ประเทืองปัญญาแผนก

แผนการก่อสร้างกำแพงยักษ์เพื่อป้องกันน้ำทะเลในกรุงจาการ์ตา จะยุติหรือไปต่อ

รอยเตอร์

กรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซียที่มีประชากรหนาแน่น กำลังจะจมหายไปเร็วกว่าทุกเมืองในโลกนี้ อย่างไรก็ตาม แผนการอันยิ่งใหญ่ที่จะก่อสร้างแนวกำแพงยักษ์เพื่อป้องกันน้ำทะเลที่กัดเซาะชายฝั่งกำลังถูกโจมตีจากชาวประมงที่เกรงว่าจะเกิดผลกระทบกับปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้และบ้านเรือนที่อยู่อาศัย รวมทั้งจากผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่ากำแพงกันคลื่นไม่สามารถป้องกันปัญหาดินจมหรือการทรุดตัวของแผ่นดินได้

ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นระบุว่า พื้นที่ทางตอนเหนือของมหานครแห่งนี้ได้จมหายไป 4 เมตรในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ “พื้นที่เสี่ยง” บางส่วนก็ทรุดตัวลงถึง 20 เซนติเมตรต่อปี

ประชากรราว 10 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในกรุงจาการ์ตาซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งทะเลและตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนและน้ำท่วมตามฤดูกาล ในปี พ.ศ. 2556 พื้นที่บางส่วนของกรุงจาการ์ตาจมอยู่ใต้น้ำเกือบ 2 เมตรหลังจากฝนตกหนัก

ปัจจัยที่ทำให้รุงจาการ์ตามีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมมากขึ้น ได้แก่ การเติบโตของประชากร การขยายตัวของเมือง และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน น้ำยิ่งท่วมมากเท่าไร พื้นดินก็ยิ่งมีโอกาสทรุดตัวลงมากเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญและประชาชนในพื้นที่เห็นพ้องกันว่าการขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาเพื่อใช้ดื่มและใช้ทางพาณิชย์มากเกินไปเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แผ่นดินทรุด แต่สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายเห็นไม่ตรงกันคือวิธีที่จะรับมือกับปัญหานี้ โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่น่าจะบรรเทาปัญหาน้ำท่วมของกรุงจาการ์ตา กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าในเรื่อง “การอยู่กับน้ำ” ได้ถ่ายทอดความชำนาญของตนให้แก่อินโดนีเซียผ่านทางแผนป้องกันน้ำท่วมที่ประกอบไปด้วยการสร้างกำแพงยักษ์เพื่อป้องกันน้ำทะเลซึ่งจะล้อมรอบอ่าวจาการ์ตา ซึ่งอาจมีค่าก่อสร้างสูงถึง 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.26 ล้านล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกล่าวว่าโครงการพัฒนาชายฝั่งจาการ์ตาแบบบูรณาการนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแผ่นดินทรุดตัว ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดน้ำท่วม

ในเวลาเดียวกัน “รัฐบาลก็กำลังตัดสิทธิในการเข้าถึงทะเล” สำหรับผู้คนหลายหมื่นคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณอ่าวจาการ์ตาที่ดำรงชีพด้วยการทำประมงและแปรรูปปลา” นายอาห์หมัด มาร์ทิน ฮาดิวินาตา จากสหภาพชาวประมงพื้นบ้านแห่งอินโดนีเซียกล่าว

นายฮาดิวินาตากังวลว่าประชาชนจะถูกขับไล่ออกจากบ้านเรือนของตนเองเพื่อเปิดทางให้กับสิ่งก่อสร้างใหม่

โครงการ “กำแพงยักษ์เพื่อป้องกันน้ำทะเล” หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “ครุฑยักษ์” ซึ่งเริ่มต้นใน พ.ศ. 2557 จะประกอบไปด้วยการเพิ่มระดับความสูงและความแข็งแรงของเขื่อนป้องกันชายฝั่งที่มีอยู่แต่เดิมในบริเวณอ่าวจาการ์ตา รวมถึงการก่อสร้างกำแพงกั้นน้ำทะเลรอบนอกที่มีความยาว 24 กิโลเมตร และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนเกาะเทียมที่เกิดจากการถมทะเล

เมื่อมองลงมาจากทางอากาศ โครงการก่อสร้างขนาดมหึมานี้ตอนแรกจะมีรูปร่างเหมือนครุฑซึ่งเป็นสัตว์กึ่งเทพตามตำนานฮินดู ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอินโดนีเซีย

ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบกำแพงใหม่เพื่อตอบสนองต่อเสียงคัดค้านและการร้องขอของรัฐบาลที่ต้องการให้ผนวกกับอีกโครงการหนึ่งภายใต้การกำกับดูแลของนักพัฒนาที่ดินภาคเอกชนที่จะสร้างเกาะเทียม 17 เกาะ นายวิกเตอร์ โคเนน ผู้แทนของอินโดนีเซียในบริษัท วิตเทวีน+บอส ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรมจากเนเธอร์แลนด์ที่เป็นผู้นำของคณะผู้ดำเนินโครงการพัฒนาชายฝั่งจาการ์ตาแบบบูรณาการกล่าว

ขณะนี้ หุ้นส่วนของบริษัท ซึ่งรวมถึงเกาหลีใต้ กำลังรอการตัดสินใจของรัฐบาลเกี่ยวกับแผนฉบับสมบูรณ์ นายโคแนนกล่าวเพิ่มเติม

เอกสารในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 ซึ่งอธิบายแผนแม่บทล่าสุดของโครงการพัฒนาชายฝั่งจาการ์ตาแบบบูรณาการได้ยืนยันการออกแบบใหม่และเน้นย้ำความสำคัญของการหยุดยั้งการทรุดตัวของแผ่นดิน ตลอดจนการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำและสุขาภิบาล

หลาย ๆ คนซึ่งรวมถึงนายฮาดิวินาตาหวังว่า นายอานิส บาสวีดัน ผู้ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 จะยุติหรือแก้ไขโครงการเมื่อนายบาสวีดันเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 เจ้าหน้าที่หยุดทำงานไปหลายเดือนในปี พ.ศ. 2559 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับกฎระเบียบและสิ่งแวดล้อม

นายโคเนนระบุว่า การหยุดยั้งการทรุดตัวของแผ่นดินเป็นสิ่งสำคัญ แต่มันอาจใช้เวลา 15 ถึง 20 ปี นั่นหมายความว่ากรุงจาการ์ตาควรหาทางป้องกันน้ำท่วมไปพร้อม ๆ กันด้วย นายโคเนนกล่าวเพิ่มเติมว่าอนาคตในเรื่องการป้องกันน้ำท่วมสำหรับเมืองที่มีประชากรหนาแน่นนี้จะอยู่ที่พื้นที่นอกชายฝั่ง เพราะไม่มีที่ว่างพอที่จะรองรับน้ำท่วมได้อีกแล้ว

“เพียงแต่ต้องรู้ว่า เราจะออกห่างจากฝั่งได้ไกลแค่ไหน เราจะสร้างให้ใหญ่ขนาดไหน และอยากให้มันคงอยู่นานแค่ไหน เพราะยิ่งมีขนาดเล็ก อายุการใช้งานก็ยิ่งจะสั้นลง” นายโคเนนกล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button