ติดอันดับ

ฝูงชนเป็นกำลังใจให้อินเดียและบังกลาเทศในการแลกเปลี่ยนดินแดน

เอเจนซ์ ฟรานซ์ เพรส

นี่คือที่ที่เราอยู่ เห็นไหม ตรงนี้ในแผนที่นายโมฮัมเหม็ด มานซูร์ อาลี จิ้มนิ้วลงไปบนแผ่นหนังสีเหลืองที่ขาดลุ่ย

นี่คือบังกลาเทศ และพื้นที่ทั้งหมดรอบ ๆ เราคืออินเดีย

นายอาลีวัย 74 ปี แสดงบันทึกเกี่ยวกับดินแดนที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่มีการสำรวจเมืองปัวเตอร์คูตี ซึ่งเป็นดินแดนแทรกของบังกลาเทศในรัฐเบงกอลตะวันตกที่อยู่ทางภาคตะวันออกของอินเดีย

เราเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอินเดียของบริเตนในขณะนั้น ผมมีโฉนดที่ดินดั้งเดิมของครอบครัวที่มีตราประทับของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ซึ่งเป็นพระจักรพรรดิของอินเดีย ผมยังมีโฉนดใบหนึ่งจากปากีสถานตะวันออกและใบหนึ่งจากบังกลาเทศ แต่ไม่มีใบไหนที่มาจากอินเดีย นายอาลีกล่าวกับบีบีซีในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558

นายอาลีเป็นเพียงหนึ่งในประชาชนราว 50,000 คน ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแทรกขนาดเล็กต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวในอินเดียและบังกลาเทศ โดยดินแดนแทรกที่ตั้งอยู่ในประเทศหนึ่งกลับเป็นดินแดนของอีกประเทศหนึ่ง

แต่ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ฝูงชนพากันเฉลิมฉลองด้วยความปีติยินดีที่บังกลาเทศและอินเดียแลกเปลี่ยนดินแดนขนาดเล็กกัน ถือเป็นการยุติความขัดแย้งเกี่ยวกับชายแดนซึ่งเป็นหนึ่งในกรณีที่ยืดเยื้อที่สุดในโลก เมื่อผ่านพ้นเที่ยงคืนไป 1 นาที ประชาชนหลายพันคนที่ดำรงชีวิตโดยปราศจาก โรงเรียน คลินิกหรือไฟฟ้ามาชั่วชีวิตต่างลุกขึ้นโห่ร้องเพื่อเฉลิมฉลองการเป็นพลเมืองของประเทศใหม่

“เราอยู่ในความมืดมาเป็นเวลา 68 ปี” นายรัสเซล คานดาเกอร์ วัย 20 ปีกล่าว โดยอ้างถึงช่วงเวลาตั้งแต่มีการแบ่งแยกดินแดนของจักรวรรดิอินเดียของบริเตนในปี พ.ศ. 2490

นายคานดาเกอร์เต้นรำกับเพื่อน ๆ ในเมืองดาชีอาร์ ชะชารา ซึ่งเป็นดินแดนแทรกของอินเดียแต่ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบังกลาเทศ

“เราได้เห็นแสงสว่างในที่สุด” นายคานดาเกอร์กล่าว

ดินแดนแทรกทั้งหมด 162 แห่ง ซึ่งอยู่ในบังกลาเทศ 111 แห่งและในอินเดีย 51 แห่งจะถูกส่งมอบอย่างเป็นทางการให้กับประเทศที่โอบล้อมดินแดนนั้นอยู่ หลังจากที่รัฐบาลบังกลาเทศและอินเดียบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับชายแดนในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558

ในเมืองดาชีอาร์ ชะชารา ประชาชนหลายพันคนต่างเฉลิมฉลองโดยไม่หวั่นเกรงฝนในช่วงมรสุม ผู้คนออกมาเดินตามถนนที่เต็มไปด้วยโคลนพร้อมกับร้องเพลงชาติบังกลาเทศและตะโกนว่า “ประเทศของฉัน ประเทศของคุณ บังกลาเทศ! บังกลาเทศ!” นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จากบังกลาเทศและอินเดียยังได้ชักธงชาติในดินแดนใหม่ของตนในวันก่อนหน้านั้นเพื่อทำพิธีส่งมอบดินแดนอย่างเป็นทางการ

นายชาฟิกัล อิสลาม หัวหน้าคณะบริหารของรัฐบาลในเขตพื้นที่ทางตอนเหนือของเมืองเดบิกันจ์กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลบังกลาเทศจะเริ่มใช้ “แผนแม่บทแบบเร่งด่วน” เพิ่อพัฒนาดินแดนแทรกต่าง ๆ แผนดังกล่าวรวมถึงการสร้างถนน โรงเรียน สายไฟและคลินิกใหม่ทั้งหมด

ดินแดนแทรกเหล่านี้ถือกำเนิดมานานหลายศตวรรษแล้ว โดยมีการกำหนดข้อตกลงการเป็นกรรมสิทธิ์ระหว่างเจ้าผู้ครองดินแดนต่าง ๆ

ดินแดนดังกล่าวยังคงอยู่เมื่อมีการแบ่งแยกอนุทวีปในปี พ.ศ. 2490 หลังจากที่อังกฤษเข้าปกครอง และถูกแบ่งแยกอีกครั้งหลังจากที่บังกลาเทศทำสงครามกับปากีสถานเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชในปี พ.ศ. 2514 บังกลาเทศลงนามในข้อตกลงกับอินเดียในปี พ.ศ. 2517 เพื่อพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของดินแดนเหล่านี้ แต่อินเดียเพิ่งลงนามในขั้นตอนสุดท้ายของข้อตกลงนี้ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเมื่อนายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที ไปเยือนกรุงธากา

ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงสุดท้ายก่อนการแลกเปลี่ยนดินแดน ชาวบ้านได้จัดงานฉลองเป็นพิเศษและร่วมสวดมนต์ในมัสยิดและวัดฮินดู

นายประธีป คูมาร์ บาร์มัน นำพรรคพวกของตนไปชุมนุมกันใกล้วัดที่ตลาดหลักในเมืองดาชีอาร์ ชะชารา โดยส่งเสียงร้องเพลงว่า “ช่างสุขใจอะไรอย่างนี้ สุขใจอะไรอย่างนี้!”

“นี่คือการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของฉัน ฉันอธิบายความรู้สึกของตัวเองไม่ถูกเลยในวันนี้” นางปารุล คาตัน วัย 35 ปี ผู้อาศัยอยู่ในเมืองคต บัจนี ซึ่งเป็นดินแดนแทรกของอินเดียกล่าว

ทั้งอินเดียและบังกลาเทศได้ทำการสำรวจในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 โดยขอให้ประชาชนในดินแดนแทรกต่าง ๆ เลือกประเทศ ประชาชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในดินแดนแยกของอินเดียในบังกลาเทศเลือกที่จะเป็นพลเมืองบังกลาเทศ แต่ก็มีคนเกือบ 1,000 คนในพื้นที่บังกลาเทศที่เลือกจะเป็นพลเมืองอินเดียเหมือนเดิม ดังนั้น คนเหล่านี้จะต้องออกจากบ้านของตนภายในเดือนพฤศจิกายนเพื่อย้ายไปอยู่อินเดีย โดยจะไปตั้งรกรากใหม่ในรัฐเบงกอลตะวันตก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button