ติดอันดับ

เกาหลีเหนือทดสอบกลุ่มขีปนาวุธท่ามกลางภัยคุกคามจากไวรัสโคโรนา

ติดอันดับ | Mar 20, 2020:

เกาหลีเหนือได้ปล่อยกลุ่มขีปนาวุธพิสัยใกล้ เมื่อช่วงสัปดาห์ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 หลังจากเว้นระยะไปสามเดือน เกาหลีเหนือได้กลับมาแสดงพฤติกรรมเชิงปลุกปั่นอีกครั้ง ตามรายงานของเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ การทดสอบดังกล่าวเริ่มต้นหนึ่งสัปดาห์หลังจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรระบบการปกครองเพื่อหาวิธีต่อสู้กับไวรัสโคโรนา สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้รายงาน

“การที่เกาหลีเหนือกระทำเช่นนี้ไม่ได้ช่วยให้ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีลดลง” กองทัพสาธารณรัฐเกาหลีระบุในแถลงการณ์ กองทัพเกาหลีใต้กำลังวิเคราะห์ข้อมูลขีปนาวุธสองลูกที่ปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ซึ่งพุ่งไกลประมาณ 240 กิโลเมตรก่อนตกลงในทะเลที่คั่นระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีเหนือ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์ “เราขอเรียกร้องอีกครั้งให้เกาหลีเหนือหยุดกระทำการดังกล่าวทันที” กองทัพสาธารณรัฐเกาหลีกล่าว

เจ้าหน้าที่สาธารณรัฐเกาหลีกล่าวว่า การปล่อยขีปนาวุธจากชายฝั่งตะวันออกใกล้กับเมืองวอนซัน ประเทศเกาหลีเหนือเมื่อต้นเดือนมีนาคม ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมทางทหาร ตามรายงานของเดอะนิวยอร์กไทมส์ สื่อทางการของเกาหลีเหนือกล่าวว่า นายนายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เป็นผู้ควบคุม “การฝึกซ้อมยิงปืนใหญ่วิถีไกล” ตามรายงานของสำนักข่าวยอนฮัป (ภาพ: นายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือเข้าร่วมการฝึกซ้อมเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ภาพนี้เผยแพร่โดยสำนักข่าวกลางของเกาหลีเหนือ)

ประธานคณะเสนาธิการร่วมของกองทัพสาธารณรัฐเกาหลีกล่าวว่า หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 9 มีนาคม เกาหลีเหนือได้ปล่อยขีปนาวุธวิถีใกล้หลายลูกที่มีแนวโน้มว่ามาจากระบบยิงจรวดหลายลำกล้องลงสู่ทะเลตะวันออก ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมยิงอีกครั้งหนึ่ง ตามรายงานของรอยเตอร์ โดยขีปนาวุธดังกล่าวได้พุ่งไปในแนวราบไกลถึง 200 กิโลเมตรก่อนจะพุ่งขึ้นในแนวดิ่งอีก 50 กิโลเมตร ซึ่งสูงกว่าขีปนาวุธที่ปล่อยออกมาระหว่างการทดสอบเมื่อวันที่ 2 มีนาคม

รอยเตอร์รายงานว่า การทดสอบครั้งที่สองซึ่งปล่อยขีปนาวุธอย่างน้อยสามลูกนั้น ได้กระตุ้นให้สหรัฐฯ และจีนเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีเหนือกลับสู่การเจรจาเกี่ยวกับการยุติโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธในวันเดียวกัน

“เรายังคงเรียกร้องให้เกาหลีเหนือหลีกเลี่ยงการกระทำเชิงปลุกปั่น และปฏิบัติตามข้อผูกพันภายใต้มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รวมถึงกลับสู่การเจรจาที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม และทำหน้าที่ในส่วนของตนเพื่อให้การปลดอาวุธนิวเคลียร์บรรลุผลสำเร็จ” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้อนุมัติยกเว้นการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ เพื่อให้สามารถขนส่งอุปกรณ์วินิจฉัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปยังเกาหลีเหนือได้ ซึ่งเป็นการช่วยต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโคโรนาในระบอบการปกครองของนายคิม ตามรายงานของเรดิโอฟรีเอเชีย โดยมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวสั่งห้ามไม่ให้มีการจัดหาอุปกรณ์และการนำเข้าสิ่งที่อาจช่วยยกระดับโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

“คณะกรรมการกล่าวย้ำว่า มาตรการคว่ำบาตรที่มีความเกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงออกตามมติของตนนั้น ไม่ได้มีเจตนาให้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อประชาชนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี” นายคริสตอฟ ฮอยสเกิน ประธานคณะกรรมการแห่งสหประชาชาติ ระบุไว้ในจดหมายอนุมัติการยกเว้นมาตรการคว่ำบาตรที่องค์การอนามัยโลกร้องขอ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

การทดสอบดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ของเกาหลีใต้กับการระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งในเกาหลีใต้มีผู้ป่วยมากกว่า 6,000 คน ซึ่งเป็นเวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากการเลื่อนการฝึกร่วมประจำปีของกองทัพสาธารณรัฐเกาหลีกับสหรัฐฯ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 สำนักข่าวหลายแห่งรายงาน

แม้ว่าเกาหลีเหนือยังคงไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 แม้แต่รายเดียวจนถึงวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2563 แต่รัฐบาลก็ได้เพิ่มความพยายามในการป้องกันมากขึ้น โดยผู้สังเกตการณ์สงสัยว่า ไวรัสโคโรนาอาจแพร่เข้าไปในเกาหลีเหนือได้จากช่องทางชายแดนที่ติดกับจีนมากกว่าปัจจัยและหลักฐานอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังได้มีรายงานเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในเกาหลีเหนือจากสื่อเกาหลีใต้ออกมาอีกด้วย ตามรายงานของเรดิโอฟรีเอเชีย

การทดสอบขีปนาวุธพิสัยใกล้เมื่อเดือนมีนาคมถือว่าเป็นการทดสอบขีปนาวุธครั้งแรกที่โจ่งแจ้งของรัฐบาล นับตั้งแต่การปล่อยชุดจรวดพิสัยใกล้และการทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงาน

ระหว่างการพิจารณาคดีของกรรมาธิการทางทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2563 นายมาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า สมรรถภาพขีปนาวุธทิ้งตัวของเกาหลีเหนือมีความ “ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ” หลังจากการทดสอบดังกล่าว “เนื่องจากเกาหลีเหนือพยายามพัฒนาระบบขีปนาวุธทุกพิสัยอย่างสุดความสามารถ” สำนักข่าวยอนฮัปรายงาน

ช่วงปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 นายคิมได้ขู่ว่า จะกลับมาทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธพิสัยไกล แม้ว่ารัฐบาลได้พักการทดสอบดังกล่าวไว้เป็นเวลาสองปีแล้วก็ตาม เนชันแนลพับลิกเรดิโอรายงานว่า ตามที่สำนักข่าวอย่างเป็นทางการของเกาหลีเหนือระบุ นายคิมกล่าวว่าตนวางแผนจะเปิดตัว “อาวุธยุทธศาสตร์ใหม่ในอนาคตอันใกล้”

เกาหลีเหนือ “แสดงเจตนาที่คุกคามมากขึ้นก่อนการเลือกตั้งของเกาหลีใต้ที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายน และในการเลือกตั้งขั้นต้น ซูเปอร์ทิวสเดย์ ก่อนการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ” นายเลฟ-เอริค อีสลีย์ ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาต่างประเทศของมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา ในกรุงโซล กล่าวกับ เดอะนิวยอร์กไทมส์ “เกาหลีเหนือกำลังสร้างความชัดเจนว่าจะดำเนินการทดสอบขีปนาวุธเหล่านี้ต่อไปเพื่อเสริมศักยภาพทางการทหารและความต้องการที่มีมากเป็นพิเศษ โดยไม่ได้สนใจว่าทางรัฐบาลจีน รัฐบาลเกาหลีใต้ และรัฐบาลสหรัฐฯ จะมีความวุ่นวายด้านการเมืองและสุขภาพประชาชนอยู่แล้ว”

ทั้งนี้ การเลือกตั้งสภาของเกาหลีใต้มีกำหนดการในวันที่ 15 เมษายน (การเลือกตั้งขั้นต้น ซูเปอร์ทิวสเดย์ จัดขึ้นในสหรัฐฯ แล้วเมื่อวันที่ 3 มีนาคม)

เกาหลีเหนือดำเนินการทดสอบขีปนาวุธครั้งแรกประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากการยกเว้นมาตรการคว่ำบาตรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยนายฮอยสเกิน เอกอัครราชทูตเยอรมันแห่งสหประชาชาติ เป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรก ๆ ที่ประณามการทดสอบดังกล่าว ในวันที่ 5 มีนาคม เบลเยียม อังกฤษ เอสโตเนีย ฝรั่งเศส และเยอรมนีได้กล่าวประณามการยิงทดสอบขีปนาวุธเมื่อวันที่ 2 มีนาคม

ประเทศยุโรปทั้งห้าประเทศนี้ ซึ่งสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้งหมด “เป็นกังวลอย่างมากต่อการทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวของเกาหลีเหนือ” นายฮอยสเกิล กล่าวแทนสัมพันธมิตร โดยกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่อาคารสำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก สำนักข่าวยอนฮัปรายงาน

“เราขอประณามการประทำเชิงปลุกปั่นดังกล่าว ซึ่งเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค ตลอดจนสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ เกาหลีเหนือกำลังฝ่าฝืนข้อมติเอกฉันท์ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเห็นได้ชัด” นายฮอยสเกิน กล่าว

“เรายังคงเรียกร้องให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีเข้าร่วมการเจรจาที่สำคัญซึ่งอยู่บนพื้นฐานของเจตนาที่ดีกับสหรัฐฯ เพื่อดำเนินขั้นตอนการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างเป็นรูปธรรมในการล้มเลิกโครงการอาวุธทำลายล้างขั้นสูงและขีปนาวุธทิ้งตัวอย่างสิ้นเชิง ตรวจสอบได้ และไม่กลับมาดำเนินการอีก รวมถึงเพื่อยับยั้งการปลุกปั่นในภายหน้า” นายฮอยสเกิน กล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button