ติดอันดับ

ญี่ปุ่นมุ่งหน้าลดข้อจำกัดทางทหาร

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ญี่ปุ่นกำลังมุ่งหน้าพัฒนาทางการทหารให้มีความทัดเทียมกับกองทัพของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เพื่อจะสามารถเข้าร่วมการสู้รบได้แม้ในยามที่ตนไม่ได้อยู่ภายใต้การโจมตีโดยตรง

ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นพ้องว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดี โดยจะเห็นได้จากการส่งเสียงประท้วงของผู้คนบนท้องถนนนอกรัฐสภาและการวิพากษ์วิจารณ์ของจีนที่จะขาดเสียมิได้

กลุ่มที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมในพรรคเสรีประชาธิปไตยที่กำลังบริหารประเทศอยู่ในขณะนี้รู้สึกไม่พอใจมานานกับข้อจำกัดของกองทัพญี่ปุ่นภายใต้รัฐธรรมนูญที่กำหนดขึ้นโดยสหรัฐอเมริกาหลังได้ชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่สอง และต้องการยกเลิกสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นข้อจำกัดที่ไม่มีเหตุผลเกี่ยวกับกองทัพของประเทศ

แม้กองทัพญี่ปุ่นจะยังคงอยู่ห่างไกลจากความเป็นอิสระ แต่ชุดร่างกฎหมายที่ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาก็เป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งในการยกเลิกข้อจำกัดอย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งมีการดำเนินการมานานกว่าสองทศวรรษ แม้ชุดร่างกฎหมายใหม่นี้อาจไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามจริงมากมายนัก แต่นายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะ ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับฝ่ายค้านก็สามารถเปลี่ยนแปลงกรอบการทำงานด้านการรักษาความมั่นคงของญี่ปุ่นได้อย่างมีนัยสำคัญ และผลักดันให้กองทัพของประเทศมีสถานะที่ฝ่ายสนับสนุนเรียกว่า “กองทัพแบบปกติ” มากขึ้น

เริ่มแรกนั้น ญี่ปุ่นถูกจำกัดไม่ให้มีกองทัพอยู่เลยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากสหรัฐอเมริกาซึ่งครอบครองญี่ปุ่นในช่วงปี พ.ศ. 2488-2495 ต้องการที่จะขจัดแนวคิดแบบแสนยนิยมที่ก่อให้เกิดสงคราม

มาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญใหม่ที่เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2490 ระบุว่า ประชาชนญี่ปุ่นยกเลิกการใช้กำลังในการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ และสละสิทธิในการดำรงกองกำลังทางบก ทางทะเลและทางอากาศเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในวรรคแรก

แต่แล้วสงครามเกาหลีที่ปะทุขึ้นก็ทำให้สหรัฐฯ เปลี่ยนความคิด สหรัฐฯ เริ่มมองว่าญี่ปุ่นมีศักยภาพในการเป็นพันธมิตรในช่วงสงครามเย็นมากกว่าจะเป็นภัยคุกคาม เมื่อมีคำเรียกร้องจากอเมริกา ญี่ปุ่นจึงได้จัดตั้งสิ่งที่เรียกว่ากองกำลังป้องกันตนเองขึ้นในปี พ.ศ. 2497 แม้บางคนจะยังมีข้อสงสัยในเรื่องความชอบของรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้คนส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่ามาตรา 9 ช่วยให้ญี่ปุ่นมีกองทัพขนาดใหญ่และมียุทโธปกรณ์ครบครันเพื่อการป้องกันประเทศ

เมื่อเวลาผ่านไป รัฐบาลญี่ปุ่นที่มักจะได้รับแรงกดดันจากสหรัฐฯ ได้ขยายคำจำกัดความเกี่ยวกับการป้องกันตนเองอยู่บ่อยครั้งเพื่อจะสามารถส่งกำลังทหารไปปฏิบัติภารกิจในตะวันออกกลาง แอฟริกาและที่อื่น ๆ แม้จะไม่ได้ลงมือสู้รบจริง และการกระทำดังกล่าวก็มักจะได้รับการต่อต้านจากประชาชนอย่างรุนแรง

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นในช่วงสงครามอ่าวครั้งแรกในระหว่างปี พ.ศ. 2533-2534 ญี่ปุ่นซึ่งขณะนั้นกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้จัดส่งเงินทุนจำนวนมากไปสนับสนุนภารกิจ แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าให้น้อยเกินไป ช้าเกินไปและไม่ยอมส่งกำลังคนไปร่วมภารกิจ

“วิกฤติสงครามอ่าวกดดันให้ญี่ปุ่นต้องตัดสินและรับมือกับคำถามมากมายที่ญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน” กระทรวงการต่างประเทศระบุในรายงานประจำปี พ.ศ. 2534

ในปีต่อมา แม้จะมีเสียงคัดค้าน แต่รัฐสภาก็ได้อนุญาตให้กองทัพเข้าร่วมการปฏิบัติการรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก แม้ว่าจะเป็นเพียงบทบาททางพลเรือน เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการรักษาความสงบเรียบร้อย

สิบปีต่อมา ญี่ปุ่นได้อนุมัติกฎหมายพิเศษในช่วงที่เกิดเหตุวินาศกรรมในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 (เหตุการณ์ 9/11) เพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถส่งเรือของกองทัพเรือไปยังมหาสมุทรอินเดียเพื่อเติมน้ำมันให้กับเรือของกองกำลังผสมนานาชาติที่นำโดยสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2547 ญี่ปุ่นได้อนุมัติกฎหมายพิเศษใหม่อีกข้อเพื่อจัดส่งกองกำลังไปยังอิรักได้หนึ่งครั้งเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้าง

การออกกฎหมายฉบับล่าสุดทำให้ญี่ปุ่นสามารถทำหลาย ๆ กิจกรรมเหล่านี้ได้อย่างเป็นทางการ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายพิเศษในแต่ละครั้ง แต่การจัดส่งกำลังทหารไปปฏิบัติภารกิจโดยทั่วไปยังต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา

ข้อบัญญัติที่เป็นประเด็นโต้แย้งรุนแรงที่สุดคือการอนุญาตให้กองทัพปกป้องพันธมิตรที่ถูกโจมตี ซึ่งกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในยุคหลังสงคราม แต่กองทัพจะกระทำการดังนั้นได้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามอันร้ายแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น

ปัจจุบัน ทางการสหรัฐฯ ดำเนินการอย่างระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะทำให้ญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายทางทหาร อย่างน้อยก็เท่าที่เห็นได้อย่างเปิดเผย เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายเรื่องการขยายตัวของกองทัพจีนและภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ สหรัฐฯ กล่าวว่าตนยินดีกับทุกสิ่งที่ญี่ปุ่นสามารถทำได้เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางทหารในระดับทวิภาคีและมีส่วนร่วมมากขึ้นในด้านการรักษาความมั่นคงในภูมิภาคภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญของประเทศ

นายอาเบะมีความกระตือรือร้นที่จะทำให้ญี่ปุ่นมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นในระดับนานาชาติ แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังคงไม่แน่ใจในนโยบายดังกล่าว ถึงแม้เศรษฐกิจจะซบเซา แต่ญี่ปุ่นก็มีความสงบสุขมานานหลายทศวรรษภายใต้รัฐธรรมนูญที่ยกเลิกการทำสงครามเพื่อปูทางไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ นั่นคือที่มาของความภาคภูมิใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับการพ่ายแพ้สงครามและความเสียหายอันรุนแรงที่เป็นผลมาจากรัฐบาลที่นำโดยกองทัพในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่  20 (พ.ศ. 2444-2543)

ชาวญี่ปุ่นไม่ได้ต่อต้านทหารอีกต่อไปอย่างที่เคยเป็นมาหลายทศวรรษทันทีที่สงครามสิ้นสุดลง แต่ก็มีความรักสงบอย่างเหนียวแน่นมานานเกือบ 70 ปีหลังสงคราม ดังจะเห็นได้จากความสับสนวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกรัฐสภาในช่วงที่ออกกฎหมายว่าด้วยเรื่องการรักษาความมั่นคง เป้าหมายระยะยาวของนายอะเบะคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่นั่นก็เป็นความท้าทายที่ยากลำบากยิ่ง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button