ข่าวผู้ก่อการร้ายแผนก

อินโดนีเซียแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพิ่ม 600 นาย ในการต่อต้านการก่อการร้าย

นโดนีเซียจะขยายกองกำลังต่อต้านการก่อการร้ายของประเทศเป็นเท่าตัวก่อนวาระสำคัญระดับนานาชาติที่กำลังจะมีขึ้นที่อินโดนีเซียใน พ.ศ. 2561 พล.ต.อ. ติโต คาร์นาเวียน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวเมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 และกล่าวต่อว่า นายตำรวจยศพลตำรวจโทจะเป็นผู้นำกองกำลังดังกล่าวแทน แทนนายตำรวจยศพลตำรวจตรี

“นอกจากนี้ ผมยังร้องขอให้เพิ่มจำนวนกำลังพลเป็นสองเท่าตัว เราจะเพิ่มบุคลากรอีกประมาณ 600 นาย เพื่อให้จำนวนทั้งหมดเป็น 1,300 นาย” พล ต.อ. ติโตกล่าว

พล ต.อ. ติโต ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าหน่วยตำรวจพิเศษกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการประเมินระดับภัยคุกคามใน พ.ศ. 2561 เมื่ออินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพงานระดับนานาชาติครั้งใหญ่ถึงสองงาน

งานดังกล่าวได้แก่การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ที่จะจัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตา เมืองปาเล็มบังที่เกาะสุมาตรา และอีกหลาย ๆ พื้นที่ในจังหวัดชวาตะวันตก โดยมีนักกีฬา 1,500 คนจาก 45 ประเทศเข้าร่วม อีกงานหนึ่งคือการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลกที่เกาะบาหลี ซึ่งจะมีตัวแทนจาก 189 ประเทศเข้าร่วม

การที่เกาหลีเหนือและพม่าเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ในเดือนสิงหาคมและกันยายน พ.ศ. 2561 และการประชุมไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกในเดือนตุลาคมที่มีอิสราเอลและสหรัฐอเมริกาเข้าร่วม ทำให้ทั้งสองงานนี้อาจตกเป็นเป้าของกลุ่มหัวรุนแรงและผู้ก่อความไม่สงบ พล ต.อ. ติโตกล่าว
หน่วยเดนซุส 88 ของกองกำลังตำรวจอินโดนีเซียจับกุมผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายได้ 172 รายใน พ.ศ. 2560 โดย 16 รายถูกยิงเสียชีวิตในระหว่างการเข้าจับกุม เจ้าหน้าที่กล่าว

จำนวนผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมเพิ่มจาก 73 รายใน พ.ศ. 2558 เป็น 163 รายใน พ.ศ. 2559 โดยจากจำนวนผู้ต้องสงสัยที่จับกุมใน พ.ศ. 2560 นั้น มี 76 รายเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีเมื่อต้น พ.ศ. 2561 และ 10 รายที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิด

“ตัวเลขผู้ถูกจับกุมเพิ่มขึ้นเนื่องด้วยมาตรการเชิงรุกที่ตำรวจใช้ โดยเฉพาะหน่วยเดนซุส 88 ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างขยันขันแข็งมากขึ้นเพื่อตรวจจับ เฝ้าระวัง และดำเนินการต่อต้านเครือข่ายก่อการร้าย” พล ต.อ. ติโตกล่าว

พล ต.อ. ติโตกล่าวว่าจำนวนตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุก่อการร้ายได้เพิ่มขึ้นในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 4 นาย และอีก 14 นายได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่ใน พ.ศ. 2560 พล.ต.อ. ติโตกล่าว ใน พ.ศ. 2559 กองกำลังพิเศษสูญเสียผู้ปฏิบัติงานหนึ่งนาย ขณะที่อีก 11 นายได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่หนึ่งนายเสียชีวิตและอีกสองนายได้รับบาดเจ็บใน พ.ศ. 2558

“ผมแนะนำให้มีการทำงานนอกเครื่องแบบมากขึ้น มีการป้องกันแต่เนิ่น ๆ และการลงมือปฏิบัติก่อนที่เหตุร้ายจะเกิด ซึ่งในส่วนนี้ เราต้องเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจจับ” พล.ต.อ. ติโตกล่าว

ตำรวจต่อต้านการก่อการร้ายของอินโดนีเซียปิดล้อมถนนเพื่อตรวจค้นบ้านในสุราบายา จังหวัดชวาตะวันออก เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ภายหลังการจับกุมชายผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับรัฐอิสลามอิรักและซีเรีย
เก็ตตี้อิมเมจ

นายราคยัน อดิบราต ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านก่อการร้ายกล่าวว่า ผู้บัญชาการระดับสูงของหน่วยเดนซุส 88 เสนอให้มีการขยายขอบเขตภารกิจและเพิ่มงบประมาณกองกำลัง

“แต่ก็ต้องตระหนักเสมอว่า การฝึกเจ้าหน้าที่ต่อต้านการก่อการร้ายให้มีความเป็นมืออาชีพเต็มร้อยและมีความพร้อมอย่างดีนั้นเป็นงานที่ต้องใช้เวลานาน ในขณะที่การฝึกผู้ก่อการร้ายใช้เวลารวดเร็วกว่ามาก” นายราคยันกล่าว “หน่วยเดนซุสจะต้องทำงานแข่งกับเวลา”

“เมื่อมองในแง่วิธีการแล้ว ไอซิส (รัฐอิสลามอิรักและซีเรีย) ไม่เหมือนกับกลุ่มญะมาอะห์ อิสลามียะห์ ที่เน้นให้มีการนองเลือดเป็นหลัก” นายราคยันกล่าว เปรียบเทียบกลุ่มไอซิสกับกลุ่มในเครืออัลกออิดะฮ์ที่สังหารคนไป 202 ชีวิตในเหตุการณ์ระเบิดไนต์คลับในบาหลีเมื่อ พ.ศ. 2545
“สำหรับพวกนี้ แค่มีดทำครัวธรรมดาก็เพียงพอที่จะบุกโจมตีแล้ว” นายราคยันกล่าวถึงไอซิส

นายราคยันเห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของผู้บัญชาการตำรวจที่ว่างานระดับนานาชาติในอินโดนีเซีย พ.ศ. 2561 อาจตกเป็นเป้าของผู้ก่อการร้าย

“มีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีผู้ก่อเหตุที่ต้องการใช้การก่อการร้ายเป็นเครื่องมือถ่ายทอดสารทางการเมือง” นายราคยันกล่าว

จากสถิติของกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ใน พ.ศ. 2560 มีชาวอินโดนีเซียถูกจับกุมในต่างแดน 227 คน รวมทั้งในตุรกี มาเลเซีย ซีเรีย และเกาหลีใต้ โดยในตุรกีมีจำนวนผู้ถูกจับกุมสูงสุด 195 คน รองลงมาคือซีเรียซึ่งมี 28 คน

กระทรวงการต่างประเทศรายงานเพิ่มเติมว่า ชาวอินโดนีเซีย 213 คน ซึ่งมีทั้งผู้หญิง 79 คนและเด็ก 78 คน ถูกเนรเทศจากตุรกีระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 และ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ตัวเลขดังกล่าวนับว่ามากเป็นสามเท่าจากจำนวนผู้ถูกส่งกลับจากตุรกี 60 คนเมื่อ พ.ศ. 2559

นายลาลุ มูฮัมหมัด อิกบาล เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ส่วนใหญ่ชาวอินโดนีเซียถูกส่งกลับเนื่องจากการทำผิดกฏหมายคนเข้าเมือง เช่น การใช้วีซ่าผิดประเภท การอยู่เกินวีซ่า หรือไม่มีหนังสือเดินทางมาแสดง

“กระนั้น ทางการตุรกีก็แสดงความสงสัยว่าบุคคลเหล่านี้มาที่ตุรกีเพื่อจะข้ามไปยังซีเรีย และเข้าร่วมกับกลุ่มไอซิสหรือกลุ่มอื่น ๆ ในจำพวกเดียวกัน อาทิ ญับฮะตุนนุศเราะฮ์ในซีเรีย” นายอิกบาลกล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button