วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมแผนก

นาขั้นบันไดโบราณ อันเลื่องชื่อกำลังเผชิญ

กับภัยคุกค“มของโลกยุคใหม่

เอเจนซ์ ฟร“นซ์ เพรส

มันคือช่วงเวลาแห่งความรื่นเริงของชุมชนนาขั้นบันไดอันเลื่องชื่อซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ บรรดาชายหนุ่มในเครื่องแต่งกายแบบชนเผ่าสีสันสดใสพากันรัวฆ้องทองเหลืองเป็นจังหวะทำนองแบบโบราณ ขณะที่หมูป่าส่งเสียงร้องลั่นก่อนที่พวกมันจะถูกเชือด

เทศกาลประจำปีที่จัดขึ้นในชุมชนภูเขาอันห่างไกล หลังเสร็จสิ้นการปลูกข้าวอันเป็นวิถีชีวิตหลักของผู้คนในชุมชน มีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อถ่ายทอดประเพณีเก่าแก่ที่มีมายาวนานหลายศตวรรษให้กับคนรุ่นใหม่ ประเพณีเหล่านี้คือจิตวิญญาณของแนวเทือกแห่งนี้ที่เรียกว่าภูมิภาคกอร์ดีเยรา ซึ่งเป็นดินแดนที่มีทัศนียภาพงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของฟิลิปปินส์ ที่ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองอิฟูเกาเป็นผู้ดูแลนาขั้นบันไดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

นาขั้นบันไดที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 2,000 ปีมาแล้วและเป็นพื้นที่นาที่อยู่สูงที่สุดในเอเชียก็เหมือนกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมืองอิฟูเกา ที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนอันเนื่องมาจากแรงผลักดันของโลกยุคใหม่ที่โหมกระหน่ำอย่างไม่ลดละ

“พื้นที่อันงดงามเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเป็นป่าคอนกรีต” นายเอดิสัน โมลานิดา ผู้จัดการสถานที่มรดกโลกแห่งคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติฟิลิปปินส์กล่าว “ภัยคุกคามหลักอย่างหนึ่งคือการพัฒนาพื้นที่อย่างรวดเร็ว”

ในคำอธิบายที่บ่งบอกถึงสถานะของการเป็นมรดกโลกนั้น องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้บรรยายไว้ว่า ภูมิภาคนี้ “คือภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมที่มีชีวิตและมีความงดงามอย่างไม่มีใครเทียบได้” ในช่วงเช้าที่ปกคลุมไปด้วยหมอก เมื่อแสงแรกของวันที่มีสีส้มจาง ๆ ส่องกระทบแนวหินที่คดเคี้ยวไปตามรูปทรงของภูเขา นาขั้นบันไดนี้จะดูเหมือนบันไดวนขนาดใหญ่ที่ทอดยาวขึ้นสู่สรวงสวรรค์

นอกจากนี้ ยูเนสโกยังชื่นชมชนเผ่าพื้นเมืองอิฟูเกาที่มีวิถีชีวิตที่ความกลมกลืนกับธรรมชาติเป็นเวลานาน คนเหล่านี้ใช้สมุนไพรแทนยาฆ่าแมลง หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยและส่วนใหญ่จะดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำกัดเป็นอย่างดี ระบบชลประทานของชาวอิฟูเกาซึ่งนำน้ำจากยอดเขามาแบ่งปันกันใช้อย่างเท่าเทียมกันทั่วชุมชนยังได้รับการยกย่องว่าเป็น “ภูมิปัญญาทางวิศวกรรมอันชาญฉลาด”

หมู่บ้านอิฟูเกาของคนรุ่นก่อนหรือสองรุ่นที่ผ่านและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเหล่านี้มีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกับชาวอิฟูเกาเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว ปัจจุบัน ภูมิภาคนี้เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนราว 100,000 คน และอยู่ห่างจากกรุงมะนิลาเมืองหลวงของประเทศเป็นระยะทางที่ต้องใช้เวลาขับรถหนึ่งวัน และยังคงมีหลายแง่มุมที่ยูเนสโกยกย่อง

การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้น

การเปลี่ยนแปลงขั้นรุนแรงกำลังเกิดขึ้น ศัตรูพืชชนิดใหม่รวมทั้งไส้เดือนยักษ์อินโดนีเซียกำลังก่อความเสียหายให้กับโครงสร้างของนาขั้นบันไดและทำให้พื้นที่บางส่วนพังทลาย
ในมาโยเยาซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่มีทัศนียภาพที่งดงามที่สุดของภูมิภาค เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกล่าวว่าตัวหนอนและหอยทากที่แต่เดิมถูกนำเข้ามาในพื้นที่เพื่อเป็นอาหารโปรตีน ขณะนี้กำลังเป็นภัยคุกคามต่อนาขั้นบันไดที่อันตรายที่สุด

นายโมลานิดา ผู้จัดการสถานที่มรดกโลกในฟิลิปปินส์อธิบายว่า การที่ชนเผ่าพื้นเมืองอิฟูเกาจำนวนมาก “ทอดทิ้งวัฒนธธรรมการปลูกข้าว” คือภัยคุกคามที่อันตรายที่สุดอย่างหนึ่งในภูมิภาคนี้ “ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจวัฒนธรรมการปลูกข้าวอีกต่อไปและย้ายไปอยู่ในเมืองหรือมีวิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ แล้วใครจะดูแลนาขั้นบันได”

การมองโลกในแง่ดีของชาวบ้าน

ในระหว่างการให้สัมภาษณ์อันยาวนานจากสำนักงานที่มองเห็นทิวทัศน์ของนาขั้นบันได นายจิมมี พัดชานัน รองนายกเทศมนตรีของมาโยเยายืนยันว่า บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ได้พยายามอย่างหนักและสามารถควบคุมการรุกล้ำของโลกสมัยใหม่ได้อย่างประสบผลสำเร็จ

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกสมัยใหม่นั้นส่งผลกระทบกับผลกับวัฒนธรรมของเรา” นายพัดชานันกล่าว “แต่มันก็ไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด เรามีการผสมผสานสังคมของคนรุ่นเก่ากับสังคมของคนรุ่นใหม่พร้อมกับดำรงไว้ซึ่งค่านิยมหลายอย่างของเรา”

นายพัดชานันกล่าวว่า ตนเชื่อมั่นว่านาขั้นบันไดและประเพณีโบราณจะสามารถรอดพ้นจากภัยคุกคามของศตวรรษที่ 21 (พ.ศ. 2544-2643) “นาขั้นบันไดในมาโยเยาจะเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น นาขั้นบันไดจะยังคงอยู่ตราบใดก็ตามที่มาโยเยายังอยู่ตรงนี้” นายพัดชานันกล่าว

นอกจากนี้ ชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นว่าตนมีสิทธิที่จะพัฒนาและใช้ชีวิตในสังคมแบบสมัยใหม่และไม่ควรต้องอาศัยอยู่ในชุมชนโบราณ นายมาริโอ ลาชาโอนา ผู้อาวุโสและชาวนาในมาโยเยาที่สวมใส่เครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมของชนเผ่าเข้าร่วมงานเทศกาลที่เพิ่งผ่านไปพูดถึงการรักษาประเพณีด้วยความกระตือรือร้น แต่ก็เตือนว่าอย่ามองวิถีชีวิตในช่วงเวลาเก่า ๆ ในแง่ที่สวยงามจนเกินไป

“เมื่อก่อนนั้น ชีวิตเป็นเรื่องยากมาก” นายลาชาโอนาซึ่งมีอายุราว 60 ปลาย ๆ กล่าว ผู้อาวุโสที่ยังคงแข็งแรงอยู่รายนี้มีลูกหกคนและหลาน 18 คน และได้เล่าว่าหลาน ๆ ของเขามีโภชนาการและการศึกษาดีกว่าคนรุ่นปู่มาก และมีโอกาสมากกว่าที่จะได้ทำงานอื่น ๆ นอกเหนือจากการเกษตรเพื่อการยังชีพ “ชีวิตในตอนนี้ง่ายขึ้นเยอะ” นายลาชาโอนากล่าว

การราดยางบนพื้นผิวถนนที่มีอยู่สายเดียวที่ตัดผ่านมาโยเยาซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าน่าจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นไปอีกในกลาย ๆ ด้าน นายพัดชานันกล่าวว่า ชาวบ้านมาโยเยามีแผนที่จะนำผักไปขายในเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ไกลออกไป เพื่อให้เป็นรายได้เสริมที่ดีสำหรับชาวนา

ในแต่ละปี มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพียงไม่กี่ร้อยคนมาเยือนพื้นที่นี้ และคาดว่าถนนราดยางจะทำให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นายโมลานิดากลัวว่าการพัฒนาเหล่านี้จะไม่มีการบริหารจัดการที่ดี “มันขึ้นอยู่กับประชาชนอิฟูเกาที่จะตัดสินใจว่าจะต่อสู้อย่างจริงจังกว่าเดิมเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมของตนและป้องกันการพัฒนาที่ไร้ระเบียบหรือไม่” นายโมลานิดากล่าว “มิฉะนั้น นาขั้นบันไดก็อาจจะกลายเป็นลานหญ้า”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button