ติดอันดับ

ฟิลิปปินส์ได้รับเครื่องบินขับไล่ลำแรกในรอบทศวรรษท่ามกลางข้อพิพาททางทะเล

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ฟิลิปปินส์ได้รับเครื่องบินขับไล่ไอพ่นที่ผลิตในเกาหลีสองลำเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นเครื่องบินรบความเร็วเหนือเสียงลำแรกของประเทศในรอบทศวรรษ ในขณะที่ฟิลิปปินส์กำลังเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางทหารที่มีงบประมาณสนับสนุนที่ต่ำท่ามกลางข้อพิพาทด้านอาณาเขตที่เพิ่มสูงขึ้นกับจีน

เครื่องบินขับไล่ไอพ่น เอฟเอ-50 ร่อนลงจอดที่สนามบินฟรีพอร์ท คลาร์ก ซึ่งเคยเป็นฐานทัพของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ทางตอนเหนือของกรุงมะนิลา ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารของฟิลิปปินส์ปรบมือและรถดับเพลิงฉีดพ่นน้ำในพิธีต้อนรับตามประเพณีให้กับเครื่องบินที่ยังไม่ได้ติดตั้งอาวุธ

ฟิลิปปินส์ซื้อ เอฟเอ-50 ทั้งสิ้น 12 ลำจากบริษัทโคเรีย แอโรสเปซ อินดัสทรีย์ในราคา 402 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 14,070 ล้านบาท) ซึ่งหลัก ๆ แล้วเป็นเครื่องบินไอพ่นฝึกหัดที่ทางกองทัพได้ปรับเปลี่ยนเพื่อใช้เป็นเครื่องบินรบที่สามารถปฏิบัติการได้หลายภารกิจ เครื่องบินไอพ่นลำอื่น ๆ จะถูกส่งมอบเป็นชุดตลอดปี พ.ศ. 2560

อาวุธสำหรับ เอฟเอ-50 ได้แก่ ระเบิดและจรวด จะถูกสั่งซื้อในภายหลัง

“เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่เรากลับมาใช้เครื่องบินรบความเร็วเหนือเสียงอีกครั้งในที่สุด” นายวอลแตร์ กาซมิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าว

กองทัพฟิลิปปินส์ปลดประจำการฝูงเครื่องบินรบความเร็วเหนือเสียงชุดสุดท้าย เอฟ-5 ในปี พ.ศ. 2548 โปรแกรมการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยซึ่งรวมถึงแผนการสำหรับการซื้อฝูงเครื่องบินขับไล่ไอพ่นและเรือรบขนาดกลางเป็นอย่างน้อยไม่ได้เกิดขึ้นมานานหลายปี เหตุผลหลักเนื่องจากขาดงบประมาณสนับสนุน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กองทัพได้เสื่อมโทรมลงจนกลายเป็นหนึ่งในกองทัพที่อ่อนแอที่สุดของเอเชีย

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การบริหารของนายเบนิกโน อาคีโน ที่สาม ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ข้อพิพาทด้านอาณาเขตกับจีนเกี่ยวกับหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ได้เพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้จีนยึดสันดอนที่เป็นข้อพิพาทในปี พ.ศ. 2555 ทำให้กองทัพฟิลิปปินส์รีบเร่งในการจัดหาเรือรบให้กับกองทัพเรือและเครื่องบินรบให้กับกองทัพอากาศด้วยการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพันธมิตรสนธิสัญญาทางทหารมายาวนานของฟิลิปปินส์

นายอาคีโนได้มอบหมายให้นายกาซมินลงนามในสัญญาฉบับสำคัญเพื่อการจัดหายุทโธปกรณ์ทางทหาร ได้แก่ เรือรบขนาดกลางสองลำ เฮลิคอปเตอร์ต่อต้านเรือดำน้ำและยานพาหนะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกสำหรับกองทัพเรือ รวมทั้งอากาศยานลาดตระเวนระยะไกล กระสุนวัตถุระเบิดสำหรับเอฟเอ-50 และเรดาร์ตรวจการณ์สำหรับกองทัพอากาศ คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 936 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 32,760 ล้านบาท) นายเฟอร์นาโด มานาโล ปลัดกระทรวงกลาโหมกล่าว

นายมานาโลกล่าวว่า คาดว่าจะทำการสั่งซื้อฝูงเรือ อากาศยาน และอุปกรณ์ทางทหารชุดใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปี พ.ศ. 2561

น.ท.โรแลนโด คอนราด พินยา ที่สาม ซึ่งเป็นนักบินหนึ่งในสามนายของกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ที่ได้รับการฝึกอบรมการบินเครื่อง เอฟ-50 ที่ประเทศเกาหลีกล่าวว่า เครื่องบินขับไล่ไอพ่นสามารถบรรทุกกระสุนวัตถุระเบิดอย่างเพียงพอ และสามารถใช้ในการต่อสู้ทางอากาศกับอากาศและอากาศกับภาคพื้นดิน

“ตอนนี้เรามีเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง เวลาในการโต้ตอบของเราจะรวดเร็วมากขึ้น” น.ท.พินยากล่าวกับผู้สื่อข่าว

แม้กระนั้น ฟิลิปปินส์ยังคงปฏิเสธการแก้ไขปัญหาโดยใช้กำลังทหารต่อข้อขัดแย้งด้านอาณาเขตด้วยความสามารถทางทหารที่จำกัด เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 ฟิลิปปินส์ได้นำข้อพิพาทที่มีกับจีนร้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลจีนปฏิเสธที่จะเข้าร่วม และเรียกร้องให้มีการเจรจาตัวต่อตัว

อย่างไรก็ตาม คณะตุลาการระหว่างประเทศในกรุงเฮกได้ปฏิเสธข้อโต้แย้งด้านกฎหมายของจีนในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 และพิพากษาว่าคณะตุลาการมีอำนาจที่จะรับพิจารณาคดีของฟิลิปปินส์ โดยคาดว่าจะลงมติตัดสินในปีหน้าต่อปัญหาหลาย ๆ ข้อที่ฟิลิปปินส์หยิบยกขึ้นมา รวมถึงความถูกต้องของการเรียกร้องสิทธิด้านอาณาเขตโดยครอบคลุมของจีนภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลในปี พ.ศ. 2525

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button