เรื่องเด่น

การโจมตีระยะไกลในยุทธบริเวณอินโดเอเชียแปซิฟิก

กำลังอำนาจทางอากาศ การบังคับบัญชา การควบคุม การสื่อสารและข่าวกรอง ตลอดจนความเชื่อมั่นและการป้องปราม

พ.ท.เซธ สแปนเนียร์/กองทัพอากาศสหรัฐฯ 

ขีดความสามารถในการปฏิบัติการระยะไกลของเครื่องบินทิ้งระเบิดสหรัฐฯ เหมาะอย่างยิ่งกับความท้าทายในพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลที่มีลักษณะเฉพาะอย่างเช่นในภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิก เครื่องบินทิ้งระเบิดมีขีดความสามารถสำคัญที่ช่วยในการเตรียมความพร้อมและแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการป้องปราม สร้างความเชื่อมั่นให้กับชาติพันธมิตรและหุ้นส่วน และส่งเสริมขีดความสามารถทางทหารของชาติเหล่านี้

เครื่องบินทิ้งระเบิดช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค และสร้างความเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ จะสามารถปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติในภูมิภาคได้โดยอาศัยขีดความสามารถทางทหารของสหรัฐฯ เต็มรูปแบบ นับตั้งแต่การผนึกกำลังแบบพหุภาคีไปจนถึงการโจมตีด้วยอาวุธตามแบบแผนและการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์

ความเป็นมา 

นับตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งการบินทางทหาร ได้มีการพัฒนาอากาศยานโจมตีระยะไกลเพื่อหาวิธีเอาชนะ “อุปสรรคในเรื่องระยะทาง” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อากาศยาน เช่น B-29 ที่มีความสามารถในการบรรทุกน้ำหนักมากและมีระยะปฏิบัติการ 6,598 กิโลเมตร ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่แน่นอนในการปฏิบัติการ ฝูงบินทิ้งระเบิด B-29 ของหน่วยบัญชาการเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ 20 ทำให้ผู้บัญชาการฝ่ายพันธมิตรมีขีดความสามารถสำคัญในการรุกอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ฝูงบินทิ้งระเบิด B-29 ของหน่วยบัญชาการเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ 21 จากมาเรียนา (ไซปัน ไทเนียนและกวม) สามารถโจมตีได้ทุกเป้าหมายในยุทธบริเวณ การทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์บวกกับการทิ้งทุ่นระเบิดของ B-29 คือองค์ประกอบสำคัญยิ่งต่อการได้ชัยชนะของพันธมิตร

เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ B-6K ของกองทัพอากาศจีนบินเป็นรูปขบวนในระหว่างการฝึกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพิธีสวนสนามเนื่องในวันครบรอบ 70 ปีของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง [รอยเตอร์ ]
เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ B-6K ของกองทัพอากาศจีนบินเป็นรูปขบวนในระหว่างการฝึกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพิธีสวนสนามเนื่องในวันครบรอบ 70 ปีของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง [รอยเตอร์ ]
หลายสิบปีต่อมาในช่วงสงครามเวียดนาม การโจมตีระยะไกลกลายเป็นภารกิจใหญ่อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน เมื่อฝูงบิน B-52 ได้ออกปฏิบัติการถึง 26,615 เที่ยวบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทิ้งสรรพาวุธจำนวนมาก โดยบินออกจากฐานประจำการหลายแห่งรวมทั้งฐานที่อยู่ไกลอย่างกวม ปัจจุบัน ความก้าวหน้าในด้านระยะทาง การอำพรางตัวและความต่อเนื่องในการปฏิบัติการทำให้เครื่องบินทิ้งระเบิดที่ประจำการอยู่ในภาคพื้นทวีปสหรัฐฯ สามารถทำการป้องปรามได้ในระดับโลก

การปฏิบัติการในปัจจุบัน 

กองทัพอากาศสหรัฐฯ พร้อมด้วยกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก ยังคงขีดความสามารถในการโจมตีระดับโลกไว้ในภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา โดยมีการจัดส่งกองกำลังไปผลัดเปลี่ยนประจำการในพื้นที่ส่วนหน้าอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับดุลภาพทางทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ กองกำลังหล่านี้ได้รับการจัดส่งตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก

ภารกิจนี้ที่เรียกว่า ภารกิจการแสดงตนอย่างต่อเนื่องของเครื่องบินทิ้งระเบิดจากฐานปฏิบัติการในภาคพื้นทวีปสหรัฐฯ และกวม ซึ่งประกอบไปด้วยอากาศยาน B-1, B-2 และ B-52 ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของสหรัฐฯ ในการสู้รบและลดความเสี่ยงต่อกองกำลังในยุทธบริเวณ อากาศยานในภารกิจนี้เข้าร่วมการฝึกและการซ้อมรบอย่างสม่ำเสมอ พัฒนาและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรและความร่วมมือระหว่างกองทัพที่มีมายาวนาน และดำรงรักษาการเข้าถึงพื้นที่ส่วนรวมของโลกสำหรับทุกฝ่าย

เจ้าหน้าที่ของฝูงบินเตรียมความพร้อมด้านการส่งกำลังบำรุงที่ 5 ลำเลียงสิ่งของเข้าไปในอากาศยานที่ฐานทัพ อากาศไมน็อต รัฐนอร์ทดาโคตา ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 [จ.ท.บริตทานี วาย. ออลด์/กองทัพอากาศสหรัฐฯ]
เจ้าหน้าที่ของฝูงบินเตรียมความพร้อมด้านการส่งกำลังบำรุงที่ 5 ลำเลียงสิ่งของเข้าไปในอากาศยานที่ฐานทัพ
อากาศไมน็อต รัฐนอร์ทดาโคตา ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 [จ.ท.บริตทานี วาย. ออลด์/กองทัพอากาศสหรัฐฯ]
เครื่องบินทิ้งระเบิดในภารกิจการแสดงตนอย่างต่อเนื่องบินผ่านน่านฟ้าระหว่างประเทศทั่วทั้งภูมิภาคแปซิฟิกเป็นกิจวัตร รวมถึงพื้นที่ที่จีนประกาศว่าเป็นเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับ เที่ยวบินเหล่านี้มีความสอดคล้องกับนโยบายขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศที่มีมานานแล้วและเป็นแบบแผนอย่างเป็นปกติวิสัยของการปฏิบัติการทางอากาศทั่วโลก

จากช่องแคบมะละกาไปจนถึงทะเลเบริง และจากขั้วโลกเหนือไปจนถึงขั้วโลกใต้ เครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ทำให้ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิกมีขีดความสามารถในการสู้รบที่ไม่มีใครเทียบได้

การปฏิบัติการในอนาคตอันใกล้ 

ในวันนี้และในอนาคตอันใกล้ การปฏิบัติการโจมตีระยะไกลจะยังคงขยายตัวและพัฒนา เนื่องจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้พัฒนาความสามารถในการสนับสนุนผู้บัญชาการพลรบประจำภูมิภาคต่าง ๆ
ภารกิจการแสดงตนอย่างต่อเนื่องของเครื่องบินทิ้งระเบิดเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาทั้งการปฏิบัติการร่วมและการทำงานร่วมกันระหว่างพันธมิตร ภารกิจนี้ได้ผนวกอาวุธยุทโธปกรณ์หลายอย่างเข้าไว้ด้วยกันในยุทธบริเวณแปซิฟิก และทำให้พันธมิตรและหุ้นส่วนของเรามีขีดความสามารถที่สำคัญในการสู้รบกับผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นฝ่ายตรงข้าม แม้กระทั่งในสภาพแวดล้อมการปฏิบัติการที่มีการช่วงชิงพื้นที่และมีการลดทอนขีดความสามารถของกองกำลัง

ภารกิจการแสดงตนอย่างต่อเนื่องของเครื่องบินทิ้งระเบิดเป็นการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างเครื่องบินขับไล่และอากาศยานสนับสนุนของสหรัฐฯ และพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วยกองทัพอากาศออสเตรเลีย กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศแห่งประเทศญี่ปุ่น กองทัพอากาศสาธารณรัฐเกาหลี กองทัพอากาศนิวซีแลนด์ กองทัพอากาศมาเลเซีย กองทัพอากาศฟิลิปปินส์และอื่น ๆ

เพื่อเน้นให้เห็นถึงตัวอย่างที่เฉพาะเจาะจงในเรื่องความร่วมมือในระดับนานาชาติที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน ภารกิจการแสดงตนอย่างต่อเนื่องของเครื่องบินทิ้งระเบิดได้มีส่วนร่วมในการฝึกพิช แบล็ก และการฝึกตาลิสมัน เซเบอร์ ในออสเตรเลีย การฝึกคีน โซร์ด ใกล้กับญี่ปุ่น นิทรรศการกำลังทางเรือและอวกาศนานาชาติลังกาวีในมาเลเซีย การฝึกบาลิกาตันในฟิลิปปินส์ ตลอดจนการฝึกวาเลียนต์ ชีลด์ และการฝึกโคป นอร์ท ใกล้กับกวม และการฝึกริม ออฟ เดอะ แปซิฟิก หรือริมแพค ใกล้กับรัฐฮาวาย พันธมิตรและหุ้นส่วนของอเมริกาได้ตระหนักอย่างเต็มเปี่ยมถึงความสำคัญของการผนึกกำลังกันอย่างครบถ้วนของเครื่องบินทิ้งระเบิดในภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิก

ขีปนาวุธติดยานขับปล่อยจากอากาศ เอจีเอ็ม-86บี ถูกปล่อยออกจากอากาศยานสเตรตโตฟอร์เตรสส์ บี-52เอช เหนือพื้นที่ฝึกและทดสอบในรัฐยูทาห์ ในระหว่างเที่ยวบินปฏิบัติการตามโครงการประเมินระบบอาวุธนิวเคลียร์เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2557 [จ.ส.ต.รอยแดน คาร์ลสัน/กองทัพอากาศสหรัฐฯ]
ขีปนาวุธติดยานขับปล่อยจากอากาศ เอจีเอ็ม-86บี ถูกปล่อยออกจากอากาศยานสเตรตโตฟอร์เตรสส์ บี-52เอช เหนือพื้นที่ฝึกและทดสอบในรัฐยูทาห์ ในระหว่างเที่ยวบินปฏิบัติการตามโครงการประเมินระบบอาวุธนิวเคลียร์เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2557 [จ.ส.ต.รอยแดน คาร์ลสัน/กองทัพอากาศสหรัฐฯ]
น.อ. เคียร์ริลีย์ เดียริง นายทหารติดต่อจากกองทัพอากาศออสเตรเลียประจำกองทัพอากาศสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิกได้กล่าวไว้ว่า “ภารกิจของเครื่องบินทิ้งระเบิดที่เดินทางไปยังออสเตรเลียเมื่อเร็ว ๆ
นี้ เป็นกิจกรรมการฝึกและการซ้อมรบแบบผสมซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องที่มีมายาวนานและเป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา กิจกรรมเหล่านี้ทำให้คู่ฝึกสามารถเข้าถึงพื้นที่ทางตอนเหนือที่มีบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล และเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการฝึกร่วมกันในภารกิจการควบคุมทางอากาศแบบผสม และภารกิจการโจมตีทางบกและทางทะเลผ่านการเข้าร่วมการฝึกต่าง ๆ รวมถึงการฝึกตาลิสมัน เซเบอร์ กิจกรรมเหล่านี้ช่วยประสานการทำงานร่วมกันระหว่างกองกำลังของเราให้มีความมั่นคงแข็งแกร่ง” การมีโอกาสได้ฝึกร่วมกันระหว่างพันธมิตรและหุ้นส่วนจะช่วยพัฒนาทักษะของกองกำลังปฏิบัติการร่วมและเพิ่มพูนขีดความสามารถในการสู้รบ

บ่อยครั้งที่การแสดงตนอย่างต่อเนื่องของเครื่องบินทิ้งระเบิดที่เป็นภารกิจร่วม/ภารกิจระดับพหุภาคี ได้ช่วยพัฒนากลยุทธ์ใหม่สำหรับการสู้รบทางอากาศและทางทะเล/การเข้าถึงและการดำเนินกลยุทธ์ร่วมกันในพื้นที่ส่วนรวมของโลก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อความพยายามของกองกำลังผสมนานาชาติที่จะสกัดกั้นขีดความสามารถในการต่อต้านการเข้าถึงพื้นที่ และการปฏิเสธการใช้พื้นที่ของผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นฝ่ายตรงข้าม ในภารกิจต่าง ๆ ตั้งแต่เที่ยวบินปฏิบัติการเดียวไปจนถึงการฝึกของกองกำลังขนาดใหญ่ เครื่องบินทิ้งระเบิดในภารกิจนี้บรรลุผลสำเร็จในการผนึกกำลังกันอย่างครบถ้วนกับกองทัพเรือของสหรัฐฯ และของชาติพันธมิตรเพื่อสร้างกลยุทธ์ใหม่สำหรับการปฏิบัติการทางอากาศในการสงครามผิวน้ำ

ความกว้างใหญ่ไพศาลของภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิกและทรัพยากรหลากหลายประเภทที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในภูมิภาค ส่งผลให้มี “ห้องปฏิบัติการพัฒนากลยุทธ์” สำหรับกองกำลังพันธมิตรและกองกำลังผสมนานาชาติ ระยะทางที่ห่างไกลกันมากประกอบกับภารกิจการแสดงตนอย่างต่อเนื่องของเครื่องบินทิ้งระเบิดจะช่วยปรับปรุงองค์ประกอบในการบังคับบัญชา การควบคุม การสื่อสารและข่าวกรองอย่างต่อเนื่อง (ซี4ไอ) เพื่อให้ศูนย์ปฏิบัติการทางอากาศทำการควบคุมได้อย่างราบรื่นผ่านระบบสื่อสารทั่วโลกที่มั่นใจได้ในนามของผู้บัญชาการพลรบประจำภูมิภาค

ท้ายสุดนี้ ภารกิจการแสดงตนอย่างต่อเนื่องของเครื่องบินทิ้งระเบิดทำให้หน่วยเครื่องบินทิ้งระเบิดคุ้นเคยกับการเข้าออกฐานปฏิบัติการในต่างประเทศและการปฏิบัติการทั่วยุทธบริเวณในแปซิฟิก ภารกิจนี้ส่งเสริมการปรับดุลภาพทางทหารในภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิก ขยายการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตร และสร้างความร่วมมือใหม่ทั่วประชาคมนานาชาติ รวมถึงการเข้าสู่สถานที่และฐานปฏิบัติการใหม่ ๆ ทั่วภูมิภาค

การปฏิบัติการในระยะยาว

ภารกิจการแสดงตนอย่างต่อเนื่องของเครื่องบินทิ้งระเบิด จะยังคงอยู่ต่อไปอย่างมั่นคงในภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิกในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่สำคัญและยังมีปัจจัยที่บั่นทอนเสถียรภาพ นอกเหนือจากขีดความสามารถในการโจมตีด้วยอาวุธตามแบบแผนและอาวุธนิวเคลียร์อันน่าเกรงขามที่คุ้นเคยดีแล้ว ภารกิจนี้ยังมีทรัพยากรที่มีขีดความสามารถมากขึ้นทางด้านข่าวกรอง การตรวจการณ์และการลาดตระเวน (ไอเอสอาร์) เช่นเดียวกับองค์ประกอบซี4ไอ และสามารถปฏิบัติชุดภารกิจในรูปแบบใหม่ เช่น การค้นหาและกู้ภัย ซึ่งความทรหด ระบบตรวจจับสัญญาณ การสื่อสารในระยะพ้นสายตา และบรรดาสมาชิกลูกเรือที่ผ่านการฝึกมาเป็นอย่างดีจะสามารถใช้ความเชี่ยวชาญต่าง ๆ ในการช่วยชีวิตคนได้

ระบบตรวจจับสัญญาณในอนาคต อาทิ ระบบเรดาร์ตรวจจับสัญญาณด้วยอิเล็กทรอนิกส์แบบภาคส่งหรือภาครับ ระบบตรวจจับและชี้เป้าขั้นสูงชนิดอิเล็กโตร-ออปติคอล/อินฟาเรด และระบบเชื่อมโยงข้อมูลจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของเครื่องบินทิ้งระเบิดได้อย่างมหาศาลเพื่อผนึกกำลังกับพันธมิตรและหุ้นส่วนนานาชาติ อาวุธใหม่ ๆ เช่น ขีปนาวุธต่อต้านเรือผิวน้ำพิสัยไกล ขีปนาวุธพิสัยไกลจากอากาศสู่พื้นดินแบบเพิ่มระยะบิน และทุ่นระเบิดโจมตีเร็วแบบเพิ่มระยะทำให้หน่วยบัญชาการกำลังรบทางบกยังคงมีทางเลือกที่หลากหลาย การเข้าสู่ฐานปฏิบัติการในภูมิภาคของอากาศยานในภารกิจการแสดงตนอย่างต่อเนื่องของเครื่องบินทิ้งระเบิดจะเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคตเพื่อสร้างความยืดหยุ่นและขีดความสามารถอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากเครื่องบินทิ้งระเบิดยังคงทำงานร่วมกับหุ้นส่วนและพันธมิตร

สุดท้ายนี้ เครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีระยะไกลซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นต่อไปของกองทัพอากาศสหรัฐฯ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบโจมตีระยะไกลที่อีกไม่นานจะถูกรวมเข้าไว้ในแผนการป้องกันของภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิก อากาศยานดังกล่าวจะมีขีดความสามารถทางด้านข่าวกรอง การตรวจการณ์และการลาดตระเวน (ไอเอสอาร์) อันทนทานในระยะยาว และโจมตีทั้งเป้าหมายคงที่และเคลื่อนที่ในน่านฟ้าทุกแห่งของโลก และประกอบไปด้วยทรัพยากรไอเอสอาร์ การโจมตีอิเล็กทรอนิกส์ และองค์ประกอบในการบังคับบัญชา การควบคุม การสื่อสารและข่าวกรอง (ซี4ไอ)

ในที่สุด ความท้าทายด้านความมั่นคงอันซับซ้อนภายในภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิกจะลดลงบางส่วนด้วยการเสริมสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างพันธมิตรและหุ้นส่วนให้มีความแข็งแกร่งพร้อมกับสกัดกั้นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพและความมั่นคง แม้จะมีขีดความสามารถอันยิ่งใหญ่ แต่ภารกิจการแสดงตนอย่างต่อเนื่องของเครื่องบินทิ้งระเบิดก็เป็นทางเลือกย่อย ๆ ทางหนึ่งที่พันธมิตรและหุ้นส่วนสามารถนำขีดความสามารถทางการบินระยะไกลไปใช้ได้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางด้านการรักษาความมั่นคง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button