อินเดียและออสเตรเลียบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์

เจ้าหน้าที่ฟอรัม
โครงการนิวเคลียร์ของอินเดียได้รับการยอมรับโดยนานาชาติและในแง่ของความสมบูรณ์มากขึ้นตั้งแต่เมื่ออินเดียสามารถบรรลุข้อตกลงในการจัดหายูเรเนียมจากออสเตรเลียเมื่อไม่นานมานี้
เป็นเวลากว่าหนึ่งปีที่นายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย และนายโทนี แอบบ็อตต์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในขณะนั้น ได้ร่วมกันกำหนดกระบวนการจัดซื้อซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อ ความตกลงระหว่างอินเดียและออสเตรเลียว่าด้วยนิวเคลียร์เพื่อการพลเรือน
“เราได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านนิวเคลียร์เนื่องจากออสเตรเลียไว้เนื้อเชื่อใจอินเดีย และเชื่อว่าอินเดียจะดำเนินการในสิ่งที่ถูกต้องในด้านนี้ เช่นเดียวกับที่อินเดียได้ดำเนินการในด้านอื่น ๆ” นายแอบบ็อตต์กล่าวเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2557 หลังจากที่ตนและนายโมทีได้ลงนามความตกลงเพื่อคุ้มครองการขายยูเรเนียมเพื่อการผลิตพลังงานโดยสันติ ตามรายงานของรอยเตอร์ “นี่คือเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมเราจึงยินดีและไว้เนื้อเชื่อใจให้อินเดียใช้ยูเรเนียมของเราไปอีกนานหลายเดือน หลายปี และหลายทศวรรษ”
เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ที่ประเทศตุรกี นายโมที และนายแมลคัม เทิร์นบุลล์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้พบปะกันนอกรอบในระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จี 20 เพื่อทำให้ความตกลงดังกล่าวสำเร็จลุลุ่วง โดยนายโมทีกล่าวถึงความตกลงดังกล่าวว่าเป็น “ก้าวสำคัญและแหล่งที่มาของความไว้เนื้อเชื่อใจและความมั่นใจ”
หนังสือพิมพ์ ฮินดูสถาน ไทมส์ รายงานว่า ปัจจุบันอินเดียมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ประมาณ 20 เครื่อง ซึ่งตั้งอยู่ในสถานที่หกแห่ง แต่อินเดียมีแผนที่จะเพิ่มเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกเกือบ 30 เครื่องภายในปี พ.ศ. 2575 โดยจะต้องใช้งบประมาณ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 3.04 ล้านล้านบาท) โดยหนังสือพิมพ์ ฮินดูสถาน ไทมส์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากการเจรจาจัดซื้อยูเรเนียมจากออสเตรเลียแล้ว อินเดียยังนำเข้ายูเรเนียมจากฝรั่งเศส รัสเซีย และคาซัคสถาน
จากการประเมิน ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรยูเรเนียมประมาณร้อยละ 40 ของปริมาณยูเรเนียมในโลก และเป็นประเทศที่ผลิตยูเรเนียมอันดับสามของโลก รองจากคาซัคสถาน (อันดับหนึ่ง) และแคนาดา (อันดับสอง)
ออสเตรเลียจะได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากความตกลงที่ทำกับอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนกระตุ้นการส่งออกของออสเตรเลียเป็นมูลค่า 1.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 45.46 พันล้านบาท) และช่วยสร้างงานเพิ่มขึ้น 4,000 ตำแหน่ง