ติดอันดับ

จีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะจัดตั้งเครือข่ายสายด่วนเพื่อรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้

รอยเตอร์

จีนและประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นพ้องที่จะจัดตั้งเครือข่ายสายด่วนระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ที่กำลังมีกรณีพิพาท เจ้าหน้าที่อาวุโสของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กล่าวกับรอยเตอร์ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558

จีนเป็นชาติที่อ้างสิทธิในพื้นที่ส่วนใหญ่ของท้องทะเลแห่งนี้ที่คาดว่าจะอุดมไปด้วยพลังงาน โดยในแต่ละปีจะมีเรือบรรทุกสินค้าผ่านเข้าออกพื้นที่นี้ที่คิดเป็นมูลค่าทางการค้าถึง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือราว ๆ 175.5 ล้านล้านบาท) และจีนยังปฏิเสธการอ้างสิทธิของประเทศคู่แข่งอย่างบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวันและเวียดนาม

ภูมิภาคแห่งนี้ได้กลายเป็นพื้นที่วิกฤติขนาดใหญ่ของเอเชียที่อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งทางทหาร สหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้ชาติต่าง ๆ ที่อ้างสิทธิในทะเลจีนใต้หาทางยุติความขัดแย้งด้วยการเจรจา โดยสหรัฐฯ ระบุว่ากองเรือภูมิภาคแปซิฟิกของตนมีเป้าหมายที่จะปกป้องเส้นทางเดินเรือที่มีความสำคัญยิ่งต่อการค้าของสหรัฐฯ

แต่จีนก็ปฏิเสธการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีพิพาทของสหรัฐฯ และพฤติกรรมแบบยืนกรานที่มากขึ้นของจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ รวมถึงการถมดินและการก่อสร้างบนแนวปะการังที่กำลังมีกรณีพิพาทก็ยิ่งทำให้ความตึงเครียดเพิ่มระดับขึ้นเรื่อย ๆ

เจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนที่รู้เรื่องการหารือดังกล่าวระบุว่า การประกาศเรื่องการจัดตั้งสายด่วนจะมีขึ้นในที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียนในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้

“น่าจะมีการประกาศเรื่องการจัดตั้งสายด่วนในระหว่างการแถลงการณ์ร่วมในช่วงท้ายของการประชุม” เจ้าหน้าที่ดังกล่าวที่ไม่ประสงค์จะออกนามเนื่องจากเป็นการเจรจาแบบไม่เปิดกว้างระบุ

เครือข่ายสายด่วนระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนี้จะเป็นเครือข่ายแรกที่จีนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง แม้ว่าฟิลิปปินส์และเวียดนามจะมีเครือข่ายสายด่วนระหว่างกองทัพเรือตั้งแต่ปีที่แล้วเพื่อติดตามสถานการณ์ในน่านน้ำที่มีกรณีพิพาทแห่งนี้

บรรดาผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดหวังว่า เครือข่ายสายด่วนเพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินจะช่วยลดความตึงเครียดที่เกิดจากการเผชิญหน้ากันระหว่างกองทัพเรือและการอ้างสิทธิของจีน เจ้าหน้าที่กล่าว

ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน นายจอห์น เคอร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจในเอเชียอื่น ๆ รวมทั้งอินเดียและญี่ปุ่น

นักการทูตฟิลิปปินส์รายหนึ่งมองว่า สายด่วนเป็นวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดและความเข้าใจที่คาดเคลื่อน

“ฟิลิปปินส์ยินดีที่จะใช้มาตรการใดก็ตามที่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นที่จะช่วยส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพ ตลอดจนการลดความตึงเครียดในภูมิภาค” นักการทูตกล่าว

แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การสร้างความแข็งแกร่งให้กับปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีและการดำเนินการอย่างเต็มที่ภายใต้ปฏิญญานี้ซึ่งเป็นข้อตกลงที่กำหนดขึ้นในปี พ.ศ. 2545 นักการทูตคนเดิมกล่าวเพิ่มเติม

แนวปฏิบัติที่ลงนามโดยอาเซียนและจีนในปี พ.ศ. 2545 กำหนดให้ผู้ลงนามต้อง “ข่มใจตนเอง” เพื่อจะไม่สร้างกิจกรรมที่อาจส่งผลให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button