ติดอันดับ

สหรัฐฯ และจีนปรับใช้ระเบียบปฏิบัติด้านความปลอดภัยสำหรับนักบิน

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ในความเป็นคู่ต่อสู้ระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลจีน ซึ่งอาจมีการไม่พอใจกันบ้าง นั้น แต่ความมีมารยาทยังเป็นสิ่งสำคัญ กล่าวคือ เมื่อไม่นานมานี้ การแก้ไขความตกลงว่าด้วยการเผชิญหน้ากันโดยปลอดภัยระหว่างนักบินทหารได้กำหนดให้มีการรักษาระยะปลอดภัย การสื่อสารที่ชัดเจน และหลีกเลี่ยงการใช้ภาษากายที่หยาบคาย

การแก้ไขความตกลงว่าด้วยความปลอดภัยครั้งที่สาม กำหนดให้ “ลูกเรือประจำเครื่องบินทหารควรยับยั้งการใช้ภาษาที่ไม่สุภาพหรือท่าทางทางร่างกายที่ไม่เป็นมิตร”

ข้อบทดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายมีความคาดหวังไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานแสดงว่าพฤติกรรมดูหมิ่นของนักบินเป็นสาเหตุของการเผชิญหน้าใด ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

การแก้ไขความตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่สองประเทศกำลังดำเนินการที่ทำให้มีการติดต่อกันใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการอ้างสิทธิที่แข็งกร้าวของจีนเหนือทะเลจีนใต้กับการกลับมามุ่งเน้นภูมิภาคเอเชียของสหรัฐฯ กล่าวคือ การที่กองทัพเรือสหรัฐฯ จะมอบหมายให้กองเรือร้อยละ 60 ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในภูมิภาคดังกล่าว

ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามแก้ไขความตกลงไม่นานก่อนการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นผู้นำที่ควบคุมอำนาจเหนือกองทัพมากกว่าผู้นำก่อนหน้าทุกรายตั้งแต่สมัยนายเติ้ง เสี่ยวผิง ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 (ระหว่างปี พ.ศ. 2523 ถึง พ.ศ. 2533)

การแก้ไขความตกลงดังกล่าวมีขึ้นไม่นานหลังวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์เครื่องบินรบทิ้งระเบิดของจีนสองลำทำสิ่งที่กองบัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิกเรียกว่าเป็นการสกัดกั้นที่ไม่ปลอดภัยต่อเครื่องบินสำรวจยูเอส แอร์ ฟอร์ซ อาร์ซี-135 ซึ่งกำลังลาดตระเวนอยู่ในพื้นที่ประมาณ 130 กิโลเมตรจากชายฝั่งจีน ก่อนหน้านี้ เครื่องบินรบของจีนก็ได้ทำท่าควงสว่านเข้าประชิดในระยะ 9 เมตรใกล้กับเครื่องบินตรวจการณ์ พี-8 โพไซดอน ของกองทัพเรือสหรัฐฯ เหนือทะเลจีนใต้เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวที่ร้ายแรงที่สุดคือ เหตุการณ์ที่อากาศยานจากทั้งสองประเทศชนกันเหนือทะเลจีนใต้เมื่อปี พ.ศ. 2544 ทำให้นักบินเครื่องบินรบของจีนเสียชีวิต และบังคับให้เครื่องบินตรวจการณ์ อีพี-3 ของสหรัฐฯ ที่เสียหายเป็นอย่างมากต้องลงจอดบนฐานทัพจีน จีนสอบสวนและกักตัวลูกเรือ 24 คนไว้เป็นเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ ทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศทั้งสองเข้าสู่ภาวะวิกฤตที่สำคัญที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ

ในกรณีดังกล่าว นายหวาง เหว่ย นักบินชาวจีนผู้เสียชีวิต ได้บินเข้าใกล้อากาศยานสหรัฐฯ ถึงขนาดที่ลูกเรือของเรือสหรัฐฯ สามารถอ่านเห็นที่อยู่อีเมลของเขาซึ่งเขียนลงบนเศษกระดาษที่ตรึงไว้ที่ด้านในของห้องนักบิน

นายเดนนี รอย ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของจีนจากศูนย์ตะวันออก-ตะวันตก เมืองฮาวายกล่าวว่า ใน “สภาวะแวดล้อมที่อาจหาญ” ของกองทัพจีน การกระทำของนักบินอันธพาลอาจจะยากต่อการควบคุม

นายรอยเสริมว่า อย่างไรก็ดี จีนลงนามความตกลงพร้อมด้วยภาคผนวกก็เพื่อแสดงให้สหรัฐฯ เห็นว่า การท้าทายที่ก้าวร้าวบนน่านฟ้าไม่ใช่นโยบายระดับชาติเสมอไป

“นี่เป็นก้าวสำคัญในแง่ของความสัมพันธ์ทวิภาคี เนื่องจากเป็นการระบุว่าจีนเล็งเห็นผลประโยชน์ในการมีเสถียรภาพ รวมถึงการสานต่อความสัมพันธ์ในระดับกองทัพต่อกองทัพ” นายรอยกล่าว

ในขณะเดียวกัน ทะเลจีนใต้ก็ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีการเผชิญหน้าสูง โดยจีนทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงด้วยการก่อสร้างเกาะเทียมบนแนวปะการังและเกาะรูปวงแหวนที่เกิดจากหินปะการังที่อยู่ภายใต้การควบคุมของจีน รวมถึงการสร้างอาคารและทางวิ่งเครื่องบิน

พลเรือเอกสกอตต์ สวิฟต์ ผู้บัญชาการกองเรือแปซิฟิก ซึ่งเป็นผู้บัญชาการระดับสูงสุดของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในแปซิฟิกกล่าวว่า ลูกเรือของตนพร้อมที่จะลาดตระเวนในบริเวณทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล (22 กิโลเมตร) รอบเกาะที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการเน้นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะยอมรับว่าเกาะเทียมเป็นดินแดนที่มีอธิปไตย รวมถึงสหรัฐฯ ต้องการแสดงสิทธิในเสรีภาพในการเดินเรือ

พลเรือเอกสวิฟต์กล่าวว่า การแก้ไขความตกลงดังกล่าวมีนัยสำคัญมากกว่า ประมวลกฎว่าด้วยการเผชิญหน้ากันโดยไม่คาดหมายในทะเล ซึ่งมีทั้งจีน สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ เป็นสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557

พลเรือเอกสวิฟต์กล่าวว่า “ผมกังวลเกี่ยวกับน่านฟ้าเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเปลี่ยนแปลงมากกว่า”

กระทรวงกลาโหมของจีนยินดีกับการลงนามดังกล่าว โดยนายวู เฉียน โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวชมเชยว่า การแก้ไขดังกล่าวมี “นัยสำคัญในเชิงบวกต่อการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันในด้านยุทธศาสตร์ รวมถึงการหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิดและการวินิจฉัยผิดพลาด”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button