ติดอันดับ

ญี่ปุ่นแสดงแสนยานุภาพของกองทัพเรือ

รอยเตอร์

กองเรือรบอันประกอบด้วยเรือบรรทุกอากาศยาน เรือลาดตระเวน เรือพิฆาตและเรือดำน้ำ รวมตัวกันอยู่บริเวณชายฝั่งของญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพของกองทัพเรือญี่ปุ่นในส่วนของเรือรบรุ่นล่าสุด รวมถึงส่งสัญญาณให้เห็นว่ากองทัพเรือสหรัฐฯ จะมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก

การตรวจกองเรือซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ในทะเลใกล้กรุงโตเกียว ถือเป็นการแสดงยุทโธปกรณ์ทางทหารครั้งใหญ่ครั้งแรกของญี่ปุ่นนับตั้งแต่ที่นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ได้รับชัยชนะจากรัฐสภาญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกนับแต่สงครามโลกครั้งที่สองให้ทหารญี่ปุ่นสามารถเข้าปกป้องกองกำลังพันธมิตรได้

นายอาเบะกำลังดำเนินการตามหลักการการป้องกันตนเองร่วมกับพันธมิตรเพื่อให้ญี่ปุ่นมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นในเรื่องความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการถ่วงสมดุลแสนยานุภาพทางทหารของประเทศที่แสดงความยืนกรานมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างจีน

ประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับการอ้างสิทธิเหนือดินแดนในพื้นที่พิพาทของทะเลจีนใต้ ได้ระบุว่ามีความกังวลเกี่ยวกับจุดยืนด้านกลาโหมของญี่ปุ่นที่กำลังเปลี่ยนไป

นายอาเบะกล่าวหลังการตรวจกองเรือให้นายทหารเรือของญี่ปุ่นเตรียมตัวพร้อมเพื่อรับมือกับภารกิจในอนาคต “เพื่อพิทักษ์สันติภาพของชาติต่อไป”

เรือที่เข้าร่วมกับกองทัพเรือญี่ปุ่นในครั้งนี้มาจากออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อินเดีย เกาหลีใต้และสหรัฐฯ รวมถึงเรือบรรทุกอากาศยานยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน ที่ประจำอยู่ที่ฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นและมีความยาวถึง 333 เมตร ทั้งนี้ มีเรือทั้งหมด 50 ลำ และอากาศยาน 61 ลำ ที่ได้เข้าร่วมการตรวจกองเรือซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี

ยุทโธปกรณ์ชิ้นเอกของกองทัพเรือญี่ปุ่นคือ เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ อิซูโม ซึ่งเป็นเรือรบที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เรือลำดังกล่าวมีความยาวตามแนวราบด้านบน 248 เมตร และได้เข้าประจำการเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการขยายสมรรถนะทางการทหารของญี่ปุ่นไปยังต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่นจัดประเภทเรือดังกล่าวให้เป็นเรือพิฆาต เพื่อให้อยู่ในขอบเขตการดำเนินการทางสันติเนื่องจากรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นห้ามการมียุทโธปกรณ์เพื่อก่อสงคราม อาทิ เรือบรรทุกอากาศยานที่สามารถส่งกำลังเข้าไปในแดนข้าศึก เป็นต้น

เพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่าบทบาทที่ทวีความสำคัญมากขึ้นของกองทัพเรือญี่ปุ่นในภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิกจะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมโดยกองเรือสหรัฐฯ ในภูมิภาค กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ส่งพลเรือโทนอรา ไทสัน ผู้บัญชาการกองกำลังเรือภาคที่สาม แห่งแปซิฟิกตะวันออกไปเข้าร่วมพิธีบนเรือกับนายอาเบะ

การมาของผู้แทนกองทัพเรือสหรัฐฯ มีขึ้นหลังสหรัฐฯ ได้ยกเลิกหารกำหนดให้เส้นแบ่งเขตวันสากลเป็นเส้นแบ่งเขตปฏิบัติการในมหาสมุทรแปซิฟิกสำหรับกองทัพเรือภาคที่เจ็ดและภาคที่สาม

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้พลเรือโทไทสันเป็นผู้มีบทบาทในการบัญชาการภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก และจะทำให้สหรัฐฯ สามารถกระจายกองเรือได้โดยเร็วไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ที่เกิดปัญหาขึ้นในภูมิภาค ตามข้อมูลที่พลเรือเอกจอห์น ริชาร์ดสัน อธิบดีกรมยุทธการทหารเรือสหรัฐฯ ระบุ

พลเรือเอกริชาร์ดสันกล่าวว่า “การมาของพลเรือโทไทสัน เป็นการรับรองว่าเรามีความยืดหยุ่นเป็นอย่างมากในการเปิดทางเลือกไว้บนโต๊ะเพื่อให้เราสามารถตอบสนองได้อย่างทันท่วงที”

กองทัพเรือด่านหน้าภาคที่เจ็ดของสหรัฐฯ ซึ่งกระจายกำลังอยู่ด้วยเรือ 80 ลำ รวมถึงเรือยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน เป็นกองกำลังของกองทัพเรือที่มีแสนยานุภาพมากที่สุดในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ส่วนกองทัพเรือภาคที่สามซึ่งท่าเรือหลักอยู่ที่เมืองซานดีเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย มีกลุ่มเรือบรรทุกอากาศยานโจมตีสี่กลุ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button