ติดอันดับ

ความท้าทายที่แท้จริงสำหรับพม่าหลังการเลือกตั้ง

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

การได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งในพม่ากลายเป็นเรื่องง่ายกว่าที่คิดไว้สำหรับนางออง ซาน ซูจี และพรรคฝ่ายค้านของเธอ อย่างไรก็ดี การปกครองประเทศจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพคนนี้ จะทำให้วิสัยทัศน์ทางศีลธรรมและความเป็นจริงทางการเมืองสมดุลกันได้อย่างไร

ผลการเลือกตั้งที่ประกาศโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 แสดงให้เห็นว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยได้รับเสียงข้างมากอย่างท่วมท้น ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมทั้งสภาล่างและสภาสูงได้ รวมถึงการมีเสียงข้างมากเพียงพอที่จะสามารถเป็นผู้กำหนดได้ว่า ใครจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีหลังการประชุมรัฐสภาครั้งแรกในปีหน้า

นายออง ดิน อดีตนักโทษการเมืองและผู้สื่อข่าวชื่อดังกล่าวว่า “ผลการเลือกตั้งเป็นเสมือนการแก้แค้นของประชาชนต่อฝ่ายทหาร ซึ่งได้กดขี่พวกเขามาเป็นเวลาหลายทศวรรษ” เขากล่าวเสริมว่า ชัยชนะอย่างท่วมท้นของนางออง ซาน ซูจี สร้างความประหลาดใจให้กับทุกคน รวมถึงพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเอง ฝ่ายทหาร และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพม่าทั่วโลกรวมถึงตัวเขา

พม่าอยู่ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลทหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ถึง พ.ศ. 2554 เมื่อพรรคการเมืองที่ฝ่ายทหารให้การสนับสนุนได้รับการเลือกตั้งขึ้นมาปกครองประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยได้คว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนั้น

จากการที่ฝ่ายทหารจะได้รับที่นั่งในแต่ละสภาเป็นจำนวนร้อยละ 25 โดยอัตโนมัติ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยจะต้องได้รับเสียงอย่างน้อยสองในสามของจำนวนที่นั่งทั้งหมดในสภาเพื่อให้ได้เสียงข้างมาก ไม่ใช่แค่เพียงเสียงจำนวนกึ่งหนึ่งกับอีกหนึ่งเสียง พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยบรรลุเป้าหมายนี้อย่างง่ายดายโดยได้รับจำนวนที่นั่งประมาณร้อยละ 78 สำหรับทั้งสองสภารวมกัน กล่าวคือ ผู้ลงสมัครของพรรคได้รับเลือกตั้ง 387 คนจากที่นั่งทั้งหมด 498 ที่นั่งที่ไม่ใช่ที่นั่งอัตโนมัติของฝ่ายทหาร โดยผู้ลงสมัครของพรรคสหสามัคคีและการพัฒนาซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบันที่สนับสนุนโดยฝ่ายทหารได้รับเลือกตั้งเพียง 41 คนเท่านั้น

ในอดีต นางออง ซาน ซูจีได้รับความนิยมจากการเผชิญหน้ากับฝ่ายทหาร แต่ขณะนี้ที่นางซูจีกับฝ่ายทหารต้องจับมือกันเพื่อปกครองประเทศ นางซูจีจึงต้องอาศัยบรรดานายพลมาเป็นพวกเพื่อผลักดันนโยบายของพรรค ในขณะเดียวกัน ผู้สนับสนุนนางซูจีก็มีความคาดหวังสูงที่จะเห็นการปฏิรูปแบบพลิกโฉม

“ประชาชนจะมองนางซูจีอย่างไรหลังจากที่เธอต้องประนีประนอมกับผู้เล่นการเมืองที่พวกเขาไม่ชอบและไม่ไว้วางใจเป็นอย่างยิ่ง” นายไมเคิล บูห์เลอร์ อาจารย์วิชาการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอนตั้งคำถาม “ตอนนี้นางซูจีจะยังคงเป็นผู้มีอำนาจที่มีคุณธรรมของประเทศได้หรือไม่เมื่อเธอกลายมาเป็นผู้เล่นการเมืองเองแล้ว”

ในแง่หนึ่ง นางซูจีอาจไม่ประสบปัญหามากนัก แต่ในอีกหลาย ๆ แง่ นางซูจีจะต้องต่อสู้กับกลุ่มผลประโยชน์เดิมที่พร้อมที่จะต่อสู้กับเธอ

แรงงานตามโรงงานเป็นผู้สนับสนุนที่จงรักภักดีของนางซูจี แต่การที่จะให้เศรษฐกิจพัฒนาต่อไปนั้น การเอาชนะใจบรรดาเจ้าของโรงงานอาจเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า ซึ่งเจ้าของโรงงานเหล่านี้อาจไม่พอใจหากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนแรงงานอย่างแข็งขัน

ในทำนองเดียวกัน ชาวบ้านที่ทำงานในเหมืองและโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ต้องการความยุติธรรมที่พวกเขาไม่เคยได้รับภายใต้รัฐบาลที่ฝ่ายทหารให้การสนับสนุน การสนองความต้องการของชาวบ้านอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่พอใจ การกวาดล้างปัญหาการครอบครองที่ดินที่มีอยู่ทั่วไปก็อาจเป็นประเด็นที่สร้างศัตรูที่มีอำนาจให้หันมาโจมตีนางซูจีเช่นกัน

นางซูจียังต้องเผชิญกับภาวะลำบากใจในการจัดการกับปัญหาความแตกแยกระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมานานและฝังรากลึกอยู่ในพม่า ชนกลุ่มน้อยกว่าสิบชาติพันธุ์ในพม่าได้ทำสงครามกองโจรที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเป็นพัก ๆ มาหลายทศวรรษ โดยมีเป้าหมายคือการได้อิสระมากขึ้นในการปกครองตนเอง

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มคนเหล่านี้ก็อาจเป็นพันธมิตรกับพรรคของนางซูจีได้ ส่วนหนึ่งคือตามแนวคิดที่ว่า “ศัตรูของศัตรูคือเพื่อนของเรา”

ตอนนี้กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้จะคอยจับจ้องผลตอบแทนจากการอยู่เคียงข้างนางซูจี แต่กองทัพได้วางกฎเหล็กบนพื้นฐานว่าด้วยการรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชาติมาโดยตลอด ซึ่งในทางปฏิบัติหมายถึงการรักษาไว้ซึ่งการครอบงำอำนาจโดยชนกลุ่มชาติพันธุ์พม่า ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

ความท้าทายอีกประการคือการจัดการกับความขัดแย้งทางสีผิวและศาสนา ซึ่งเกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อยโรฮีนจาและชาวมุสลิมอื่น ๆ โดยความรุนแรงที่ชนกลุ่มนี้ตกเป็นเป้าหมายในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิติหลายร้อยคนและมีคนไร้บ้านถึง 140,000 คน

ความพยายามของภิกษุหัวรุนแรงคลั่งชาติในการสร้างภาพลักษณ์ของนางซูจีว่า อ่อนแอในการปกป้องศาสนาพุทธซึ่งมีผู้นับถือประมาณร้อยละ 90 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ไม่ได้มีผลมากนักต่อการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อการปกป้องสิทธิของชาวมุสลิมพม่า ทั้งนี้ ปัญหานี้ยังคงเป็นประเด็นร้อนภายในประเทศ และเป็นประเด็นที่ทำให้พม่าขัดแย้งกับเพื่อนต่างประเทศอื่น ๆ อาทิ สหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button