ติดอันดับ

ญี่ปุ่นอาจมอบเครื่องบินให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์เพื่อใช้ในการลาดตระเวนทางทะเล

รอยเตอร์

ญี่ปุ่นต้องการมอบเครื่องบินให้กับฟิลิปปินส์เพื่อให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ใช้ในการการลาดตระเวนในทะเลจีนใต้ ซึ่งถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความบาดหมางกับจีนมากที่สุดอันเนื่องมาจากกรณีพิพาทเกี่ยวกับเส้นทางเดินเรือในทะเล

แหล่งข่าวหลายรายระบุว่า ญี่ปุ่นมีความคิดที่จะมอบเครื่องบินบีชคราฟต์ ทีซี-90 คิง แอร์ ที่สามารถติดตั้งอุปกรณ์เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำและทางอากาศให้แก่ฟิลิปปินส์เป็นจำนวนสามลำ

แหล่งข่าวระบุว่า แผนการดังกล่าวยังอยู่ในช่วงการหารือกันเบื้องต้นภายในรัฐบาลญี่ปุ่นและจะต้องแก้ไขข้อติดขัดทางด้านกฎหมายเพื่อให้แผนการนี้สัมฤทธิผล แหล่งข่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ญี่ปุ่นยังไม่ได้เสนอให้เครื่องบินรุ่นนี้อย่างเป็นทางการเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากเครื่องบินล็อกฮีด มาร์ติน พี3-ซี ที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งรัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องการมีไว้เพื่อติดตามกิจกรรมเรือดำน้ำของจีน

บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางการทหารและการป้องกันของฟิลิปปินส์ในกรุงมะนิลากล่าวว่า ไม่เคยได้ยินถึงความเป็นไปได้ในการบริจาคเครื่องบินทีซี-90 ที่ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบพรอพแบบสองเครื่องยนต์ ซึ่งญี่ปุ่นเคยใช้ฝึกนักบินของกองทัพ

“ฟิลิปปินส์ไม่มีอากาศยานมากพอที่จะทำการลาดตระเวนอย่างสม่ำเสมอในทะเลจีนใต้” แหล่งข่าวรายหนึ่งในญี่ปุ่นกล่าว

การบริจาคเครื่องบินที่แม้จะเป็นเครื่องบินขนาดเล็กก็ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับกองทัพฟิลิปปินส์ ซึ่งมีเครื่องบินปีกติดลำตัวตัวอยู่เพียงไม่กี่ลำที่สามารถใช้ในการลาดตระเวนทางทะเลได้

รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้อ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ แต่มีความกังวลเกี่ยวกับการสร้างเกาะเทียมเจ็ดแห่งของจีนในน่านน้ำบริเวณหมู่เกาะสแปรตลี ที่จะเป็นการขยายอิทธิพลของกองทัพจีนเข้าไปในเขตเส้นทางเดินเรือซึ่งเรือสินค้าส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นแล่นผ่าน

ความกังวลเกี่ยวกับหมู่เกาะดังกล่าวเป็นหัวข้อหลักของการประชุมในระดับภูมิภาคที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 ระหว่างบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับประเทศอื่น ๆ อาทิ ญี่ปุ่น จีนและสหรัฐอเมริกา

การจัดหาเครื่องบินที่มีขีดความสามารถในการลาดตระเวนทางทะเลให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์จะเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับวาระด้านความมั่นคงที่แข็งแกร่งมากขึ้นของนายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะ แต่มีแนวโน้มว่าจะทำให้จีนโกรธ เนื่องจากจีนได้กล่าวหาซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าญี่ปุ่นเข้าไปแทรกแซงการพิพาทในทะเลจีนใต้

โฆษกกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นแจ้งว่า มีการเจรจาในระดับปฎิบัติงานเพื่อดูความเป็นไปได้ในเรื่องความร่วมมือด้านยุทโธปกรณ์ด้านการป้องกันกับฟิลิปปินส์ แต่ยังไม่มี “แผนการที่เป็นรูปธรรม” เรื่องการมอบเครื่องบินทีซี-90 ให้กับฟิลิปปินส์

กระทรวงกลาโหมของจีนแสดงความกังวลเกี่ยวกับแผนการนี้

จีนระบุในแถลงการณ์ของตนว่า “เราหวังว่าความร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะสามารถส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคมากกว่าที่จะเป็นไปในทางตรงกันข้าม”

แนวทางปฏิบัติที่เป็นไปได้

แหล่งข่าวระบุว่า การมอบเครื่องบินดังกล่าวจะเป็นการบริจาคยุทโธปกรณ์ที่กองทัพญี่ปุ่นเคยใช้ให้กับประเทศอื่นเป็นครั้งแรก หากต้องการให้แผนการนี้สำเร็จลุล่วง ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องแก้ไขกฎระเบียบทางการเงินที่กำหนดว่า ยุทโธปกรณ์ที่ผ่านการใช้งานของรัฐบาลญี่ปุ่นจะต้องถูกจำหน่ายในราคาตลาดที่เป็นธรรม

การแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าวจะช่วยเปิดทางให้รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถมอบยุทโธปกรณ์ทางทหารให้กับชาติพันธมิตรอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แหล่งข่าวในญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การติดตั้งอุปกรณ์เรดาร์เพื่อสอดส่องอากาศยานและกิจกรรมบนผิวน้ำสามารถทำได้อย่างง่ายดายกับเครื่องบินทีซี-90 หากมีการส่งมอบเกิดขึ้น กองทัพสหรัฐฯ ใช้เครื่องบินบีชคราฟต์ คิง แอร์ รุ่น 90 ในภารกิจการขนส่งและการฝึกนักบิน

ขณะที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังคงต้องการเครื่องบินรุ่นพี 3 ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นจะปลดระวางในหลายปีข้างหน้านี้ เจ้าหน้าที่ทางการทหารระดับสูงของฟิลิปปินส์กล่าวว่าการปฏิบัติการและการบำรุงรักษาอากาศยานตรวจการณ์ขั้นก้าวหน้าดังกล่าวตลอดจนยุทโธปกรณ์สนับสนุนภาคพื้นดินจะเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ เครื่องบินรุ่นพี 3 ที่ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบพรอพแบบสี่เครื่องยนต์ยังใช้น้ำมันในปริมาณมากอีกด้วย

ญี่ปุ่นกังวลว่ากองทัพฟิลิปปินส์อาจประสบปัญหาในการใช้งานอุปกรณ์ของเครื่องบินรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมมาอย่างรวดเร็ว แหล่งข่าวในกรุงโตเกียวระบุ

ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นได้ดำเนินการฝึกร่วมระหว่างกองทัพเรือของทั้งสองประเทศในทะเลจีนใต้และพื้นที่รอบ ๆ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button