ติดอันดับ

อินโดนีเซียและสหรัฐฯ ฝึกซ้อมร่วมกันเพื่อต่อสู้กับกลุ่มหัวรุนแรง

ทอม แอบกี

อินโดนีเซียและสหรัฐอเมริกาจะร่วมมือกันต่อสู้กับลัทธิสุดโต่งหัวรุนแรง โดยจะมีการฝึกซ้อมร่วมใน พ.ศ. 2563 ซึ่งมีหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายพิเศษของกองทัพอินโดนีเซียที่ชื่อว่า โกปาสซัส เข้าร่วมด้วย

การฝึกนี้จะเพิ่มเข้าไปในการฝึกซ้อมระหว่างกองทัพบกที่มีอยู่เดิมโดยการสร้างบรรทัดฐานความสัมพันธ์ของหน่วยปฏิบัติการพิเศษกองทัพบกระหว่างทั้งสองประเทศ ตามแถลงการณ์ร่วมหลังการหารือทวิภาคีในกรุงจาการ์ตาเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 การฝึกซ้อมดังกล่าวจะเน้นที่การปกป้องสิทธิมนุษยชนและการตอบสนองทางการแพทย์ฉุกเฉินต่อเหตุการณ์รุนแรง

ในการแถลงข่าวหลังจากการเจรจา พล.อ. นิวแมน แคนเทียซา ผู้บัญชาการหน่วยโกปาสซัสกล่าวว่า การฝึกครั้งนี้จะรวมถึงการฝึกทางการแพทย์ในสงครามสำหรับนายทหารยศสิบเอกที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของตน เพื่อให้พวกเขาสามารถผ่าตัดฉุกเฉินในสนามรบได้ โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้ทหารที่ได้รับบาดเจ็บมีชีวิตอยู่ได้ถึง 3 วัน ซึ่งนานพอที่จะเคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาลทหาร

การฝึกครั้งนี้น่าจะใช้เวลา 4 ถึง 6 สัปดาห์และมีผู้เข้าร่วม 150 คน พล.ท. เดฟ อีสต์เบิร์น โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวกับรอยเตอร์ พล.ท. อีสต์เบิร์นกล่าวเพิ่มเติมว่า อาจมุ่งเน้นไปที่การปกป้องสิทธิมนุษยชนควบคู่ไปกันการตอบสนองต่อวิกฤตและการช่วยเหลือตัวประกัน

หน่วย 81 ของโกปาสซัสจะเข้าร่วมในการฝึกนี้ตามที่ พล.ท. อีสต์เบิร์นกล่าว โกปาสซัสหน่วย 81 เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและประสานงานกับหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายของกองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตำรวจอินโดนีเซีย ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียประสบกับการโจมตีอย่างรุนแรง 12 ครั้งจากกลุ่มหัวรุนแรงตั้งแต่ พ.ศ. 2555 รวมถึงเหตุระเบิดหลายครั้งในเมืองซูราบายาเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งทำให้พลเรือนและตำรวจเสียชีวิตหลายสิบราย หน่วยโกปาสซัสทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยปราบปรามการก่อการร้ายพิเศษ 88 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซียใน พ.ศ. 2561 ตามแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของ พล.ต.อ. เซ็ตโย วาซิสโต โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งระบุว่าหน่วยโกปาสซัสมีส่วนร่วมในการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหลายราย

การฝึกซ้อมที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้เป็นเครื่องหมายของการปฏิบัติตามประกาศ พ.ศ. 2553 ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างกองทัพสหรัฐฯ และโกปาสซัสจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อโกปาสซัสดำเนินการปฏิรูปสิทธิมนุษยชนแล้ว โกปาสซัสเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการกระทำภายใต้การปกครองอันยาวนานถึง 32 ปีของนายซูฮาร์โต อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และมีการระงับความร่วมมือกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษสหรัฐฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา

การกลับมาฝึกซ้อมร่วมกันใหม่นี้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลอินโดนีเซียเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561 ในกรุงจาการ์ตา บันทึกดังกล่าวให้คำมั่นว่าจะยกระดับ “ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับอินโดนีเซียในการต่อต้านการก่อการร้าย โดยปรับปรุงการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด รวมทั้งโดยการสร้างศักยภาพผ่านการฝึกอบรมและการศึกษาแบบร่วมมือกัน” ตามประกาศของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

โกปาสซัสก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2495 ในฐานะหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพบกอินโดนีเซีย หน่วยต่าง ๆ ของโกปาสซัสได้รับการฝึกอบรมและมีความสามารถที่หลากหลาย เช่น การดำเนินการโดยตรง สงครามรูปแบบใหม่ การปราบปรามการก่อกบฏ การต่อต้านการก่อการร้าย การรวบรวมข่าวกรอง และการลาดตระเวนพิเศษ

นายรามิชาร์ด ราชูดู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย (ภาพ) กล่าวถึงโกปาสซัสว่าเป็น “ความภาคภูมิใจของประชาชน” ขณะปราศรัยต่อทหาร 445 นายของหน่วยดังกล่าวที่กองบัญชาการในกรุงจาการ์ตา เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2562

“ไม่มีศัตรูใดหยุดยั้งทหารโกปาสซัสได้” นายราชูดูกล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button