ข่าวผู้ก่อการร้ายแผนก

องค์การสหประชาชาติขอความร่วมมือจากบริษัทอินเทอร์เน็ตใน การต่อสู้กับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

คณะทำงานขององค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้บริษัทอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมตอบโต้การแสวงประโยชน์จากบริการของตนโดยกลุ่มอัลกอ
อิดะห์และกลุ่มหัวรุนแรงอื่น ๆ ที่ใช้งานเว็บไซต์ในการสรรหาสมาชิกใหม่และเผยแพร่ “การโฆษณาชวนเชื่อที่น่ากลัวมากขึ้นเรื่อย ๆ”

คณะทำงานนี้ได้แนะนำให้บริษัทเหล่านี้บรรยายสรุปแก่คณะกรรมการแห่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่กำกับดูแลบทลงโทษสำหรับกลุ่มอัลกออิดะห์ กลุ่มแนวร่วมของอัลกออิดะห์และรัฐอิสลามอิรักและเลแวนต์ เกี่ยวกับมาตรการที่บริษัทต่าง ๆ ใช้ในการป้องกันการแสวงประโยชน์ดังกล่าว

คณะผู้เชี่ยวชาญที่กำกับดูแลบทลงโทษสำหรับกลุ่มหัวรุนแรงระบุในรายงานที่ยื่นต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า “แนวโน้มที่น่าวิตกในช่วงปีที่ผ่านมาคือการขยายตัวของการก่อการร้ายทางดิจิตอลที่มีความละเอียดสูง ได้แก่ การโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วกลุ่มรัฐอิสลามอิรักและเลแวนต์ และผู้ให้ความเห็นอกเห็นใจจะใช้วิธีนี้เพื่อแพร่กระจายความหวาดกลัวและส่งเสริมอุดมการณ์อันบิดเบือนของตน”

รายงานระบุว่า ความแพร่หลายของกิจกรรมทางดิจิตอลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มรัฐอิสลามอิรักและเลแวนต์ และกลุ่มแนวร่วมอัลกออิดะห์ที่มีกิจกรรมน้อยกว่า เป็นเครื่องบ่งชี้โดยนัยทางกลยุทธ์ว่าภัยคุกคามจากกลุ่มหัวรุนแรงจะพัฒนาไปในลักษณะใดในปีต่อ ๆ ไป “โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามจากบรรดานักรบก่อการร้ายต่างชาติที่มีอยู่แพร่หลาย กระจัดกระจายและยังไม่เลิกทำงานให้กับกลุ่มก่อการร้าย”

ในเรื่องการแนะนำให้บริษัทอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมบรรยายสรุปแก่คณะกรรมการกำกับดูแลบทลงโทษนั้น คณะทำงานระบุว่า “ด้วยระดับภัยคุกคามทางดิจิตอลที่เกี่ยวข้องกับการปลูกฝังแนวคิดแบบหัวรุนแรงอย่างที่เป็นอยู่ ประกอบกับความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิบัติงานร่วมกันในด้านการต่อต้านแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องดำเนินการในขั้นต่อไป”

อิทธิพลของอินเทอร์เน็ตต่อกลุ่มหัวรุนแรงต่าง ๆ เป็นประเด็นหนึ่งที่เน้นความสำคัญในรายงาน ซึ่งกล่าวถึงภัยคุกคามทั่วโลกที่เกิดจากกลุ่มอัลกออิดะห์ กลุ่มแนวร่วมของอัลกออิดะห์และรัฐอิสลามอิรักและเลแวนต์

คณะทำงานตั้งข้อสังเกตว่า แม้กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้จะสร้างภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ “แต่คนเหล่านี้ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บน้อยกว่าสงคราม ภัยพิบัติหรือเกิดอุบัติเหตุจากการจราจร”

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานระบุว่า กลุ่มอัลกออิดะห์ กลุ่มแนวร่วมของอัลกออิดะห์ และรัฐอิสลามอิรักและเลแวนต์ได้สังหารคนหลายพันคน และในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา การโจมตีของกลุ่มหัวรุนแรงเหล่านี้ “ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลแก่มนุษย์” กลุ่มหัวรุนแรงได้ก่อเหตุระเบิดครั้งรุนแรง ลอบสังหารและแสวงประโยชน์จากคนหลายล้านคนในอิรัก ซีเรีย และในพื้นที่บางส่วนของอัฟกานิสถาน ลิเบีย ไนจีเรีย โซมาเลียและเยเมนที่มีผู้เข้าร่วมน้อยกว่า แต่ก็เป็นปัญหาที่สำคัญไม่แพ้กัน รายงานระบุ

คณะทำงานระบุว่า กลุ่มอัลกออิดะห์ยังคงถูกบดบังความสำคัญ เนื่องจากขณะนี้กลุ่มรัฐอิสลามอิรักและเลแวนต์ที่เคยเป็นกลุ่มย่อยของตนได้รับความสนใจมากกว่าและยังควบพื้นที่ขนาดใหญ่ในซีเรียและอิรัก คณะทำงานระบุว่า อำนาจควบคุมและอิทธิพลของนายไอมาน อัลซาวาฮิรี ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ต่อกลุ่มแนวร่วมต่าง ๆ กำลังอยู่ในภาวะถดถอย และมีสถานะทางการเงินที่ไม่มั่นคงเมื่อเทียบกับกลุ่มรัฐอิสลามอิรักและเลแวนต์

คณะทำงานระบุว่า กล่าวได้ว่ากลุ่มรัฐอิสลามอิรักและเลแวนต์ “บรรลุความสำเร็จในสิ่งที่กลุ่มอัลกออิดะห์ไม่เคยทำได้มาก่อน นั่นก็คือ การสร้างฐานดินแดนโดยใช้ความรุนแรงของการก่อการร้าย”

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานระบุว่า กลุ่มอัลกออิดะห์และกลุ่มแนวร่วมต่าง ๆ ยังคงเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงในพื้นที่หลายส่วนของโลก

กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้นและมีกิจกรรมมากขึ้นในอัฟกานิสถานในปี พ.ศ. 2558 กลุ่มที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออิดะห์มีจำนวนเพิ่มขึ้นในเอเชียใต้และเอเชียกลาง กลุ่มอัล ชาบาบ ซึ่งเป็นกลุ่มแนวร่วมของกลุ่มอัลกออิดะห์ในโซมาเลียยังคงเป็นภัยคุกคามที่สำคัญในคาบสมุทรโซมาลี

พื้นที่ทางตอนใต้ของลิเบียยังคงเป็น “ที่หลบภัย” ของกลุ่มหัวรุนแรงที่มีแผนจะก่อเหตุโจมตีในภูมิภาคมาเกร็บและซาเฮล บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า มีรายงานว่ากลุ่มหัวรุนแรงเหล่านี้มีปืนต่อสู้อากาศยานและระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบประทับบ่ายิงไว้ในครอบครอง

กลุ่มโบโก ฮารามได้ขยายการรุกล้ำอย่างรุนแรงเข้าไปในแคเมอรูน ชาดและไนเจอร์ แต่คณะทำงานระบุว่า หากกลุ่มโบโก ฮารามต้องการจะควบคุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรียที่มีพื้นที่กว่า 20,000 ตารางกิโลเมตรให้ได้ในระยะยาว “กลุ่มนี้จะต้องมีขีดความสามารถทางด้านอาวุธหนัก การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ และมีความสามารถที่จะดำรงการสนับสนุนจากประชาชนในท้องถิ่น”

คณะทำงานระบุว่า เครือข่ายหัวรุนแรงเจมาห์ อิสลามิยาห์ ซึ่งมีฐานอยู่ในอินโดนีเซียดูเหมือนจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งและกำลังสรรหาสมาชิกใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ รวมถึงวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญทางด้านข้อมูล กลุ่มนี้อาจเป็น “ภัยคุกคามในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button