ติดอันดับ

ถามและตอบ: หากเรือของสหรัฐฯ แล่นอยู่บริเวณใกล้เกาะที่จีนครอบครองอยู่ จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

รัฐบาลจีนได้มีปฏิกิริยารุนแรงต่อเรือรบสหรัฐฯ ที่แล่นเข้ามาใกล้เกาะเทียมที่จีนเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้เมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดการเผชิญหน้าหรือลดกิจกรรมการสร้างเกาะเทียมของจีน แต่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังพันธมิตรของทั้งจีนและสหรัฐฯ ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการทดสอบการอ้างอธิปไตยของจีนและรับประกันเสรีภาพในการเดินเรือ

คำถามและคำตอบในบางประเด็น ได้แก่

มีผลกระทบอะไรบ้าง

จากที่เคยปรากฏมาก่อน รัฐบาลจีนน่าจะแสดงออกถึงความไม่พอใจในระยะหนึ่งก่อนจะกลับมามีท่าทีที่ไตร่ตรองมากขึ้นต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่สำคัญมากสำหรับจีน อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาแข็งกร้าวดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดที่มีอยู่ในภูมิภาคที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์สำหรับการขนส่งสินค้าปริมาณหนึ่งในสามของโลก สถานการณ์ที่มีความกระทบกระทั่งนี้น่าจะแย่ลงเนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ ได้กลับมาดำเนินนโยบายมุ่งเน้นความสนใจสู่เอเชียมากขึ้น ซึ่งทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงประเด็นการอ้างอธิปไตยที่แข็งกร้าวของรัฐบาลจีนสำหรับทะเลทั้งหมด รวมทั้งเกาะ แนวปะการัง และเกาะรูปวงแหวนที่เกิดจากหินปะการัง รัฐบาลจีนได้ออกมาแถลงว่า การอ้างอธิปไตยของจีนไม่ขัดแย้งกับสิทธิของประเทศอื่นที่จะดำเนินการในทะเลจีนใต้ แต่กระทรวงกลาโหมของจีนได้กล่าวหาสหรัฐฯ ว่าละเมิดสิทธิดังกล่าว

กองทัพเรือของสหรัฐฯ ได้ดำเนินการอะไรบ้าง

การเดินเรือผ่านทะเลดังกล่าวเป็นไปโดยสงบ กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้แล่นเรือพิฆาตติดจรวจนำวิถี ยูเอสเอส ลาส์เซน ในบริเวณเกาะเทียมที่สร้างบนแนวปะการังซูบีในหมู่เกาะสแปรตลี เส้นทางเดินเรือดังกล่าวอยู่ในแนวทะเลอาณาเขต 22 กิโลเมตรที่จีนอาจอ้างสิทธิรอบแนวปะการัง อย่างไรก็ดี กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาตให้เรือรบใช้สิทธิ “การผ่านโดยสุจริต” ในน่านน้ำทะเลอาณาเขตของประเทศอื่นโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า อีกทั้งไม่มีข้อมูลที่ทำให้สามารถระบุว่าเรือรบสหรัฐฯ ได้ดำเนินการอื่นใดนอกเหนือจากการแล่นผ่านน่านน้ำดังกล่าว อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ได้แถลงก่อนหน้านี้ว่า การเดินเรือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อท้าทายการอ้างสิทธิของจีน โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า เกาะที่สร้างขึ้นใหม่เป็นดินแดนภายใต้อธิปไตยของจีน

ทำไมกองทัพเรือของสหรัฐฯ ถึงได้ดำเนินการดังกล่าว

การแล่นเรือในบริเวณดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำถึงสิ่งที่สหรัฐฯ ยืนยัน นั่นคือเสรีภาพในการเดินเรือและในการบินผ่านทะเลจีนใต้ โดยมีประเทศอื่นที่นอกเหนือจากจีน ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนามที่อ้างสิทธิเหนือดินแดนในบริเวณดังกล่าวเช่นกัน แม้จะประกาศว่าตนไม่มีความเห็นเกี่ยวกับการอ้างสิทธิใด ๆ แต่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า เกาะเทียมที่สร้างโดยจีนไม่ได้ทำให้เป็นดินแดนภายใต้อธิปไตยของจีนและจีนไม่สามารถอ้างสิทธิเหนืออาณาเขตทางทะเล ทั้งนี้ นายยู เมาชุน ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนของวิทยาลัยกองทัพเรือสหรัฐฯ มีแนวคิดว่า ตราบใดที่สถานะทางกฎหมายของทะเลจีนใต้ยังไม่มีข้อยุติเป็นการถาวร เหตุการณ์กระทบกระทั่งดังกล่าวก็ยังจะ “มีขึ้นต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด”

จีนมีการตอบโต้อย่างไร

จีนมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรง โดยกล่าวว่าการเดินเรือในบริเวณดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมายและละเมิดอธิปไตยของจีน อีกทั้งเป็นการคุกคามความมั่นคงของเกาะและของภูมิภาค นอกจากนี้ การเดินเรือดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ โดยรัฐบาลจีนได้เรียกนายแมกซ์ เบาคัส เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำจีน มาเข้าพบเพื่อทำการประท้วงในระดับสูงสุด อย่างไรก็ดี พื้นฐานของการกล่าวอ้างว่าการเดินเรือดังกล่าวผิดกฎหมายยังขาดความชัดเจน ส่วนหนึ่งเนื่องจากจีนไม่เคยชี้แจงเกี่ยวกับพื้นฐานทางกฎหมายของการอ้างสิทธิเหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ นายฟิลลิป ซอนเดอร์ส ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากิจการกลาโหมของจีนประจำมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่า การตอบโต้ของจีนซึ่งยังคงดำเนินการทางวาจาเท่านั้น อาจทำให้อนุมานได้ว่ารัฐบาลจีนอาจยอมรับเสรีภาพในการเดินเรือในพื้นที่ดังกล่าว แต่ “ไม่ต้องการให้สหรัฐฯ ดำเนินการดังกล่าวโดยสม่ำเสมอ”

แล้วคนจีนทั่วไปมีความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้

ชาวจีนในกระดานสนทนาบนอินเทอร์เน็ตเรียกร้องให้รัฐบาลของตนมีท่าทีแบบไม่ผ่อนปรนต่อสหรัฐฯ หนังสือพิมพ์กระบอกเสียงรัฐบาล ไชน่า เดลี่ ลงบทบรรณาธิการกล่าวหารัฐบาลสหรัฐฯ ว่า “ได้ทำให้น้ำขุ่นมัว ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค” รวมถึงได้ใช้การข่มขู่เพื่อท้าทายการอ้างสิทธิเหนือดินแดนที่จีนเห็นว่าถูกกฎหมาย ชาวจีนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการแสดงออกถึงแสนยานุภาพทางทหารที่เหนือกว่าของจีนเพื่อเป็นการท้าทายต่อประเทศอ้างสิทธิฝ่ายตรงข้ามโดยเฉพาะฟิลิปปินส์และเวียดนาม แม้ว่ารัฐบาลจีนยังคงไม่นำกองทัพมาเกี่ยวข้องจนถึงปัจจุบัน โดยหากเปรียบกับความรู้สึกไม่ดีที่ชาวจีนมีต่อประเทศอดีตคู่อริอย่างญี่ปุ่นที่กำลังแข่งกับจีนเพื่อเข้ายึดครองเกาะที่ไม่มีผู้อาศัยในทะเลจีนตะวันออกแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาในทะเลจีนใต้แทบจะไม่มีความสำคัญ

ในระยะยาว เรื่องนี้จะมีบทสรุปอย่างไร

จีนกล่าวว่าตนจะดำเนินการสร้างก่อสร้างบนเกาะที่กระทำอยู่ต่อไป ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างอาคาร ท่าเรือ และทางวิ่งเครื่องบินบนเกาะเทียม อย่างไรก็ตาม ประเทศพันธมิตรของรัฐบาลสหรัฐฯ ในภูมิภาครู้สึกมีกำลังใจจากท่าทีของสหรัฐฯ หลังจากที่ได้กระชับความสัมพันธ์ทางการทหารกับฟิลิปปินส์ เวียดนามซึ่งเป็นอดีตศัตรู รวมถึงประเทศอื่น ๆ ทำให้เพื่อนบ้านของจีนเหล่านี้เริ่มกล้าที่จะแสดงความมุ่งมั่นในการต่อต้านความแข็งกร้าวของรัฐบาลจีน ส่วนประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาครวมทั้งสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ก็ใช้ความระมัดระวังไม่ให้ตนเข้าไปอยู่ท่ามกลางข้อพิพาทที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลจีน ทั้งนี้ ทุกฝ่ายต่างเรียกร้องให้มีการเจรจาเพื่อหาทางออกในระยะยาวเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button