ติดอันดับ

เอกสารที่เพิ่งได้รับมาแสดงให้เห็นถึงบทบาทของหัวเว่ยในการจัดส่งอุปกรณ์ต้องห้ามของสหรัฐฯ ไปยังอิหร่าน

ติดอันดับ | Apr 2, 2020:

รอยเตอร์

บริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยีของจีน ซึ่งได้ปฏิเสธว่าตนไม่ได้ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านมาหลายปี ได้จัดทำบันทึกภายในบริษัทตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการส่งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต้องห้ามของสหรัฐฯ ไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของอิหร่าน

การตรวจสอบเอกสารภายในของหัวเว่ยโดยรอยเตอร์ระบุว่า รายการบรรจุภัณฑ์หัวเว่ยสองรายการลงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ประกอบไปด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ผลิตโดยบริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ด และมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของอิหร่าน

เอกสารของหัวเว่ยอีกฉบับหนึ่งที่ลงวันที่ 2 เดือนถัดมาระบุว่า “ขณะนี้อุปกรณ์ส่งไปยังเตหะรานแล้ว และกำลังรอพิธีการศุลกากร”

จนถึงปัจจุบัน เอกสารหลักฐานที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่บ่งชี้การละเมิดมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าของหัวเว่ยคือรายการบรรจุภัณฑ์และเอกสารภายในอื่น ๆ ซึ่งรายการเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เกิดโครงการหลายแง่มุมของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการตรวจสอบอำนาจของหัวเว่ย ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมชั้นนำของโลก

สหรัฐฯ กำลังพยายามโน้มน้าวพันธมิตรให้หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์หัวเว่ยในระบบโทรคมนาคมเคลื่อนที่รุ่นถัดไปที่เรียกว่า 5 จี ในอีกทางหนึ่ง ทางการสหรัฐฯ กำลังต่อสู้กับหัวเว่ยในด้านกฎหมาย

โดยเอกสารที่ได้รับมาใหม่นี้เกี่ยวข้องกับโครงการโทรคมนาคมมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ในอิหร่าน ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างชัดเจนในคดีอาญาที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังดำเนินการฟ้องร้องบริษัทจีนแห่งนี้และนางเมิ่ง หว่านโจว ผู้บริหารฝ่ายการเงินของบริษัท นางเมิ่ง ลูกสาวของผู้ก่อตั้งหัวเว่ย ได้ต่อสู้กับกฎการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากแคนาดามายังสหรัฐฯ นับตั้งแต่ถูกจับกุมตัวที่แวนคูเวอร์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 โดยหัวเว่ยและนางเมิ่งได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงธนาคาร ฉ้อโกงเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และข้อกล่าวหาอื่น ๆ

เอกสารซึ่งไม่ได้ถูกอ้างอิงในคดีอาญาดังกล่าว ระบุรายละเอียดใหม่เกี่ยวกับบทบาทของหัวเว่ยในการจัดหาเซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์ สวิตช์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ผลิตโดยฮิวเลตต์-แพคการ์ด รวมทั้งซอฟต์แวร์ที่ผลิตโดยบริษัทสหรัฐฯ แห่งอื่น ๆ ในขณะนั้น อันประกอบไปด้วยบริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น, บริษัท ไซแมนเทค คอร์ปอเรชั่น และบริษัท โนเวล จำกัด ให้แก่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของอิหร่าน

คำฟ้องร้องของสหรัฐฯ กล่าวหาว่า หัวเว่ยและนางเมิ่งมีส่วนร่วมในแผนการฉ้อโกงเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าและเทคโนโลยีต้องห้ามของสหรัฐฯ เพื่อธุรกิจในอิหร่านของหัวเว่ย และย้ายเงินออกจากอิหร่านโดยใช้วิธีการอันฉ้อฉลต่อธนาคารเวสเทิร์น ซึ่งคำฟ้องร้องนั้นกล่าวหาหัวเว่ยและนางเมิ่งว่าใช้ “บริษัทย่อยอย่างไม่เป็นทางการ” ในอิหร่านที่ชื่อว่า บริษัท สกายคอมเทค จำกัด เพื่อได้มาซึ่งสินค้าต้องห้ามนั้น

คำฟ้องร้องระบุว่า “ด้วยเหตุนี้ หัวเว่ยจึงอาจพยายามอ้างว่าไม่ทราบเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายใด ๆ ที่กระทำโดยสกายคอมในนามของหัวเว่ย รวมถึงการละเมิด” มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ทั้งนี้ สกายคอม ซึ่งหัวเหว่ยได้อธิบายว่าเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจท้องถิ่นในอิหร่าน ได้ตกเป็นจำเลย โดยบันทึกในฮ่องกง ซึ่งเป็นสถานที่ที่สกายคอมจดทะเบียน แสดงให้เห็นว่าบริษัทได้รับการชำระเงินในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560

นอกจากนี้ บันทึกที่ได้รับมาใหม่ซึ่งตรวจสอบโดยรอยเตอร์ฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า บริษัท แพนด้า อินเตอร์เนชั่นแนล อินฟอร์เมชัน เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งไม่ได้ปรากฏชื่อในคำฟ้องของสหรัฐฯ ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดหาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำหรับโครงการดังกล่าวในอิหร่านอีกด้วย ทั้งนี้ แพนด้าอินเตอร์เนชั่นแนลมีความสัมพันธ์กับหัวเว่ยมาอย่างยาวนานและควบคุมโดยบริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน

โฆษกหัวเว่ยกล่าวตอบคำถามเกี่ยวกับเอกสารที่ได้รับมาใหม่ว่า “เนื่องจากการดำเนินการตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง จึงไม่เหมาะสมที่หัวเว่ยจะแสดงความคิดเห็นในขณะนี้” และยังเสริมอีกว่า “หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่บังคับใช้ทั้งหมดในประเทศและภูมิภาคที่เราดำเนินธุรกิจ รวมถึงกฎหมายควบคุมการส่งออกและมาตรการคว่ำบาตร รวมถึงกฎระเบียบของสหประชาชาติ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button