เรื่องเด่น

การสร้างระบบป้องกันขีปนาวุธ

สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคง จำเป็นจะต้องมีการดำเนินโครงการในระดับบัญชาการและเพิ่มการเข้าถึงไปยังนานาชาติ

กองบัญชาการกองกำลังสหรัฐอเมริกาประจำภาคพื้นแฟซิฟิก (PACOM) ได้ติดตั้งฐานการต่อต้านขีปนาวุธประจำภูมิภาคและมาตุภูมิขึ้น โดยถือเป็นแห่งเดียวในปัจจุบันเมื่อเทียบกับกองบัญชาการทางภูมิศาสตร์อื่น ๆ ทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา เพราะฐานแห่งนี้จะต้องสร้างสมดุลระหว่างกองกำลังต่อต้านขีปนาวุธในภูมิภาค (ทั้งแบบพิสัยใกล้ พิสัยกลางและพิสัยระหว่างกลาง) และขีปนาวุธข้ามทวีปที่มีพิสัยไกลกว่า 5,500 กิโลเมตร ซึ่งเป็นภัยต่อสหรัฐอเมริกาโดยตรง เมื่อเกาหลีเหนือได้สร้างขีปนาวุธที่มีพิสัยเกินกว่าพื้นที่รับผิดชอบของ PACOM ขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการ และองค์กรต่าง ๆ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรับมือกับภารกิจทั้งในระดับภูมิภาคและในมาตุภูมิ กองบัญชาการรบทางภูมิศาสตร์ (GCC) จึงต้องเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นทางด้านงบประมาณทั้งในด้านกำลังพลและการตัดงบในเวลาเดียวกัน

ในการปรับตัว และรักษาความยืดหยุ่นที่จำเป็นต่อสภาพแวดล้อมเชิงปฏิบัติการของระบบป้องกันขีปนาวุธ (BMD) กองบัญชาการรบทางภูมิศาสตร์จำเป็นต้องพึ่งพาศูนย์ความเป็นเลิศด้านการป้องกันภัยทางอากาศร่วม (IAMD) ที่มุ่งความสนใจในระดับภูมิภาคเพื่อพัฒนากลุ่มผู้เชี่ยวชาญร่วมด้านขีปนาวุธชนิดป้องกันตนเองเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากขีปนาวุธทั้งในระดับภูมิภาคและมาตุภูมิที่เพิ่มจำนวนขึ้น โดยศูนย์เป็นเลิศด้านการป้องกันภัยทางอากาศร่วมของ PACOM จะจัดหากลไกแบบบูรณาการที่คุ้มค่าสำหรับสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ป้องกันขีปนาวุธของชาติต่าง ๆ ที่ร่วมมือด้วย และในขณะเดียวกันก็จะจัดเวทีสำหรับแบ่งปันข้อมูลระหว่างระบบป้องกันขีปนาวุธแบบต่าง ๆ

ความกังวลที่ก่อตัวขึ้น

ศูนย์ข่าวกรองทางอากาศและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASIC) ได้ร่วมมือกับศูนย์ข่าวกรองด้านขีปนาวุธและอวกาศของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และสำนักข่าวกรองทหารเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ คาดการณ์ถึงปัญหาเกี่ยวกับการป้องกันภูมิภาคและมาตุภูมิในการประเมินภัยคุกคามจากขีปนาวุธนำวิถีและขีปนาวุธติดยานขับประจำปีพ.ศ. 2556 ตัวอย่างของปัญหาต่าง ๆ มีทั้งขีปนาวุธข้ามทวีปลูกใหม่ของเกาหลีเหนือที่ชื่อ ฮวาซอง-13 ซึ่งสามารถยิงจากระบบเคลื่อนที่บนท้องถนนได้ และการเดินหน้าพัฒนาแตโปดอง-2 ซึ่งได้ปล่อยดาวเทียมอึนฮา (กาแล็คซี่) ในวงโคจรในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 ตามรายงานของ NASIC ฉบับพ.ศ. 2556 ทั้งขีปนาวุธฮวาซอง-13 หรือที่มักถูกเรียกว่า KN08 และขีปนาวุธติดวิถีพิสัยระหว่างกลางที่ชื่อมูซูดัน ต่างก็เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของภูมิภาคและมาตุภูมิที่ PACOM กำลังเผชิญอยู่ แม้ว่าจะยังไม่มีการทดสอบการยิงขีปนาวุธทั้งสองลูก แต่การนำเอาอาวุธต้นแบบออกมาแสดงในขบวนพาเหรดและการเดินหน้าทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับขีปนาวุธในภูมิภาค

เจ้าหน้าที่ของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังหน่วยสกัดกั้นขีปนาวุธแพทริออตรุ่นสาม เข้าประจำการ ณ กระทรวงกลาโหม ในเขตชินจูกุ กรุงโตเกียว เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 หลังจากที่เกาหลีเหนือขู่ว่าจะปล่อยขีปนาวุธนำวิถี
เจ้าหน้าที่ของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังหน่วยสกัดกั้นขีปนาวุธแพทริออตรุ่นสาม เข้าประจำการ ณ กระทรวงกลาโหม ในเขตชินจูกุ กรุงโตเกียว เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 หลังจากที่เกาหลีเหนือขู่ว่าจะปล่อยขีปนาวุธนำวิถี

พลเรือเอกซามูเอล เจ. ล็อคเลียร์ ที่สาม ผู้บัญชาการ PACOM ได้กล่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ตามรายงานของแอสโซซิเอทเต็ดเพรสว่า ประเทศที่ไม่สามารถไว้วางใจได้ และมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองอย่างเกาหลีเหนือ เป็นอันตรายต่อโลกมากที่สุดในพื้นที่บัญชาการทางทหารของเขา กองบัญชาการนี้ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาไปจนถึงพรมแดนทางตะวันตกของอินเดีย และกินพื้นที่กว่าร้อยละ 50 ของพื้นผิวโลก “แต่ก็ยังไม่ยาวหรือใหญ่พอที่จะพ้นจากขีปนาวุธพิสัยไกลได้” นิตยสารเนวีไทมส์รายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การรวมตัวกันของนานาชาติ

การเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของขีปนาวุธพิสัยไกลกว่าเดิม และความจำเป็นที่จะต้องมีกองบัญชาการหน่วยรบร่วมระหว่างประเทศ พร้อมด้วยความร่วมมือกันแบบพันธมิตรมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในรายงานฉบับเดียวกันของ NASIC กล่าวว่า จำนวนขีปนาวุธคงคลังในภูมิภาคของอิหร่านยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมคาดการณ์ว่าอิหร่านจะมีขีปนาวุธข้ามทวีป (ซึ่งจะเป็นความท้าทายของกองบัญชาหน่วยรบร่วมระหว่างประเทศ) ในปีพ.ศ. 2558 อิหร่านได้พัฒนาฐานปล่อยจรวดเช่นเดียวกับเกาหลีเหนือ ซึ่งสามารถปล่อยขีปนาวุธให้ไปถึงสหรัฐอเมริกาได้ ในหลักนิยมว่าด้วยการตอบโต้ภัยคุกคามด้านขีปนาวุธและทางอากาศฉบับใหม่ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2555 การป้องกันขีปนาวุธโลก ได้รับคำนิยามว่าเป็น “การป้องกันภัยคุกคามของขีปนาวุธนำวิถีซึ่งส่งผลกระทบทั่วทั้งเขตแดนของกองบัญชาการหน่วยรบทางภูมิศาสตร์เขตใดเขตหนึ่งหรือมากกว่า และต้องใช้ความร่วมมือกันระหว่างกองบัญชาการหน่วยรบต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ”

ในการอำนวยความสะดวกให้กับการร่วมมือนี้ กองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ จึงรับหน้าที่เป็น “ผู้ประสานงานทั่วโลก” แห่งมาตุภูมิในการวางแผนและการปฏิบัติการป้องกันขีปนาวุธ และการฝึกผ่านทางกองบัญชาการพันธกิจร่วมเพื่อการป้องกันขีปนาวุธ ณ เมืองโคโลราโดสปริงส์ รัฐโคโลราโด ในขณะเดียวกัน หน่วยงานป้องกันขีปนาวุธ (MDA) ซึ่งมีกองบัญชาการอยู่ที่ฐานทัพเบลวัวร์ รัฐเวอร์จิเนีย เป็นผู้นำในการทำการวิจัย และพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธโดยรวม และทำหน้าที่เป็นหน่วยจัดหาระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ สำหรับการป้องกันในระดับภูมิภาค กองบัญชาการรบทางภูมิศาสตร์จะเป็นผู้รับผิดชอบในการวางแผนและปฏิบัติงานป้องกันขีปนาวุธภายในเขตรับผิดชอบของตน

PACOM ได้เริ่มให้ศูนย์บัญชาการและกองบัญชาการแผนกป้องกันขีปนาวุธของตนปฏิบัติงานแบบสองบทบาท ทั้งการป้องกันในระดับภูมิภาคและมาตุภูมิ ให้เป็นต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เพื่อก้าวให้ทันความท้าทายรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น นั่นหมายความถึง “กระบวนการการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงบุคลากร กระบวนการ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ของกองบัญชาการหน่วยรบ เพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บัญชาการด้านการปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับมอบหมายและบรรลุวัตถุประสงค์สุดท้ายอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที” ตามที่นักวางแผนการปฏิบัติการของ PACOM กล่าวไว้

กองบัญชาการรบทางภูมิศาสตร์ ควรต้องดำเนินการตามเส้นทางการสร้างความเป็นสากลผ่านทางศูนย์การป้องกันภัยทางอากาศร่วมต่าง ๆ ในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้จะช่วยให้เกิดเวทีเฉพาะทางที่ทำให้ระบบป้องกันภัยขีปนาวุธของสหรัฐฯ และของชาติพันธมิตรได้มารวมตัวกันผ่านทางการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ร่วม ตัวอย่างเช่น การระบุและความร่วมมือของเทคโนโลยีการป้องกันขีปนาวุธต่าง ๆ จะช่วยให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการการทดสอบและการฝึกใช้งานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการป้องกันภัยทางอากาศร่วมจะจัดหากลไกการตอบสนองกลับแบบโดยรวมและทางตรงให้กับหน่วยงานป้องกันขีปนาวุธและองค์กรต่าง ๆ ของสหรัฐฯ บนการพัฒนาแบบวงโคจรของระบบป้องกันขีปนาวุธภาคสนาม โดยอาจจะมีการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่มองว่านโยบายป้องกันขีปนาวุธในปัจจุบันนั้นมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่มาตุภูมิสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นมุ่งการเน้นไปยังข้อวิตกกังวลที่มีร่วมกันในระดับภูมิภาค และยังอาจจะมีการโต้เถียงว่าการป้องกันขีปนาวุธนั้นเป็นการทำให้ภูมิภาคขาดเสถียรภาพ ในทางกลับกัน สิ่งนี้จะช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร

การป้องกันด้วยการยับยั้ง

นายโรเบิร์ต จาร์วิส นักยุทธศาสตร์ความมั่นคงผู้มีชื่อเสียง ได้จำแนกประเภทของการยับยั้งเอาไว้ว่าเป็น “การยับยั้งด้วยการปฏิเสธ” หรือ “การยับยั้งด้วยการลงโทษ” อย่างใดอย่างหนึ่ง การป้องกันขีปนาวุธที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น ระบบป้องกันภัยขีปนาวุธ BMD ใช้วิธีการยับยั้งในแบบแรก โดยพยายามที่จะปฏิเสธการบีบคั้นจากรัฐอันธพาล และสร้างความคลางแคลงใจให้กับเหล่าศัตรูที่คิดจะข่มขู่ประเทศเพื่อนบ้านด้วยการใช้ขีปนาวุธแบบยิงจากพื้นสู่พื้น เป้าหมายของวิธีนี้คือการสร้างการป้องกันและความเป็นพันธมิตรที่มีประสิทธิภาพเพื่อตอบโต้พฤติกรรมที่แสดงความเป็นปรปักษ์และสร้างการขาดเสถียรภาพ แทนที่จะใช้การบุกโจมตีก่อน

กองบัญชาการกองกำลังสหรัฐอเมริกาประจำภาคพื้นยุโรป (EUCOM) และกองบัญชาการหลักของสหรัฐฯ (CENTCOM) ได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการตั้งศูนย์ป้องกันภัยทางอากาศร่วมในภูมิภาคแล้ว ศูนย์อัล บาทีน ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ยกระดับทีมป้องกันขีปนาวุธของตนมาช่วยพัฒนาแผนร่วมกับอีกหกประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ ศูนย์ EUCOM ได้เป็นหัวหอกเกี่ยวกับการป้องกันขีปนาวุธ และกลายเป็นมาตรฐานสำหรับการวางแผนในระดับสูง ตลอดจนการฝึกและการร่วมมือของพันธมิตรตามที่ NATO จัดตั้งขึ้น กองบัญชาการทางภูมิศาสตร์แต่ละแห่งควรที่จะมีศูนย์ของตนเองเพื่อที่จะมุ่งเน้นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะในภูมิภาคของตน

การก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ

การก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการป้องกันภัยทางอากาศร่วมของ PACOM ด้วยการรวมเอาชาติพันธมิตรในภูมิภาคเข้ามาไว้ด้วยกันช่วยให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพของการป้องกันขีปนาวุธ โดยใช้บุคลากรและแนวความคิดต่าง ๆ โดยไม่ใช่แต่ฮาร์ดแวร์กับระบบที่ซับซ้อนและมีราคาแพงเพียงอย่างเดียว เพื่อที่จะเอาชนะภัยคุกคามในภูมิภาค แม้ว่าระบบอาวุธต่าง ๆ จะมีความจำเป็น เช่น ระบบป้องกันขีปนาวุธในระดับบรรยากาศชั้นสูง (THAAD) เรือเอจีสพร้อมระบบป้องกันขีปนาวุธ ขีปนาวุธแพทริออต ระบบเฉพาะพิเศษของแต่ละประเทศ และระบบตรวจจับที่ล้ำสมัย เช่น เรดาร์ระยะไกลแบบเอกซ์-แบนด์ แต่ประสิทธิภาพโดยรวมของอาวุธเหล่านั้นจะลดลงอย่างรุนแรงหากไม่สามารถนำมารวมเข้ากับการวางแผนและการใช้งานได้

ทีมงานนานาชาติของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการป้องกันภัยทางอากาศร่วม ไม่เพียงรับเอาความรู้ความเข้าใจจากสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังสามารถนำเสนอเกี่ยวกับปัญหาและความสำเร็จของระบบป้องกันขีปนาวุธของตน อีกด้วย สิ่งนี้ช่วยให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ ข้อวิตกกังวล และท่าทีในการป้องกันตนเองแบบไม่ได้เอนเอียงเข้าข้างสหรัฐฯ  ตัวอย่างเช่น แทนที่จะให้เจ้าหน้าที่ชาวอเมริกันเป็นผู้บรรยายสรุปการติดตั้งขีปนาวุธแพทริออตและเรือเอจีสของญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่ของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศของญี่ปุ่นก็จะเป็นผู้ทำหน้าที่นั้นแทน เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้จะเป็นผู้บรรรยายสรุปและผสานระบบเฉพาะพิเศษของเกาหลีใต้ ศูนย์ความเป็นเลิศจะพยายามสร้างความร่วมมือของนานาชาติผ่านทางการบรรยายสรุปและการฝึกซ้อมที่นำโดยหลายชาติร่วมกันเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเข้าร่วมของชาติพันธมิตร

ทหารเรือประจำเรือลาดตระเวนยูเอสเอส เลคอีรี แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ยิงขีปนาวุธนำร่องพิสัยใกล้ที่ชื่อ เอสเอ็ม-3 ออกจากฮาวาย เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 ระบบป้องกันขีปนาวุธเอจิสที่ติดตั้งอยู่บนเรือได้สกัดกั้นเป้าหมายที่อยู่ไกลออกไปในอวกาศได้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รายงาน
ทหารเรือประจำเรือลาดตระเวนยูเอสเอส เลคอีรี แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ยิงขีปนาวุธนำร่องพิสัยใกล้ที่ชื่อ เอสเอ็ม-3 ออกจากฮาวาย เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 ระบบป้องกันขีปนาวุธเอจิสที่ติดตั้งอยู่บนเรือได้สกัดกั้นเป้าหมายที่อยู่ไกลออกไปในอวกาศได้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รายงาน

ศูนย์ความเป็นเลิศจะเป็นสื่อกลางในการสร้างและพัฒนาแผนปฏิบัติการ รายการทรัพย์สินที่ใช้ป้องกัน รวมทั้งคำสั่งและการควบคุมแบบบูรณาการ อีกทั้งยังมีการอภิปรายเกี่ยวกับความท้าทายและวิธีการใหม่ ๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการสร้างสิ่งใดขึ้นมาใหม่สำหรับกรณีนี้เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพอยู่แล้วจากสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เช่น ศูนย์การสงครามภาคพื้นแปซิฟิก หรือศูนย์ปฏิบัติการทางอากาศภาคพื้นแปซิฟิก ด้วยหลักสูตรที่ถูกต้องและการจำลองระบบและโมเดลต้นแบบที่เหมาะสม สหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรในภูมิภาคจะสามารถผลิตเจ้าหน้าที่ป้องกันขีปนาวุธที่มีคุณภาพระดับโลกขึ้นมาได้

ผู้นำทางทหารเหล่านี้จะสามารถนำมาซึ่งการปรับตัวและความยืดหยุ่นที่จำเป็นต่อสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงที่ไม่อยู่นิ่งผ่านทางโครงสร้างความเป็นสากล

หลักนิยมของสหรัฐฯ ยังคงรักษาธรรมชาติของระบบป้องกันขีปนาวุธนั่นคือการเป็นจุดเชื่อมต่อร่วมกัน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการป้องกันภัยทางอากาศร่วมจะเป็นเวทีให้เจ้าหน้าที่ป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ เชื่อมต่อร่วมกันอย่างแท้จริง ลักษณะทางธรรมชาติที่ซับซ้อนของเรือเอจีสพร้อมระบบป้องกันขีปนาวุธ เรดาร์ระยะไกลทีพีวาย – 2 ขีปนาวุธแพทริออต ระบบป้องกันขีปนาวุธในระดับบรรยากาศชั้นสูง และความท้าทายที่มาพร้อมกับการเชื่อมโยงสิ่งเหล่านั้นเข้าด้วยกัน ยังไม่รวมถึงทรัพย์สินต่าง ๆ ของชาติพันธมิตรที่นำมาใช้ในภารกิจป้องกันภูมิภาคและมาตุภูมิ ทุกอย่างนี้ล้วนต้องการเจ้าหน้าที่ที่มีความเชื่อมต่อกันและยกระดับทักษะที่จำเป็นในการบูรณาการเอาระบบต่าง ๆ ที่ทั้งยุ่งยากและซับซ้อนเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายโดยรวมของเครือข่ายการป้องกันที่มีลักษณะเป็นลำดับชั้น

ภัยคุกคามที่คงทน

สภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงสากลจะยังคงถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มประเทศที่พยายามจะใช้กองกำลังขีปนาวุธในการข่มขู่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคของตน และอาจโจมตีกองบัญชาการรบของสหรัฐอเมริกาอย่าง PACOM ซึ่งไม่เพียงต้องรับมือกับภัยคุกคามจากขีปนาวุธในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังช่วยสนับสนุนกองบัญชาการภาคเหนือของสหรัฐฯ (NORTHCOM) ในบทบาทการป้องกันมาตุภูมิอีกด้วย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการป้องกันภัยทางอากาศร่วมในระดับภูมิภาคเป็นกลไกในการสร้างความเป็นสากลให้กับระบบป้องกันขีปนาวุธของแต่ละภูมิภาค แน่นอนทีเดียว สหรัฐอเมริกาไม่สามารถและไม่ได้ต้องการที่จะเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางด้านระบบการป้องกันขีปนาวุธแต่เพียงผู้เดียวในภูมิภาค ด้วยจำนวนประเทศ 36 ประเทศในเขตรับผิดชอบของ PACOM ซึ่งคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นผิวโลกทั้งหมดสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรในภูมิภาคจำเป็นต้องร่วมกันทำให้ระบบป้องกันขีปนาวุธของตนมีประสิทธิภาพขึ้น ระบบป้องกันขีปนาวุธมีราคาสูง ซับซ้อนและยุ่งยาก ในการก้าวให้ทันความท้าทายที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เจ้าหน้าที่ป้องกันขีปนาวุธจะต้องมีโอกาสที่จะได้นำเสนอวิธีการที่สร้างสรรค์และล้ำสมัย ซึ่งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการป้องกันภัยทางอากาศร่วมเป็นผู้นำเสนอโอกาสแห่งความร่วมมือนั้น

พ.อ.เอส. เอ็ดเวิร์ด บอกซ์ เป็นหัวหน้าแผนกอวกาศและระบบป้องกันภัยขีปนาวุธทางอากาศแบบบูรณาการของ PACOM ข้อสรุปและความคิดเห็นในบทความนี้เป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว และมิได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลสหรัฐฯ กระทรวงกลาโหม กองทัพอากาศสหรัฐฯ หรือ PACOM แต่อย่างใด

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button