ติดอันดับ

สิงคโปร์มองว่านักรบอิสลามหัวรุนแรงเป็น “ภัยอันตรายที่ชัดเจนในปัจจุบัน” สำหรับเอเชีย

รอยเตอร์

สิงคโปร์มองเห็น “ภัยอันตรายที่ชัดเจนในปัจจุบัน” ต่อเอเชียจากนักรบอิสลามหัวรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการคุกคามของกลุ่มต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันภายหลังคำสัตย์ปฏิญาณต่อรัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์ นายเอิง เอ็ง เฮ็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ กล่าวเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558

หนึ่งวันภายหลังการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางทหารกับสหรัฐอเมริกาซึ่งครอบคลุมถึงปัญหานักรบหัวรุนแรงข้ามชาติ นายเอิงกล่าวว่า การแบ่งปันข่าวกรองเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการกับปัญหานี้

“เราเห็นภัยคุกคามของการก่อการร้ายจากกลุ่มหัวรุนแรงว่าเป็นภัยอันตรายที่ชัดเจนในปัจจุบันสำหรับภูมิภาคของเรา” นายเอิงกล่าวในงานสัมมนาที่กรุงวอชิงตัน

นายเอิงกล่าวว่า อินโดนีเซียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของสิงคโปร์ได้รายงานว่า พลเมืองมากกว่า 500 คนของอินโดนีเซียได้ไปต่อสู่ในซีเรียและอิรัก และพลเมืองมากถึง 150 คนรวมถึงบางส่วนจากกองทัพได้เดินทางออกจากมาเลเซีย และอีกจำนวนเล็กน้อยได้เดินทางออกจากสิงคโปร์

นายเอิงกล่าวว่ารัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์มีผู้ฝักใฝ่ “พวกเขามีนักรบต่างชาติซึ่งได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี มีแรงจูงใจ มีความสามารถและมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ดังนั้น เราจึงมองภัยคุกคามนี้ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก” นายเอิงกล่าว

นายเอิงกล่าวว่า สมาชิกของเจมาห์ อิสลามิยาห์ และกลุ่มเครือข่ายอัลกออิดะห์ซึ่งวางแผนการโจมตีด้วยระเบิดในสิงคโปร์เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2000 (พ.ศ. 2543 – 2553) ได้ให้คำสัตย์ปฏิญาณต่อรัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์ เช่นเดียวกับกลุ่มอาบูไซยาฟในฟิลิปปินส์

“ผู้ก่อการร้ายจำนวนมากที่ถูกจับกุมซึ่งเป็นสมาชิกและทำงานให้กับเจมาห์ อิสลามิยาห์ในขณะนั้นยังคงมีอยู่และกำลังจะได้รับการปล่อยจากที่คุมขัง และพวกนี้ได้ทำการเชื่อมโยงกับกลุ่มต่าง ๆ ของเจมาห์ อิสลามิยาห์แล้ว” นายเอิงกล่าว “ดังนั้น อันตรายก็คือการเชื่อมโยงอย่างเป็นทางการของกลุ่มต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายกันอยู่เหล่านี้จะกลายเป็นกำลังพลที่จะคุกคามความมั่นคงและสวัสดิภาพของเรา”

นายไมเคิล คีแนน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมออสเตรเลียกล่าวในสิงคโปร์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 ว่า ออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องใช้ความพยายามเพิ่มเป็นทวีคูณในการแบ่งปันข่าวกรอง และตรวจสอบให้แน่ใจว่าการโจมตีในรูปแบบที่เกิดขึ้นในกรุงปารีสจะไม่สามารถเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งในภูมิภาค

ในปี พ.ศ. 2557 รัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์ได้เข้าครอบครองพื้นที่บางส่วนของซีเรียและอิรักและประกาศการสร้างรัฐเคาะลีฟะฮ์ หรือรัฐที่ปกครองโดยการตีความซึ่งยึดมั่นในหลักการของอิสลาม นับแต่นั้น กลุ่มดังกล่าวได้อ้างความรับผิดชอบในเหตุการณ์รุนแรงนอกพื้นที่ครอบครองของตน รวมถึงการโจมตีที่ร้ายแรงในกรุงปารีสซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 130 รายเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button