เรื่องเด่น

“เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568” เพียงชื่อที่หายไป

การตัดวงจร ความทะเยอทะยานของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการควบคุมเทคโนโลยี

นางอาราติ ชรูฟ

รัฐบาลจีนเร่งเดินหน้าลบคำกล่าวอ้างทั้งหมดเกี่ยวกับนโยบายด้านอุตสาหกรรมหลัก “เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568” จากสุนทรพจน์อย่างเป็นทางการ เอกสาร และสื่อทางการท่ามกลางความกังวลระดับนานาชาติที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม นโยบายเชิงยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ยังคงมีบทบาทสำคัญในความพยายามของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จะบรรลุความทะเยอทะยานด้านเทคโนโลยี ด้านเศรษฐกิจ และด้านการทหาร กล่าวคือ เพื่อเป็นผู้จัดจำหน่ายที่มีอิทธิพลและเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาชั้นนำใน 10 ภาคเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 แม้เมื่อไม่นานนี้จะพยายามเบี่ยงเบนความสนใจของนานาชาติจากวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ตามยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 แต่การดำเนินการตามแผน 5 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะยังคงดำเนินต่อไป หากไม่มีการเร่งความเร็วยิ่งขึ้น ตามมาตรการด้านภาษีอากรและการจำกัดทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อบริษัทด้านโทรคมนาคมของจีนอย่างหัวเว่ยและแซดทีอี ยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 เป็นการแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ใช้แนวทาง บูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดในทิศทางเดียวกัน เพื่อเปลี่ยนจีนให้กลายเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีของโลกอย่างไม่เหลียวแลประเทศอื่น ๆ

การแสวงหานโยบายและเป้าหมายของยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 อย่างต่อเนื่องของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นย้ำว่าพรรคให้ความสำคัญกับความสำเร็จในการการพึ่งพาตนเองด้านเศรฐกิจและเทคโนโลยี รวมถึงอำนาจการครอบงำอุตสาหกรรมหลักยุคใหม่ สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรที่เผชิญหน้ากับกลยุทธ์ของจีน ต้องรับมืออย่างเหมาะสมกับความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจที่ท้าทายจากอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

ผู้เข้าชมมองเห็นภาพตนเองที่หน้าจอแสดงเทคโนโลยีจดจำใบหน้า ในงานแสดงเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกของเอเชีย พ.ศ. 2562 ที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยรัฐบาลจีนใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อบีบกลุ่มชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง ตามการกล่าวของนักวิเคราะห์ เวอรีซิลิคอน เป็นบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซิลิคอนของจีนที่ตั้งอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ รอยเตอร์

ผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงแห่งชาติในอินโดแปซิฟิกควรให้ความสำคัญกับนโยบายและโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าของแผนการ การใช้เงินทุนอย่างสูญเปล่า หรือความสำคัญที่ปรับเปลี่ยนจวบจนปัจจุบัน รูปแบบระบอบเผด็จการทุนนิยมแห่งรัฐของจีนที่ดำเนินการผ่านยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภูมิภาคดังกล่าว เมื่อพิจารณาถึงความเชื่อมโยงระหว่างความเจริญทางเศรษฐกิจกับความมั่นคงของชาติ ลักษณะการใช้เทคโนโลยีชั้นนำเพื่อประโยชน์ทั้งทางพาณิชย์และทางทหาร ตลอดจนการหลอมรวมพลเรือนทหารของจีน

หนึ่งก้าวในการเดินทัพอันยาวไกลของจีน

พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการเปลี่ยนจีนจากผู้ผลิตด้านอุตสาหกรรมหนักมูลค่าต่ำให้กลายเป็นมหาอำนาจด้านการผลิต “อัจฉริยะ” ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยียุคใหม่ที่ผลิตในประเทศ เช่น คอมพิวเตอร์ควอนตัม ปัญญาประดิษฐ์ และไมโครโปรเซสเซอร์ ผ่านยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568
หน่วยงานที่ปรึกษา พีดับบลิวซีระบุว่า การเป็นผู้นำระดับโลกในภาคส่วนใหม่ ๆ เหล่านี้คือศูนย์กลางความสามารถของจีนในการสั่งสมอำนาจ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่” นายเคลาส์ ชวาบ จากสภาเศรษฐกิจโลกอธิบายว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่หมายถึงวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่กำลังดำเนินอยู่ “ซึ่งมีขอบเขตทางกายภาพ ดิจิทัล และชีวภาพที่ไม่แน่ชัด” การครอบงำภาคส่วนเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ หรือรัฐบาลในกรณีของจีน สามารถกำหนดมาตรฐานสากล ทุ่มกำหนดราคาแบบผูกขาด ห้ามการส่งสินค้าออก รวมถึงมีบทบาทหลักในการพัฒนายุทโธปกรณ์และซอฟต์แวร์ทางทหาร เพื่อให้มีข้อได้เปรียบอย่างชัดเจนทั้งในสถานการณ์ที่ต้องใช้ไม้แข็งและอำนาจเด็ดขาด

คณะรัฐมนตรีจีนชี้แจง 10 ภาคส่วนที่จีนพยายามครอบงำผ่านยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่ (เช่น สารกึ่งตัวนำและไซเบอร์) วิทยาการหุ่นยนต์ อวกาศ วิศวกรรมต่อเรือ รถไฟขั้นสูง ยานพาหนะที่ใช้พลังงานรูปแบบใหม่ อุปกรณ์ไฟฟ้า (ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะหรือเมืองอัจฉริยะ) การเกษตรขั้นสูง วัสดุรูปแบบใหม่ และชีวเภสัชภัณฑ์

หลีกเลี่ยงกับดักรายได้ปานกลาง

ผู้นำจีนยังเชื่อด้วยว่ายุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 จะป้องกันเศรษฐกิจของจีนไม่ให้ติดกับดักรายได้ปานกลาง โดยนายอินเดอร์มิท กิล และนายโฮมิ คาราส นักเศรษฐศาสตร์ ขยายความว่า การติดกับดักรายได้ปานกลางบ่งชี้ว่าประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งกำหนดโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประมาณ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ (3.6 แสนบาท) ต่อหัวจะถลำเข้าสู่ภาวะชะลอตัวด้านค่าจ้างและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หากประเทศดังกล่าวไม่สามารถส่งเสริมผลิตภาพให้ได้เกินกว่าแนวคิดเดิม ๆ ด้านที่ดิน แรงงาน และทุน หลังจากกว่าสามทศวรรษแห่งการเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ในฐานะโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าต่ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก รูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ของจีนจึงใช้การไม่ได้อีกต่อไป ในยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 พรรคคอมมิวนิสต์จีนหวังที่จะหลีกเลี่ยงภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และวางเส้นทางของประเทศสู่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจแห่งอนาคต หากวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจของจีนประสบความสำเร็จ ยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 จะบรรลุเป้าหมายหลักสองประการ ได้แก่ การรักษาความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถทางทหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชน

ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ซึ่งเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2558 ส่งสัญญาณกระตุ้นเตือนทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ใช่ส่วนน้อยเลย เนื่องด้วยขนาดของโครงการและความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของภูมิเศรษฐศาสตร์ หลายประเทศใช้นโยบายอุตสาหกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 หาหนทางเพื่อเป็นผู้นำแทนกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเห็นได้ชัด โดยการสร้างและสนับสนุน “บริษัทชั้นนำระดับประเทศ” ของจีนที่จะสามารถกลายเป็นผู้นำยักษ์ใหญ่ของโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายการปรับให้เป็นจีนด้วยยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า 2568 ส่อแววว่าจีนไม่ได้ต้องการเพียงแข่งขัน แต่มุ่งหมายที่จะเข้าควบคุมเทคโนโลยียุคใหม่ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจของโลกในอนาคต เป้าหมายการปรับให้เป็นจีน หมายถึงร้อยละของส่วนแบ่งทางการตลาดที่บริษัทจีนถือครองภายในตลาดของจีนและตลาดโลก กลยุทธ์อย่างไม่เป็นทางการของแผนงานดังกล่าวกำหนดว่า ภายใน พ.ศ. 2568 เศรษฐกิจของจีนต้องพึ่งพาตนเองสำเร็จร้อยละ 70 ในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สำคัญ ภายใน พ.ศ. 2592 จีนประสงค์ที่จะเป็นผู้นำตลาดโลกในฐานะมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีให้ทันวันครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่วันกำหนดการเสร็จสิ้นตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ตรงกับเป้าหมายของจีนที่จะกลายเป็นประเทศที่มีอำนาจทางทหารระดับโลก ดังที่นายสี จิ้นผิง กล่าวในการประชุมสมัชชาครั้งที่ 19 ของพรรคคอมมิวนิสต์

นอกจากความพยายามในการสร้างระบบนิเวศทางนวัตกรรมของจีนแล้ว ยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ยังเจริญรอยตามกลยุทธ์การทูตเชิงเศรษฐกิจที่คุ้นเคยของจีน เพื่อปกป้องบริษัทจีนให้เติบโตภายในประเทศ ให้เงินอุดหนุนความพยายามในการดึงส่วนแบ่งจากตลาดโลก และแทนที่คู่แข่งต่างชาติจากกระบวนการดังกล่าว เครื่องมือที่รัฐบาลใช้ในความพยายามครั้งนี้ประกอบด้วย การโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา การจารกรรมเชิงพาณิชย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ การบังคับให้ถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้าถึงตลาด การให้เงินอุดหนุนบริษัทชั้นนำระดับประเทศ นโยบายการกีดกันการค้าและทดแทนการนำเข้า การเข้าซื้อกิจการ และโครงการสรรหาชาวต่างชาติที่มีความสามารถพิเศษ นอกจากนี้ จีนยังใช้ระบบการศึกษาแบบเปิดของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก เพื่อบ่มเพาะความสามารถพิเศษของบุคลากรในอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์กลางในการดำเนินการยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 คือบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการประสานงานและการสนับสนุนกิจกรรมของภาคเอกชน สถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษา รวมถึงผ่านการใช้คณะกรรมการของพรรคและการเข้าถึงทางการเงิน

การกล่าวถึงนโยบายที่หายไป

เมื่อเกิดการตอบโต้อย่างรุนแรงจากนานาชาติในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา ผู้นำจีนจึงแสร้งมองข้ามยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 อย่างเปิดเผย โดยหลีกเลี่ยงการอ้างแผนการดังกล่าวในการกล่าวสุนทรพจน์ทางการ สิ่งพิมพ์ และโฆษณาชวนเชื่อ สื่อมวลชนทางการของจีนได้รับคำสั่งชัดเจนจากรัฐบาลกลางให้หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568” ในสิ่งพิมพ์และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ไม่มีการกล่าวถึงยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 อย่างสิ้นเชิงใน รายงานการทำงานของรัฐบาลจีน พ.ศ. 2562 ที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ส่งมอบให้กับสภาประชาชนแห่งชาติในกรุงปักกิ่ง แม้ว่ามีการเน้นย้ำในรายงานการทำงานสามฉบับก่อนหน้านี้ก็ตาม (รายงานการทำงานประจำปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นเอกสารที่สื่อสารถึงนโยบายเศรษฐกิจที่เฉพาะเจาะจงแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และประชาชน เพื่อกำหนดแนวทางในอนาคตของประเทศรวมทั้งการกระตุ้นดำเนินการ) อย่างไรก็ตาม นายหลี่ยังคงให้คำมั่นว่า จีนจะเพิ่มระดับอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา รวมถึงสนับสนุนภาคส่วนต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่ รถยนต์ที่ใช้พลังงานรูปแบบใหม่ และวัสดุรูปแบบใหม่ ซึ่งล้วนเป็นแง่มุมที่พบได้ภายในยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568

รัฐบาลจีนกล่าวอ้างกับต่างประเทศว่า จะเผยแพร่ยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ฉบับแก้ไข ซึ่งคงจะดูเป็นภัยคุกคามน้อยลง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสิ่งใดจะรวมอยู่ในยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ฉบับ 2.0 หรือโครงการดังกล่าวจะปรับปรุงใหม่เพื่อนานาชาติอย่างไร พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงมุ่งดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ในความเป็นจริง ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนกำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันระยะยาว และทุ่มสุดตัวต่อกลยุทธ์อุตสาหกรรมในระยะยาวของตัวเองเพื่อเพิ่มระดับการผลิต ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวบางส่วนเป็นผลกระทบจากการกระตุ้นทางภาษีของสหรัฐฯ และการสั่งห้ามของหน่วยความมั่นคงแห่งชาติจากออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านบริษัทจีน

พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้การควบคุมแบบผูกขาดต่อสื่อมวลชนท้องถิ่น ปลุกปั่นความเชื่อมั่นของประเทศเพื่อเป็นแนวทางให้ทุกองค์ประกอบของสังคมในการรวมตัวกันสู่การบรรลุเป้าหมายการหลอมรวมทางเทคโนโลยี ทางเศรษฐกิจ และทางทหารและพลเรือน คำกล่าวสุนทรพจน์ภายในประเทศของนายสี จิ้นผิง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีของจีนด้วย กล่าวสุนทรพจน์ภายในประเทศซึ่งเพิ่มการกระตุ้นให้จีนเร่งพึ่งพาตนเอง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลัก กลายเป็นผู้มีอำนาจทางไซเบอร์ และสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยรูปแบบทั้งหมดนั้นเป็นพื้นฐานในการสร้างของยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568

คนงานชายทำงานในสายการผลิตด้านการทำแขนกลที่โรงงานในเมืองฮูโจว ประเทศจีน เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการครอง 10 ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและหุ่นยนต์ภายใน พ.ศ. 2568 รอยเตอร์

ความทะเยอทะยานทางเทคโนโลยีที่หยั่งรากลึก

แนวคิดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์หลักของยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับจีน อันที่จริง สิ่งเหล่านี้ฝังรากลึกอยู่ในประวัติศาสตร์และสังคมจีน ยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 คือการวิวัฒนาการในระดับพื้นฐานของนโยบายอุตสาหกรรมที่มีมานาน โดยมุ่งเป้าหมายที่การพัฒนาเทคโนโลยีหลักเพื่อเร่งการเติบโตภายในประเทศและรักษาความชอบธรรมทางการเมือง ผู้นำจีนจากนายเหมา เจ๋อตง ถึงประธานาธิบดีนายสี จิ้นผิง ได้รวมความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของเทคโนโลยีทั้งหมดไว้ด้วยกันเป็นแหล่งพลังของชาติและความต้องในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของจีนเอง รวมถึงความสามารถทางเทคโนโลยี ตามรายงานของนายอีวาน เฟย์เกนบาม นักวิชาการจีน การเริ่มต้น “ปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดตลาด” ของนายเจียง ไคเช็ก เมื่อ พ.ศ. 2521 กำหนดให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญระดับสูงต่อความทันสมัยของจีน ขณะที่ยุทธศาสตร์ “นวัตกรรมจากภายในประเทศ” ของนายหู จิ่นเทา ทำหน้าที่เสมือนเครื่องนำทางโดยตรงสู่ยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ยุทธศาสตร์ของนายหูซึ่งคล้ายคลึงกับยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 สร้างเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศของจีนลง สร้างวัตถุประสงค์เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศลงจากร้อยละ 60 ใน พ.ศ. 2549 เป็นร้อยละ 30 และกลายเป็นผู้นำเทคโนโลยีของโลกภายใน พ.ศ. 2593 โครงการริเริ่มอื่น ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น โครงการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง “863” เมื่อ พ.ศ. 2529 ได้เติบโตขึ้นระดมทุนการวิจัยในการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศของจีน และนำไปสู่การสร้างเสิ่นโจว ยานอวกาศที่จีนพัฒนาขึ้นเองและเทียนเหอ-2 ซึ่งเป็นหนึ่งในซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลก

กลยุทธ์ของนายหูช่วยเปิดตัวเทคโนโลยีแบบชาตินิยมยุคใหม่ตามรายงานของนายเจมส์ แมกเกรเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญของจีน นวัตกรรมจากภายในประเทศกลายเป็นพิมพ์เขียวสำหรับแนวทางของรัฐบาลทั้งหมด ซึ่งมีองค์ประกอบที่ฝังลึกของการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม อันได้แก่ การบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การเลือกปฏิบัติต่อการลงทุนต่างประเทศในตลาดของจีน การโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา การจารกรรมทางไซเบอร์ เงินอุดหนุนที่มากเกินไปต่อบริษัทในประเทศ และนโยบายทดแทนการนำเข้า ความเสียเปรียบซึ่งบริษัทของประเทศตะวันตกยินดีที่จะยอมรับเป็น “ต้นทุนของการทำธุรกิจในจีน” เพื่อเข้าถึงตลาด นโยบายเหล่านี้เมื่อรวมกันได้ช่วยเพิ่มการควบคุมเทคโนโลยีที่สำคัญของต่างประเทศให้แก่บริษัทจีน และขยายส่วนแบ่งทางตลาดในประเทศและทั่วโลกที่คู่แข่งต่างประเทศเป็นฝ่ายแบกรับภาระ

พรรคคอมมิวนิสต์จีนเร่งและขยายแนวคิดทางนวัตกรรมจากภายในประเทศหลังจากที่ประธานาธิบดีสีเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2555 และประกาศว่าจีนจะกลายเป็น “สังคมที่เจริญรุ่งเรืองระดับปานกลาง” ด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวของ พ.ศ. 2553 ให้มากขึ้นเป็นสองเท่าภายใน พ.ศ. 2564 และภายใน พ.ศ. 2592 จะกลายเป็นประเทศที่ “พัฒนา ร่ำรวย และมีอำนาจพร้อมสรรพ”

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ระบุว่านโยบายอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นการละเมิดพันธสัญญาของจีนต่อองค์การการค้าโลก และอาจทำให้บริษัทของจีนอยู่ในสถานะที่ไม่เป็นธรรมต่อการกำหนดมาตรฐาน พัฒนาระเบียบการ และสร้างระบบนิเวศเชิงกลยุทธ์ของเทคโนโลยียุคใหม่ รวมทั้งปัญญาประดิษฐ์ การเรียนรู้เชิงลึก การผลิตอัจฉริยะ และอื่น ๆ ความได้เปรียบที่เพิ่มขึ้นของจีนในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังเร่งปิดช่องว่างที่แคบอยู่แล้วให้ยิ่งแคบลงไปอีก โดยปิดโอกาสที่บริษัทข้ามชาติจะสามารถแข่งขันในพื้นที่เหล่านี้ได้อย่างเป็นธรรมในจีน กล่าวคือ จีนขยายส่วนแบ่งทางตลาดในประเทศและทั่วโลกโดยที่คู่แข่งต่างประเทศเป็นฝ่ายแบกรับภาระ ไม่ได้ผ่านการแข่งขันแบบเสรีและเป็นธรรมในตลาด

กองทุนแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน บิดเบือนตลาดโลก

รัฐบาลจีนจัดสรรทรัพยากรทางการเงินจำนวนมหาศาลเพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 และสร้าง “บริษัทชั้นนำของชาติ” ภายในประเทศขึ้นมา เศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวและการถดถอยของยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 โดยโฆษกอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่ได้ชะลอการจัดสรรเงินและบุคลากรต่อยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ลงเลย กลยุทธ์นี้เดินหน้าต่อไปอย่างเต็มรูปแบบ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการนี้ รวมถึงศักยภาพในการจัดสรรเงินทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพให้แก่รัฐวิสาหกิจ และความพยายามที่ซ้ำซ้อน

นักวิเคราะห์หลายคนคาดว่ายุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนแนวทางของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น 800 ถึง 1,600 กองทุน โดยมีมูลค่ารวมโดยประมาณอยู่ที่ 5.84 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 17 ล้านล้านบาท) เมื่อปลาย พ.ศ. 2561 ตามการรายงานของบริษัทที่ปรึกษาด้านการวิจัย ซีโรทูไอพีโอ บริษัทคำนวณว่ามีการสร้างกองทุนแนวทางของรัฐบาลใหม่ทุกเดือนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7.57 กองทุน ซึ่งแต่ละกองทุนจะมีจำนวนเงินทุนโดยเฉลี่ย 361 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท) เงินจำนวนมหาศาลตามที่รัฐแนะนำประกอบด้วยการผสมผสานระหว่างเงินทุนทางตรงและทางอ้อมของจีน รวมทั้งเงินอุดหนุน การหักภาษี สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และสัญญาการจัดซื้อของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม นายแลนซ์ โนเบิล นักวิเคราะห์อาวุโสของเกฟคอล ดราโกโนมิกส์ ได้เสนอคำเตือนว่า: ความสำเร็จในนโยบายอุตสาหกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่น่าจะพิจารณาจากขอบเขตของเงินทุน แต่พิจารณาตาม “การปฏิสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างของอุตสาหกรรม นโยบายของรัฐบาล และการดำเนินการของแต่ละบริษัท” โดยใช้การวัดตามข้างต้น นายโนเบิลคาดการณ์ว่าภายใต้นโยบายทางยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ของจีน จีนมีโอกาสประสบความสำเร็จในภาคอุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้าและอุตสาหกรรมยามากกว่าการพัฒนาการบินพลเรือน

มีความกังวลอยู่ว่า เมื่อพิจารณาถึงขนาดกองทุนแนวทางของรัฐบาลว่าด้วยยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 แล้ว กำลังการผลิตที่มากเกินไปและการบิดเบือนตลาดโลกจะตามมา ซึ่งมีผลกระทบที่คล้ายกับการระดมทุนที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนในภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่พลังงานแสงอาทิตย์ไปจนถึงอุตสาหกรรมโลหะ ความไม่โปร่งใสอื่น ๆ
ของเงินทุนรัฐบาลจากยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า
พ.ศ. 2568 บ่งชี้ว่าจะมีการจัดสรรจำนวนเงินทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพและการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม แม้พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงแสร้งลดความสำคัญด้านนโยบายยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 แต่ความสามารถในการติดตามเงินและตามรอยวิธีการระดมทุนให้กับแนวทางของรัฐบาลเหล่านี้อาจบิดเบือนตลาดโลก และสร้างความลำบากให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในอนาคต

หากสร้างไม่ได้ จงซื้อ

นอกเหนือจากการให้เงินสนับสนุนบริษัทภายในประเทศแล้ว กองทุนแนวทางของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ยังมุ่งเน้นที่การได้ครอบครองเทคโนโลยีต่างประเทศที่จีนต้องการ ผ่านการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศ และการลงทุนที่ต่างประเทศในช่วงเริ่มต้นก่อตั้งบริษัทและบ่มเพาะธุรกิจด้านเทคโนโลยี ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงที่ต่างประเทศของจีนในภาคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีมูลค่าประมาณ 1.68 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5 แสนล้านบาท) ต่อปี ตามการตรวจสอบการลงทุนของที่ปรึกษากลุ่มบริษัทโรเดียม กระแสข้อตกลงนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2557 ถึง 2559 ซึ่งสอดคล้องกับการเปิดตัวยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ของรัฐบาลจีน และนโยบายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง จากการคำนวณของกลุ่มบริษัทโรเดียม

ข้อตกลงเหล่านี้บางส่วนนำโดยภาคเอกชนของจีน และจัดเป็นการลงทุนแบบร่วมลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของรัฐบาลต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การลงทุนเหล่านี้อาจไม่ได้ดำเนินการโดยมีแรงจูงใจจากผลกำไรจริง แต่กลับเป็นการช่วยให้จีนเพิ่มขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมมากยิ่งขึ้น แม้ว่านายสี ประธานาธิบดีจีน ใช้อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ควบคุมแรงขับทางเศรษฐกิจทั้งหมดภายในประเทศเพื่อให้วัตถุประสงค์ของประเทศลุล่วง แต่เส้นแบ่งระหว่างภาคส่วนเอกชนของจีนและบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลยังคงคลุมเครืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อสังเกตพบว่ามีการต่อต้านเพียงเล็กน้อยในหมู่นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ของจีนจำนวนมาก ตัวอย่างการเพิ่มความเข้มงวดในภาคเอกชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมถึงเนื้อหาในกฎหมายข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2560 การเพิ่มขึ้นของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ในบริษัทเอกชนต่าง ๆ และการใช้กองทุนร่วมลงทุนของรัฐบาลเพื่อลงทุนในบริษัทเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยียุคใหม่ ตามรายงานของนางสาวแอชลีย์ เฟิง นักวิจัยร่วมกับศูนย์ความมั่นคงแห่งใหม่ของอเมริกา

นางเมลานี ฮาร์ท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายจีนร่วมกับศูนย์เพื่อความก้าวหน้าของอเมริกา กล่าวถึงกลยุทธ์การเข้าซื้อกิจการทางเทคโนโลยีต่างประเทศของจีนว่าเป็นตัวอย่างชั้นเชิงแบบพื้นที่คลุมเครือในเขตเศรษฐกิจ เช่น จีนใช้ขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ของต่างประเทศ “ทีละขั้นตอน” เพื่อถ่ายโอนห่วงโซ่แห่งคุณค่าทั้งหมดไปยังจีนในท้ายที่สุด (นายฮัล แบรนด์ส นักประวัติศาสตร์ให้คำนิยามของอุปสรรคในพื้นที่คลุมเครือว่าเป็นลักษณะการบีบบังคับและพฤติกรรมก้าวร้าว แต่วางแผนไว้อย่างรอบคอบเพื่อให้อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ความขัดแย้งทางทหารตามแบบ) จีนปรับใช้ชั้นเชิงเหล่านี้ในการจัดลำดับความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเห็นเด่นชัดที่สุดจากการใช้การอ้างสิทธิ์ทางอำนาจอธิปไตยในทะเลจีนใต้

เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมการใช้รถยนต์ร่วมกัน ซึ่งเป็นตัวอย่างสำคัญของแนวทางการสั่งการและควบคุมของจีนเพื่อครอบงำด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ ตีตี ชูสิง บริษัทรถร่วมเดินทางรายใหญ่ที่สุดของจีน ดำเนินการแข่งขันทางการค้าตัวต่อตัวกับ อูเบอร์ คู่แข่งจากสหรัฐฯ โดยใช้ข้อได้เปรียบจากการสนับสนุนของรัฐทั้งหมด รวมถึงเงินอุดหนุนที่รัฐมอบให้และการครองสื่อยอดนิยม ขณะที่อูเบอร์ตกเป็นรองจากการเข้าถึงตลาดอย่างตรงไปตรงมา กฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงในช่วงนาทีสุดท้าย และแผนการป้ายสีเป็นขบวนการอย่างแยบยล จนในที่สุด อูเบอร์ได้ขายกิจการในประเทศจีนเพื่อแลกเปลี่ยนกับส่วนแบ่งการลงทุนส่วนเล็ก ๆ ในตีตี ชูสิง ในส่วนภูมิภาค ตีตี ชูสิงยังคงขยายกิจการอย่างต่อเนื่องจากการเข้าซื้อกิจการ โดยลงทุนกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท) ในกิจการของแกร็บ บริษัทที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ นับเป็นการทุ่มสุดตัวให้กับความเชื่ออย่างหนักแน่นว่าบริษัทแกร็บมีข้อได้เปรียบที่จะเอาชนะอูเบอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากโค่นตำแหน่งของอูเบอร์ลงจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านบริษัทแกร็บสำเร็จแล้ว ตีตีก็หันไปจับตาออสเตรเลียในฐานะสถานที่ถัดไปในการพิชิตระดับภูมิภาค ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ตีตีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขับขี่อัตโนมัติและความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ด้วยเงินลงทุนจำนวนมหาศาล

การใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจของตลาดแบบเปิดและการเป็นศูนย์กลางทางนวัตกรรมเพื่อเข้าซื้อเทคโนโลยีต่างประเทศของจีน อยู่ในระดับที่ทำให้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมต้องประเมินวิธีการปกป้องความมั่นคงทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมกันใหม่ ภายในอินโดแปซิฟิก ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ล่าสุดมีการแก้ไขกฎระเบียบการลงทุนของต่างประเทศ รวมถึงในภาคเทคโนโลยีเกิดใหม่แล้ว

ความสามารถในการแข่งขัน นวัตกรรมตกอยู่ในความเสี่ยง

นายโรเบิร์ต แอตคินสันแห่งมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมกล่าวว่า ยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 หรือชื่อใดก็ตามที่ตั้งให้กับรูปแบบ “ลัทธิพาณิชยนิยมเชิงนวัตกรรม” ของจีน ถือเป็นความท้าทายโดยพื้นฐานต่อสวัสดิภาพทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านแข่งขันหลักจากอุตสาหกรรมที่ค่าจ้างสูงกว่าและใช้นวัตกรรมเป็นฐาน ต่างจากอุตสาหกรรมการผลิตที่มีมูลค่าต่ำ การสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันถาวรในภาคเทคโนโลยีและฐานนวัตกรรมของประเทศหนึ่ง ๆ ยากจะสร้างขึ้นใหม่ เพราะความซับซ้อนของระบบนิเวศที่มีมานานและอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดที่สูง นายแอตคินสันกล่าว นอกจากนี้ การสูญเสียความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงอาจก่อให้เกิด “วังวนมรณะ”

ชิปเซ็ตที่บริษัทย่อยของหัวเว่ยเป็นผู้ออกแบบจะแสดงที่สำนักงานใหญ่ของหัวเว่ยที่เซินเจิ้น ประเทศจีน ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 คนในวงการอุตสาหกรรมกำลังสงสัยว่าบริษัทจีนอาจจะหันมาพึ่งพาตนเองด้านการผลิตชิปภายใน พ.ศ. 2568 ตามที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนปรารถนา พรรคคอมมิวนิสต์จีนวางแผนจะลงทุนมากกว่า 1.18 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท) ในอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำในช่วงห้าปีข้างหน้า รอยเตอร์

ประการแรก บริษัทที่พึ่งพาตลาดจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดและผลกำไรให้กับคู่แข่งที่ได้รับการสนับสนุนจากลัทธิพาณิชยนิยม ความเสี่ยงคือการสูญเสียงานในระดับสูงที่มีค่าจ้างสูงในอุตสาหกรรมการผลิตและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ บริษัทที่พึ่งพาตลาดจะไม่สามารถปรับการลงทุนด้านรายได้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศทางนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องของประเทศ ตามที่นายแอตคินสันกล่าว ด้วยเหตุนี้ จึงมักมีการจัดระเบียบห่วงโซ่อุปทานใหม่อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศและความสามารถในการรักษาฐานอุตสาหกรรมกลาโหมของตัวเอง

เช่น การบังคับโอนทรัพย์สินทางปัญญาด้านรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นให้จีน ส่งผลให้คู่ค้าร่วมลงทุนชาวจีนของบริษัทญี่ปุ่นกลายเป็นคู่แข่งด้านรถไฟความเร็วสูงต้นทุนต่ำ ตามรายงานของนายแบรด เซตเซอร์ แห่งสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อแลกกับการเข้าถึงตลาดของจีน ญี่ปุ่นจึงถ่ายโอนทรัพย์สินทางปัญญาด้านรถไฟความเร็วสูงที่มีมูลค่าสูงให้แก่จีน เมื่อจีนได้รับและเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว ก็พัฒนาต่อยอดขีดความสามารถทางรถไฟความเร็วสูงของตัวเองภายใต้การคุ้มครองด้วยนโยบายและกฎระเบียบของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอันรอบคอบ เพื่อแว้งกลับมาเป็นคู่แข่งกับบริษัทรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นทั่วโลก รวมทั้งลดขีดความสามารถในการแข่งขันและฐานนวัตกรรมของบริษัทเหล่านั้นลง

บนเส้นทางสู่ อุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำในระดับภูมิภาค

เมื่อเปลี่ยนมาดูที่ภาคส่วนอื่น นโยบายประดิษฐกรรมของรัฐทางเศรษฐกิจอย่างยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ของจีนเสี่ยงจะทำลายความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำในภูมิภาคลงอย่างย่อยยับ อินโดแปซิฟิกเป็นที่ตั้งบริษัทสารกึ่งตัวนำ 10 อันดับแรกของโลกถึง 9 แห่ง หากการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูงภายในประเทศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับจีนในช่วงทศวรรษ 2000 (พ.ศ. 2543-2552) จีนยังดำเนินการสร้างบริษัทชั้นนำระดับประเทศในอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำต่อไป เพื่อมาแทนผู้จัดหาต่างประเทศ

แม้ความสำเร็จจนกระทั่งตอนนี้ยังมีข้อจำกัด แต่จีนมองว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำภายในประเทศมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากชิป สารกึ่งตัวนำเป็นแกนหลักของการประสบความสำเร็จทางเทคโนโลยีในอนาคต รวมถึงด้านปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติ และคอมพิวเตอร์ ควอนตัม ตามรายงานของสมาคมอุตสาห กรรมสารกึ่งตัวนำ การลงทุนด้านสารกึ่งตัวนำที่มีการวางแผนไว้ของรัฐบาลจีนในช่วงห้าปีข้างหน้ามูลค่า 1.18 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท) ลดการวิจัยและพัฒนาที่มีการวางแผนไว้สำหรับคู่แข่งต่างประเทศ ตามการรายของนายเจมส์ แอนดรูว์ ลูอิส แห่งศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา

นอกจากรัฐบาลจะให้เงินทุนจำนวนมากสำหรับสร้างอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำภายในประเทศแล้ว จีนยังถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทต่างชาติโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ซิลิคอนวัลเลย์ไปจนถึงไต้หวัน ประเทศในอินโดแปซิฟิกเริ่มใช้มาตรการเพื่อแก้ไขภัยคุกคามเหล่านี้ เช่น สภานิติบัญญัติของเกาหลีใต้กำลังหาวิธีแก้ไขปัญหาการโจรกรรมความลับทางการค้าในอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำด้วยบทลงโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติการแลกเปลี่ยนเงินตราและการค้าระหว่างประเทศ เพื่อขยายรายการจำกัดด้านการลงทุนต่างประเทศให้รวมถึงภาคต่าง ๆ เช่น สารกึ่งตัวนำ พร้อมกับประเมินการสร้างกรอบการควบคุมการส่งออกสำหรับเทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนระบบการควบคุมการส่งออกฉบับแก้ไขของสหรัฐฯ

เทคโนโลยีที่ใช้ได้สองทาง การหลอมรวมพลเรือนทหาร

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ยังคงเป็นส่วนสำคัญของการปรับปรุงด้านกลาโหมให้ทันสมัยของนายสี ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน และกลยุทธ์การหลอมรวมพลเรือนทหารที่ออกแบบมาเพื่อปฏิรูปกองทัพปลดปล่อยประชาชนให้เป็นกองทัพระดับโลกภายใน พ.ศ. 2592 ประการแรก ลักษณะการใช้เทคโนโลยีแบบสองทางของยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 จะช่วยให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนมีความเหนือกว่าในสนามรบ เช่น จีนได้นำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้กับโครงการหุ่นยนต์ทางทหาร ความสามารถในการออกคำสั่งตนเอง และการตัดสินใจสั่งการทางทหาร ตามรายงานของนายเกรกอรี่ อัลเลน แห่งศูนย์ความมั่นคงอเมริกันใหม่ กองทัพปลดปล่อยประชาชนคาดการณ์ว่าปัญญาประดิษฐ์จะขับเคลื่อนการปฏิวัติครั้งถัดไปในกิจการทางทหาร ในฐานะระบบทางทหารและการส่งต่อหลักการด้านการต่อสู้จาก “การใช้ข้อมูล” ไปเป็น “การใช้ปัญญา” นางสาวเอลซ่า คาเนีย แห่งศูนย์ความมั่นคงอเมริกันใหม่กล่าว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีนในภาคอื่น ๆ ของยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 จะมีความเกี่ยวข้องโดยนัยกับการทหารในระยะยาวสำหรับภูมิภาคนี้ และลักษณะของสงครามยุคใหม่ รวมถึงการสื่อสารเชิงควอนตัม เรดาร์ และวิทยาการเข้ารหัส เช่น ยานพาหนะอัตโนมัติและระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ตามรายงานของนางสาวมีอา นูเวนส์ และนางสาวเฮเลนา เลการ์ดา นักวิจัยแห่งสถาบันการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ

ประการที่สอง จากยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 และนโยบายอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง บริษัทเอกชนของจีนจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการยกระดับเป้าหมายทางทหารและความมั่นคงแห่งชาติของจีน เช่น ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าของภาคเอกชนจีน จะเป็นหัวใจสำคัญของจีนที่ใช้ข่มเหงรังแกชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์นับล้านในซินเจียง ตามรายงานของนางสาวคาเนีย นอกจากนี้ บริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์เดียวกันนี้ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับประเทศของจีน ยังส่งออกเครื่องมือเฝ้าระวังไปทั่วโลก เพื่อสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลเผด็จการในการเฝ้าติดตามพลเมืองของประเทศตน

โอกาสในภูมิภาค

ท่ามกลางความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะขจัดการรับรู้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 จากนานาชาติ ประชาคมโลกควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มระดับความตระหนักรู้ถึงการปฏิบัติทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมและมีลักษณะกำจัดคู่แข่งของจีน ผ่านการเรียกร้องให้เกิดความโปร่งใสและมีการเปิดเผยข้อมูล การเปิดเผยข้อมูลที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกระหว่างภาครัฐและเอกชนรวมถึงแวดวงวิชาการ เป็นสิ่งสำคัญต่อการแก้ไขภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในรูปแบบทุนนิยมโดยรัฐและการรุกรานทางเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ขณะนี้ พันธมิตรและแนวร่วมในสหรัฐฯ กำลังดำเนินการใช้ความพยายามทางการทูตในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ต้องมีการดำเนินการเผยแพร่กับภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น เพราะเป็นสถานที่ที่ส่วนใหญ่มีการถ่ายโอนทางเทคโนโลยีเกิดขึ้น ทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถูกบังคับ ลักลอบ และผิดกฎหมาย

การเปิดเผยข้อมูลกับภาคเทคโนโลยีเอกชน และห้องปฏิบัติการด้านการวิจัยและพัฒนาในสถาบันการศึกษา จะช่วยส่งเสริมความจำเป็นของมาตรการป้องกันที่แน่นหนา รวมถึงความโปร่งใสในการเป็นเจ้าของ พร้อมกับเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจในระยะยาว ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการลงทุนหรือการร่วมทุน ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชนและห้องปฏิบัติการด้านการวิจัยยังคงครองอำนาจที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้ว่าอิทธิพลของภาคส่วนดังกล่าวจะลดลง เนื่องจากบริษัทจีนได้รับส่วนแบ่งในตลาดโลก และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของจีนกลายเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกเพิ่มมากขึ้น แรงกดดันเป็นหนึ่งเดียวกันจากภาครัฐพร้อมกับภัยคุกคามจากผลกระทบที่แท้จริงเคยใช้ได้ผลกับจีนในอดีต เช่น แรงกดดันเป็นหนึ่งเดียวกันของบริษัทต่างประเทศ ร่วมด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เอาชนะการเปิดตัวมาตรฐานเครือข่ายไร้สายภายในประเทศท้องถิ่นของจีนย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2546 ตามรายงานของนายอดัม ซีกัล แห่งสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สิ่งที่สำคัญเท่า ๆ กันคือการเปิดเผยข้อมูลร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนรวมถึงสถาบันการศึกษา เกี่ยวกับวิธีเสริมสร้างระบบนิเวศทางนวัตกรรมในอนาคต และยกระดับความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตรทั่วอินโดแปซิฟิก เพื่อปรับภูมิภาคให้ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและมีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า การเรียกร้องระดมเงินทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่มีค่านิยมคล้ายกันร่วมกันจะเป็นการเริ่มต้นที่น่ายินดี ซึ่งสามารถวางกรอบในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกสำหรับเทคโนโลยีรุ่นใหม่ (ที่คล้ายคลึงกับวิธีพัฒนาการมีส่วนร่วมในเทคโนโลยี 5 จี) เพื่อให้เหนือล้ำกว่ายุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ที่เลือกปฏิบัติของจีนอย่างมาก ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาตามหลักนิติธรรมและการถ้อยทีถ้อยอาศัย จะช่วยให้พันธมิตรทั้งหมดเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีได้ในท้ายที่สุด

นางอาราติ ชรูฟ เจ้าหน้าที่บริการด้านต่างประเทศของสหรัฐฯ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นนักวิจัยแห่งอูนา แชปแมน ค็อกซ์ และผู้ช่วยนักวิจัยแห่งศูนย์อีสต์เวสต์ในเมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย มุมมองของนางชรูฟมุมมองส่วนตัว และไม่ได้เป็นตัวแทนของกระทรวงการต่างประเทศ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button