ติดอันดับ

นโยบายใหม่ที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดการกับปัญหาประชากรสูงอายุในภูมิภาค

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังสูงวัยขึ้น “ด้วยอัตราความเร็วและปริมาณซึ่งไม่เคยมีมาก่อน” ซึ่งรวดเร็วกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ โดยส่วนใหญ่เนื่องจากการลดลงอย่างรวดเร็วของอัตราการเกิดรวมถึงระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่เกินกว่า 60 ปีที่เพิ่มมากขึ้น จากรายงานใหม่ของธนาคารโลกซึ่งเผยแพร่ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถลดจำนวนแรงงานของภูมิภาคได้มากถึงร้อยละ 15 ภายในปี พ.ศ. 2583 จากรายงานในหัวข้อ “ชีวิตที่ยืนยาวและเจริญรุ่งเรือง: ผู้สูงวัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ”

ปัจจุบัน ประชากรจำนวน 211 ล้านคนหรือร้อยละ 36 ของประชากรโลกที่มีอายุ 65 ปีหรือมากกว่าอาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออก การศึกษาพบว่า ภายในปี พ.ศ. 2583 จำนวนประชากรวัยทำงานของเกาหลีใต้อาจลดลงมากกว่าร้อยละ 15 โดยที่จีน ไทย และญี่ปุ่นอาจลดลงมากกว่าร้อยละ 10 ตัวอย่างเช่น จีนอาจมีการสูญเสียคนวัยทำงานสูงถึง 90 ล้านคน รายงานกล่าว

ภูมิภาคนี้ได้ “เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรอย่างรวดเร็วที่สุดที่เราเคยประสบมา และประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหมดในภูมิภาคนี้เสี่ยงที่จะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ความร่ำรวย” นายเอ็กเซล แวน ทรอทแซนเบิร์ก รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าวในแถลงการณ์ที่ได้เตรียมไว้ “การจัดการกับประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ใช่เพียงเกี่ยวกับผู้คนที่สูงวัยขึ้น แต่จำเป็นต้องมีนโยบายที่ครอบคลุมในการเข้าถึงวงจรชีวิตทุกขั้นตอนเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านแรงงานและส่งเสริมรูปแบบการดำรงชีวิตที่มีสุขภาพดีผ่านการปฏิรูปโครงสร้างในการดูแลเด็ก การศึกษา การดูแลสุขภาพ บำนาญ การดูแลในระยะยาว และอื่น ๆ”

แม้ว่าอัตราการสูงวัยจะแตกต่างกันไปในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค แต่ภายในปี พ.ศ. 2603 ประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากที่สุดของโลกร้อยละ 20 จะอยู่ในเอเชียตะวันออก ผู้เขียนรายงานคาดการณ์ ในตอนนี้ มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรของประเทศที่ร่ำรวยกว่า เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้มีอายุ 65 ปีหรือมากกว่า ประเทศต่าง ๆ เช่น กัมพูชา ลาว และปาปัวนิวกินีมีประชากรเพียงร้อยละ 4 ที่อยู่ในช่วงอายุนี้ แต่ประเทศเหล่านี้จะเริ่มมีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในอีกสองทศวรรษ ประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมีระดับรายได้ปานกลาง เช่น จีน ไทย และเวียดนามกำลังเริ่มต้นมีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเผชิญกับความกดดันด้านงบประมาณและความท้าทายด้านการจัดการที่เกี่ยวข้อง รายงานระบุ

“ประชากรศาสตร์เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญยิ่งในการพัฒนา แต่ไม่ใช่ชะตากรรม” นายฟิลิป โอคีฟ ผู้เขียนนำของรายงานกล่าวในแถลงการณ์ที่เตรียมไว้ “รัฐบาลจะสามารถช่วยเหลือสังคมในการปรับตัวให้เข้ากับประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งเสริมการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีและมีประสิทธิภาพโดยผ่านทางนโยบายที่รัฐเลือก”

รายงานดังกล่าวแนะนำว่า การปฏิรูปต่อไปนี้อาจช่วยจัดการการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุได้ ได้แก่

  • สนับสนุนผู้หญิงให้เข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น
  • ตัดสิ่งจูงใจทางการเงินในระบบบำนาญซึ่งส่งเสริมการเกษียณอายุก่อนกำหนด
  • เปิดตลาดแรงงานสูงอายุให้กับผู้อพยพที่เป็นคนหนุ่มสาว
  • ปรับปรุงคุณภาพแรงงานผ่านการศึกษาและโครงการการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  • ปฏิรูปแผนบำนาญที่มีอยู่และนำระบบที่ยั่งยืนมาใช้
  • พิจารณาการเพิ่มวัยเกษียณอายุอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • เปลี่ยนการมุ่งเน้นความสำคัญของระบบการดูแลสุขภาพจากการดูแลโดยมีโรงพยาบาลเป็นศูนย์กลางไปสู่การบริการดูแลแบบปฐมภูมิ

• ส่งเสริมการจัดการที่มีประสิทธิภาพของผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button