ติดอันดับ

อดีตเชลยศึกชาวเกาหลีเหนือเดินทางกลับไปยังเกาหลีใต้เพื่อย้อนรอยสงครามเกาหลี

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

เมื่อกลับไปยังประเทศที่ตนเคยถูกคุมขังในฐานะเชลยศึกในช่วงทศวรรษที่ 1950 (พ.ศ. 2493-2502) อดีตทหารเกาหลีเหนือสองนายขณะนี้ประสบกับการต่อต้านหรือความไม่เป็นมิตรอยู่เพียงเล็กน้อย อย่างน้อยเมื่อมองเผิน ๆ พวกเขายังได้รับการต้อนรับจากทหารผ่านศึกที่เคยสู้รบเพื่อเกาหลีใต้ การกลับมาในครั้งนี้ยังนำมาซึ่งความทรงจำอันขมขื่นเกี่ยวกับสงครามและทำให้พวกเขากลับไปมีความรู้สึกที่ต่อต้านอีกครั้ง

อดีตทหารสองนายนี้เป็นส่วนหนึ่งของเชลยศึกชาวเกาหลีเหนือทั้งหมด 76 คนที่ถูกคุมขังในเกาหลีใต้ที่เลือกไปตั้งรกรากใหม่ในต่างประเทศเมื่อสงครามเกาหลีในช่วงปี พ.ศ. 2493-2496 สิ้นสุดลง ในระหว่างสงครามเย็นที่มีการแข่งขันอันรุนแรงระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ คนเหล่านี้ถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ เป็นนักฉวยโอกาสหรือเป็นพวกไม่เลือกข้าง และได้เสียชีวิตลงในต่างประเทศทีละคน ๆ ขณะนี้เชื่อว่ามีคนที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ถึง 12 คน

นายคิม เมียงบก และนายคัง ไฮดง กลับมายังเกาหลีใต้อีกครั้งเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 พร้อมกับผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเกาหลีใต้ที่กำลังสร้างภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับอดีตเชลยศึก

ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่มีชื่อว่า “การกลับบ้าน” มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามเส้นทางชีวิตอันผันผวนของอดีตเชลยศึกดังกล่าว แต่การเดินทางไปยังที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งนั้นอาจไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐบาลเกาหลีเหนือยังไม่อนุญาตให้คนเหล่านี้เข้าไปยังเกาหลีเหนือ

นายคิมซึ่งมีอายุ 79 ปีและอาศัยอยู่ในบราซิลหมดหวังที่จะได้กลับไปยังเกาหลีเหนืออีกครั้ง เพราะคิดว่านี่คือโอกาสสุดท้ายของตน

“ผมออกจากบ้านมาตั้งแต่ยังหนุ่มและผมไม่รู้เลยว่าครอบครัวของผมยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า ผมหวังว่าจะได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดก่อนที่ผมจะตาย” นายคิมให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวด้วยน้ำตานองหน้าในระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงโซลเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 “พ่อกับแม่ของผมต้องเสียชีวิตไปแล้วแน่ ๆ แต่ผมก็ยังอยากกลับไปแม้จะได้เห็นเพียงเถ้าถ่านของท่าน”

นายคัง วัย 86 ปีที่อาศัยอยู่ในซานฟรานซิสโก ไม่ต้องการที่จะกลับไปยังเกาหลีเหนือด้วยเหตุผลที่เขาปฏิเสธที่จะพูดถึง

ข้อตกลงหยุดยิงอันเปราะบางที่ทำให้สงครามเกาหลีสงบลงด้วยการพักรบยังไม่ได้ลงเอยด้วยการทำสนธิสัญญาสันติภาพ ดังนั้นโดยหลักการแล้วคาบสมุทรแห่งนี้ยังอยู่ในภาวะสงครามและถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนตามแนวชายแดนที่มีปราการแน่นหนามากที่สุดในโลก

สำหรับนายคิมซึ่งเป็นตัวละครหลักในภาพยนตร์สารคดีนั้น นี่เป็นครั้งแรกของเขาที่ได้เดินทางกลับมายังเกาหลีใต้นับตั้งแต่จากไปในปี พ.ศ. 2497 เพื่อไปตั้งรกรากใหม่เป็นเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลอย่างเมืองกุยาบาในรัฐมาตูโกรสซูซึ่งอยู่ทางตะวันตกของบราซิล ส่วนนายคังซึ่งเป็นบาทหลวงเกษียณอายุนั้นเคยเดินทางมายังเกาหลีใต้สองสามครั้งแล้ว

ในเกาหลีใต้ คนทั้งสองพยายามที่จะฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับสงครามที่กำลังเลือนหายไป พวกเขาได้เดินทางไปยังพื้นที่ค่ายกักกันเชลยที่กลายเป็นถนนในตัวเมืองอันพลุกพล่านหรือเป็นพื้นที่ว่างเปล่า พิพิธภัณฑ์สงคราม อัฐิสถานซึ่งเป็นที่เก็บเถ้าถ่านของอดีตเพื่อนเชลยศึก และเมืองที่นายคิมได้กลายเป็นเชลยศึก พวกเขายังได้พบกับผู้คนที่มีความเจ็บปวดเหมือน ๆ กันซึ่งรวมถึงภรรยาม่ายของนักโทษคนหนึ่งและเชลยศึกที่ได้กลายเป็นพระภิกษุที่เลือกที่จะอยู่ในเกาหลีใต้หลังสงคราม

ในห้องโสตทัศน์ที่พิพิธภัณฑ์สงครามในกรุงโซล นายคิมได้เห็นฉากสงครามเกาหลีอย่างเต็มตาอีกครั้งและเดินออกมาจากห้องพร้อมกับน้ำตา นายคิมรับประทานยาระงับประสาทแบบดั้งเดิมเมื่อเดินทางไปยังเกาะทางตอนใต้ที่เขาถูกคุมขังและกล่าวว่า “รู้สึกปวดใจ” ในระหว่างที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์เชลยศึกที่นั่น ตามคำกล่าวของนายโช เคียงดุก ผู้กำกับภาพยนตร์ที่เดินทางมากับนายคิมและนายคัง

พวกเขายังได้ไปเยือนเมืองยางเปียงซึ่งเป็นเมืองเกษตรกรรมขนาดเล็กแห่งหนึ่งใกล้กลับกรุงโซล ที่นายคิมยอมจำนนต่อกองทัพเกาหลีใต้เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพประชาชนเกาหลีเหนือในปี พ.ศ. 2493 ที่นั่น นายคิมพบว่าทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปหมด

“ผมหาที่ที่ผมกลายเป็นเชลยศึกไม่พบ ผมจำได้แค่ว่ามันเป็นพื้นที่หุบเขา” นายคิมกล่าว

อดีตเชลยศึกชาวเกาหลีเหนือส่วนใหญ่ได้ออกจากคาบสมุทรไปตั้งรกรากใหม่ในบราซิล อาร์เจนตินาและอินเดียนั้น แต่มีอยู่ 10 รายที่สมัครใจกลับมายังเกาหลีเหนือหรือเกาหลีใต้ เริ่มแรกนั้นนายคังอพยพไปยังบราซิล จากนั้นจึงย้ายไปยังสหรัฐอเมริกา คนเหล่านี้มีหน้าที่การงานต่าง ๆ กัน อาทิ ศาสตราจารย์ทางการแพทย์ เจ้าของเหมืองหินและบาทหลวง แต่คนอื่น ๆ ต้องดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงชีพ บางคนต้องทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยทางจิต

อดีตเชลยศึกหลายคนเลือกที่จะไม่อยู่ในเกาหลีใต้เพราะกังวลว่าจะต้องใช้ชีวิตในที่ที่ไม่มีญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงพร้อมกับถูกตราหน้าว่าเป็นอดีตทหารคอมมิวนิสต์ พวกเขายังกลัวบทลงโทษของเกาหลีเหนือฐานถูกจับกุมตัวในเกาหลีใต้ นายคังกังวลเรื่องความปลอดภัยของญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ในเกาหลีเหนือ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button