Uncategorized

เรือรบญี่ปุ่นไปเยือนศรีลังกาขณะที่อิทธิพลของจีนเพิ่มสูงขึ้น

รอยเตอร์

เรือรบลำใหญ่สุดของญี่ปุ่น คือ เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์คากะ (ภาพ) ล่องไปยังท่าเรือโคลอมโบของศรีลังกาเมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2561 ซึ่งนับเป็นการเปิดประเดิมของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ได้รับการจับตามากที่สุดในการต่อสู้ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อชิงอิทธิพลในเส้นทางการค้าทางทะเลที่สำคัญในภูมิภาค

ญี่ปุ่นได้ออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและให้เงินช่วยเหลือแก่ศรีลังกามาเป็นเวลานาน ซึ่งช่วยให้โคลอมโบกลายเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าที่สำคัญในเส้นทางการค้าหลักแห่งหนึ่งของโลกที่อยู่ทางตอนใต้ของศรีลังกา และเป็นเส้นทางที่เชื่อมยุโรปและตะวันออกกลางให้เข้าถึงเอเชีย

อย่างไรก็ตาม จีนได้กลายมาเป็นคู่แข่งที่มีอิทธิพลสูงทั่วเอเชียใต้และพื้นที่อื่น ๆ เมื่อจีนดำเนินการตามโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของตน

ทั้งจีนและญี่ปุ่นกำลังแสดงศักยภาพทางทหารของแต่ละประเทศในดินแดนที่ห่างไกลยิ่งขึ้น กองทัพเรือจีนแสดงตนนอกแปซิฟิกตะวันออกและมหาสมุทรอินเดียมากขึ้นในขณะที่ตั้งเป้าว่าจะสร้างกองเรือน้ำลึกระดับโลกให้สำเร็จภายใน พ.ศ. 2593 ในขณะที่การทูตทางทหารของญี่ปุ่นกำลังไปได้ดีภายใต้การนำของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

“รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังส่งเสริมอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง และการเคลื่อนกำลังพลไปยังเอเชียแปซิฟิกในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์นั้น” พล.ร.ต. ทัตซึยะ ฟุกุดะ ผู้บัญชาการเรือคากะและเรือพิฆาตคุ้มกันกล่าวจากห้องโดยสารเรือของตนขณะที่กำลังล่องเรือไปยังโคลอมโบผ่านมหาสมุทรอินเดีย

“ความมั่นคงและเสถียรภาพทางทะเลมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด” ต่อประเทศหมู่เกาะอย่างญี่ปุ่น พล.ร.ต. ฟุกุดะกล่าวเพิ่มเติม

ระหว่างการเดินทางไปยังศรีลังกา เรือคากะที่มีความยาว 248 เมตรนี้ถูกประกบโดยเรือรบขนาดกลางของจีนในทะเลจีนใต้ และได้ปฏิบัติการฝึกซ้อมทางทะเลในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย อีกทั้งยังได้ร่วมฝึกซ้อมกับเรือรบขนาดกลางของกองทัพเรืออังกฤษก่อนที่จะเทียบท่าในโคลอมโบ พร้อมด้วยทหารเรือ 500 นายและเฮลิคอปเตอร์ตามล่าเรือดำน้ำที่บรรทุกมาด้วยจำนวนสี่ลำ

ในการเยือนศรีลังกาเพื่อแสดงไมตรีจิตในครั้งนี้ ลูกเรือของเรือคากะยังได้นำกระดาษโอริกามิมากสีสันไปด้วยหลายห่อ โดยมีการพับดอกไม้กระดาษให้กับเด็ก ๆ ในพื้นที่ที่เข้ามาเดินชมเรือไม่นานหลังจากที่เรือเข้าเทียบท่า

การเยือนศรีลังกาในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อยืนยันต่อศรีลังกาว่าญี่ปุ่นเต็มใจและมีขีดความสามารถในการส่งทรัพยากรทางทหารที่มีพลังสูงสุดไปยังภูมิภาคที่จีนกำลังขยายอิทธิพล

“ศรีลังกาซึ่งเป็นศูนย์กลางในมหาสมุทรอินเดีย และยังคงยึดมั่นในเสรีภาพและความเปิดกว้างของมหาสมุทรอินเดีย แสดงความต้อนรับเรือของกองทัพเรือจากประเทศพันธมิตรของเราทุกประเทศที่ติดต่อกับกองทัพเรือศรีลังกา” นางมาฮิชินี โคโลนน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกากล่าว “ในปีนี้มีเรือจากกองทัพเรือของประเทศพันธมิตรมาเยือนศรีลังกาหลายลำแล้ว และเรือจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรระดับทวิภาคีที่ใกล้ชิดของเรา ย่อมได้รับการต้อนรับเช่นเดียวกัน”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button