เรื่องเด่น

การสร้างขีดความสามารถ ในการป้องปราม

ความสัมพันธ์ที่มีเสถียรภาพระหว่างสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวัน

นายทอม แอบคี 

ไต้หวันมีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งทางทหารกับจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ที่ไต้หวันถือกำเนิดขึ้นในฐานะรัฐชาติในปี พ.ศ. 2492 หลังการประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในจีนแผ่นดินใหญ่ จีนมีเจตจำนงที่จะผนวกไต้หวันเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่มานานแล้ว การพัฒนาขีดความสามารถทางทหารของจีนมานานหลายทศวรรษ และการใช้กำลังต่อต้านความพยายามของไต้หวันที่ต้องการจะเป็นเอกราชอย่างเป็นทางการดังที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า จีนเตรียมการที่จะผนวกใต้หวันเข้ากับจีนแผ่นดินใหญ่โดยใช้กำลังทหาร

อย่างไรก็ตาม ข้อพิจารณาต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย รวมทั้งความทันสมัย ความน่าเกรงขาม และความสามารถในการอยู่รอดในสนามรบของกองทัพไต้หวันยังคงเป็นปัจจัยที่ยับยั้งความเคลื่อนไหวทางทหารของจีน และทำให้ความเชื่อมโยงระหว่างสองชาตินี้เป็นความสัมพันธ์ที่มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนมากที่สุดในโลก

“จีนต้องการที่จะรวมชาติ ขณะที่ไต้หวันต้องการที่จะดำรงความเป็นเอกราช” ดร.ดักลาส พาอัล รองประธานฝ่ายการศึกษาประจำมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศกล่าวในระหว่างการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ ฟอรัม “มันเป็นอย่างนี้มานานแล้ว มีการถกเถียงกันในไต้หวันว่าจะเลือกทางใด ระหว่างการดำรงความเป็นเอกราชอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ หรือดำเนินการขั้นต่อไปเพื่อให้ไต้หวันกลายเป็นประเทศอธิปไตยที่มีเอกราชอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยใช้ชื่อที่แตกต่างจากจีน และจีนได้ข่มขู่อยู่บ่อยครั้งว่าจะดำเนินการบางอย่างโดยไม่ได้ระบุว่าจะใช้วิธีการใด แต่สันนิษฐานว่าจะเป็นวิธีการทางทหารเพื่อยับยั้งไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น”

ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยไต้หวันเดินแถวในระหว่างพิธีจบการศึกษาร่วมระหว่างโรงเรียนนายร้อยกองทัพอากาศและกองทัพเรือที่เมืองเกาสง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของไต้หวัน เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 รอยเตอร์
ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยไต้หวันเดินแถวในระหว่างพิธีจบการศึกษาร่วมระหว่างโรงเรียนนายร้อยกองทัพอากาศและกองทัพเรือที่เมืองเกาสง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของไต้หวัน เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 รอยเตอร์

ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งที่มูลนิธีคาร์เนกี ดร.พาอัลได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถาบันอเมริกันในไต้หวันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ถึง 2549 ซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นมาแทนที่สถานทูตสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2522 หลังจากที่สหรัฐฯ กลับมาดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตตามปกติกับจีน

ภัยคุกคามทางอากาศที่เชื่อถือได้

จีนได้ขยายกำลังอย่างต่อเนื่องด้วยการเพิ่มทรัพยากรต่าง ๆ เช่น เครื่องบินขับไล่ไอพ่นที่ผลิตในรัสเซียและจีน ขีปนาวุธที่ยิงจากพื้นสู่อากาศ ขีปนาวุธติดยานขับ อุปกรณ์การสงครามอิเล็กทรอนิกส์แบบเคลื่อนที่ซึ่งรวมถึงอากาศยานไร้คนขับ และอาวุธโจมตีตอบโต้ที่มีความซับซ้อนอย่างขีปนาวุธนำวิถีต่อต้านรังสี การผนวกกำลังทางอากาศของกองทัพจีนทั้งหมดนี้สร้างความกังวลอันใหญ่หลวงให้กับไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไต้หวันมีกำลังที่ด้อยกว่าในเชิงปริมาณ

“การทำสงครามไม่ใช่เกมนับเลขธรรมดา ๆ” ดร.จิง ชาง นักวิจัยแห่งสมาคมยุทธศาสตร์ศึกษาในไต้หวันกล่าว “ฝ่ายที่มีกำลังหรือยุทโธปกรณ์เหนือกว่าอาจไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชนะเสมอไป อย่างเช่นกรณีของสหรัฐฯ กับเวียดนาม หรือการรุกรานอัฟกานิสถานโดยโซเวียตที่ปริมาณคือข้อได้เปรียบที่เอื้อประโยชน์แต่ไม่ใช่สิ่งที่รับประกันชัยชนะ และคุณภาพของอาวุธก็อาจจะไม่สามารถหักล้างความได้เปรียบเชิงปริมาณได้ทุกครั้ง”

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของไต้หวัน คุณภาพของกองกำลังไต้หวันคือข้อได้เปรียบอันเป็นที่ยอมรับ “ข้อได้เปรียบหลักที่ไต้หวันมีคือกองกำลังที่ทันสมัยกว่า” นายมาร์ก โคซาด นักวิเคราะห์งานวิจัยอาวุโสด้านการป้องกันจากสถาบันวิจัยแรนด์ คอร์เปอเรชันกล่าว เมื่อเทียบกันแล้วไม่ว่าจะในเรื่องความทันสมัยของระบบป้องกันทางยุทธศาสตร์หรือเครื่องบินขับไล่ ผลการวิเคราะห์ระบุว่าความทันสมัยของกองกำลังไต้หวัน “คือข้อได้เปรียบที่มีมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเผชิญกับภัยคุกคามทางอากาศจากจีน”

นายโคซาดยอมรับว่า ในแง่ของขนาดกองกำลังและอำนาจการยิง ไต้หวันจะมีกำลังที่ด้อยกว่าจีนมากหากความขัดแย้งทางทหารปะทุขึ้นอย่างเต็มขั้นระหว่างสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวัน แต่นายโคซาดกล่าวเพิ่มเติมว่า ความเสียหายที่จะเกิดกับจีนนั้นมีแนวโน้มว่าจะสูงมากเกินไปหากจีนพยายามที่จะเอาชนะไต้หวันให้ได้ในความขัดแย้งดังกล่าวที่มีเป้าหมายคือการรวมชาติ อย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้

“วิธีที่อาจต้านทานภัยคุกคามจากจีนได้นั้น ผมมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องพิจารณาคือความสามารถในการอยู่รอดในสนามรบ” นายโคซาดกล่าวและอธิบายเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่ความสามารถในการเอาชนะจีนให้ได้ในยุทธบริเวณ แต่เป็นความสามารถในการอยู่รอดในสนามรบในระดับที่พอเพียงของกองกำลังไต้หวันที่อาจเพียงพอที่จะสามารถยับยั้งจีนไม่ให้ใช้วิธีการทางทหารเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองในเรื่องการรวมชาติ

การดำรงความสามารถในการอยู่รอดในสนามรบ

นายโคซาดได้ระบุองค์ประกอบต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการดำรงความสามารถในการอยู่รอดในสนามรบ ได้แก่ ระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบเคลื่อนที่ ฐานปฏิบัติการใต้ดิน ควันสำหรับการซ่อนพราง ชุดแผนลวงทั้งทางกายภาพและทางอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์อื่น ๆ นายโคซาดยังได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ “ทำให้ข้าศึกตรวจพบเป้าหมายได้ยาก” ตลอดจนการประเมินความเสียหายจากการสู้รบที่ไม่ชัดเจนเพื่อ “เพิ่มระดับความไม่แน่นอน” เป็นหลัก

“ถ้าคุณพิจารณาวรรณกรรมทางยุทธศาสตร์ของจีน คุณจะพบว่าจีนค่อนข้างมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมในการวางแผน” นายโคซาดกล่าว “ดังนั้น ความไม่แน่นอนอาจเป็นสิ่งที่จีนรับมือได้ยากลำบากยิ่ง”

กำลังพลของกองทัพไต้หวันเคลื่อนกำลังขึ้นเฮลิคอปเตอร์ชีนุก ซีเอช-47เอสดี ในระหว่างการฝึกทางทหารที่ฐานปฏิบัติการกองทัพบกในเมืองซินชู ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของไต้หวัน เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 รอยเตอร์
กำลังพลของกองทัพไต้หวันเคลื่อนกำลังขึ้นเฮลิคอปเตอร์ชีนุก ซีเอช-47เอสดี ในระหว่างการฝึกทางทหารที่ฐานปฏิบัติการกองทัพบกในเมืองซินชู ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของไต้หวัน เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 รอยเตอร์

นายโคซาดยืนยันว่า กระบวนการต่าง ๆ ที่ไต้หวันใช้ในการปกป้องกองกำลังและเพิ่มพูนความสามารถในการอยู่รอดในสนามรบตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งอันยาวนานคือเครื่องยับยั้งที่แท้จริงที่ช่วยป้องกันการบุกรุกของจีน สิ่งเหล่านี้ประกอบด้วยระบบฐานปฏิบัติการใต้ดินที่มีความซับซ้อน ได้แก่ ศูนย์บัญชาการทหารสามเหล่าทัพเฮงชานที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันภัยจากขีปนาวุธติดยานขับของจีน ศูนย์ปฏิบัติการทางอากาศที่ชื่อ “โทดเมาน์เทน” ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อกำกับดูแลเครือข่ายป้องกันภัยทางอากาศและขีปนาวุธของไต้หวัน ฐานปฏิบัติการ เอฟ-16 ที่เมืองเจียอี้ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขาทั้งหมด และฐานปฏิบัติการสำรองทางชายฝั่งตะวันออกของไต้หวันที่อยู่ในภูเขาเจียชาน หรือที่เรียกว่า “อ็อปติมอล เมาน์เทน”

ดร.พาอัลเห็นด้วยกับนายโคซาดในเรื่องความสำคัญของการอยู่รอดในสนามรบ “นี่คือสิ่งสำคัญสูงสุดและได้มีการดำเนินการไปแล้ว” ดร. พาอัลกล่าว “พล.ร.อ.เฉิน หยงกัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมมีส่วนร่วมในเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ไต้หวันดำเนินการอย่างจริงจังยิ่งในความพยายามที่จะเรียนรู้เรื่องการใช้ทางหลวงเป็นทางวิ่งเครื่องบินในกรณีที่ทางวิ่งเครื่องบินถูกระเบิดทำลาย และเรียนรู้เรื่องการซ่อมแซมทางวิ่งเครื่องบินเมื่อได้รับความเสียหายเพื่อจะสามารถใช้เครื่องบินได้ต่อไป”

หากภูเขาที่เป็นที่ตั้งของฐานปฏิบัติการ เอฟ-16 ที่เมืองเจียอี้ถูกโจมตี “ฐานปฏิบัติการดังกล่าวน่าจะอยู่รอดได้ และเมื่ออากาศยานบินออกมาก็จะเผชิญกับภัยคุกคามอื่น ๆ อาทิ ขีปนาวุธที่ยิงจากพื้นสู่อากาศ” ดร.พาอัลกล่าว “ไต้หวันกำลังจัดหาระบบป้องกันภัยขีปนาวุธ ซึ่งอาจไม่แข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับความท้าทายจากจีน แต่แน่นอนว่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่ทำให้จีนต้องเพิ่มความพยายามมากขึ้นในการคุกคามไต้หวัน”

ดร.ชางมองว่าหากจีนโจมตีไต้หวันด้วยวิธีการทางทหาร ความเสียหายที่เกิดกับจีนจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่การสูญเสียในการสู้รบเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสูญเสียผลประโยชน์ทางการค้าในระดับโลก “ความขัดแย้งใด ๆ ก็ตาม หรือแม้กระทั่งความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างช่องแคบไต้หวันอาจก่อผลกระทบต่อตลาดโลกทั้งทางกายภาพและทางด้านจิตวิทยา” ดร.ชางกล่าว “เนื่องจากรัฐบาลไต้หวันและรัฐบาลจีนต่างมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานสินค้าต่าง ๆ ระหว่างประเทศ”

แนวโน้มที่จีนจะสูญเสียผลประโยชน์ทางการค้าตามที่คาดการณ์ไว้นี้ไม่เพียงแต่จะทำให้จีนยังยั้งการใช้วิธีการทางทหารเพื่อรวมชาติเท่านั้น แต่ยังทำให้จีนหันไปใช้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตกับไต้หวันเป็นรากฐานกลยุทธ์ใหม่ในการรวมชาติ

“เป้าหมายหลักของจีนคือการรวมชาติ และมีอยู่หลายวิธีที่จะจะสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้” นายโคซาดระบุ “นับตั้งแต่นายหม่า อิงจิ่ว ประธานาธิบดีไต้หวันและพรรคก๊กมินตั๋งของเขาได้รับเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2551 ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและจีนส่วนใหญ่จะดีขึ้น ทั้งสองฝ่ายพยายามเพิ่มระดับความสัมพันธ์ทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในสิ่งที่ประชาชนไต้หวันโดยรวมยินดีที่จะยอมรับ”

ผลกระทบทางการเมือง

แนวคิดที่ไม่ยอมรับการรวมชาติที่เพิ่มระดับขึ้น รวมถึงความกังวลที่ก่อตัวขึ้นในเรื่องผลกระทบของการรวมชาติที่ประชาชนรับทราบจากผลสะท้อนเชิงลบของชาวฮ่องกงหลังถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจีน อาจส่งผลให้พรรคก้าวหน้าประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในขณะนี้กลับมามีอำนาจ การที่พรรคก้าวหน้าประชาธิปไตยสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องเอกราชให้กับไต้หวันโดยต้องการให้ไต้หวันเป็นประเทศอธิปไตยที่เป็นอิสระจากจีนอย่างแท้จริง อาจก่อให้เกิดวิกฤติระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อสิบปีก่อนเมื่อไต้หวันทำประชามติถึงสองครั้งเพื่อยืนยันความเป็นเอกราชจากจีน

การประกาศเอกราชคือการกระทำหนึ่งที่ ดร.ชางมองว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้จีนใช้วิธีการทางทหารในการแทรกแซงไต้หวัน “การแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางทหารมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐบาลไต้หวันเรียกร้องความเป็นเอกราชทางการเมืองตามกฎหมายอย่างเป็นทางการ” ดร.ชางกล่าว “การเปลี่ยนชื่อจากสาธารณรัฐจีนไปใช้ชื่ออื่น เช่น สาธารณรัฐไต้หวันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างแน่นอน ความพยายามในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อการเป็นเอกราชโดยพฤตินัยก็อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม การกล่าวหารัฐบาลไต้หวันว่ามีมีพฤติกรรมถ่วงเวลาเพื่อให้กระบวนการรวมชาติเกิดความล่าช้าเพื่อเป็นข้ออ้างที่จีนจะดำเนินการปฏิบัติการทางทหารกับไต้หวัน ก็ไม่น่าจะเป็นจะเป็นวิธีที่จีนเลือกใช้

นายโคซาดระบุว่า การแทรกแซงทางทหารของจีนที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ การปิดกั้นเส้นทางเดินเรือของไต้หวันเพื่อแยกไต้หวันออกจากส่วนอื่น ๆ ของโลก

การเสริมสร้างการป้องกัน

คำถามต่อแนวโน้มที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องว่าจีนอาจใช้กำลังหรือการคุกคาม จะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ไต้หวันเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศที่รวมถึงเครื่องบินขับไล่ขั้นสูงอย่างเอฟ-35 ของสหรัฐฯ ดังที่บางคนเรียกร้องให้ทำหรือไม่นั้น ดร.พาอัลมองว่ามีวิธีการต่าง ๆ ที่คุ้มค่ากว่านี้ในการเสริมสร้างการป้องกันของไต้หวัน “ในปี พ.ศ. 2535 ผมมีส่วนร่วมอย่างมากในการขายเอฟ-16 ให้กับไต้หวัน” ดร. พาอัลกล่าว “เพราะในเวลานั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนมีศักยภาพที่สามารถหักล้างขีดความสามารถของไต้หวันในการต้านทานจีน”

ดร. พาอัลยืนยันว่า ตั้งแต่นั้นมา เวลาและเงื่อนไขต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไป “การสู้รบระหว่างเครื่องบินขับไล่ของไต้หวันหากไต้หวันมีเครื่องบินขับไล่ดังกล่าว และขีดความสามารถในการยิงต่อสู้อากาศยานของจีนในขณะนี้มีอัตราการสูญเสียที่สูงมาก จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการเพิ่มจำนวนเครื่องบินขับไล่จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการใช้งบประมาณของไต้หวันหรือไม่ หรือจะดีกว่าถ้าไต้หวันมุ่งเน้นการใช้งบประมาณในการจัดหาเรือลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็วและเฮลิคอปเตอร์ ตลอดจนขีปนาวุธแพทริออตสำหรับต่อต้านขีปนาวุธที่ยิงจากพื้นสู่อากาศ และขีดความสามารถอื่น ๆ ในการต่อต้านขีปนาวุธ เพราะการจัดหาอากาศยานลำหนึ่งมาใช้งานต้องใช้งบประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 5.38 พันล้านบาท) หรือตามราคาของวัตถุนั้น ๆ แต่การจัดหาขีปนาวุธจำนวนหนึ่งมาใช้ต่อต้านขีปนาวุธของจีนมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ามาก”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button