ติดอันดับ

การแสดงตนอย่างต่อเนื่องของเครื่องบินทิ้งระเบิดสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อความมั่นคงในภูมิภาค

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

สหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิกด้วยวิธีการมากมาย การป้องปรามและการให้ความเชื่อมั่นเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการดำเนินการที่สหรัฐฯ แสดงให้เห็น กองทัพอากาศสหรัฐฯ ยังคงรักษาความเด่นชัดในด่านหน้าอย่างสม่ำเสมอโดยการแสดงตนอย่างต่อเนื่องของเครื่องบินทิ้งระเบิด

ฐานทัพของการแสดงตนอย่างต่อเนื่องของเครื่องบินทิ้งระเบิดในทวีปอเมริกาและบนเกาะกวมช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรบโดยการแสดงให้เห็นถึงกองกำลังทหารอย่างถาวร พ.ต.เซธ สแปเนียร์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการเครื่องบินทิ้งระเบิดในกองทัพอากาศแปซิฟิกอธิบายแก่ ฟอรัม ซึ่งอากาศยานที่มี ได้แก่ เครื่องบิน บี-1, บี-2 และบี-52 โดยบี-2 สปิริต และบี-52 สตราโตฟอร์เทรสเป็นเครื่องบินที่สามารถติดอาวุธนิวเคลียร์ได้

ตัวอย่างเช่น ในการตอบโต้ต่อข้อกล่าวอ้างที่ยั่วยุของเกาหลีเหนือเมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้นำเครื่องบินบี-52 จากฐานทัพอากาศแอนเดอร์สันบนเกาะกวมบินเหนือฐานทัพอากาศโอซานในเกาหลีใต้ จากการรายงานของเว็บไซต์ theaviationist.com ซึ่งเครื่องบิน เอฟ-15เค สแลมอีเกิลของสาธารณรัฐเกาหลี และ เอฟ-16 ไฟท์ติ้ง ฟอลคอนของสหรัฐฯ ก็บินผ่านฐานทัพดังกล่าวด้วยเช่นกัน

การแสดงการบินเหนือพื้นดินในระดับต่ำแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ในการโต้ตอบต่อการคุกคามใด ๆ ในทุกเวลา พล.อ.เคอร์ทิส เอ็ม. สคาพารอตติ ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ในเกาหลีกล่าวแก่เว็บไซต์ theaviationist.com

“เครื่องบินบี-52 เป็นสัญลักษณ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนถึงแสนยานุภาพทางอากาศของชาวอเมริกัน” พ.อ.คริสติน กูดวิน ผู้บัญชาการกองบินทิ้งระเบิดที่สอง กล่าวกับเว็บไซต์ของกองบัญชาการเพื่อการโจมตีทั่วโลกของกองทัพอากาศสหรัฐฯ “พันธมิตรของเราและฝ่ายตรงข้ามคอยติดตามว่าเราจะกระทำการที่ใด เมื่อใดและวิธีการใด ทำให้บี-52 เป็นแพลตฟอร์มที่ดีเยี่ยมสำหรับยุทธบริเวณเอเชียแปซิฟิกที่มีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

เครื่องบินบี-52 สามารถบินในระยะทาง 12,800 กม. โดยไม่ต้องเติมเชื้อเพลิง ซึ่งให้ขีดความสามารถในการโจมตีระยะไกลอย่างต่อเนื่อง พ.ต.สแปนเนียร์อธิบาย การเคลื่อนกำลังพลส่วนหน้าช่วยปรับปรุงเวลาในการโจมตีเข้าไปในเขตข้าศึกและลดความตึงเครียดของพนักงานซ่อมบำรุงและทรัพยากร

ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพสหรัฐฯ จะยังคงขยายเขตแดนของการแสดงตนอย่างต่อเนื่องของเครื่องบินทิ้งระเบิดในภูมิภาค ในเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 2558 สหรัฐฯ ตกลงที่จะดำเนินการหมุนเวียนเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินบรรทุกน้ำมันผ่านฐานทัพอากาศออสเตรเลียในเมืองทินดัลและดาร์วิน

“แนวความคิดนี้คล้ายคลึงเป็นอย่างมากกับที่เราทำในเกาะกวม คือการหมุนเวียนของเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินบรรทุกน้ำมันเพื่อทำการฝึกอบรมและทำงานร่วมกับพันธมิตรชาวออสเตรเลีย รวมทั้งการฝึกอบรมนักบินและลูกเรือของเราเพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจถึงความกว้างใหญ่ของภูมิภาคนั้น” พล.อ.ลอรี โรบินสัน ผู้บัญชาการกองทัพอากาศแปซิฟิกกล่าวในการประชุมที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จากการรายงานของเว็บไซต์ janes.com “ความสามารถของเราในการแสดงแสนยานุภาพผ่านยุทธบริเวณจะเป็นหนึ่งในขีดความสามารถที่เราต้องการมี เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราต่อยุทธบริเวณ” พล.อ.โรบินสันกล่าวตามการรายงานของ janes.com

เจ้าหน้าที่ทหารจากสหรัฐฯ และออสเตรเลียยังคงวางแผนการหมุนเวียนแบบเฉพาะเจาะจง เครื่องบินโบอิ้ง บี-52 สตราโตฟอร์เทรสของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้เข้าร่วมการฝึกพิชแบล็คของออสเตรเลียในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติการทางอากาศที่กองทัพอากาศออสเตรเลียจัดให้มีขึ้นทุกสองปีเป็นเวลานาน 20 ปี กระทรวงกลาโหมออสเตรเลียระบุ

ทุกปีฐานทัพอากาศแอนเดอร์สันบนเกาะกวมจะเป็นเจ้าภาพการฝึกปฏิบัติการหลายฝ่ายร่วมกันเป็นเวลาสองสัปดาห์ที่เรียกว่า โคป นอร์ธ และการฝึกแวเลียน ชีลด์ ที่เป็นการฝึกปฏิบัติทางอากาศ พื้นดิน และทะเลเป็นเวลาเก้าวันซึ่งจัดให้มีขึ้นทุกสองปี จากรายงานของเว็บไซต์ของกองบัญชาการแปซิกฟิกของสหรัฐฯ การฝึกโคป นอร์ธ 15 ในปี พ.ศ. 2558 มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 2,340 คน โดยเป็นลูกเรือบี-52 และเจ้าหน้าที่ทหารจากออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ รวมทั้งผู้สังเกตการณ์จากเวียดนามและสิงคโปร์

การดำเนินการที่เรียกว่า การทิ้งระเบิดทางการทูต ได้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจของกองทัพอากาศนับตั้งแต่ช่วงแรก ๆ และจะดำเนินการต่อไป พ.ต.แอนดรูว์ มาร์แชล ต้นหนเรดาร์กล่าวกับนิตยสารแอร์ฟอร์ซ เมื่อเดือนสิงหาคมปี พ.ศ. 2558 “ลองคิดดู เมื่อคุณพูดว่า ‘เราสามารถไม่ให้ใครก็ตามเข้าใกล้ เราเป็นตัวแทนของอเมริกา และเราอยู่ที่นี่เพื่อเพื่อนของเรา’ เราได้ทำแบบนี้มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเราจะทำต่อไป”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button