ติดอันดับ

สหรัฐฯ อนุมัติการขายอาวุธ 1.83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาท) ให้กับไต้หวัน

รอยเตอร์

ฝ่ายบริหารของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แจ้งแก่รัฐสภาอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับแพ็คเกจการขายอาวุธมูลค่า 1.83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาท) ให้กับไต้หวัน ซึ่งประกอบด้วยเรือรบขนาดกลางสองลำ ขีปนาวุธต่อต้านรถถัง ยานโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก และยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ซึ่งทำให้เกิดการตอบโต้อย่างโกรธเคืองจากจีน

การอนุญาตการขายอาวุธดังกล่าวเกิดขึ้นหนึ่งปีภายหลังรัฐสภาออกกฎหมายอนุมัติการขาย โดยเป็นการขายอาวุธครั้งใหญ่ครั้งแรกให้กับไต้หวันในช่วงระยะเวลามากกว่า 4 ปี

ทำเนียบขาวกล่าวว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในนโยบาย “จีนเดียว” ที่มีมาอย่างยาวนานของสหรัฐฯ การขายอาวุธของสหรัฐฯ ให้กับไต้หวันในอดีตเป็นชนวนให้เกิดการประณามอย่างแข็งกร้าวจากจีนซึ่งถือว่าไต้หวันเป็นเพียง “มณฑล” หนึ่งที่ทรยศ

ทำเนียบขาวกล่าวว่า การอนุมัติการขายอาวุธดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการประกาศการขายครั้งก่อนหน้าโดยฝ่ายบริหาร โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 4.2 แสนล้านบาท) ภายใต้กฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ไต้หวัน

“นโยบายอันยาวนานของเราเกี่ยวกับการขายอาวุธให้กับไต้หวันเป็นไปอย่างสอดคล้องกับฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ที่ผ่านมาถึงหกสมัย” นายไมล์ส แคกกินส์ โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติกล่าว “เรายังคงยึดมั่นต่อนโยบายจีนเดียวของเรา” นายแคกกินส์กล่าวเพิ่มเติม

แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่ยอมรับไต้หวันในฐานะรัฐที่แยกตัวเป็นอิสระจากจีน แต่สหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นภายใต้กฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ไต้หวันเพื่อความแน่ใจว่า รัฐบาลไต้หวันสามารถคงไว้ซึ่งการป้องกันประเทศที่น่าเชื่อถือ

การขายอาวุธดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีนในเรื่องทะเลจีนใต้ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ วิจารณ์การก่อสร้างเกาะเทียมของจีนเพื่อยืนยันการอ้างสิทธิอาณาเขตแผ่ขยาย

จีนเรียกตัวนายเคย์ ลี อุปทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงปักกิ่งเพื่อคัดค้านและกล่าวว่า จีนจะกำหนดให้มีการคว่ำบาตรบริษัทต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สำนักข่าวซินหัวซึ่งเป็นสำนักข่าวของรัฐรายงาน

“ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตของจีนที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ จีนไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับการขายอาวุธของสหรัฐฯ ให้กับไต้หวัน” ซินหัวระบุว่าเป็นคำกล่าวของนายเชง ซีกวง รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศซึ่งเป็นผู้เรียกตัวนายลีเข้าพบ

นายเชงกล่าวว่า การขายอาวุธดังกล่าวขัดต่อกฎหมายและบรรทัดฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และก่อให้เกิดความเสียหาย “อย่างร้ายแรง” ต่ออำนาจอธิปไตยและความมั่นคงของจีน

“เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ จีนได้ตัดสินใจที่จะดำเนินมาตรการที่จำเป็น รวมถึงการกำหนดให้มีการคว่ำบาตรบริษัทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขายอาวุธครั้งนี้” นายเชงกล่าว

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า บริษัทเรย์ธีออน และ ล็อคฮีดมาร์ติน เป็นผู้ทำสัญญาหลักของการขายนี้

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าอาจมีการคว่ำบาตรอะไรกับบริษัทดังกล่าว แม้ว่าในปี พ.ศ. 2556 ล็อคฮีดมาร์ตินได้ทำสัญญากับกลุ่มเรนวูดซึ่งมีฐานในประเทศไทยในการสร้างโรงงานนอกชายฝั่งเพื่อจ่ายพลังงานสำหรับรีสอร์ทหรูบนเกาะไห่หนานทางตอนใต้ของจีน

“บริษัทสหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนร่วมในการขายอาวุธให้กับไต้หวันได้ทำความเสียหายอย่างร้ายแรงต่ออำนาจอธิปไตยและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีน” นายฮอง เล โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าว

“รัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ ของจีนจะไม่ดำเนินความร่วมมือและข้อตกลงในเชิงพาณิชย์กับบริษัทประเภทนี้”

อย่างไรก็ตาม จีนไม่ได้ปฏิบัติตามคำขู่การคว่ำบาตรในครั้งก่อนหน้า

กระทรวงกลาโหมจีนกล่าวว่า การขายอาวุธดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ด้านการทหารอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ไม่ได้กล่าวอธิบายเพิ่มเติม

กระทรวงกลาโหมไต้หวันกล่าวว่า อาวุธใหม่จะค่อย ๆ ส่งมอบในอีกหลายปีถัดไป และจะทำให้ไต้หวันรักษาและพัฒนาการป้องกันประเทศที่น่าเชื่อถือ

นายจอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า การตัดสินใจดังกล่าวตั้งอยู่บนความจำเป็นทางทหารของไต้หวันเพียงเท่านั้น

“จีนสามารถตอบโต้ในเรื่องนี้ตามที่เห็นสมควร” นายเคอร์บีกล่าว “นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีผลกระทบที่เสียหายต่อความสัมพันธ์ของเรากับจีน”

นายเคอร์บีกล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการดำเนินการเพื่อสร้าง “ความสัมพันธ์ที่ดีกว่า โปร่งใสกว่า และมีประสิทธิภาพมากขึ้น” กับจีนในภูมิภาคนี้ และได้ติดต่อกับทั้งไต้หวันและจีนในเรื่องนี้

นายเดวิด แมคคีบี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อีกคนหนึ่งกล่าวว่า แพ็คเกจอาวุธดังกล่าวประกอบด้วย เรือรบขนาดกลางมีขีปนาวุธนำทางขั้นเพอร์รีสองลำ ขีปนาวุธต่อต้านรถถังเจฟลินมูลค่า 57 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1,995 ล้านบาท) ผลิตโดยบริษัทเรย์ธีออนและล็อคฮีดมาร์ติน ขีปนาวุธต่อต้านรถถังโทว์ 2บี มูลค่า 268 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 9,380 ล้านบาท) ขีปนาวุธยิงจากพื้นสู่อากาศสติงเจอร์มูลค่า 217 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 7,595 ล้านบาท) ผลิตโดยบริษัทเรย์ธีออน และยานโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกเอเอวี-7 มูลค่า 375 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท)

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า เรือรบขนาดกลางได้รับการเสนอเป็นรายการส่วนเกินที่ราคา 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 6,650 ล้านบาท) แพ็คเกจดังกล่าวยังรวมถึงปืน อุปกรณ์เสริม เครื่องกระสุนปืน และการสนับสนุนสำหรับระบบป้องกันระยะประชิดของเรย์ธีออน รวมเป็นมูลค่า 416 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.45 หมื่นล้านบาท)

นักวิเคราะห์และแหล่งข่าวของรัฐสภาเชื่อว่า ความล่าช้าในการอนุมัติการขายอาวุธอย่างเป็นทางการเป็นความประสงค์ของฝ่ายบริหารของนายโอบามาที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่มีเสถียรภาพกับจีน ซึ่งเป็นคู่ต่อสู้ทางยุทธศาสตร์ที่มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งในฐานะประเทศที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button