ติดอันดับ

ญี่ปุ่นกำลังเจรจากับออสเตรเลียเรื่องการทำสัญญาสร้างเรือดำน้ำ

รอยเตอร์

กลุ่มธุรกิจค้าร่วมของญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งกำลังเจรจาต่อรองทำสัญญาซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาด้านการป้องกันประเทศที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก นั่นคือโครงการมูลค่า 3 หมื่น 5 พัน 6 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือราว ๆ 13 ล้านล้านบาท) ในการสร้างเรือดำน้ำให้กับออสเตรเลีย และได้เริ่มดำเนินการตอบสนองต่อประชาชนท้องถิ่นเพื่อขจัดข้อกังวลต่าง ๆ เกี่ยวกับการประมูลในครั้งนี้

กลุ่มธุรกิจค้าร่วมระหว่างมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรีส์ และคาวาซากิ เฮฟวี่ อินดัสตรีส์ ได้รั้งรออยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะประกาศต่อสาธารณชนถึงความตั้งใจของกลุ่มในการสร้างเรือดำน้ำในเมืองแอดิเลด ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการต่อเรือเพื่อการป้องกันประเทศของออสเตรเลีย

บริษัทคู่แข่ง ได้แก่ ไธเซนครับบ์ มารีน ซิสเทมส์ ของเยอรมนี และ ดีซีเอ็นเอส ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาธุรกิจทางทะเลที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลฝรั่งเศสกล่าวว่า พวกเขาจะสร้างเรือดำน้ำทั้งหมดขึ้นในประเทศออสเตรเลีย โดยตั้งเป้าที่จะช่วยให้รัฐบาลออสเตรเลียได้รับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองจากข้อเสนอดังกล่าว

ผู้บริหารของกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นและเจ้าหน้าที่กลาโหมของรัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มต้นการประชุมกับผู้รับเหมางานด้านกลาโหม เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นและสหภาพแรงงานในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 ที่เมืองแอดิเลด อันเป็นเมืองหลวงของรัฐเซาท์ออสเตรเลีย

นายโทนี แอบบอตต์ นายกรัฐมนตรี กำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากพรรคอนุรักษ์นิยมลิเบอรัลของเขา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐและสหภาพแรงงาน เพื่อให้รับรองว่าเรือดำน้ำล่องหนนี้จะได้รับการสร้างขึ้นภายในประเทศ

เจ้าหน้าที่รัฐบาลของรัฐเซาท์ออสเตรเลียยืนกรานว่าจะต้องมีแรงงานท้องถิ่นอย่างน้อยร้อยละ 70 ที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้

“รัฐบาลของรัฐ ตลอดจนอุตสาหกรรมและแรงงานด้านกลาโหมภายในท้องถิ่น มีความมุ่งมั่นที่จะปกป้องประเทศออสเตรเลียโดยการสร้างอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศที่มีความแข็งแกร่งซึ่งให้การสนับสนุนต่อคนงานในอู่ต่อเรือของเรา” นายมาร์ติน แฮมิลตัน-สมิธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระบุ “ยังไม่สายเกินไปที่จะสร้างความเชื่อมั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมด้วยการไม่พิจารณาอนุมัติข้อเสนอจากบริษัทต่อเรือลูกผสมหรือบริษัทต่างประเทศ”

คณะทำงานของญี่ปุ่นกำลังเจรจากับแบ็บคอค อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป และบีเออีซิสเทมส์ของอังกฤษ ซึ่งมีการดำเนินงานด้านการผลิตอยู่ในออสเตรเลีย เพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันให้มีการใช้แรงงานท้องถิ่นในโครงการมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อุตสาหกรรมการผลิตในออสเตรเลียยังคงอยู่ในสภาวะไม่มั่นคง เนื่องจากการตัดสินใจของฟอร์ด โตโยต้า และ เจอเนอรัล มอเตอร์ส ที่จะหยุดการผลิตในประเทศในปี พ.ศ. 2559

นายฌอน เอ็ดเวิร์ดส สมาชิกวุฒิสภาจากพรรคลิเบอรัล ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจของวุฒิสภาในรัฐสภาออสเตรเลียกล่าวว่า เขาได้สื่อสารในเรื่องนี้ให้เจ้าหน้าที่ของทางญี่ปุ่นทราบหลายครั้งเกี่ยวกับความสำคัญในเชิงการเมืองที่จะต้องยืนกรานให้ทำการต่อเรือในประเทศออสเตรเลีย

นายแอบบอตต์กล่าวถึงญี่ปุ่นว่าเป็น “เพื่อนสนิทที่สุดในเอเชีย” ของออสเตรเลีย นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังมีความสนใจที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรในเอเชียที่สำคัญทั้งสองประเทศของตนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button