ติดอันดับ

ฟิลิปปินส์จะเปิดฐานทหารใกล้กับทะเลที่มีกรณีพิพาท

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

นายวอลแตร์ กัซมิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์กล่าวในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 ว่า ฟิลิปปินส์จะดำเนินการตามแผนในการเปิดฐานทหารที่อ่าวซูบิกซึ่งหันหน้าออกสู่ทะเลจีนใต้ที่กำลังมีกรณีพิพาท แม้จะไม่มีกองทหารอเมริกันเข้าไปประจำการตามที่วางแผนไว้ก็ตาม

นายกัซมินประกาศแผนการนี้เมื่อสองปีที่แล้วที่จะเปิดฐานทัพอากาศและฐานทัพเรือที่ซูบิก เบย์ ฟรีพอร์ต เพื่อให้เครื่องบินขับไล่ไอพ่นและเรือฟริเกตสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินใด ๆ ในน่านน้ำที่กำลังมีกรณีพิพาทได้เร็วขึ้น การตัดสินใจย้ายฐานทัพไปยังอ่าวซูบิกเป็นผลมาจากความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่ประเทศที่อ้างสิทธิในดินแดน อาทิ จีน ฟิลิปปินส์ และรัฐบาลของชาติอื่น ๆ อีกสี่ประเทศ

ฟิลิปปินส์ได้ลงนามในข้อตกลงเมื่อปี พ.ศ. 2557 เพื่อให้กองกำลังอเมริกันสามารถเข้าไปประจำการที่ฐานทัพได้ชั่วคราวรวมถึงที่อ่าวซูบิก แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายได้ตั้งข้อสงสัยต่อศาลสูงสุดว่าข้อตกลงดังกล่าวนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ

นายกัซมินกล่าวว่ารัฐบาลจะเริ่มสร้างฐานทัพเร็ว ๆ นี้ แม้ว่าในที่สุดแล้วศาลสูงสุดจะประกาศคำพิพากษาไม่ให้กองกำลังอเมริกันเข้าไปประจำการในพื้นที่

“ฐานทัพแห่งนี้มีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมมากทางด้านยุทธศาสตร์เนื่องจากมันหันหน้าออกสู่ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก” นายกัซมินกล่าวโดยเรียกชื่อทะเลจีนใต้ตามชื่อที่ฟิลิปปินส์ใช้

อ่าวซูบิกซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเป็นระยะทาง 80 กิโลเมตร เคยเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือที่ใหญ่สุดในต่างแดนของรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อนที่จะปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2535 ถือเป็นการสิ้นสุดการปรากฏตัวของกองทัพสหรัฐฯ ที่ดำเนินมาเกือบหนึ่งศตวรรษ สามปีต่อมา จีนได้เข้ายึดแนวหินโสโครกที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่มีการอ้างสิทธิโดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ กระตุ้นให้เหล่าวุฒิสมาชิกฟิลิปปินส์ให้สัตยาบันรับรองข้อตกลงที่อนุญาตให้กองกำลังอเมริกันกลับมาฝึกซ้อมรบประจำปีอีกครั้ง

ฟิลิปปินส์พยายามเร่งปรับปรุงกองทัพของตนให้มีความทันสมัยในระหว่างที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับดินแดน เนื่องจากกองทัพฟิลิปปินส์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่อ่อนแอที่สุดในเอเชีย ฟิลิปปินส์ได้ซื้อเครื่องบินขับไล่ไอพ่นใหม่ 12 ลำที่ผลิตในเกาหลีใต้ โดยสองลำแรกจะมีการส่งมอบในช่วงปลายปี พ.ศ. 2558 และจะนำไปประจำการที่อ่าวซูบิก นายกัซมินกล่าว

นายโรเบอร์โต การ์เซีย ผู้บริหารอ่าวซูบิกกล่าวว่า กองทัพอากาศฟิลิปปินส์จะสร้างฐานทัพเพื่อรองรับบุคลากรประมาณ 200 คนในพื้นที่สนามบินฟรีพอร์ตซึ่งจะยังคงเปิดให้เครื่องบินพาณิชย์เข้ามาใช้บริการ กองทัพเรือฟิลิปปินส์จะได้รับอนุญาตให้ใช้ท่าเทียบเรือและที่จอดเรืออย่างน้อยสองแห่งจากทั้งหมด 15 แห่งซึ่งจะยังคงเปิดให้ใช้พลเรือนใช้เช่นเดียวกัน นายการ์เซียกล่าว นอกจากนี้ยังจะมีการสร้างฐานทัพเรือขึ้นอีกด้วย

“ข้อตกลงของเราคือ การปฏิบัติการทางทหารจะมีความสำคัญเร่งด่วนในกรณีที่ประเทศประสบภาวะฉุกเฉินเท่านั้น” นายการ์เซียกล่าว

ข้อตกลงกับกระทรวงกลาโหมจะทำให้กองทัพสามารถใช้พื้นที่ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่อาคารที่ปลูกสร้างใหม่และโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการปรับปรุงจะถูกโอนกรรมสิทธิ์ไปให้กับฝ่ายบริหารฟรีพอร์ตเมื่อสัญญาที่มีอายุ 15 ปีสิ้นสุดลง ซึ่งอาจต่อสัญญากันอีกได้ นายการ์เซียกล่าวว่า ทางฟรีพอร์ตสามารถจัดสรรพื้นที่ทางทหารขนาดใหญ่ขึ้นได้หากกองกำลังอเมริกันได้รับอนุญาตให้เข้ามาใช้พื้นที่ในฐานทัพฟิลิปปินส์

ธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้งโรงแรมและร้านอาหารมีแนวโน้มว่าจะสนับสนุนให้กองทัพกลับมายังอ่าวซูบิกอีกครั้งหลังจากที่พื้นที่นี้ไม่ได้ถูกใช้เป็นฐานทัพมานานกว่า 20 ปี อันเนื่องมาจากนโยบายปฏิรูปทางการค้าและการรักษาความมั่นคงที่ครอบคลุม ที่สำคัญที่สุดคือ การมีฐานทัพใกล้กับทะเลจีนใต้จะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการป้องกันอาณาเขต นายการ์เซียกล่าวโดยอ้างถึงกรณีที่ชาวฟิลิปปินส์ถูกขับไล่ออกจากแนวหินโสโครกที่เป็นแหล่งประมงดั้งเดิมของตนมาหลายทศวรรษ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จีนยึดครองในขณะนี้

“มันคือภัยคุกคาม ด้วยเหตุนี้ กองกำลังอเมริกันจึงต้องเข้าปรากฏตัวอย่างจริงจังในพื้นที่นี้” นายการ์เซียกล่าว “ประชาชนของเราถูกยิงขับไล่ด้วยปืนฉีดน้ำแรงดันสูงจนคนเหล่านี้ไม่สามารถจับปลาและหาเลี้ยงชีพได้”

เอกสารที่ปกปิดเป็นความลับของกระทรวงกลาโหมที่ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรสได้รับมาระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและการปรับปรุงฐานทัพอากาศในซูบิกนั้นน่าจะน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการสร้างฐานทัพอากาศใหม่ เนื่องจากอ่าวซูบิกมีพื้นที่ใช้งานกว้างใหญ่อยู่แล้ว และมีทางวิ่งเครื่องบินและอาคารสถานที่ด้านการบินที่เป็นมาตรฐานระดับโลก

หลายคนกลัวว่าข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนในทะเลจีนใต้ ซึ่งยังมีบรูไน มาเลเซีย เวียดนามและไต้หวันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อาจกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจของเอเชีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button