ติดอันดับ

การศึกษาเตือนว่า การแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์ในอินโดเอเชียแปซิฟิกอาจทำให้เกิดการขาดเสถียรภาพมากขึ้น

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

หากประเทศจำนวนมากขึ้นได้มาซึ่งคลังสรรพาวุธนิวเคลียร์ของตนและแผ่ขยายมันออกไป โลกอาจกลายเป็นสถานที่ที่ขาดเสถียรภาพมากขึ้น ตามที่ระบุในหนังสือเล่มใหม่โดยนายเฮนรี ดี. โซโคลสกี ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์การศึกษานโยบายการป้องกันการเผยแพร่อาวุธและอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม มุมมองของนายโซโคลสกีขัดแย้งกับความคิดเห็นที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย แม้ว่าผู้กำหนดนโยบายและผู้เชี่ยวชาญการป้องกันการเผยแพร่นิวเคลียร์ส่วนใหญ่มองว่า โลกเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยกว่าเดิมเนื่องจากความคืบหน้าของสหรัฐอเมริกาและรัสเซียในการลดคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของตน แต่นายโซโคลสกีเขียนว่า ประเทศจำนวนมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในอินโดเอเชียแปซิฟิกได้มาซึ่งขีดความสามารถดังกล่าว “การแข่งขันด้านยุทธศาสตร์ทางทหารในทศวรรษหน้าจะมีแนวโน้มที่ไม่มีประเทศใดในโลกเคยพบเห็น” หนังสือของนายโซโคลสกีชื่อว่า การประเมินค่าต่ำเกินไป: อนาคตด้านนิวเคลียร์ของเราที่ไม่มีสันติภาพเท่าใดนัก ได้รับการเผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 โดย ยู.เอส.อาร์มี วอร์ คอลเลจ เพรส

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้โต้แย้งว่า การป้องปรามจะเกิดโดย “อัตโนมัติ” เนื่องจากประเทศต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นได้มาหรือแผ่ขยายคลังสรรพาวุธนิวเคลียร์และพลังงานต่าง ๆ ที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ที่มีอยู่ได้จัดซื้อโรงงานนิวเคลียร์สำหรับพลังงานและกิจกรรมเพื่อ “สันติภาพ” อื่น ๆ แต่จากการที่จีน อินเดีย และปากีสถานยังคงแผ่ขยายและพัฒนาขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ของตนให้ทันสมัย และการใช้วัสดุอุปกรณ์ระดับขั้นอาวุธสำหรับพลังงานนิวเคลียร์ยังคงแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง นายโซโคลสกีเขียน “การแข่งขันด้านอาวุธในครั้งต่อไปจะดำเนินการโดยคู่แข่งจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยขีดความสามารถด้านยุทธศาสตร์ทำลายล้างสูงซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันและมีขีดความสามารถในการขยายวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าช่วงเวลาใดที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์”

นายโซโคลสกีระบุว่า “ประเทศที่อาจมีอาวุธนิวเคลียร์ในระยะใกล้หรือกลาง” ได้แก่ อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และแอลจีเรีย ด้วยเหตุผลเหล่านี้ นายโซโคลสกียืนยันว่า “การป้องปรามอาวุธนิวเคลียร์จะยากลำบากยิ่งขึ้น โดยจะมีปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากอย่างน่าประหลาดใจเพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา”

“แนวโน้มเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความวุ่นวาย ส่วนจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน และประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ จัดการกับปัญหาเหล่านั้นได้ดีเพียงใด” นายโซโคลสกีเขียน

นายแอนดรูว์ ดับเบิลยู. มาร์แชล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานการประเมินสุทธิของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เขียนคำนำในหนังสือว่า “มีการสนทนาเล็กน้อยเกี่ยวกับภาวะเสี่ยงสูงของอาวุธ ระบบการส่งมอบ ระบบศูนย์กลางและการบังคับบัญชา และอื่น ๆ การมีขีดความสามารถในการป้องกันการโจมตีครั้งที่สองเป็นอย่างดีในประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นไปโดยอัตโนมัติ เนื่องจากต้องใช้เวลาและความพยายาม การฝึกปฏิบัติการที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น”

จีนเป็นประเทศที่น่าหนักใจอย่างยิ่ง โดยต้นปี พ.ศ. 2563 จีนจะมีขีดความสามารถในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์มากกว่า 500 ชิ้นต่อปี และยังคงพัฒนาคลังแสงสรรพาวุธนิวเคลียร์ให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง นายโซโคลสกีระบุ ในปัจจุบัน รัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์ในเชิงยุทธศาสตร์และเชิงยุทธวิธี 3,600 ชิ้น และสหรัฐฯ มี 2,130 ชิ้น จีนมีน้อยกว่า 900 ชิ้น ในขณะที่อินเดีย ปากีสถาน อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิสราเอลมีอาวุธดังกล่าวอยู่ระหว่าง 100 ถึง 400 ชิ้นในแต่ละประเทศตามการประมาณการของนายโซโคลสกี โดยอย่างน้อย 24 ประเทศมีระบบขีปนาวุธที่สามารถปล่อยหัวรบนิวเคลียร์

ในหนังสือของนายโซโคลสกีได้ให้ข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้เพื่อจัดการกับแนวโน้มดังกล่าว ได้แก่

  • ทำให้กระจ่างถึงขีดความสามารถทางทหารในเชิงยุทธศาสตร์ของจีน และสนับสนุนการป้องกันการเผยแพร่อาวุธและมาตรการควบคุมอาวุธซึ่งจำกัดการเผยแพร่อาวุธด้านยุทธศาสตร์ในเอเชีย

“ในเมื่อจุดศูนย์ถ่วงทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ของโลกกำลังเปลี่ยนไปสู่เอเชีย เราจึงควรปรับความพยายามในการควบคุมอาวุธของเราให้มีความเกี่ยวเนื่องกับภูมิภาคนี้มากขึ้น” นายโซโคลสกีเขียน

  • สนับสนุนให้ประเทศที่จัดหานิวเคลียร์ตั้งเงื่อนไขการส่งออกสำหรับโรงงานนิวเคลียร์ของพลเรือนให้ผู้ซื้อสาบานว่าจะไม่นำเชื้อเพลิงเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และยูเรเนียมเสริมสมรรถนะที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ และกดดันทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศให้จริงจังมากขึ้นกับสิ่งที่ตนมีอำนาจป้องกันได้

นายโซโคลสกีสงสัยว่า การแสวงหาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อ “สันติภาพ” ของอิหร่านสามารถเป็นแม่แบบสำหรับประเทศอื่น ๆ เช่น ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี อียิปต์ และแอลจีเรียได้หรือไม่ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีแผนงานที่จะสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ภายในปี พ.ศ. 2578

  • คาดการณ์และยับยั้งการพัฒนาการเผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์ก่อนที่ขีดจำกัดที่ได้กำหนดไว้จะถูกละเมิดอย่างชัดเจน

“พฤติกรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรติดปฏิบัติมาจากช่วงสงครามเย็นคือการรอให้ได้มาซึ่งหลักฐานบ่งชี้ถึงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของต่างชาติที่ไม่พึงปรารถนาอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ก่อนที่จะมีการลงมือจัดการ พฤติกรรมนี้ต้องเปลี่ยน”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button