ติดอันดับ

ไต้หวันจำลองการโจมตีจากจีน

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

กองทัพไต้หวันยิงกระสุนปืนใหญ่ลงสู่มหาสมุทรซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในชุดการฝึกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 โดยจำลองสถานการณ์ในกรณีที่ถูกประเทศคู่แข่งทางการเมืองอย่างจีนโจมตี หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ทำการซ้อมรบที่ดูเหมือนจะมีฉากจำลองการโจมตีทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันในกรุงไทยเป

การซ้อมรบในปี พ.ศ. 2558 ยิ่งใหญ่กว่าที่ผ่านมา ภาพการฝึกที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์จากประเทศจีนในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 เผยให้เห็นฉากจำลองการโจมตีหอแดงด้วยกองกำลังภาคพื้นดิน และภาพหมู่อาคารที่มีความสูงไม่กี่ชั้นที่ดูคล้ายกับทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวัน

ภัยคุกคามทางทหารหลัก ๆ ต่อไต้หวันมีแนวโน้มว่าจะมาจากจีนเท่านั้น แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะระงับความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา จีนและไต้หวันอยู่ห่างกันโดยมีช่องแคบทางทะเลกั้นอยู่เท่านั้น ซึ่งส่วนที่แคบที่สุดมีระยะทางเพียง 160 กิโลเมตร

“เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของเราคือการจำลองการป้องกันการโจมตีที่อาจเป็นไปได้จากจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ว่าจะในไต้หวันเอง บนเกาะที่เป็นฐานที่มั่นรอบนอก พื้นที่ทางทหารของเราทั้งทางทะเลหรือทางอากาศ” นายเฉิน ชุงฉี รองโฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว

ในขณะเดียวกัน กองทัพจีนได้ประกาศว่าจะทำการฝึกด้วยกระสุนจริงเป็นเวลาสามวันในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฝึกที่ใช้สถานการณ์จำลองที่สมจริงมากขึ้นโดยมีการสนธิกำลังระหว่างหน่วยต่าง ๆ จากกองทัพเรือ กองทัพอากาศและกองกำลังภาคพื้นดิน

ยังไม่มีความชัดเจนว่าการฝึกของจีนนั้นเป็นผลมาจากการฝึกซ้อมของไต้หวันหรือไม่ กระทรวงกลาโหมของจีนได้ตอบข้อสงสัยดังกล่าวอย่างต่อเนื่องโดยระบุว่า การฝึกต่าง ๆ เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกประจำที่วางแผนไว้แล้ว และไม่ได้มุ่งความสนใจไปที่บุคคลภายนอกใด ๆ

จากเนินเขาทางตอนเหนือของไต้หวันที่อยู่ห่างจากช่องแคบทางทะเลที่กั้นระหว่างประเทศจีนราว 1 กิโลเมตร ทหารจากกองทัพบกไต้หวันได้ยิงกระสุนปืนใหญ่ฮาวอิตเซอร์ลงสู่น่านน้ำทำให้เกิดกลุ่มควันลอยฟุ้งอยู่บนฝั่ง ประธานาธิบดีหม่า อิงจิว ลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์การฝึกโดยสวมหมวกเหล็กและเสื้อกันกระสุน

การฝึกซ้อมของไต้หวันมีอากาศยานเข้าร่วมมากกว่าปีที่แล้ว 69 ลำตามรายงานของสำนักงานข่าวกลางที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาล จากการฝึกซ้อมทั้งสิ้นจำนวน 63 กิจกรรม มีหลายกิจกรรมที่เป็นการสนธิกำลังทางบก ทางทะเลและทางอากาศ

การฝึกซ้อมบางส่วนคือการทดสอบยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ผลิตในประเทศ ซึ่งรวมถึงระบบอากาศยานไร้คนขับและเรือรบคอร์เวตล่องหนติดขีปนาวุธลำแรกที่ไต้หวันสร้างขึ้นเอง นายเฉินกล่าว

ไต้หวันได้หันไปออกแบบยุทโธปกรณ์เองนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา เนื่องจากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักของประเทศนี้ถูกจีนกดดันให้ยุติการขายอาวุธให้กับไต้หวัน

นอกจากนี้ ในแผนงบประมาณปี พ.ศ. 2559 ไต้หวันได้เตรียมจัดสรรงบประมาณจำนวน 92.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว ๆ 3.35 พันล้านบาท) เพื่อพัฒนาเรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้าเป็นระยะเวลาสี่ปี

จีนอ้างอธิปไตยเหนือไต้หวันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 เป็นต้นมาเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์สามารถเอาชนะจีนคณะชาติในสงครามกลางเมือง ฝ่ายจีนคณะชาติได้ย้ายมาปักหลักอยู่ที่ไต้หวัน ซึ่งจีนระบุว่าในที่สุดก็จะต้องผนวกไต้หวันเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับแผ่นดินใหญ่ แม้ว่าจีนจะไม่ได้แสดงการข่มขู่ไต้หวันอย่างเปิดเผยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548

ทั้งสองฝ่ายได้ระงับข้อพิพาททางการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เพื่อเปิดการเจรจาที่นำไปสู่ข้อตกลงทางการค้า การขนส่งและการลงทุนกว่า 20 ข้อ ข้อตกลงเหล่านี้ไม่สามารถทำให้รัฐบาลจีนสมหวังในการเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนไต้หวันเพื่อจะเป็นหนทางไปสู่การรวมชาติ

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2557 ประชาชนไต้หวันหลายหมื่นคนได้ออกมาประท้วงเพราะรู้สึกว่าข้อตกลงข้อหนึ่งว่าด้วยเรื่องการเปิดเสรีทางการค้าและบริการนั้นผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาเร็วเกินไป จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐในช่วงปลายปี พ.ศ. 2557 พบว่า ชาวไต้หวันประมาณร้อยละ 70 ต้องการเป็นเอกราชจากจีนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

กองทัพจีนมีศักยภาพทางทหารสูงสุดเป็นอันดับสามของโลก และไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 15 ตามฐานข้อมูลทางสถิติของ GlobalFirepower.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button