนตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ และอาจเป็นการอ้างสิทธิจนเกินควรในแง่ของเขตอำนาจทางทะเลที่รัฐบาลเวียดนามกำหนดขึ้นเอง มาเลเซียอ้างสิทธิในพื้นที่หมู่เกาะสแปรตลีทางตอนใต้ตามข้อเท็จจริงที่ว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของมาเลเซีย ข้ออ้างนี้จะใช้ได้กับพื้นที่ที่จมอยู่ใต้น้ำและพื้นที่ที่มองเห็นได้ในช่วงน้ำลงเท่านั้น แต่กฎหมายระหว่างประเทศระบุอย่างชัดเจนว่าอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเป็นพื้นฐานของสิทธิอธิปไตยในทะเล ไม่ใช่ในทางที่กลับกัน

ในสถานการณ์ที่ไม่มีฝ่ายใดกระทำการโดยสุจริตมาโดยตลอด ความลังเลใจจึงเกิดขึ้นและมีการดำเนินกลยุทธ์ทางการทูต ไม่มีฝ่ายใดต้องการจะเพิกเฉยต่อกฎหมายโดยสิ้นเชิงเพราะการปฏิบัติตามกฎหมายนั้นนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่จับต้องได้ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่มีผู้อ้างสิทธิรายใดยอมรับว่าการอ้างอำนาจอธิปไตยของตนนั้นเป็นเรื่องที่เกินพอดี ผลก็คือ หลายประเทศซึ่งรวมทั้งจีนเป็นหลักยังคงอ้างสิทธิทางกฎหมายอย่างมีข้อยกเว้นต่อไปโดยใช้ข้อตกลงทางกฎหมายและสถาบันทางกฎหมาย

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบาย 

ข้อพิพาททะเลจีนใต้ทำให้เกิดความยากลำบากในการกำหนดนโยบายซึ่งเป็นความท้าทายที่มีลักษณะเฉพาะ การทำความความเข้าใจในเรื่องความซับซ้อนที่สั่งสมจากความขัดแย้งอาจไม่ทำให้เราได้คำตอบง่ายขึ้น แต่ก็ทำให้เห็นถึงแนวทางปฏิบัติสี่ประการที่เกี่ยวข้องความขัดแย้งที่อาจทำให้มีวิธีแก้ปัญหาที่ยอมรับได้ในอนาคต

ด้วยความจริงที่ว่า การพึ่งพาซึ่งกันและกันมากขึ้นในทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับจีนเป็นปัจจัยที่กระตุ้นทั้งการแข่งขันและความร่วมมือในทะเลจีนใต้ นั่นแสดงว่านับแต่นี้ต่อไป การพิจารณาความความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่าง ๆ จะไม่สามารถตัดประเด็นเรื่องการแข่งขันทางด้านดินแดนและอาณาเขตทางทะเลออกไปได้ สำหรับสหรัฐอเมริกา สิ่งนี้ทำให้ตระหนักว่าจีนเป็นที่ต้องการมากกว่าในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นจีนจึงต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาใด ๆ ก็ตามในทะเลจีนใต้ สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ความจริงข้อนี้บ่งบอกว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจควรได้รับการจัดการอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยพิจารณาถึงประเด็นในเรื่องความขัดแย้งหรือการบีบบังคับซึ่งตนเป็นผู้ริเริ่มในบางครั้ง

ในขณะที่มีการแข่งขันทางทหารโดยปราศจากการปะทะโดยตรง ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรมของตนเองในทะเลจีนใต้ที่เกี่ยวข้องกับขีดจำกัดของพฤติกรรมที่ยอมรับได้ทั้งในระดับสูงและระดับต่ำ นั่นก็คือ ผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงสิ่งยั่วยุที่จะทำให้สถานการณ์บานปลายไปสู่กิจกรรมทางทหารโดยตรง แม้กระทั่งการตอบโต้ต่อสิ่งที่ตนคิดว่าเป็นกิจกรรมทางทหารโดยตรงของฝ่ายอื่น ๆ ทุกฝ่ายควรแสดงให้เห็นถึงหนทางแก้ปัญหาโดยไม่ใช้วิธีการทางทหาร และส่งเสริมการอ้างสิทธิของตนให้มีประสิทธิภาพโดยใช้วิธีการบริหารจัดการทางพลเรือน สำหรับสหรัฐอเมริกา การปฏิสัมพันธ์กับภูมิภาคควรอยู่ภายในขอบเขตเหล่านี้เช่นเดียวกัน

ความขัดแย้งทางการเมืองอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ภายในที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกกับโลกตะวันตกในยุคโลกาภิวัตน์เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งผู้กำหนดนโยบายในประเทศใดก็ตามล้วนคาดหวังสิ่งนี้จากหุ้นส่วนของตน ปัญหาบางอย่างสามารถแก้ไขได้ด้วยการแสวงหาข้อตกลงแบบง่าย ๆ ระหว่างบรรดาประเทศในเอเชีย แต่บางปัญหานั้น สหรัฐอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะมีความเห็นไปในทางเดียวกันมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีแม้กระทั่งประเด็นที่จีนและสหรัฐอเมริกามีความเห็นตรงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในฐานะแหล่งสำคัญของเศรษฐกิจโลกและการทหาร สำหรับตอนนี้ สภาพแวดล้อมทางการเมืองมีความยุ่งยากและซับซ้อน การแบ่งแยกระหว่าง “คนดี” และ “คนร้าย” จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และความสัมพันธ์ส่วนใหญ่จะดำเนินไปในฐานะหุ้นส่วนและคู่แข่งไปพร้อม ๆ กัน

การพึ่งพาวิธีการทางกฎหมายและสถาบันทางกฎหมายอย่างต่อเนื่องเพื่อดำเนินการอ้างสิทธิอย่างผิดกฎหมายหรือผิดปกติบ่งชี้ว่า ทุกฝ่ายจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากหลักการตามที่ร่วมเจรจากัน สิ่งที่จำเป็นต้องทำนั้นไม่ใช่การเพิกถอนอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลหรือการปกป้องอนุสัญญาโดยไม่พินิจพิเคราะห์ แต่ควรเจรจากันอย่างโปร่งใสว่าเพราะเหตุใดอนุสัญญานี้จึงมีหลักการดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น ทุกฝ่ายอาจใช้สิ่งช่วยเตือนความจำเพื่อระลึกว่าการรักษาเสรีภาพในการเดินเรือทางทหารควบคู่ไปกับการสร้างเขตเศรษฐกิจจำเพาะคือส่วนหนึ่งของการต่อรองอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้บรรลุข้อตกลงในขั้นสุดท้าย มันเป็นแลกเปลี่ยนสัมปทานระหว่างประเทศที่ต้องข้ามมหาสมุทรอย่างสหรัฐอเมริกากับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างจีนและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มันแสดงถึงผลลัพธ์ที่ดีสุดที่เป็นไปได้ที่มาจากการเจรจาเพื่อให้เกิดระเบียบปฏิบัติในมหาสมุทรซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกทั้งในตอนนั้นและในตอนนี้ ทางเลือกที่มีอยู่ตอนนี้ไม่ใช่การเคารพกฎจารีตประเพณีที่กำกับดูแลมหาสมุทร แต่คือการเคารพข้อตกลงที่มีอยู่ หรือไม่ก็หวนกลับไปสู่สภาพเดิมที่มีความยุ่งเหยิงของกฎระเบียบเกี่ยวกับทะเลดังที่เกิดขึ้นเมื่อหลายศตวรรษก่อน การดำเนินการตามกฎหมายจะไม่ช่วยส่งเสริมการเจรจาอย่างเปิดเผยระหว่างฝ่ายต่าง ๆ แต่การเจรจาทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวอาจช่วยได้

บทสรุป 

การกำหนดนโยบายที่มีขอบเขตกว้าง ๆ ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงเชิงกลยุทธ์ในเรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นวิธีที่ชาญฉลาดสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาททะเลจีนใต้ การกำหนดวิธีการตอบสนองอย่างเหมาะสมและการนำวิธีการดังกล่าวไปใช้อย่างชาญฉลาดไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ได้ทำให้พันธมิตรสะดวกสบาย อย่างไรก็ตาม มันน่าจะเป็นการบริหารจัดการข้อพิพาทอย่างสันติมากกว่าทางเลือกใด ๆ

การกระทำใด ๆ นอกเหนือจากแนวทางปฏิบัติเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น และกลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่ได้ตั้งใจ หรือทำให้สูญเสียสิทธิอธิปไตยและทำลายหลักสากลที่ระบุไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลและกฎหมายจารีตประเพณี เนื่องจากความเสี่ยงทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องที่ฝ่ายใดยอมรับได้ ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดเจนว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลของทุกประเทศจะต้องเริ่มคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อหาวิธีดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ความขัดแย้งที่รัฐบาลเหล่านี้กำลังเผชิญอยู่


ข้อพิพาทสามประเภท

ข้อพิพาททะเลจีนใต้แบ่งออกได้อย่างน้อยสามประเภท

ข้อพิพาทเกี่ยวกับอาณาเขต  

ข้อพิพาทประเภทนี้เกี่ยวข้องกับการถือกรรมสิทธิ์ในพื้นที่

ข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนทางทะเล 

ข้อพิพาทเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทั่วไปในเรื่องการกำหนดเขตจำกัดอย่างเหมาะสมในน่านน้ำ ข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนทางทะเลแสดงให้เห็นว่า ไม่มีข้อตกลงที่เฉพาะเจาะจงในการกำหนดลักษณะเขตเศรษฐกิจจำเพาะภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ซึ่งให้สิทธิเฉพาะทะเลอาณาเขตและไม่มีการกำหนดเขตทางทะเลใด ๆ เนื่องจากเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่ได้รับอนุญาตตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลนั้นมีขนาดกว้างใหญ่ ดังนั้นจึงมีข้อแตกต่างระหว่างการมีกรรมสิทธิ์ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ125,000 ตารางไมล์ทะเล การมีกรรมสิทธิ์ในทะเลอาณาเขต 450 ตารางไมล์ทะเล และการไม่มีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ใด ๆ เลย

แม้ในช่วงที่ยังไม่มีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์และสิทธิในเขตทางทะเล แต่เนื่องจากพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิเทศต่าง ๆ นั้นอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันมาก ข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนทางทะเลจึงเกี่ยวข้องกับการกำหนด “สิทธิ” ในการแบ่งเขตระหว่างประเทศใดประเทศหนึ่งกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย ในบางพื้นที่ ข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนทางทะเลยังเป็นผลมาจากการอ้างสิทธิที่ไม่ปกติในพื้นที่ภายในเส้นประของจีนและไต้หวันซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ และความขัดแย้งกับประเทศติดชายฝั่งทั้งหมดที่อ้างสิทธิเหนือเขตเศรษฐกิจจำเพาะแบบปกติกว่า

ข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตอำนาจ

ข้อพิพาททะเลจีนใต้ประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นความความขัดแย้งในเรื่องสิทธิในการควบคุมที่ได้รับอนุญาตให้กระทำภายในเขตต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องนี้เพียงอย่างเดียว ประเทศคู่แข่งหลายรายในทะเลจีนใต้อ้างว่าตนได้รับอนุญาตให้ควบคุมกิจกรรมของกองทัพต่างชาติในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนไม่ว่าเขตนี้จะไปสิ้นสุดที่ใดก็ตาม สิทธิในการควบคุมดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล และไม่ใช่การอ้างสิทธิโดยประเทศส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม ผู้อ้างสิทธิทั้งหมดในทะเลจีนใต้ยกเว้นฟิลิปปินส์และบรูไนเชื่อว่า ตนมีสิทธิที่จะจำกัดการปฏิบัติการของเรือจากกองทัพต่างชาติในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตน ตัวอย่างเช่น การทะเลาะวิวาทระหว่างมาเลเซียและจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่เน้นให้เห็นถึงแนวปฏิบัติดังกล่าวในอนุภูมิภาคนี้

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558 เรือลาดตระเวนไห่จิงของหน่วยยามฝั่งจีนถูกพบขณะลอยอย่างอ้อยอิ่งในน่านน้ำใกล้กับแนวปะการังเซาท์ ลูโคเนีย โชลส์ ที่มีกรณีพิพาท และรายงานเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ระบุว่าอาจมีเรืออีกลำหนึ่งทอดสมออยู่ในบริเวณใกล้เคียง ทางการมาเลเซียเรียกเรือทั้งสองลำนี้ว่า “ผู้บุกรุก” แม้ว่าเรือเหล่านี้จะทอดสมอห่างจากชายมาเลเซียเป็นระยะทางกว่า 80 ไมล์ทะเล ซึ่งเป็นระยะที่ไกลพอจากทะเลอาณาเขตของมาเลเซีย ซึ่งเป็นเขตเดียวที่รัฐบาลมาเลเซียมีสิทธิในการจำกัดการเคลื่อนที่ของกองทัพต่างชาติ

แน่นอนว่า หากเรือของหน่วยยามฝั่งจีนอยู่ห่างจากเกาะขนาดเล็กหรือโขดหินใกล้กับแนวประการังดังกล่าวภายในระยะ12 ไมล์ทะเล รัฐบาลมาเลเซียจะยังคงมีอำนาจในเขตอำนาจดังกล่าว พื้นที่บางส่วนของแนวปะการังลูโคเนีย เบรกเกอร์ส อาจโผล่พ้นน้ำในช่วงน้ำขึ้น รายงานข่าวไม่ได้ระบุตำแหน่งของเรือที่แน่นอนว่ามีระยะห่างเท่าไรจากพื้นที่ที่มีขนาดเล็กกว่าเหล่านั้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ตัดสินได้ยากว่ารัฐบาลมาเลเซียอ้างเขตอำนาจตามหลักเกณฑ์นั้นหรือไม่ รายงานดูเหมือนจะบ่งชี้ว่ารัฐบาลมาเลเซียใช้ระยะห่างของเรือกับชายฝั่งของเกาะบอร์เนียวทางตอนเหนือเป็นหลักเกณฑ์ในการอ้างเขตอำนาจของตน

การตีความอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลดังกล่าวข้างต้น ซึ่งทำให้ประเทศชายฝั่งมีสิทธิหลากหลายในการจำกัดเสรีภาพในการเดินเรือของกองทัพเรือต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในน่านน้ำนั้น ไม่ได้รับการสนับสนุนโดยหลักการของอนุสัญญา และยังขัดแย้งกับการตีความกฎหมายต่างประเทศแบบดั้งเดิมและนโยบายของสหรัฐอเมริกา

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button