มองภูมิภาคแผนก

อินเดีย: อวสานอุตสาหกรรม ถอดเศษเหล็กจากเรือเก่า

ณ ศูนย์กลางการยุบเรือเป็นเศษเหล็กที่ใหญ่ที่สุดในโลก คนงานกำลังใช้เครื่องพ่นไฟตัดเหล็กกล้าที่โผล่ออกมาจากตัวเรือขนส่งสินค้าสนิมเขรอะที่ถูกเจ้าของชาวญี่ปุ่นขายเป็นเศษเหล็ก
แต่ที่เมืองอาลังที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลอาหรับของประเทศอินเดียแห่งนี้ กว่าครึ่งหนึ่งของอู่รื้อทำลายเรือเก่าปิดตัวลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา อนาคตของอุตสาหกรรมนี้ดูท่าว่าจะมืดมนทั้งในอินเดีย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศและปากีสถาน

อุตสาหกรรมรื้อเรือเก่าได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหล็กกล้าราคาถูกของจีนที่หลั่งไหลเข้ามาตีตลาด และระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ของสหภาพยุโรปที่ผลักดันให้ธุรกิจรื้อเรือเก่าย้ายไปยังอู่ที่ทันสมัยกว่าอย่างในจีนและตุรกี ส่งผลให้เศรษฐกิจท้องถิ่นของอินเดียถูกทำลายลงอย่างราบคาบ

“ผู้คนทำธุรกิจนี้ด้วยหัวใจ ไม่ใช่สมอง” นายชินทัน กัลทิอา กล่าว บริษัท อาร์. แอล. กัลทิอา ชิป เบรกกิ้ง จำกัด ของเขาเป็นเจ้าของอู่รื้อเรือเก่าที่ทันสมัยแห่งหนึ่งในเมืองอาลัง

เรือที่ขายให้บริษัทรื้อเรือเก่าในเอเชียใต้ซึ่งควบคุมตลาดประมาณร้อยละ 70 จะถูกลากเข้าฝั่งในช่วงน้ำขึ้นเพื่อให้คนงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวแยกชิ้นส่วน

การที่ราคาเหล็กกล้าตกลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เจ้าของเรือได้เงินน้อยกว่าที่ควรจะได้เมื่อแปดเดือนก่อนราว 3.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 126 ล้านบาท) สำหรับเหล็ก 25,000 ตันที่รื้อได้จากเรือเหล็กทั่วไปที่ใช้ขนแร่หรือถ่านหิน

สถานการณ์ในปากีสถานก็ย่ำแย่พอกัน “ธุรกิจย่อมมีขึ้นมีลงเป็นปกติ แต่คนที่อยู่ในวงการนี้บอกผมว่านี่เป็นช่วงที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 30 ปี” นายโชอาอิบ สุลต่าน เจ้าของบริษัท ฮอไรซัน ชิป รีไซคลิง ในเมืองการาจีนกล่าว

นอกจากจะต้องต่อสู้กับเหล็กราคาถูกจากจีนแล้ว อุตสาหกรรมรื้อเรือเก่ายังต้องเผชิญกับการเรียกร้องให้ยุติการทำให้ชายหาดปนเปื้อนเศษเหล็กเนื่องจากอันตรายและความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจากมลพิษที่ถูกชะล้างลงทะเล รอยเตอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button