ติดอันดับ

เจ้าหน้าที่ของฟิลิปปินส์ระบุว่าจีนต้องการจำกัดกองกำลังต่างชาติในทะเล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์กล่าวเมื่อต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนพยายามจำกัดบทบาทของมหาอำนาจทางการทหารต่างชาติในทะเลจีนใต้ และการมีส่วนร่วมของต่างชาติในโครงการน้ำมันและก๊าซในภูมิภาคอันเป็นข้อพิพาทแห่งนี้ ภายใต้ข้อตกลงที่กำลังเจรจากับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม นายทีโอโดโร ล็อกซิน จูเนียร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ เอบีเอส-ซีบีเอ็น นิวส์ แชนแนล ว่าจีนคลายความต้องการดังกล่าวลง จึงเป็นการขจัดอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในการสรุปที่เรียกว่า “หลักปฏิบัติ” ซึ่งจีนกำลังเจรจากับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน

จีนและกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศดำเนินการเจรจาข้อตกลงการไม่รุกรานกัน ในความพยายามที่จะยับยั้งการกระทำเชิงคุกคามจากจีนและประเทศอื่น ๆ ที่อ้างสิทธิ์ ซึ่งอาจจุดชนวนการเผชิญหน้ากันด้วยอาวุธครั้งใหญ่ในดินแดนที่มีข้อพิพาท ซึ่งคร่อมอยู่บนบางส่วนของเส้นทางเดินเรือที่คับคั่งที่สุดในโลก

อาเซียนและจีนตกลงให้รักษาการเจรจานี้ไว้เป็นความลับ แม้การยืนกรานของจีนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่เสนอว่าควรจำกัดบทบาททางทหารของต่างชาติและการฝึกซ้อมต่าง ๆ ในภูมิภาคที่เป็นข้อพิพาทแห่งนี้ มีการรั่วไหลออกไปและสื่อมวลชนบางสำนักรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยมีนักการทูตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างน้อยสองราย ยืนยันความต้องการเหล่านั้นของจีนกับดิแอสโซซิเอทเต็ดเพรส

เมื่อเอบีเอส-ซีบีเอ็น นิวส์ แชนแนล สอบถามเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว นายล็อกซินกล่าวว่าการเจรจา “เป็นที่โต้เถียงกันอย่างมากอยู่พักหนึ่ง” โดยจีนยืนกรานว่าไม่มี “มหาอำนาจทางทหารต่างชาติใดสมควรมีบทบาททางทหารในทะเลจีนใต้” และหาก “ต้องการพัฒนาด้านน้ำมันและก๊าซ จะต้องดำเนินการกับจีนเท่านั้น”

“รายงานที่เราได้รับตอนนี้คือ จีนกำลังโอนอ่อนลง โดยไม่ได้ยืนกรานเกี่ยวกับการกีดกันมหาอำนาจต่างชาติอีกต่อไป และไม่ได้ยืนกรานเรื่องใด ๆ อีกแล้ว” นายล็อกซินกล่าว “ดังนั้น ผมคิดว่าข่าวนี้โดยทั่วไปมาจากศัตรูของจีนและพันธมิตรบางรายของเรา”

เจ้าหน้าที่รัฐของจีนและสหรัฐฯ ไม่ได้กล่าวแสดงความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยทันที จีนไม่ชอบใจการลาดตระเวนและการฝึกของกองทัพสหรัฐฯ ในน่านน้ำเชิงยุทธศาสตร์แห่งนี้

มีการกล่าวหาว่าจีนชะลอการเริ่มต้นเจรจาข้อตกลงในภูมิภาคดังกล่าวเป็นเวลาหลายปี นักวิจารณ์กล่าวว่าจีนเพิ่งจะตกลงเริ่มการเจรจาอย่างเป็นทางการกับอาเซียนหลังจากที่รัฐบาลจีนสร้างเกาะ 7 แห่งในหมู่เกาะสแปรตลี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการแย่งชิงมากที่สุดในทะเลจีนใต้ โดยระบุว่าหลักเกณฑ์ที่นำเสนอไปนั้น อาจยับยั้งไม่ให้จีนดำเนินการก่อสร้างใหญ่ดังกล่าวในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาท

ประเทศสมาชิกอาเซียนสี่แห่ง ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม พัวพันอยู่กับข้อพิพาททางทะเลอันยาวนานกับจีนและไต้หวัน ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อจีนเปลี่ยนแนวปะการังซึ่งเป็นข้อพิพาททั้ง 7 แห่ง เป็นเกาะที่สามารถใช้เป็นฐานทัพหน้าเพื่อแสดงอานุภาพกองทัพของจีนต่อประเทศคู่แข่ง

ฝ่ายตรงข้ามลดความสำคัญของหลักเกณฑ์ดังกล่าวลง โดยกล่าวว่าจีนจะไม่ลงนามในข้อตกลงซึ่งทำลายผลประโยชน์ของตน แต่นายล็อกซินกล่าวว่า การคลายความต้องการบางอย่างของจีน แสดงให้เห็นว่า “มีโอกาสจะเกิดหลักปฏิบัติที่เป็นธรรม เที่ยงตรง และไม่มีอคติในทะเลจีนใต้”

นายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนว่า ควรเร่งดำเนินการหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้เสร็จสิ้นท่ามกลางความตึงเครียดในหมู่ผู้อ้างสิทธิ์ที่แข่งขันกัน นายล็อกซินกล่าว

นายดูแตร์เต “บอกกับนายสีว่า ‘หลักปฏิบัตินี้จะไม่มีวันจบสิ้น เราเร่งรัดได้หรือไม่ มาขจัดอุปสรรคนี้กัน เราจะได้หลีกเลี่ยงความตึงเครียดทั้งหมดนี้ และจะได้รู้ว่าใครถูกใครผิดเมื่อเกิดเรื่องขึ้น” นายล็อกซินกล่าว “นายสี จิ้นผิงกล่าวว่า ‘ได้สิ'”

นายสีแสดงความหวังว่าหลักเกณฑ์ในภูมิภาคฉบับนี้จะเสร็จสิ้นใน 3 ปี เมื่อเร็ว ๆ นี้ เจ้าหน้าที่จีนและอาเซียนกล่าวว่าได้ดำเนินการเจรจา 3 รอบแรกตามคาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button